Wednesday, June 29, 2016

บทที่ ๒ หลักการเจริญสมาธิในพระไตรปิฎก

บทที่ ๒

หลักการเจริญสมาธิในพระไตรปิฎก

thanks image from https://i.ytimg.com/vi/7rO_OAqHUzA/maxresdefault.jpg

พระคัมภีร์สุตตันตปิฎก ได้อธิบายอย่างละเอียดเกี่ยวกับหลักการเจริญสมาธิไปตามลำดับ จนถึงขั้นสูงสุด คือการบรรลุพระนิพพาน พระสูตร ๑๓ สูตรแรกในฑีฆนิกายได้พรรณนา หลักการฝึกจิตของพระสาวกทั้งหลาย โดยกล่าวถึงหลัก ๓ ประการ ตามลำดับ

ประการที่ ๑ คือศีล ซึ่งเป็นการฝึกเบื้องต้น
ประการที่ ๒ คือ สมาธิ และ
ประการสุดท้ายคือ ปัญญา ซึ่งเป็นหนทางที่จะบรรลุพระนิพพาน อันเป็นเป้าหมายที่ปรารถนากัน

ในพรหมชาลสูตร (พระสูตรที่ว่าด้วยความคิดเห็นจำนวนมากดุจตาข่าย) ซึ่งกล่าวถึง ความเข้าใจผิดขั้นพื้นฐาน ๖๒ อย่าง เกี่ยวกับอัตตาและโลก เราพบคำว่า “เจโตสมาธิ” คือสมาธิที่เกิดในจิต ซึ่งจะให้ผลอันสูงสุดเหนือธรรมดา เช่นความสามารถในการระลึกชาติในอดีตได้ เป็นต้น
ความในพระสูตรนี้มีว่าฤๅษีหรือพราหมณ์ผู้หนึ่ง ด้วยความมุ่งหวังอันสูงส่ง ด้วยความพยายามอันแรงกล้า ด้วยการใช้สติปัญญา และด้วยการเอาใจใส่อย่างดีได้บรรลุสมาธิ คือเจโตสมาธิถึงขั้นที่ว่า เมื่อเขามีจิตเป็นสมาธิเขาจะระลึกชาติต่างๆ ในอดีตได้มากมาย

แต่จากสมาธิชนิดนี้เขาได้ข้อสรุปที่ผิดๆ ว่า อัตตา และโลก เป็นสิ่งถาวรหรือไม่ก็จะ ต้องแตกสลายไปโดยสิ้นเชิง ดังนั้น สมาธิชนิดนี้จะต้องถือว่าเป็นสมาธิที่ไม่สมบูรณ์ตามแนว ความคิดในพระพุทธศาสนา เพราะจะนำไปสู่ความเข้าใจผิดตามที่ท่านกล่าวไว้ในพระสูตร

สมาธิที่แท้จริง ซึ่งชาวพุทธยอมรับว่าถูกต้อง คือ สัมมาสมาธิ ซึ่งท่านกล่าวไว้ใน พระสูตรที่สอง คือ สามัญญผลสูตร ดังนี้
สามัญญผลสูตรนี้ แสดงถึงประโยชน์แห่งชีวิตที่มีการเพ่งพินิจสำหรับนักพรตประเภท ที่พระภิกษุในพระพุทธศาสนายกมาเป็นตัวอย่างยิ่งกว่านั้นพระสูตรนี้ยังเป็นหลักฐานในการก่อตั้ง องค์กรพระสงฆ์ และยังแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีกฎข้อบังคับสำหรับปฏิบัติตามที่ พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้ เพื่อเป็นแนวดำเนินชีวิตที่มีระเบียบวินัยตามหลักพระพุทธศาสนา ที่ว่า “เขาอาจได้รับผลดีมีประโยชน์และควรแก้ความพยายามของเขา”
พระสูตรนี้ใช้ภาษาสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้า กับพระเจ้าแผ่นดินพระนามว่า อชาตศัตรูผู้เสด็จมาเยือนพระพุทธองค์เพื่อทูลถามปัญหา พระเจ้าอชาตศัตรูมีพระราชประสงค์ จะทรงทราบว่า พระพุทธเจ้ามีความสามารถหรือไม่ที่จะทรงแสดงผลที่เห็นประจักษ์ในชีวิตของ ผู้เป็นสมณะอย่างที่พบในการประกอบอาชีพทางโลก
ในการตอบปัญหาของพระเจ้าอชาตศัตรูในเบื้องแรก พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงถึง อานิสงส์ทั่วๆ ไปแห่งชีวิตของสมณะผู้ฝึกตนเป็นอย่างดีและมีความเป็นใหญ่ในตน แล้วดำเนินตนเพื่อได้รับประโยชน์สูงขึ้นและมากขึ้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ผลและประโยชน์ที่แท้จริงใน ชีวิตของพระสาวกของพระองค์ขึ้นอยู่กับการฝึก ๓ อย่าง คือ ศีล ซึ่งเป็นพื้นฐานเบื้องต้น สมาธิ ซึ่งเป็นอันดับที่สองและปัญญาซึ่งเป็นทางไปสู่การหลุดพ้นจากกิเลสาสวะในที่สุดเป็นอันดับที่สาม  ทรงอธิบายเพิ่มเติมต่อไปถึงหลัก ๓ ประการนี้ จนถึงที่สุด คือ จุดที่จะบรรลุพระนิพพาน  ซึ่งเป็นความสมบูรณ์แห่งสัญญาที่ทรงประทานไว้แก่สมณะผู้ปฏิบัติตามแบบแห่งการฝึกตน ดังกล่าว
พระสูตรกล่าวไว้อีกว่า พระสาวกจะต้องได้รับการฝึกอบรมอย่างสมบูรณ์ในศีล จะต้องสำรวมระวังอายตนะภายในทั้งหลาย จะต้องมีสติสัมปชัญญะ พึ่งตนเอง และมีความสันโดษ
หลังจากทำจุดประสงค์ทั้ง ๔ อย่างนี้ให้บริบูรณ์แล้ว พระสาวกจะต้องแสวงหาที่อยู่ที่ เหมาะสมสำหรับการเจริญสมาธิ คือที่ที่สงบในป่า ที่โคนต้นไม้ บนยอดภูเขา ที่เชิงเขาในถ้ำหิน ในป่าช้า ในสนามกลางแจ้ง หรือในกระท่อมฟาง
ในขณะที่เลือกสถานที่ที่สงัดเช่นนั้น และอาศัยอยู่ในที่นั้น พระสาวกควรเริ่มเจริญ สมาธิโดยวิธีต่อไปนี้  หลังจากฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ควรนั่งขัดสมาธิตัวตรง แล้วควบคุมสติ ให้อยู่กับตนเอง จดจ่อและระวังอยู่เสมอ พระสาวกควรทำจิตให้ปราศจากนิวรณ์ทั้งห้า คือกาม ฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจะกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา
เมื่อพระสาวกเข้าใจว่านิวรณ์ทั้ง ๕ ประการนี้ได้ถูกขจัดออกไปจากเขาแล้ว ความอิ่มเอิบใจจะเกิดขึ้น เมื่อเขารู้สึกอิ่มเอิบใจ ปิติก็จะเกิดขึ้น เมื่อจิตของเขาได้ปิติ ร่างกายของเขา จะสงบ ความสงบจะก่อให้เกิดความสุข และด้วยความรู้สึกว่าเป็นสุข จิตของเขาจะขึ้นสู่สมาธิ นี้เป็นการเริ่มต้นของสมาธิ ซึ่งจะนำไปสู่ขั้นฌาน เมื่อจิตของเขาปราศจากนิวรณ์ทั้ง ๕ ประการ แล้ว เขาย่อมบรรลุฌานขั้นต้น คือ ปฐมฌาน
ตามแนวที่อธิบายในที่นี้ ฌานมี ๔ ขั้น การพัฒนาสูงขึ้นของฌานท่านแสดงไว้ ในสูตรต่อไปนี้ ซึ่งจัดตามระดับที่สูงขึ้น คือ สมาธิย่อมเข้มข้นขึ้นแต่ละระดับ จนกระทั่งเกิด สมาธิอันตั้งมั่น
    สูตรสำหรับปฐมฌาน มีดังนี้
๑  หลังจากทำจิตให้ปราศจากความปรารถนาทางกามและความพยาบาทแล้ว พระสาวกย่อมบรรลุปฐมฌาน ยังมีวิตก (ความตรึก) วิจาร (การสอบสวน) ปิติ (ความยินดี) และสุข (ความมีจิตเบิกบาน) ซึ่งเกิดจากการแยกตัวอยู่ในที่สงัด
ขณะอยู่ในฌานชั้นนี้ พระสาวกจะมีน้ำตาคลอ มีความซาบซ่านไปทั่วร่างกาย พร้อมกับ มีความยินดีและความสุขอันเกิดจากการอยู่ในที่สงัด และไม่มีสิ่งใดในร่างกายของเขาที่จะไม่ สัมผัสกับความสุขนั้น
ปฐมฌานย่อมเกิดขึ้นพร้อมกับการขจัดนิวรณ์ทั้ง ๕ ออกไป ซึ่งนิวรณ์เหล่านี้ มีกามและอกุศลธรรมเป็นหัวหน้ารวมตัวขึ้น พระสาวกจะเจริญสมาธิต่อไปด้วยความมุ่งหมาย ที่จะบรรลุฌานที่สองซึ่งมีสูตรดังต่อไปนี้
๒  อนึ่ง ด้วยการขจัดวิตกและวิจารเสียได้ในสภาพที่สงบในภายใน มีความเป็นหนึ่ง แห่งจิต ผู้ปฏิบัติย่อมบรรลุทุติยฌาน คือฌานที่สอง และอยู่ในฌานนั้น มีปิติ และความสุขอัน เกิดจากสมาธิ และพระสาวกจะมีน้ำตาคลอ มีความซาบซ่านไปทั่วร่างกาย พร้อมกับปิติ และความสุขจากสมาธิ และไม่มีสิ่งใดในร่างกายที่จะไม่สัมผัสกับความสุขนั้น
เกี่ยวกับฌานที่สองนี้ท่านก็ใช้คำว่า “สมาธิ”   ดังนั้นจึงบ่งชี้ว่าฌานที่สองนี้เกิดมาจาก สมาธิของฌานที่หนึ่งโดยแท้ ในขั้นนี้วิตกและวิจารหมดสิ้นไป และพระสาวกผู้ปฏิบัติจะก้าวขึ้น สีฌานที่สาม ซึ่งมีสูตรดังนี้
๓  อนึ่ง เพราะปิติสิ้นไป พระสาวกผู้ปฏิบัติย่อมมีความวางเฉย มีสติ และสำรวมตนเอง และมีความสุข ย่อมบรรลุฌานที่สาม เป็นผู้ที่พระอริยบุคคลหรือพระอรหันต์สรรเสริญว่ามี ความสุขอยู่ในอุเบกขาและมีสติมีร่างกายซาบซ่านไปด้วยความสุขที่ปราศจากปิติและพระสาวก มีน้ำตาคลอ มีความซาบซ่านไปทั่วร่างกาย พร้อมกับมีความสุข ที่ปราศจากปิติ และไม่มีส่วนใดของร่างกายที่จะไม่สัมผัสกับความสุขอันปราศจากปิติ
ในฌานขั้นนี้ จิตของพระสาวกผู้ปฏิบัติย่อมมีอุเบกขา และจากอุเบกขานี้ ปิติ ย่อมหมดสิ้นไป แม้ว่าจะยังมีความรู้สึก เป็นสุข ซึ่งคล้ายกับปิติอยู่ก็ตาม ดังนั้น  พระสาวกผู้ปฏิบัติบำเพ็ญเพียรเพิ่มขึ้น เพื่อหลุดพ้นจากความสุขนั้น เมื่อได้พยายามบำเพ็ญเพียรจนบรรลุ จุดมุ่งหมายย่อมได้บรรลุฌานที่สี่ซึ่งเป็นยอดสูงสุดแห่งสมาธิจิตตามรูปแบบแห่งการเจริญสมาธิ
สูตรสำหรับฌานที่สี่มี ดังนี้
๔  อนึ่ง ด้วยการขจัดเสียซึ่งความสุข ความทุกข์ รวมทั่งการสิ้นไปแห่งความยินดี และความยินร้าย พระสาวกผู้ปฏิบัติย่อมบรรลุฌานที่ที่ ซึ่งไม่มีทั้งทุกขเวทนา และสุขเวทนา มีสติที่สมบูรณ์และบริสุทธิ์ ซึ่งเกิดจากอุเบกขา ดังนั้น จึงดำรงอยู่ด้วยร่างกายอันซาบซ่านไป ด้วยจิตที่สะอาดและบริสุทธิ์ และไม่มีส่วนใดของร่างกายจะไม่สัมผัสกับจิตนั้น
ในฌานสมาธิขั้นนี้ มีธาตุเพียงอย่างเดียวเท่านั้นเหลืออยู่ ซึ่งได้แก่ความว่องไวแห่งจิต อันบริสุทธิ์ อันเกิดมาจากความสุขุมอันปราศจากการรบกวนทุกอย่าง เมื่อบรรลุสภาพของจิต ระดับนี้แล้ว พระสาวกผู้ปฏิบัติตามวิธีฝึกสมาธิในพระพุทธศาสนาจะเป็นผู้กระฉับกระเฉงไม่คิดเรื่องอื่นใด อยู่ในสภาพแห่งฌานที่สมบูรณ์เช่นเดียวกับในลัทธิอื่น ในตัวอย่างนี้ พระสาวก ย่อมเป็นคนมีความว่องไวยิ่งขึ้น เพราะสมาธิขั้นนี้ทำให้จิตแจ่มใสและว่องไว ซึ่งเป็นจิตที่ บริสุทธิ์จากกามกิเลส แรงกระตุ้นและอารมณ์หวั่นไหวทุกอย่าง เมื่ออยู่ในภาวะเช่นนี้ จิตของผู้ปฏิบัติจะเป็นจิตเหมาะสมที่จะได้รับพลังจิตอันเหนือธรรมดา แล้วได้รับอานิสงส์จากฌานอัน  เกิดจากการฝึกสมาธิ และจากปัญญาซึ่งท่านกล่าวไว้ในพระสูตร   
ขณะนี้พระสาวกได้บรรลุถึงจุดหนึ่ง ซึ่งจะเกิดมีปัญญาญาณขึ้น อันเป็นผลที่สูงและเห็นได้ในชีวิตแห่งความเป็นสมณะของตน
ด้วยจิตอันเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ แจ่มใส ปราศจากมลทิน ปราศจากสิ่งมัวหมองทั้งหลาย หมดพยศ พร้อมที่จะทำงาน มั่นคงไม่กระวนกระวาย พระสาวกผู้ปฏิบัติย่อมหันไปใช้จิตนั้น เพื่อให้ได้ความรู้ ซึ่งประกอบด้วยความรู้ขั้นสูง และความรอบรู้ เรียกว่า อภิญญา ในขณะที่ ดำเนินต่อไปในสมาธิในฌานที่สี่นั้น พระสาวกผู้ปฏิบัติย่อมได้พลังทางจิตอันเหนือมนุษย์วิสัย คืออิทธิฤทธิ์ รวมถึง สามารถนิรมิตรูปอันหนึ่งขึ้นในจิตของตนซึ่งเรียกว่า นามกาย จากร่างกายของตนได้”
พระโยคาวจรผู้ปรารถนาจะได้รับความรู้ที่สมบูรณ์พิจารณาร่างกายของตนและมีความรู้ประจักษ์ว่า “ร่างกายนี้ของข้าพเจ้าเป็นวัตถุ มีธาตุ ๔ มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด มีอาหาร เป็นเครื่องบำรุงเลี้ยง ไม่เที่ยงแท้แน่นอน มีอาการเจ็บปวด จะต้องแตกสลายไปในที่สุด และจิตวิญญาณดวงนี้ย่อมได้รับความสนับสนุนจากร่างกายนี้ และผูกพันอยู่กับร่างกายนี้”
ความคิดคำนึงเช่นนี้ ทำให้ความรู้และความเห็นแจ้ง (ญาณทัสนะ) เจริญยิ่งขึ้น และด้วยความรู้และความเห็นแจ้งดังนี้ พระสาวกย่อมรู้แจ้งเห็นจริงถึงธรรมชาติของร่างกาย เป็นความรู้แจ้งเห็นจริงซึ่งก่อให้เกิดความเบื่อหน่ายและช่วยให้เขาเอาชนะความกลัวซึ่งเกิดจาก ความยึดมั่นถือมั่นในร่างกายได้
พระสาวกย่อมได้รับพลังในการฟังและกล่าวกันว่าเป็นผู้มีหูทิพย์ ซึ่งสามารถได้ยินเสียง ที่อยู่ไกลได้ทั้งเสียงมนุษย์และเสียงบนสวรรค์ พระสาวกย่อมสามารถรู้สภาพจิตของคนอื่นได้ สามารถเข้าใจว่าจิตของคนใดคนหนึ่งกำลังถูกกิเลสครอบงำหรือสงบ โกรธ หรืออ่อนโยน ย่อมเข้าใจว่าสภาพของจิตเป็นอย่างไร
หลังจากบรรลุถึงฌานขั้นนี้แล้ว พระสาวกสามารถพัฒนาความรู้ คือวิชา ๓ ได้แก่
๑  การควบคุมจิตของตน ซึ่งมีสมาธิ บริสุทธิ์ ปราศจากสิ่งมัวหมองจนถึงขั้นสามารถรู้ชีวิตในอดีตของตนได้ระลึกชาติได้อย่างละเอียดถี่ล้วน และสอบสวนถึงความมืดมนในยุคต่างๆ ในอดีตได้
๒  ต่อไปจะควบคุมจิตของตนจนถึงขั้นสามารถรู้การตายและการเกิดของมนุษย์ทั้งหลาย แต่ละคนได้ สามารถเห็นคนตายและเกิดใหม่ในภพต่างๆ ได้ด้วยตาทิพย์อันเหนือวิสัยมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นภพที่สูงหรือต่ำ ภพที่มีความสุขหรือภพที่มีความทุกข์ รวมถึงผลแห่งกรรมดีและ กรรมชั่วชนิดต่างๆ ของมนุษย์เหล่านั้น
๓ ในที่สุดจะควบคุมจิตของตนถึงขั้นมีความรู้เรื่องการทำลายกิเลสทั้งหลาย รู้แจ้งเห็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดแห่งทุกข์ นี้การดับทุกข์ นี้ทางไปสู่ความดับทุกข์และ ในที่สุดจะเข้าใจอย่างชัดแจ้งว่า นี่คืออาสวะทั้งหลาย นี้เหตุเกิดแห่งอาสวะทั้งหลาย นี้การดับอาสวะทั้งหลาย นี้ทางไปสู่ความดับอาสวะทั้งหลาย เมื่อพระสาวกรู้แจ้งและเห็นจริงเช่นนี้ จิตของท่านจะพ้นจากอาสวะทั้งหลาย จากกามตัณหา จากภวตัณหา และจากอวิชชา ท่านรู้ว่า ตนพ้นจาก กิเลสทั้งหลาย รู้ว่าจะไม่มีการเกิดอีกแล้ว ท่านดำเนินชีวิตตามหลักพระพุทธศาสนา กิจที่จะต้องทำได้ทำเสร็จแล้ว ในภพนี้ไม่มีอะไร จะต้องทำอีกแล้วสำหรับท่าน

นี้เป็นขั้นสุดท้ายแห่งปัญญา ซึ่งนำไปสู่ความเป็นพระอรหันต์ คือการบรรลุพระนิพพาน ซึ่งเป็นเป้าหมายสุดท้ายแห่งการฝึกฝนอบรมตนของพระสาวก ไม่มีผลที่จะเห็นได้โดยตรงอันใดสูงกว่า ประเสริฐกว่า  หรือน่าปรารถนามากกว่านี้อีกแล้ว

เป็นอันจบหลักสูตรการฝึกสมาธิตามที่ท่านอธิบายไว้ในสามัญญผลสูตร และหลักสูตร นี้เป็นหลักสูตรเบ็ดเสร็จในการฝึกฝนอบรมตนของพระพุทธสาวก หลักการฝึกสมาธิตามที่ท่านอธิบายไว้ในพระสูตรนี้ครอบคลุมถึงฌานทั้ง ๔ วิธีเจริญวิปัสสนา (ญาณทัศนะ), อำนาจจิต, (อิทธิ), วิชชา ๓ อย่าง และวิมุตติ
เราจะพบว่าในพระสูตรอื่นๆ ของปฐมวรรคแหงทีฆนิกาย ท่านใช้คำเช่นเดียวกัน อธิบายวิธีและหลักที่กล่าวนี้ แต่การนำมาใช้จะแตกต่างกัน ในอัมพัฎฐสูตร ท่านอ้างถึงการฝึก ศีลและสมาธิว่า ได้แก่ วิชชาและจรณะ คือความรู้และความประพฤติ และเปรียบเทียบ ให้เห็น ความแตกต่างจากกฎแห่งความบริสุทธิ์ของสังคมและความบริสุทธิ์ทางพิธีการอันไว้เหตุผล ซึ่งชายหนุ่มชื่ออัมพัฏฐะได้โต้แย้งอย่างยืดยาว 
ในโสณทัณฑสูตร ท่านกล่าวไว้ว่า ศีลทำให้ปัญญาบริสุทธิ์ และปัญญาทำให้ศีลบริสุทธิ์ โดยเน้นหนักถึงความสัมพันธ์กันระหว่างศีลกับปัญญา และความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฝึกตน ให้มีศีล ก่อนเริ่มปฏิบัติสมาธิ

ในกูฏทัณฑสูตร ท่านกล่าวถึงวิธีการปฏิบัตินี้ว่าเป็นแบบแห่งการเสียสละ (ยัญญะ) ซึ่งยาก และลำบากน้อยลง แต่มีผลอันยิ่งใหญ่ และมีคุณประโยชน์มากกว่าการบูชายัญ ซึ่งพวก พราหมณ์ปฏิบัติกัน

ในมหาลิสูตร ท่านกล่าวถึงวิธีนี้เมื่อพูดถึงเรื่องสมาธิภาวนา (คือการฝึกสมาธิ) และกล่าวว่าเมื่อฝึกไปบางส่วนก็จะก่อให้เกิดตาทิพย์และหูทิพย์ขึ้นตามที่จะพบได้ในลัทธิอื่น แต่จุดหมาย ของพระภิกษุก็เพื่อเจริญสมาธิ พร้อมกับมรรคมีองค์แปด เพื่อทำลายสังโยชน์ ๑๐ อย่าง และได้รับผลที่หวังจากชีวิตทางศาสนาของตน พระภิกษุผู้ปฏิบัติโดยวิธีนี้ย่อมขจัด ปัญหาที่ว่าชีวิตและร่างกายเป็นสิ่งเดียวกันหรือต่างกันเสียได้(ตํ ชีวํ ตํ สิรีรํ อญญํ ชีวํ อญญํ สิรีรํ)

ในชาลิยสูตรทีฆนิกาย ท่านได้กล่าวถึงวิธีนี้ไว้เช่นเดียวกัน ซึ่งเมื่อปฏิบัติตามวิธีนี้ได้ แล้วก็จะสามารถขจัดความเห็นนอกพระพุทธศาสนาทุกประเภทที่เกี่ยวกับวิญญาณ ชีวิต และ ร่างกายเสียได้
         
ในกัสสปสีหนาฑนทสูตร ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงระบุประเด็นต่างๆ ซึ่งทรงเห็นด้วยบางส่วน และไม่ทรงเห็นด้วยบางส่วนกับครูทางศาสนาทั้งหลายในประเด็นเหล่านี้ ครูเหล่านั้นอธิบาย ประเด็นเหล่านี้ว่าเป็นติวิธสัมปทา คือความสำเร็จ ๓ อย่างซึ่งไม่ตรงกับหลักในพระพุทธศาสนา และมีกล่าวไว้ด้วยว่า แม้จะประพฤติวัตร (ตบะ) ที่แรงกล้าแบบต่างๆ บุคคลก็จะไม่ได้รับผล แห่งการปฏิบัติหรือการประพฤติเช่นนั้นถ้า ศีล สมาธิ และปัญญาไม่สมบูรณ์ ยิ่งกว่านั้น ในพระสูตรนี้เราพบอารมณ์กรรมฐานในข้อความที่ว่า สมณะหรือพราหมณ์ที่แท้จริงได้แก่ผู้ที่เจริญเมตตาธรรมสากลและไม่มีขอบเขต แผ่ไปยังสัตว์ทุกหมู่เหล่า และโดยวิธีนี้ย่อมได้ความรู้ ที่เต็มเปี่ยมและความหลุดพ้นในที่สุด

โปฎฐปาทสูตรทีฆนิกาย ซึ่งเริ่มอภิปรายถึงขั้นตอนต่างๆ ในการเปลี่ยนแปลงไปแห่ง วิญญาณ ในรูปแบบของฌาน และด้วยความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับทฤษฎีวิญญาณ ได้ชี้แจง ถึง ลักษณะที่วิญญาณพิเศษประเภทหนึ่งเกิดขึ้นจากผลแห่งการฝึกจิตในแนวความคิดอันหนึ่ง แต่แนวความคิดอีกอันหนึ่งก็หมดไปการฝึกเช่นนี้สอดคล้องกับการฝึกมีองค์๓ตามที่ท่านอธิบาย ไว้ในสามัญญผลสูตร และสภาพของฌาน ๔ อย่างท่านก็กล่าวถึงในที่นี้ด้วย ฌานแต่ละอย่าง ย่อมเป็นการศึกษารูปแบบหนึ่ง  เพื่อแสดงให้เห็นว่า โดยการละทิ้งแนวความคิดอันหนึ่ง จิต ย่อมบรรลุถึงแนวความคิดอีกอันหนึ่งในขณะก้าวไปตามขั้นต่างๆ ของฌาน นอกจากฌานทั้ง ๔ เหล่านี้แล้ว ในพระสูตรนี้ยังมีอรูปฌานอีก ซึ่งเป็นการพัฒนามากยิ่งขึ้น และอรูปฌานทั้ง ๔ นี้ ท่านกล่าวว่าเป็นสมาบัติคือการบรรลุซึ่งเป็นผลมาจากการฝึกมีองค์สามนั้น ข้อนี้ก่อให้เกิดลักษณะ สำคัญของสมาธิเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งจะได้ศึกษาต่อไป

ในศุภสูตรทีฆนิกาย พระอานนท์ได้อธิบายถึงการฝึกซึ่งมีองค์๓ นี้ แก่ชายหนุ่มนามว่า ศุภะ บุตรของโตไทยพราหมณ์โดยจัดเป็นหัวข้อคือ ศีลสมาธิและปัญญา ซึ่งเป็นหมวดสำคัญของ อริยธรรม และคำที่ใช้เกือบจะสอดคล้องกับคำในสามัญญผลสูตร จุดมุ่งหมายของพระสูตรนี้ ก็ เพื่ออธิบาย ว่าพระพุทธเจ้าทรงฝึกสาวกของพระองค์ได้อย่างไร เพื่อให้บรรลุถึงความพ้นทุกข์

ในเกวัฑฑสูตร หรือเกวัฎฎสูตรทีฆนิกาย ท่านกล่าวว่าวิธีการฝึกสมาธิ ๓ อย่างนี้ ว่าเป็นเพ็ชรเม็ดใสที่สุดในกระเช้าดอกไม้ที่พระพุทธเจ้าทรงมอบให้มนุษยชาติ ซึ่งช่อดอกไม้นี้ พระองค์ทรงได้มาจากการตรัสรู้
ในโลหิจจสูตรฑีฆนิกาย ท่านกล่าวถึงวิธีนี้ว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าผู้ปราศจาก จุดตำหนิ ในขณะที่อยู่ภายใต้คำแนะนำของครูผู้สอบวิธีฝึกสมาธิอันประเสริฐเช่นนั้น พระสาวก ทั้งหลาย ย่อมบรรลุความสมบูรณ์ หลังจากได้บำเพ็ญศีล สมาธิ และปัญญามาอย่างดี

ในเตวิชชสูตรฑีฆนิกาย ซึ่งกล่าวถึงทางหลายสายที่พวกพราหมณ์ผู้นับถือพระเวทยอมรับว่าเป็นทางนำไปสู่การอยู่ร่วมกับพระพรหม ท่านได้อธิบายไว้ว่า วิธีการฝึกอบรมของพระพุทธเจ้าเป็นทางที่ถูกต้องที่จะนำไปสูจุดมุ่งหมายได้ ถ้าผู้ปฏิบัติปรารถนาจะไปถึงพรหมโลก

เราพบวิธีเดียวกันนี้ในคำสอนหมวดอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพระคัมภีร์มัชฌิมนิกาย ในพระสูตรที่อธิบายถึงการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และที่อธิบายถึงวิธีการฝึกอบรมตน  เมื่อท่านอธิบายโดยละเอียด ถึงวิธีการฝึกสมาธิ ประโยชน์ของสมาธิและการบรรลุธรรม ท่านจะยก ข้อความมาอ้างอิงจำนวนมาก
พระวินัยปิฎกเมื่อบัญญติหลักศีลซึ่งเป็นส่วนแรกของการฝึกมีองค์ ๓ คือศีลขึ้นมานั้น ได้กำหนดระบบของวินัยซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับสมาธิขึ้น ในบรรดากฎข้อบังคับซึ่งตั้งขึ้น เพื่อเป็นแนวทาง สำหรับพระภิกษุสงฆ์นั้น กฎข้อที่ ๔ ของปาราชิกกล่าวถึงหลักแห่งสมาธิ กฎข้อนี้มีว่า พระภิกษุสงฆ์รูปใดก็ตามแสร้งทำเป็นผู้ใต้บรรลุคุณธรรมที่เหนือมนุษย์ธรรมดา (อุดตริมนุสสธรรม) ซึ่งเป็นการบรรลุวิปัสสนาญาณอันวิเศษ เหนือการบรรลุของคนธรรมดาจะ ต้องถูกขับไล่ออกจากองค์การคณะสงฆ์
ในสุตตวิภังค์พระวินัยปิฎกท่านแบ่งอุตริมนุสธรรมออกเป็น ๑๐อย่าง โดยละเอียดดังนี้

๑  ฌาน คือ ฌาน ๔ ประเภท
๒ วิโมกข์ คือ การหลุดพ้นมีองค์ ๓  หลุดพ้นจากความเข้าใจผิดเรื่องอัตมันจากความเข้าใจผิดว่าถูกต้องเที่ยงแท้แน่นอน และจากความทะเยอทะยานเพื่อได้ มาซึ่งวัดลุอันก่อให้เกิดโลภ โกรธ และหลง
๓ สมาธิ คือ สมาธิมีองค์ ๓ได้แก่สมาธิที่ได้บรรลุโดยอาศัย วิปัสสนาญาณความรู้แจ้ง ในความไม่มีวิญญาณ ความเปลี่ยนแปลงและความเจ็บปวดในสิ่งที่มีอยู่ในโลก
๔  สมาบัติ คือ การบรรลุมีองค์ ๓ เหมือนสมาธิ
๕  ญาณทัศนะ คือ ความรู้และความรู้แจ้ง มี ๓ อย่าง คือ ความรู้แจ้งเรื่องอดีตชาติ ความรู้แจ้งเรื่องการตาย และการเกิดใหม่ของสัตว์ทั้งหลาย และความรู้แจ้งเรื่อง การขจัดอาสวะ ทั้งหลาย
๖  มัคคภาวนา คือ การสร้างคุณธรรมที่จะให้ได้ตรัสรู้ ๓๗ อย่าง (โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ)
๗ ผลสัจฉิกิริยา คือการรู้แจ้งซี่งผลของมรรค ๔ อันจะนำไปสู่ความเป็นพระอรหันต์
๘  กิเลสัปปหานคือการละความชั่ว คือโลภ โกรธ และหลง
๙  วินีวรณตา คือ ความไม่มีนิวรณทั้งหลาย
๑๐  สุญญาคาเร อภิรติ คือ ความยินดีในการบำเพ็ญฌานในที่ว่างเปล่า หัวข้อเหล่านี้ที่ท่านกล่าวไว้ในพระวินัยปิฎก ประกอบด้วยหลักแห่งสมาธิทุกอย่างและ การเอ่ยถึงหลักเหล่านี้จัดเป็นหลักฐานอันสำคัญ

ในการพิจารณาข้ออ้างที่ว่าหลักแห่งสมาธิท่านได้อธิบายไว้แล้วในขั้นต้นๆ ของพระพุทธศาสนา
ในพระอภิธรรมปิฎก ท่านได้อธิบายหลักแห่งสมาธิไว้ในแง่ของจิตวิทยา และโดย เฉพาะอย่างยิ่งในคัมภีร์ธรรมลังคณี ท่านได้อธิบายไว้โดยวิธีเดียวกันกับการปฏิบัติเกี่ยวกับการวิเคราะห์วิญญาณที่สูงขึ้น ในคัมภีร์พระวิภังค์มีบทหนึ่งเป็นเอกเทศเรียกชื่อว่า ญาณวิภังค์  แต่ในเวลาเดียวกัน ท่านได้อธิบายวิธีฝึกเบื้องต้นและฌานทั้ง ๘ ขั้น โดยอ้างถึงคำสอนในพระสูตรและพระอภิธรรมทั้ง ๒ อย่าง

ดังนั้น หลักแห่งสมาธิที่ท่านอธิบายไว้ในพระไตรปิฎก จึงแบ่งออกเป็นส่วนใหญ่ๆ ๘ ส่วน คือ ฌาน, วิโมกข์, สมาธิ สมาบัติ, วิปัสสนา, มรรค, ผล และนิพพาน

ในการอภิปรายเรื่องนี้ต่อไป จะกล่าวถึงการพัฒนาหลักเหล่านี้ตามที่ท่านอธิบายไว้ใน คำสอน ตามพระคัมภีร์ทั้งหลาย
สารบัญ

บทที่ ๑ อารัมภบท : ทฤษฎีการเจริญสมาธิในพระพุทธศาสนา

สมาธิในพระพุทธศาสนา

บทที่ ๑

อารัมภบท : ทฤษฎีการเจริญสมาธิในพระพุทธศาสนา

ศาสนาที่ยิ่งใหญ่ส่วนมากต่างเน้นถึงความสำคัญของสมาธิในฐานะเป็นหนทางไปสู่ ความบริสุทธิ์แห่งจิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลัทธิศาสนาใหญ่ๆ ในอินเดียจำนวนมาก รวมถึง พระพุทธศาสนาด้วย จะพบว่าสมาธินี้เป็นหลักสำคัญในการสอนศาสนิกของคน คำว่า “โยคะ” ซึ่งหมายถึง “การประกอบ” หรือ “การส่งจิตไปรวมอยู่กับความเป็นเทพ” นั้น เป็นคำเฉพาะ ซึ่งใช้กับคำว่า “สมาธิ” แต่ในคำสอนยุคแรกๆ แห่งพระพุทธศาสนาไม่พบว่าท่านใช้คำว่า “โยคะ” ในความหมายนี้  แม้จะใช้กันในหนังสือทางพระพุทธศาสนาในยุคหลังๆ ก็ตาม ในลัทธิสางขยะ ท่านใช้คำว่า โยคะเป็นพิเศษ และลัทธิสางขยะนี้เป็นนิกายสำคัญ ซึ่งพัฒนาการปฏิบัติโยคะ นิกายนี้มีอายุเก่าแก่กว่าคำสอนในพระพุทธศาสนา แต่ก็ไม่มีเหตุผลที่จะคิดว่าการเจริญสมาธิ ในพระพุทธศาสนายืมมาจากลัทธิโยคะ อาจมีการเชื่อมโยงกันระหว่างลัทธิโยคะ และพระพุทธศาสนา แต่ความคล้ายคลึงกันที่ปรากฎนั้นไม่มีผลกระทบต่อที่มาดั้งเดิมอันเป็นอิสระแห่ง พระพุทธศาสนา
image from https://i.ytimg.com/vi/S3EppVo67hI/maxresdefault.jpg

พระคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาชี้ให้เราเห็นว่ามีนิกายศาสนาอื่นๆ อยู่มากมายที่เจริญสมาธิ ในพระอริยปริเยสนาสูตร ท่านกล่าวไว้ว่า นักพรต ๒ คน คือ อาฬารกาลามะ และอุทกบุตร แห่งรามะได้เจริญสมาธิระดับสูง (ตามแบบโยคะ) และชั้นแห่งการบรรลุธรรมที่ท่านทั้งสองได้ รับตามลำดับเท่ากับอรูปฌานที่ ๓ และที่ ๔ ในพระพุทธศาสนา แต่พระโพธิสัตว์ผู้ได้ทรงฝึก ฌานเหล่านี้ภายใต้การควบคุมของครูทั้งสองในยุคก่อนการตรัสรู้ของพระองค์ ทรงปฏิเสธครู เหล่านั้น เพราะว่าจุดหมายที่ครูเหล่านั้นพยายามที่จะบรรลุไม่ใช่พระนิพพานคือการหลุดพ้น จากกิเลสโดยสิ้นเชิง ซึ่งพระองค์กำลังทรงแสวงอยู่

ในการสนทนากับสัจจกนิครนถ์ผู้นับถือลัทธิเชน พระพุทธเจ้าทรงอภิปรายถึงวิธีฝึก กาย และจิต ซึ่งนักพรตยุคก่อนๆ ปฏิบัติกันอยู่ และในตอนต่อมาทรงอธิบายถึงการใช้คำต่างๆ และอาการที่พระองค์ทรงพบวิธีที่พระองค์ได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ

บันทึกหลักฐานเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าชาวพุทธในยุคเริ่มแรกยอมรับว่ามีลัทธินิกายอื่นๆ ซึ่งเจริญสมาธิอยู่ด้วย แต่ไม่มีหลักฐานที่มีคุณค่าทางประวัติศาตร์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันเกี่ยวกับองค์การเหล่านี้ แต่อย่างไรก็ตาม เราพบข้อยกเว้นเป็นพิเศษในกลุ่มชนผู้นับถือลัทธิเชน (หรือไชน์) ซึ่งมีกล่าวถึงเสมอในหนังสือทางพระพุทธศาสนาในนามว่า เดียรถีย์ ในพระไตรปิฎก มีข้อความอ้างอิงจำนวนมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเจริญสมาธิมีในประเทศอินเดียนานมาแล้ว ในเวลาเดียวกันก็ไม่มีเหตุผลให้เราเชื่อว่าได้มีการยืมแบบการเจริญสมาธิที่แท้จริงตามวิธีใน พระพุทธศาสนามาจากที่อื่น ดังนั้นด้วยความยุติธรรม ควรอนุญาตให้มีการศึกษาสมาธิใน พระพุทธศาสนาอย่างอิสระ

ตามที่ท่านอธิบายไว้ในพระคัมภีร์พระไตรปิฎกภาษาบาลี สมาธิในพระพุทธศาสนามี รากฐานมาจากประสบการณ์ของพระพุทธเจ้าพระองค์เอง และมาจากวิธีที่พระพุทธองค์ทรงนำมาใช้ในการทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ดังนั้น สมาธิจึงเป็นศูนย์กลางแห่งคำสอนในพระพุทธศาสนา และจะต้องถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนา การปฏิบัติธรรมได้พัฒนามาเป็น ๒ ระบบ คือ สมาธิและวิปัสสนา เมื่อพิจารณาถึงหลักพื้นฐานของสมาธิ จะพบว่าสมาธิก็คือขบวนการพัฒนาวิญญาณให้มีรูปแบบที่สูงขึ้น อันจะเป็นหนทางสายเดียวที่ จะได้บรรลุพระนิพพาน

ทฤษฎีการเจริญสมาธิในพระพุทธศาสนามีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกสมาธิที่ถูกต้อง (สัมมา สมาธิ) ซึ่งเป็นยอดสูงสุดแห่งมรรคมีองค์  ๘ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงครั้งแรกในปฐมเทศนา ของพระองค์ คือ พระธัมมจักกัปปวัตนสูตร แปลว่า พระสูตรซึ่งกล่าวถึงการหมุนล้อแห่ง พระธรรม มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นทางแห่งการตรัสรู้ด้วยตนเองและเป็นจุดมุ่งหมายของ พระพุทธธรรม เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” คือทางสายกลางที่มีชื่อ ดังนั้น เพราะมรรคมีองค์ ๘ มีแนวโน้มไปในทางแห่งความพอดี หลีกเลี่ยงที่สุด ๒ อย่าง คือ กามสุขัลลิกานุโยค คือการ หมกมุ่นในกาม และอัตตกิลมถานุโยค คือการประกอบการที่ทำตนให้ลำบาก

การปฏิบัติตามวิถีทางนี้อยู่ในสายกลางคืออยู่ระหว่างที่สุดทั้งสอง โดยหลีกเลี่ยง ความเกินพอดีทั้งหมด ความเกินพอดีจะต้องหลีกเลี่ยง ไม่ว่าจะเป็นไปในด้านใด เพราะมันเป็น เรื่องที่ไม่ดี ด้วยเหตุนี้เอง ชาวโลกผู้ไม่ประสงค์จะลดความปรารถนาในทางโลกจึงไม่สามารถ เจริญสมาธิได้แม้ผู้ที่บ้าคลั่งในการประพฤติพรต ก็ไม่สามารถจะเจริญสมาธิได้เช่นกัน เพื่อที่จะ ดำเนินตามทางสายกลาง จำเป็นจะต้องมีทั้งพลังและความคิด ดังนั้นเราจึงพบสูตรในการ ปฏิบัติธรรมว่า สัมมาสมาธิได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากหลัก ๒ ประการ คือ ความพยายาม ชอบ (สัมมาวายามะ) และการตั้งสติไว้ชอบ (สัมมาสติ) ในหลักทั้งสองนี้ ความพยายามชอบ ส่งเสริมให้เกิดความสามารถในผู้ที่มีจิตหมกมุ่นอยู่ในกามคุณ แต่การตั้งสติไว้ชอบเป็นหลักคุ้มกันไม่ให้บุคคลตกไปอยู่ในการประพฤติพรตที่เคร่งครัดเกินไป

สัมมาสมาธิจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีความบริสุทธิ์แห่งศีล เพราะศีลที่บริสุทธิ์จะช่วยให้บุคคลปราศจากความชั่วทางกายและความชั่วทางวาจาอันเป็นผลให้ปราศจากความชั่วทางใจ และดังนั้นบุคคลย่อมจะมีสัมมาวาจา (คำพูดที่ชอบ) สัมมาอัมมันตา (การงานที่ชอบ) และสัมมาอาชีวะ (การทำมาหาเลี้ยงชีพที่ชอบ) เหล่านี้เป็นหลัก ๓ ประการแห่งศีล หรือ ความบริสุทธิ์แห่งศีล ซึ่งเป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่จำเป็นอันจะนำไปสู่สมาธิ การฝึกตนในหลัก ทั้ง ๓ ประการนี้เป็นหลักเกณฑ์พื้นฐานเบื้องต้นในพระพุทธศาสนา และก่อให้เกิดปัจจัยสำคัญใน ชีวิตผู้เข้าฌาน ดังนั้น ในเบื้องต้น บุคคลจะต้องอบรมตนเองให้มีศีลบริสุทธิ์ตามหลักแห่ง ทางสายกลาง เพื่อบรรลุผลแห่งการเจริญสมาธิอย่างเต็มที่ ในขณะปัจจุบันและก้าวหน้าสูง ขึ้นๆ ตามสำดับ พระสาวกผู้ประดับประคองตนเองไปตามอุดมการณ์,เหล่านี้จะมีความเชื่อมน ตนเอง มีความบริสุทธิ์ในตนเอง ปราศจากความหวาดกลัวจากสิ่งภายนอก และด้วยเหตุนี้ย่อม   จะมีจิตสงบเย็น องค์ประกอบดังกล่าวนี้เป็นหลักประกันในอันที่จะบรรลุความสำเร็จในการเจริญสมาธิ

หลักแห่งทางสายกลาง ๒ อย่างที่เหลือคือ สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นที่ถูกต้อง) และสัมมาสังกัปปะ (ความดำริที่ถูกต้อง) ก่อให้เกิดขั้นตอนสำคัญต่อมา นั้นก็คือ การได้มาซึ่งปัญญา คือความรู้ที่สมบูรณ์ ซึ่งจะได้มาจากศีลอันบริสุทธิ์และสมาธิ

ดังนั้น การฝึกจิตในพระพุทธศาสนาจึงมี ๓ รูปแบบ คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งใน นิกายทั้งหลาย (ในพระสูตร) ท่านพระอรรถกถาจารย์เรียกว่า “ติวิธา สิกขา คือการฝึกจิต ๓ แบบ หลักนี้ได้รวมตัวขึ้นเป็น ๓ หมวดแห่งพระพุทธธรรมทั้งหมด ซึ่งมีชื่อว่า “กลุ่ม ๓” หรือ กอง ๓

หมวดทั้ง ๓ นี้ เมื่อพัฒนาเต็มที่ย่อมก่อให้เกิดพระอริยมรรค ๘ ประการ ความสัมพันธ์ ระหว่างพระอริยมรรค ๘ เหล่านี้ ท่านกล่าวไว้ในจุลลเวทัลลสูตร มัชฌิมนิกาย หลัก ๓ ประการ คือ สัมมาวาจา สัมมาอัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ ประกอบอยูในศีล สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ ประกอบอยู่ในสมาธิ สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ ประกอบอยู่ในปัญญา

ข้อนี้แสดงให้เห็นว่า ระบบการฝึกตนเองตามหลักพุทธศาสนาตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงที่สุด ย่อมสอดคล้องกับอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งนำบุคคลไปสู่ความหลุดพ้น คือ วิมุตติ ซึ่งเป็นการพ้นทุกข์ในที่สุด นี้เป็นระบบที่พระพุทธเจ้าทรงพบด้วยพระองค์เอง และทรงใช้เพื่อบรรลุพุทธภูมิ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้สมบูรณ์ และภายหลังทรงเปิดเผยให้ชาวโลกได้ทราบกัน

“ศีล สมาธิ และปัญญา และธรรมสุดยอด คือ วิมุตติ
พระองค์ผู้ทรงพระนามว่าโคดมได้ตรัสรู้แล้ว
ดังนั้น พระพุทธองค์ผู้ทรงทราบสิงเหล่านี้
จึงเป็นผู้ขจัดความทุกข์ เป็นบรมครูแห่งวิปัสสนา
มีความสงบอย่างหาที่สุดมิได้ ทรงสอน
พระธรรมแก่พระสาวกทั้งหลาย”

ทฤษฎีแห่งการเจริญสมาธิในพระพุทธศาสนามีระบบดังกล่าวนี้เป็นพื้นฐาน และ การปฏิบัติธรรมได้พัฒนาออกไปเป็น ๒ วิธี คือ สมาธิ และวิปัสสนา ในสองวิธีนี้ การเจริญ สมาธิช่วยให้ผู้ปฏิบัติ มีความคิดเป็นหนึ่งเดียวในเรื่องใดเรื่องหนึ่งซึ่งมีลักษณะก่อให้เกิดประโยชน์  และแล้วยกระดับความเข้าใจเรื่องนั้นไปสู่สภาวะที่เป็นนามธรรม ในการเจริญสมาธิแบบนี้    วิญญาณคือความรู้แจ้งจะถูกยกขึ้นจากระดับต่ำไปสู่ระดับสูง และในขณะเดียวกันก็จะขจัดความโน้มเอียงที่ต่ำทราม ซึ่งเรียกว่านิวรณ์ออกไปเสียได้ แต่สมาธิได้รับการพัฒนาไปสู่ระดับที่สูงสุด คือ ไปสู่ระดับฌาน ซึ่งจิตจะค่อยๆ ปรับตัวมันเองเข้าไปสู่ความเข้าใจวัตถุต่างๆ ว่ามีสภาพเป็น นามธรรม การเจริญสมาธิระบบนี้เรียกว่า “สมาธิภาวนา”

สมาธิภาวนาก่อให้เกิดความบริสุทธิ์ในจิต ซึ่งจำเป็นสำหรับการมีความรู้ที่สมบูรณ์ และความบริสุทธิ์นี้ เป็นเหตุโดยตรงที่ก่อให้เกิดแสงสว่าง และภาพในจิตที่ชัดเจน ภาพในจิตดังกล่าวนี้ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากหลัก ๒ อย่าง คือ สัมมาสังกัปปะ และ สัมมาทิฏฐิ จึงเป็นแนวนำให้เกิดความรู้แจ้งแทงตลอดในความจริงของสิ่งที่มีอยู่ในโลก การพัฒนาความรู้ แจ้งหรือความรู้ทันสาระของสิ่งต่างๆ ที่ได้สังเกตเห็น เรียกว่า “วิปัสสนาภาวนา” และการพัฒนา ดังกล่าวจะนำไปสู่ความรู้ที่สมบูรณ์ ผู้ปฏิบัติผู้บรรลุถึงภูมิสูงสุดแห่งภาวนาย่อมเป็นพระ
อรหันต์คือผู้บรรลุถึงเป้าหมายแล้ว ที่กล่าวมานี้เป็นระบบที่ใหญ่ยิ่ง ๒ ระบบในการเจริญสมาธิใน พระพุทธศาสนา ซึ่งจะกล่าวโดยละเอียดต่อไป
สารบัญ

Tuesday, June 28, 2016

บทนำ

บทนำ

โดย นาย ฟรานซิส สตอริ (Francis Story) อนาคาริก สุคตานันทะ
image from https://i.ytimg.com/vi/f60oyFzfwPs/maxresdefault.jpg

    ตำราว่าด้วยระบบพัฒนาตนเองที่สอนไว้ในศาสนาฮินดูมีจำนวนมาก และโลกตะวันตกได้เรียนรู้ลักษณะบางอย่างและคุณค่าของระบบเหล่านั้นว่า เป็นกระบวนการใช้อำนาจจิตเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง แต่อย่างไรก็ตาม ระบบการเจริญสมาธิซึ่งชาวพุทธปฏิบัติกันนั้นเป็นที่รู้จักกันน้อยมาก แม้จะเป็นความจริงที่ว่ารูปแบบพิเศษแห่งการพัฒนาจิตเป็นปัจจัยที่แน่นอน ที่สุดอย่างหนึ่งในการหล่อหลอมชีวิตตามแนวศาสนาของชาวตะวันออกระหว่าง ๒๐๐๐ ปีที่ผ่านมา
เหตุผลข้อหนึ่งในการขาดความรู้ที่แน่นอนในเรื่องสำคัญนี้ก็คือ การบรรลุผลตาม ข้อมูลที่แท้จริงนั้นทำได้ยาก สมาธิหรือภาวนาเป็นส่วนแห่งธรรมในพระพุทธศาสนา และเป็น ภาคปฏิบัติที่แยกไม่ได้และทั้งจะศึกษาแยกกันก็ทำไม่ได้ เช่นเดียวกับที่ปฏิบัติกันในศาสนาฮินดู ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในภาวนามีกระจายอยู่ทั่วไปในพระไตรปิฎกและอรรถกถา ซึ่งก่อให้เกิดกลุ่มนักวรรณกรรมภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตขึ้น วรรณกรรมเหล่านี้จำนวนน้อยมากที่ได้มีการแปลเป็นภาษาอื่น  ดังนั้น ข้อมูลเกี่ยวกับวรรณกรรมเหล่านี้จะหาได้เฉพาะในกลุ่มบุคคลที่สามารถศึกษาต้นฉบับเท่านั้น  ยิ่งกว่านั้น ผู้อ่านจะต้องคลุกคลีอยู่กับหลักคำสอนใน พระพุทธศาสนาขั้นพื้นฐานก่อนที่จะเข้าใจจุดประสงค์ของการฝึกสมาธิ และเขาจะต้องเรียนรู้ คำเฉพาะบางคำเป็นอย่างดี ซึ่งจะต้องคงรูปศัพท์เดิมไว้โดยไม่ต้องแปลเมื่อไม่มีคำที่มีความหมายตรงกัน ความเข้าใจของชาวพุทธเรื่องกิจกรรมทางจิต และธรรมชาติของวิญญาณตามที่พบในพระคัมภีร์อภิธรรม มีความแตกต่างกันอย่างมากจากความเข้าใจเรื่องวิญญาณ หรือ อัตตาที่มีอยู่อย่างแพร่หลายในกลุ่มชนชาวตะวันตก  ในพระพุทธศาสนาเราไม่กล่าวว่าจิต มีตัวตน แต่เราจะกล่าวว่าจิตเป็นการไหลเวียนแห่งกระบวนการทางจิต และคำที่ใช้ไม่มีคำที่ เป็นไวพจน์กันในแนวความคิดของชาวตะวันตก  ดังนั้นผู้แปลจำเป็นจะต้องสร้างคำพิเศษขึ้นเอง ในขณะแปลหรือไม่ก็ใช้คำภาษาบาลี หรือภาษาสันสกฤตไปเลย  เมื่อไม่มีภาษาอื่นให้ใช้ เมื่อไม่มีทางเลือกใดๆ ที่น่าพอใจ ผู้อ่านจะต้องเป็นผู้สามารถปรับตนเองให้เข้ากับแนวความคิด  ซึ่งตนไม่คุ้นเคยมาก่อน
คำว่า “อภิธรรม” ตามศัพท์แปลว่า “กฎหรือธรรมชั้นสูง บ่งบอกถึงระบบ ซึ่งจะเรียกว่าปรัชญาก็ไม่ใช่ จะเรียกว่าอภิปรัชญาตามที่เข้าใจกันในที่อื่นก็ไม่เชิง พระอภิธรรมเป็นส่วนหนึ่งของพระไตรปิฎก  ซึ่งกล่าวถึงแง่มุมแห่งจิตวิทยาชั้นสูง ประกอบไปด้วยการวิเคราะห์ อย่างเป็นระบบเกี่ยวกับสภาวะแห่งวิญญาณมากมายไม่เฉพาะแต่ที่เกี่ยวกับโลกภายนอกเท่านั้น  แต่เกี่ยวกับสาระสำคัญยิ่งของภาวะ คือความมีความเป็นซึ่งแสดงออกมาในความหมายว่า “กฎแห่งจริยธรรม” อภิธรรมเป็นอภิปรัชญาขนาดที่ว่าเกิดขึ้นจากวิปัสสนาญาณอันลึกซึ้ง แต่ไม่ขึ้นอยู่กับพื้นฐานเหนือธรรมชาติแห่งภาวะ การยืนยันใดๆ ที่สร้างขึ้นนั้นเปิดโอกาสให้ บุคคลตรวจสอบได้ภายในขอบข่ายแห่งประสบการณ์ของมนุษยชาติ ในเวลาเดียวกันก็ไม่มี ความคล้ายคลึงกับปรัชญาตะวันตกซึ่งมีหลักการคาดคะเนปะปนอยู่ บางทีเราอาจเปรียบเทียบ ระหว่างพระอภิธรรมกับจิตวิทยายุคใหม่  ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ แต่ในที่นี้ควรกล่าวถึงความแตกต่างกันที่สำคัญ ๒ อย่าง อย่างแรก คือว่าพระอภิธรรมนั้นใช้แทนข้อสมมติฐานอันไม่ต้องพิสูจน์ เพราะมีความรู้ที่ตรงและแน่นอน อย่างที่ ๒ คือว่า พระอภิธรรมย่อมให้พื้นฐานทางจริยธรรม แก่จิตวิญญาณของมนุษยชาติ ทั้ง ๒ อยู่ในลักษณะที่เป็นแรงเฉื่อยและความฉับไว
เพื่อที่จะน่าเอาความหมายที่แท้จริงของคำว่า “อภิธรรม” มาแสดงให้เห็นจำเป็น จะต้องใช้คำว่า “จิตวิทยาแนวจริยธรรม” แทนคำตามตัวอักษรที่ว่า “กฎชั้นสูง” “กฎที่เลิศ” แต่ในการยอมรับคำจำกัดความเช่นนั้น ยังจะต้องคำนึงว่า พระอภิธรรมนั้นได้รับการสถาปนาขึ้นตามหลักสากล ซึ่งแผ่ขยายไปเหนือขอบเขตแห่งจิตวิทยาของมนุษยชาติ    นั่นก็คือหลัก ปฏิจจสมุปบาท ดังนั้น ในการทิ้ง “กฎที่เลิศ” เสีย แนวความคิดบางอย่างย่อมสูญเสียไป การเข้าใจหลักปฏิจจสมุปบาทจึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผู้อ่านที่ประสงค์จะเข้าใจหลักจิตวิทยา แห่งสมาธิในพุทธภาวนา
วิทยานิพนธ์ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมที่สุดในเรื่องนี้ได้แก่คัมภีร์วิสุทธิมรรค ของพระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งแต่งในประเทศศรีลังกา ประมาณพุทธศักราช ๙๖๕ หนังสือเล่มนี้เป็นงาน ระดับอรรถกถาชั้นมาตรฐานของฝ่ายเถรวาท หลักฐานในหนังสือเล่มนี้ยึดคำสอนดั้งเดิมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามที่พบในพระไตร-ปิฎกภาษาบาลี สำหรับผู้อ่านชาวตะวันตก มีอุปสรรค สำคัญอยู่ ๒ ประการในการศึกษาหนังสือวิสุทธิมรรคอันเป็นงานยิ่งใหญ่ของพระพุทธโฆษาจารย์ อุปสรรคประการแรกได้แก่วิธีการเสนอข้อมูล ซึ่งเป็นแบบโบราณตามประเพณี ไม่ปรับให้เหมาะสมกับทัศนคติในยุคใหม่ อุปสรรคประการที่ ๒ ได้แก่ความยุ่งยาก เพราะไม่มีที่มาแห่งข้อมูลที่ยกมาอ้างอิง เพื่อแยกแยะให้เห็นความแตกต่างระหว่างคำสอนที่แท้จริงของ พระพุทธเจ้ากับข้อความที่แปล หรืออรรถาธิบายของพระอรรถกถาจารย์ทั้งหลาย รวมทั้ง พระพุทธโฆษาจารย์เองด้วย ในการแปลหนังสือของพระพุทธโฆษาจารย์ ก็ย่อมจะมีความแตกต่างกันในเรื่องความเห็นเกี่ยวกับคำศัพท์ ซึ่งผู้แปลนำมาใช้   คัมภีร์วิสุทธิมรรคเป็นงานระดับอรรถกถา ซึ่งในปัจจุบันนี้จำเป็นจะต้องมีอรรถกถาของคัมภีร์นี้เช่นกัน   แต่อย่างไรก็ตามคัมภีร์วิสุทธิมรรคยังคงเป็นหนังสือเล่มเดียวที่มีหลักฐานเชื่อถือได้มากที่สุดในเรื่องที่เข้าใจยากนี้ ซึ่งเป็นเรื่องนอกพระไตรปิฎก
สาเหตุอีกประการหนึ่งที่นักเขียนชาวยุโรปละเลยระบบแห่งสมาธิในพระพุทธศาสนาอาจขึ้นอยู่กับความจริงที่ว่าระบบในพระพุทธศาสนามุ่งไปที่ความบริสุทธิ์แห่งจิตและความหลุดพ้นโดยเฉพาะ  ซึ่งไม่เหมือนกับระบบในศาสนาฮินดู พระพุทธเจ้าไม่ทรงสอนภาวนาเพื่อให้ได้บรรลุพลังเหนือปกติธรรมดา นั่นก็คือความสามารถในการสร้างร่างกายอันใหญ่โตมโหฬารขึ้นมา หรือความสามารถในการได้รับความเป็นใหญ่เหนือโลกภายนอก  พระพุทธเจ้าทรงสอนเพื่อวัตถุประสงค์อันเดียวเท่านั่น  นั่นก็คือการดับทุกข์และการหลุดพ้นจากสังขารอันมีปัจจัยปรุงแต่ง ณ ที่นี้เอง เราพบความแตกต่างอันสำคัญระหว่าง วิธีการแห่งสมาธิในพระพุทธศาสนากับวิธีการแห่งสมาธิที่สัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดที่สุด กับลัทธิโยคะในศาสนาฮินดู  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หะฐะโยคะ และราชโยคะในศาสนาฮินดู เกี่ยวข้องกับผลที่ได้รับซึ่งตามหลักในพระพุทธศาสนา เป็นสิ่งที่จะต้องทิ้งไป  โดยเหตุที่โยคะทั้ง ๒ อย่างนั้น เป็นโลกิยะ หรือยังอยู่ใน สังสารวัฏ โยคะทั้ง ๒ เหล่านี้จึงไม่นำบุคคลไปสู่วิมุติ คือความหลุดพ้นจากความทุกข์ในที่สุด ซึ่งเป็นสภาพที่แยกออกไม่ได้จากภาวะที่เป็นบุคลาธิษฐาน ในทางตรงกันข้าม โยคะเหล่านี้ยิ่งเพิ่มเชื้อให้แก่ไฟ คือตัณหา
จุดหมายดั้งเดิมของระบบในศาสนาฮินดู ได้แก่การได้รับพลังซึ่งเหนืออำนาจแห่งธรรมชาติซึ่งถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งพระเวททั้งหลาย พลังอันนี้จะมีได้โดยอาศัยการ บำเพ็ญตะบะ และด้วยการบำเพ็ญตะบะนั้น โยคีได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ได้ผนึกคุณธรรมของตนให้แน่นแฟ้นขึ้น นั่นแหละคือความปรารถนาของเขา ซึ่งจะไปถึงจุดหนึ่ง ณ จุดนี้ เขาจะได้รับ ความยิ่งใหญ่กว่าเทพยดาทั้งหลาย เป็นเรื่องที่จะพบได้ทั่วไปในคัมภีร์ปุราณหรือวรรณกรรม มหากาพย์ โมกษะหรือ ความหลุดพ้น หรือการอยู่ร่วมกับเทพเจ้าไม่ได้ปรากฎเป็นจุดมุ่งหมาย สำคัญของโยคะจนกว่าระบบสางขยะจะปรากฎเด่นดังขึ้น กะปิละผู้ตั้งลัทธิสางขยะขึ้นมีชีวิตอยู่ ก่อนพระพุทธเจ้าประมาณ ๑ ศตวรรษในภูมิภาคเดียวกันในประเทศอินเดีย และบางทีอาจเป็นสาวกของกะปิละนั่นเองที่พวกฤๅษียอมตนเป็นศิษย์ และเจ้าชายสิทธัตถะได้เข้าไปศึกษากับ ฤๅษีเหล่านี้ก่อนที่จะได้ตรัสรู้ แต่จุดหมายปลายทางของการหลุดพ้นในลัทธิโยคะของศาสนาฮินดูไม่ได้สลัดออกจากโลกิยะลักษณะโดยสิ้นเชิง  ลักษณะเหล่านี้บางทีอาจทำให้โยคะในศาสนาฮินดูเป็นที่ดึงดูดใจชาวตะวันตกผู้ปรารถนาจะดำรงชีวิตอยู่อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พัฒนาพลังจิตและพลังกายให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และ ปฏิบัติงานโดยทั่วๆ ไปในโลกภายนอกในวิถีทางเดียวกับที่เทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์สามารถช่วยให้เขาปฏิบัติได้
เป็นความจริงที่ว่าความสามารถทางจิตบางอย่าง ซึ่งสามารถใช้ได้กับเรื่องทางโลก เช่น ตาทิพย์ และหูทิพย์ และกายซึ่งสำเร็จมาจากใจ ตลอดถึงพลังพิเศษต่างๆ จะได้รับการพัฒนา ขึ้นมาในระหว่างการเจริญสมาธิในพระพุทธศาสนา พลังเหล่านี้จะเกิดขึ้นโดยบังเอิญจากฌาน ขั้นต่างๆ  ในขณะที่ผู้เจริญสมาธิก้าวขึ้นสู่วิถีอันจะนำไปสู่การตรัสรู้ พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ ทั้งหลายทรงประกอบด้วยพลังเช่นนั้น และ เมื่อมีความจำเป็นเกิดขึ้นก็ทรงใช้พลังเหล่านั้น เพื่อประโยชน์แก่บุคคลผู้ถูกอวิชชาครอบงำ  ซึ่งต้องการเครื่องหมายและสิ่งมหัศจรรย์ต่างๆ  แต่โดยทั่วๆไป พระพุทธเจ้าทรงตำหนิการใช้พลังเหล่านั้น ทรงประสงค์จะเผยแพร่พระธรรม ด้วยปาฏิหาริย์แห่งพระพุทธพจน์ และด้วยพลังแห่งสัจจะในการประกาศพระองค์เอง  สำหรับผู้ที่ยังไม่พ้นจากสิ่งหลอกลวงทางโลก พลังเหล่านี้สามารถเป็นพลังที่สร้างความยึดนั้นถือนั้นได้  และ ดังนั้นจะต้องระมัดระวังและเอาชนะพลังเหล่านี้ให้ได้ เพื่อจะได้บรรลุพระนิพพาน  ในทรรศนะของชาวพุทธผู้ที่มาปฏิบัติธรรมโดยการฝึกสมาธิเพื่อบรรลุอิทธิฤทธิ์ต่างๆ นั้นย่อมกระทำไปด้วยความตั้งใจผิด และ เป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวงแก่เขาเอง ถ้าพลังทั้งหลายให้ผลในทางผิด พลังเหนือธรรมดาย่อมให้ผลในทางผิดเหนือธรรมดาไปด้วย
เมื่อเป็นเช่นนี้ อะไรเล่าเป็นทัศนคติที่ถูกต้องของจิตสำหรับผู้ที่เจริญสมาธิในพระพุทธศาสนา เพื่อที่จะตอบปัญหานี้ จำเป็นต้องให้แนวความคิดบางอย่างแก่ผู้อานเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ขั้นสุดท้ายในการเจริญสมาธิในพระพุทธศาสนานั่นก็คือวิถีทางที่ถูกต้อง ได้แก่ พระอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งสรุปรวมวิธีการครองชีพของชาวพุทธเริ่มต้นด้วยสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ ข้อนี้ชี้ให้เห็นความจริงที่ว่าในเบื้องต้นทีเดียว  พระสาวกจะต้องมีความเข้าใจอย่างชัดแจ้งในเรื่องความไม่เที่ยง ความทุกข์ และ ความไม่มีตัวตนของสังขารทั้งหลาย  ในเบื้องต้นความเข้าใจเรื่องนี้ของพระสาวกอยู่ในระดับใช้เหตุผล เขาเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างรวมทั้งกายและใจ จะต้องเปลี่ยนแปลงไปและเห็นว่า การเกิดขึ้น การเสื่อมไป และ การสลายไปแห่งสิ่งทั้งหลาย เหล่านั้นเป็นตัวทุกข์ และเพราะเป็นเช่นนั้น จึงปรากฎต่อไปว่า ไม่มีแก่นสารในสิ่งเหล่านั้น เพราะสิ่งหนึ่งๆ ซึ่งเป็นตัวของมันเองขึ้นอยู่กับความเปลี่ยนแปลงอย่างไม่ขาดสาย บุคลิกลักษณะที่ปรากฎให้เห็นซึ่งหมายถึงเมื่อเราพูดถึง “อัตตา” เป็นการไหลไปแห่งขบวนการทางจิตซึ่งมีปัจจัยปรุงแต่งอย่างบังเอิญ และเมื่อเราหมายถึง “นิสสัย” ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า ความโน้มเอียงพิเศษเฉพาะชุดหนึ่ง ซึ่งเป็นไปตามทิศทางของมัน ถ้าบังเอิญมีวิญญาณหรืออาตมัน ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงตามความหมายในคัมภีร์อุปนิษัทแล้วไซร้ วิญญาณก็ไม่อาจมีความเชื่อมโยงกับอัตตาที่เปลี่ยนแปลงและไม่ยั่งยืนได้ และความพยายามทุกอย่างที่รู้จักหรือแม้ว่า จะเชื่อมโยง และสัมพันธ์เข้ากันและกัน ย่อมหาประโยชน์มิได้ อัตตาซึ่งเปลี่ยนแปลงนั้น ไม่สามารถจะมีอยู่ได้อย่างแท้จริง แต่ในขณะที่สิ่งซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงไม่สามารถจะเข้ากันได้กับบุคลิก-ลักษณะที่แข็งแกร่งของมนุษยชาติได้นั้น ปรากฎว่านักบุญชาวคริสตศาสนาชื่อออกสติน ได้พบความยากอันนี้อย่างชัดเจนมากกว่านักปรัชญาทางเวทานตะ เมื่อเขาเขียนไว้ว่าดังนี้
“เพราะว่าความไม่แน่นอนของสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ทั้งหลายสามารถมี รูปเหล่านั้นทั้งหมด ซึ่งในรูปเหล่านั้นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ทั้งหลายเหล่านี้ ถูกทำให้เปลี่ยนแปลงไป และความไม่แน่นอนนี้ได้แก่อะไร มันคืออัตตาหรือ? มันคือร่างกายหรือ? มันเป็นสิ่งซึ่งประชุมกันขึ้นเป็นอัตตา หรือร่างกายหรือ? คนอาจพูดดังนี้ได้ไหมว่า “มีบางสิ่งบางอย่างซึ่งไม่มีอะไร? ภาวะที่มีอยู่คือภาวะที่ไม่มีอยู่ ข้าพเจ้าจะกล่าวว่า “นี่คือสิ่งนั้น” และยิ่งกว่านั้น มันมีอยู่แม้ในเวลานั้นโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง เพราะสามารถได้รับภาพที่มองเห็นและภาพที่ผสมอยู่”
แต่สำหรับนักปรัชญาเริ่มตั้งแต่ฮูมเป็นต้นมา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่รับเอา ความคิดเรื่องร่างกายและเรื่องจิตใจซึ่งโดยปกติอยู่นิ่งไม่ได้มาใช้นั้น ย่อมไม่มีภาวะอย่างที่นาย ออกุสตินมี ความต้องการให้มีภาวะอันนั้นคงย่อมหมดไปโดยเร็ว จากการสอบถามทุกรูปแบบ และเราจะได้รับเฉพาะกระบวนการเท่านั้น ถามว่าอะไรเล่าที่เปลี่ยนแปลง ตอบว่า “ไม่มีสิ่งใด เปลี่ยนแปลง” เท่าที่แสดงออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งนั้น เป็นเพียงกระบวนการเท่านั้น เราอาจพูดถึงสิ่งของที่มีอยู่ในจักรวาล แต่ในการพูดเช่นนั้น เรากำลังทำตามประเพณีนิยม หมายถึงพลังแห่งการเปลี่ยนร่าง คือดุลยภาพแห่งพลังซึ่งสร้างโลกที่มีรูปร่างขึ้นมา โดยแท้จริง แล้ว หลักข้อนี้ใช้กันอยู่ในแวดวงของนักจิตวิทยา
การเข้าใจเรื่องนี้อย่างประจักษ์ (แม้ว่าจะไม่สมบูรณ์บริบูรณ์ก็ตาม) ย่อมก่อให้เกิด ขั้นต้นแห่งการเข้าสู่พระอริยมรรคมีองค์ ๘ จากขั้นต้นนี้ ย่อมเกิดปัจจัยตัวต่อไป คือสัมมา สังกัปปะ ความดำริชอบ ข้อนี้หมายถึงการตัดสินใจแน่วแน่ที่จะปลดเปลื้องตนเองออกจากเครื่องรึงรัด ซึ่งได้แก่ตัณหาอันมีอำนาจรึงรัดผูกมัดสัตว์ทั้งหลายไว้กับวงล้อคือการเกิดใหม่
โดยเหตุที่ไม่มีตัวตนที่ถาวรในกระบวนการแห่งชีวิต และทั้งไม่มีหลักแห่งอัตตา จึงต้อง เข้าใจว่ามีอนัตตา คือความไม่มีตัวตน ความไม่มีตัวตนดังกล่าวนี้ซึ่งสร้างลักษณะเด่นใน การวิเคราะห์สัตว์บุคคลตามหลักพระพุทธศาสนา ได้แก่ความเห็นซึ่งสอดคล้องกันเป็นอย่างดี กับข้อสรุปซึ่งนักคิดด้านวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ได้นำมาใช้ นักคิดเหล่านี้ตัดสินใจในข้อสรุปนี้อย่าง อิสรเสรี เราจะพบว่ากระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่ไม่มีสิ่งใดถาวรหรือ ทนทาน ซึ่งจะนำกระบวนการอันนี้มาใช้ด้วยได้ ปรากฎการณ์ทั้งสิ้นมีอยู่เฉพาะในความหมายที่ เกี่ยวข้องกันเท่านั้น เมื่อพิจารณาเห็นว่าสิ่งหนึ่งไม่สามารถมีอยู่ได้ ถ้าไม่มีสภาพที่เกี่ยวข้องกัน ในขณะใดก็ตาม สิ่งที่เราเรียกว่าอัตตา เป็นเพียงผลิตผลสุดท้ายของความสัมพันธ์กันโดยบังเอิญ ซึ่งมีมาก่อนและขยายย้อนหลังไปในอดีตอันหาที่สุดมิได้
นี้เป็นพื้นฐานของปรัชญาในพระอภิธรรมเท่าที่เกี่ยวข้องกับวิญญาณ อัตตาซึ่งสร้างขึ้น จากมโนภาพประกอบด้วยความรู้หลายหลาก ซึ่งเกิดขึ้นชั่วขณะหนึ่งๆ ความรู้แต่ละอย่างเป็น ขณะแห่งวิญญาณขณะหนึ่งๆ ซึ่งเพ่งตรงไปยังสิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้นดึงดูดความสนใจในขณะนั้น  ดังนั้น จากขณะหนึ่งไปยังอีกขณะหนึ่งเราได้รับความประทับใจหลายหลากชนิด ทั้งจากโลก ภายนอกและจากโลกคือกิจกรรมภายในจิต แต่เราไม่สามารถรับรู้ความประทับใจมากกว่า ๑ อย่างในขณะเดียวกัน เราอาจคิดว่าเราเห็นวัตถุสิ่งหนึ่ง ได้ฟังเสียงชนิดหนึ่ง ได้รับสัมผัสอย่างหนึ่งไปพร้อมๆ กัน แต่ความคิดดังนี้เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องอันเกิดจากความเร็วสุดขีด ซึ่งด้วยความเร็วนี้ขณะจิตทั้งหลายเกิดขึ้นต่อเนื่องกัน ขณะจิตเหล่านั้นทำให้เราขาดความเข้าใจ ทางอายตนะทั้งหลาย และความสนใจของเราจะถูกนำไปยังขณะจิตเหล่านี้ต่างๆ กันหรือผลัด เปลี่ยนกัน มีจุดหมุนเวียนจากขณะจิตหนึ่งไปยังอีกขณะจิตหนึ่ง แต่กระบวนการอันนี้เป็นไปอย่างเร็วมากจนเรารวบรวมความประทับใจทั่วๆ ไปไว้ด้วยกัน เมื่อเราได้เห็นได้ยินและได้รู้อีกใน เวลาเดียวกัน และเร็วจนถึงกับว่ามีความสืบเนื่องกันอย่างไม่ขาดสายในวิญญาณ คือความรู้ของเรา
แต่สิ่งที่ปรากฎว่ามีตัวตนซึ่งได้แก่ประมวลความคิด ความรู้สึก ความเห็น ความปรารถนา และ ความจำ  ซึ่งโดยทั่วๆ ไปจะรู้จักกันในคำว่าอัตตานั้น โดยแท้จริงแล้ว ไม่มีอะไร เลยนอกจากกระบวนการของภพ หรือ ความมี ความเป็นภพเชื่อมโยงวิญญาณขณะหนึ่งกับ วิญญาณอีกขณะหนึ่ง ซึ่งปรากฎตามมาแต่ละอย่างโดยอาศัยปัจจัยปรุงแต่งที่มีมาก่อน ทั้งที่ เกี่ยวข้องกับจิตและที่เกี่ยวข้องกับกาย และมีแรงกระตุ้นทั้งภายในและภายนอก แรงกระตุ้น ภายในและภายนอกเป็นความประทับใจทางประสาทสัมผัสและข้อมูลที่ได้รับผ่านอายตนะภายใน ๕ อย่าง (ตา หู จมูก ลิ้น กาย) แรงกระตุ้นภายในได้แก่แรงกระตุ้นซึ่งเกิดขึ้นในจิต โดยการ หวนระลึกถึงความรู้สึกที่มีมาก่อน หรือโดยการคาดหวังความรู้อีกในอนาคต ดังนั้น เราจึงมี แนวโน้มที่จะเข้าใจว่าอัตตาเป็นอันเดียวกันกับแหส่งที่เกิดแห่งประสบการณ์ที่ทำให้มีความนึกคิด คือร่างกาย หรือไม่ก็เป็นอันเดียวกันกับกิจกรรมทางจิตวิทยาซึ่งสับสน เช่นความคิด ความตั้งใจ ความจำ และภาวะที่เกิดขึ้นพร้อมกันทั้งหลาย อย่างไรก็ตาม ปรากฎการณ์เหล่านี้ ซึ่ง ทั้งหมดมีปัจจัยปรุงแต่งและไม่ถาวรเป็นภาวะที่จะมีจะเป็นมากกว่าที่สภาวะเป็นจริง เช่นเดียว กับในขอบข่ายแห่งวิชาฟิสิกส์ สะสารที่แข็งย่อมสลายตัวเองไปเป็นพลังงานนิวเคลียร์ฉันใด ในขอบข่ายแห่งกิจกรรมทางจิตก็ฉันนั้น อัตตาสมมติซึ่งคิดสิ่งใดสิ่งหนึ่งย่อมสลายตัวไปเป็น กระบวนการอันหนึ่ง คือการคิด ในกรณี ทั้ง ๒ นี้ สิ่งที่เรากำลังดำเนินการอยู่ ไม่ใช่สิ่งที่ซับซ้อนอันใด แต่เป็นเหตุการณ์ต่างๆ หลายหลากซึ่งเกิดขึ้นสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสาย
เหตุใดพระพุทธศาสนา ซึ่งขัดแย้งกับศาสนาอื่นๆ จึงเน้นอย่างมากในเรื่องความไม่มี อัตตาที่แท้จริง คำตอบก็คือ เพราะความคิดที่ว่า มีตัวตนซึ่งเป็นความคิดเฉพาะบุคคลที่ว่า มี “ตัวกู”ที่แท้จริงผู้เสวยความสุขทางประสาทสัมผัส นั้นเป็นเหตุแห่งตัณหา ซึ่งนำบุคคลไป สู่ความเป็นอยู่ที่มีสืบต่อกันมา ก่อให้เกิดภวตัณหา /หรือความทะยานอยากเพื่อความเป็นอยู่ และผลพลอยที่ตามมาได้แก่ โลภะ (ความโลภ) โทสะ (ความโกรธ) และโมหะ (ความหลง) ซึ่งได้แก่ไฟ คือความทุกข์ ๓ กองในพระธรรมเทศนาที่ยิ่งใหญ่กัณฑ์หนึ่งที่ว่าด้วยไฟ ซึ่งปรากฎใน พระคัมภีร์มหาวรรค พระพุทธเจ้าทรงประกาศว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างถูกไฟไหม้และเผาผลาญด้วย ไฟ คือตัณหา พยาบาท และโมหะ (ความหลงงมงาย) เพื่อที่จะดับเพลิงทุกอย่างตลอดไป ในเบื้องต้น บุคคลจะต้องสลัดการหลงตัวเองออกไป การหลงตัวเองนี้เรียกว่าสักกายทิฏฐิ ซึ่งเป็นข้อแรกในสังโยชน์ ๑๐
การถอนความหลงผิดว่ามีตัวตนออกไป เป็นการกระทำที่ยากเช่นเดียวกับการขจัด อวิชชาออกไปจากบุคคลแต่ละคน ดังนั้นอุบายประการแรกคือจะต้องยอมรับด้วยสติปัญญาว่า “ไม่มีตัวกูที่ถาวร” การเข้าใจความจริงข้อนี้อย่างแจ่มแจ้ง ซึ่งเปลี่ยนวิถีจิตไปในทางใหม่โดย สิ้นเชิง จะเกิดขึ้นพร้อมกันการบรรลุพระอรหัตผล ภาวะเช่นนี้จะเกิดขึ้นพร้อมกับการดับไปแห่ง สายเชื่อมโยงสุดท้ายคืออวิชชาและตัณหา
จุดมุ่งหมายสุดท้ายของการเจริญสมาธิในพระพุทธศาสนา ก็คือการเปลี่ยนรูปแบบ การยอมรับความจริงเหล่านี้ด้วยสติปัญญาไปเป็นความเข้าใจความจริงเหล่านี้อย่างถูกต้อง ในขั้นนี้เองที่นักปรัชญาที่ไม่เก่งผู้มักไม่ได้รับการสนับสนุนจากปรัชญาของตน หรือไม่ก็ไม่ได้รับ ความสำเร็จในการใช้ปรัชญาอย่างสืบเนื่องตามความต้องการของตนได้กลายเป็นบุคคลผู้เข้าใจ ความจริงโดยอาศัยประสบการณ์ภายในตน และดังนั้นจึงไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่าการดำรงชีพอยู่ตามประสบการณ์นั้น เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสว่า “ผู้ใดเห็นตถาคต ผู้นั้นย่อมเห็นพระ ธรรม และผู้ใดเห็นพระธรรมผู้นั้นย่อมเห็นตถาคต” ดังนี้ พระองค์ทรงกล่าวถึงความจริงตาม ตัวอักษร พระโคดมทรงเป็นนักพรต ในฐานะที่ทรงเป็นบุคคลธรรมดาซึ่งมีปรากฎการณ์ จำกัด ได้มาเป็นหนึ่งเดียวกับความเป็น “พระพุทธเจ้าของพระองค์” พระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียว กับความจริงซึ่งพระองค์ทรงสอนแก่ผู้อื่น ผู้สอนและคำสอนก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
เราอาจหันไปพิจารณาสติปัฏฐาน ๔ หรือที่ตั้งแห่งสติ ๔ แห่ง ว่าเป็นวิธีตัวอย่าง อันหนึ่งซึ่งช่วยให้พระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ณ จุดนี้ พระสาวกย่อมฝึกการปลีกตนและ การไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยทั้งหลายซึ่งถือกันผิดๆ ว่าเป็นอัตตา คือ ร่างกาย ความรู้สึก จิต และธรรมารมณ์ ด้วยการกำหนดความสนใจไว้กับสิงเหล่านี้โดยปราศจากปฏิกิริยาทางสติปัญญาหรือทางอารมณ์ที่มีต่อสิ่งที่เขารู้ เขาย่อมฝึกฝนตนเองเพื่อให้ได้ทรรศนะคติที่ว่าไม่ใช่ตัวตน โดยสิ้นเชิง ซึ่งมีต่อปรากฎการณ์เหล่านี้ ในกายคตาสติ พระสาวกย่อมพิจารณาเห็นกายของตนว่าเป็นกองแห่งธาตุ ที่ปราศจากบุคคลซึ่งยึดเข้าด้วยกันตามกฎธรรมชาติ และทำงานสนอง พลังเคลื่อนไหวของโลกกายภาพ สาระสำคัญของร่างกายนี้ไม่แตกต่างจากสาระสำคัญของโลก ภายนอกเลย เมื่อพิจารณาเห็นดังนี้พร้อมกับมองเห็นความไม่สมบูรณ์ และความอ่อนแอของ ร่างกาย ซึ่งเป็นโน้มเอียงไปเพื่อความทุกข์เพราะความแก่และการตายแล้ว เขาย่อมเบื่อหน่ายร่างกาย และไม่ถือว่าร่างกายหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเป็นอัตตาคือมีตัวตนต่อไปอีกแล้ว เมื่อพิจารณาความรู้สึกของตนในทำนองเดียวกันนี้ เขาย่อมรู้แจ้งชัดว่าความรู้สึกเหล่านี้ ไม่ถาวร ควบคุมไม่ได้ และผลมาจากเหตุซึ่งกำหนดธรรมชาติของเจตนาของเขาอย่างอิสระ และดังนั้น เขาจึงเห็นว่า ความรู้สึกก็เป็นภาวะที่ไม่มีตัวตนเช่นกัน เมื่อเขาพิจารณาความคิด ด้วยความไม่ยึดนั้นถือมั่นเช่นเดียวกันนี้ เขาจะเห็นการไหลเวียนแห่งสภาพของจิตซึ่งเขา สามารถกำหนดได้ว่าน่ารักหรือไม่น่ารัก และเขาย่อมเข้าใจสภาพต่างๆ ของวิญญาณ ซึ่งเขาสามารถประเมินคุณค่าและขอบเขตแห่งอารมณ์ของมันว่าเป็นความปรารถนาหรือเป็นความอิสระจากความปรารถนา เป็นความโกรธหรือเป็นความอิสระจากความโกรธ เป็นความรู้แจ้ง แทงตลอดหรือเป็นความไม่รู้แจ้งแทงตลอด เป็นความดีใจหรือเป็นความเสียใจ มีฌานหรือ ปราศจากฌาน อยู่ในระดับที่หมกมุ่นอยู่ในกาม หรือเหนือระดับนั้น มีจิตแน่วแน่ หรือมีจิตไม่ แน่วแน่ ปล่อยวาง หรือยึดนั้น ด้วยวิธีการวิเคราะห์ทางจิตซึ่งอาศัยสภาพที่ไม่มีตัวตนเช่นนี้ พระสาวกย่อมมีความรู้เรื่องธรรมชาติแห่งการทำงานของจิต และหยุดเป็นทาสแห่งการกระทำ นั้นเสีย ความรู้จักตนเองซึ่งพระสาวกได้มานั้น ย่อมทำให้เขาเป็นอิสระจากความหลงผิดเกี่ยวกับ ปฏิกิริยาทางอารมณ์ แรงกระตุ้น และสันดานส่วนตัวเขาเอง ในเวลาเดียวกัน ความรู้นั้นย่อม เปิดเผยซึ่งลักษณะเป็นอนัตตาของจิตในภูมิภพที่ไม่ยั่งยืนเหล่านี้ภูมิแห่งจิตเหล่านี้จะปรากฎเป็น “ปรากฎการณ์ว่างเปล่า” คือเหตุการณ์ทางจิตซึ่งปราศจากความถาวรโดยประการทั้งปวง
เมื่อพิจารณาธรรมารมณ์ทั้งหลาย พระสาวกย่อมมีการวิเคราะห์มากยิ่งขึ้น และเข้าใจ อย่างชัดเจนว่าความหม่นหมองแห่งจิตย่อมมีอยู่ในขณะใดขณะหนึ่ง มันเกิดขึ้นได้อย่างไร มันจะถูกขจัดให้หมดสิ้นไปได้อย่างไร และจะป้องกันมิให้มันเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างไร
พระสาวกย่อมพิจารณาเห็นธรรมชาติที่แท้จริงของส่วนต่างๆ ของบุคคลคือ ขันธ์๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และมองเห็นที่เกิด การเจริญ และการสลายตัวของส่วนเหล่านั้น และด้วยความเข้าใจขั้นนี้ เขาย่อมพิจารณาเห็นอย่างถี่ถ้วน ซึ่งทวารทั้ง ๖ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)ซึ่งจะรับรู้สิ่งต่างๆ ทางประสาทสัมผัสและย่อมพิจารณาเห็นอย่างถี่ถ้วนซึ่งอายตนะภายนอก ๖ (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์) ซึ่งทวารทั้ง ๖ จะเปิดรับ โดยวิธีนี้ พระสาวกสามารถให้คำจำกัดความคำว่าตัณหา และคำว่าอุปาทานซึ่งเกิดเพราะตัณหาเหล่านั้นได้ และเรียนรู้ว่าจะเอาชนะตัณหาเหล่านั้นได้อย่างไร และจะกันไม่ให้ตัณหาเหล่านั้นเกิดขึ้นอีกใน อนาคตได้อย่างไร จากนั้นเขาจะสามารถทราบความแตกต่างระหว่างสิ่งหลอกลวงกับสิงจริง ทั้งหลาย เขาสามารถกล่าวได้ว่า ในธรรมซึ่งเป็นองค์แห่งการตรัสรู้ ๗ ข้อนั้นข้อใดมีอยู่ในตัวเขา และข้อใดบ้างยังจะต้องอบรมให้เกิดมีขึ้นในตน และแล้วเขาย่อมเข้าใจสาระสำคัญของ พระอริยสัจด้วยเหตุนี้หนทางที่จะบรรลุถึงความหลุดพ้นย่อมเปิดให้เขาโดยอาศัยการเจริญวิปัสสนา ซึ่งเป็นโลกุตรธรรมอันปราศจากกิเลสเครื่องร้อยรัด
ความเป็นอยู่ตามที่เราประสบอยู่ในปัจจุบัน เป็นวงจรอันไม่มีที่สิ้นสุดแห่งการ แสดงออกซึ่งพลังจิตบันดาลให้เกิดขึ้น การแสดงออกเหล่านี้ออกมาในรูปของสัตว์บุคคลผู้มี ความรู้สึก “การเกิดใหม่”นี้(จะต้องใช้คำนี้เพราะไม่มีคำอื่นที่ดีกว่า และเป็นคำที่น่าใช้กว่าคำว่า “อวตาร” หรือคำว่า การจุติจากร่างหนึ่งไปยังอีกร่างหนึ่ง ปรากฎในภูมิ ๓๑ ของสัตว์ที่มี สังขารร่างกาย แต่ละภูมิ แบ่งออกเป็นภูมิ ย่อย มีจำนวนนับไม่ ถ้วน และไม่มีอะไรมากไปกว่า การสืบต่อโดยบังเอิญแห่งการกระทำและผลแห่งการกระทำ การกระทำทุกอย่าง ซึ่งประกอบ ด้วยเจตนา (ซึ่งได้แก่การกระทำทุกอย่างที่ได้รับการสนับสนุนจากความทะยานอยาก เพื่อผล อย่างใดอย่างหนึ่ง และที่ถูกนำไปยังผลนั้นอย่างรู้ซึ่งอยู่แก่ใจ) ย่อมส่งออกซึ่งพลังอันก่อให้เกิด การเปลี่ยนแปลงหรือให้เกิดปฏิกิริยาโต้ตอบางอย่างในโลก คือประสบการณ์ตามผลที่เกิดขึ้น ทั้งที่เป็นผลที่น่าปรารถนาและผลที่ไม่น่าปรารถนาสำหรับเราผลเหล่านี้แบ่งออกเป็น ๓ประเภท คือผลดี ผลชั่ว และผลกลางๆ ซึ่งไม่ดีไม่ชั่ว เบื้องหลังการกระทำทุกอย่างย่อมมีแรงกระตุ้นคือ ความอยาก และพลังแห่งความอยากคือตัณหา อันนี้เองที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นความจริงเพียงสิ่งเดียว แน่นอนที่สุด นั่นก็คือพระเจ้าองค์เดียวในโลกแห่งปรากฎการณ์ สัตว์มีชีวิตทั้งหลายเป็น ส่วนประกอบของตัณหาที่สร้างขึ้นมาในตน และประวัติศาสตร์แห่งจักรวาลไม่มีจุดเริ่มต้นหลัก ศีลธรรมมีอยู่ในจักรวาลนี้ แต่เป็นหลักที่ไม่มีตัวตนโดยแท้ เพราะเป็นธรรมชาติจำเป็น สำหรับ สิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย เช่นเดียวกับกฎแห่งความถ่วงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสิ่งที่ไม่มีชีวิต ฉะนั้น มนุษย์แต่ละคนเก็บเกี่ยวผลแห่งเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งที่เขาทำไว้ในอดีต ความเข้าใจของเขา เกี่ยวกับคุณค่าทางศีลธรรม เกิดมาจากความรู้สึกที่ชัดเจนในบุคคลบางคนและไม่ชัดเจนในบุคคลอื่น แต่จะปรากฎอยู่บ้างในเกือบทุกคนว่า โดยสัตย์จริงแล้ว มีกฎที่ตอบสนองและชดเชย กันอยู่ในตัวมันเองตามธรรมชาติ ผู้ที่นับถือพระเจ้าอย่างยอมรับว่าเป็นอำนาจของพระเจ้า แต่ชาวพุทธทั้งหลายเมื่อไม่พบหลักฐานที่แสดงว่ามีพระเจ้าผู้มีความกรุณาอยู่ในจักรวาล ซึ่งวาง เฉยในเรื่องความทุกข์ ย่อมไม่แสวงหากฎอื่นใดนอกจากกฎแห่งเหตุผลตามธรรมชาติ (ปฏิจจสมุปบาท) เท่านั้น
การเกิดใหม่ซึ่งมีกรรมชั่วเป็นผลตามมานั้น ปรากฎขึ้นโดยการมาประจวบกันแห่ง ปัจจัยทางจิตวิทยา๒ อย่าง คือตัณหา และอวิชชา ตัณหาเป็นไปเพื่อประสบการณ์ทางความรู้สึก หรือเหตุผล ซึ่งด้วยประสบการณ์นี้สัตว์ทั้งหลายรู้สึกว่าตนเองมีความเป็นอยู่เป็นตัวตน อวิชชา ซึ่งได้แกความไม่รูในเบื้องต้นซึ่งปิดบังความจริงชั้นปรมัตถ์เหล่านี้รวมกันสร้างแรงกระตุ้นที่สำคัญ คือความปรารถนาจะมีชีวิตอยู่ ซึ่งด้วยแรงกระตุ้นนี้ สัตว์ผู้มีความรู้สึกทุกระดับชั้น และทุกรูปทรงเกิดขึ้นมา การยอมรับชีวิตเช่นนี้ จะเชื่อมโยงกับกรรม คือการกระทำอย่างแยกไม่ออก และกรรมนี้เอง ได้แก่พลังงานอันประกอบด้วยเจตนา ซึ่งเกิดขึ้นในความคิด ในคำพูด และในการกระทำทางกายตลอดชีวิตหนึ่งๆ ที่สร้างสัตว์บุคคลขึ้นอีกชีวิตหนึ่งหลังจากการตายอันเป็น ผลของมันในภาวะอย่างนั้น ศักยภาพแห่งกรรมซึ่งสะสมมาจากการกระทำในอดีตย่อมให้ผล และความสืบต่ออย่างไม่ ขาดสายจะมีต่อไป เพราะการกระทำอันมีเจตนามากยิ่งขึ้น แต่ในความมีตัวตนตามปรากฎการณ์ ซึ่งประกอบด้วยเจตสิกธรรม ๔ อย่าง คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ซึ่งเชื่อมโยงกับรูปธรรม คือร่างกายย่อมไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องรูปพรรณ จากขณะหนึ่งไปยังอีกขณะหนึ่ง กระแสแห่งความเข้าใจตนเอง ซึ่งคนผู้ไม่ได้รับการศึกษาเข้าใจ ว่าเป็นอัตตานั้น เกิดมาจากขณะจิตทั้งหลาย ซึ่งแต่ละขณะจิตปรากฎอยู่ในระยะเวลาชั่วครู่ แต่เนื่องจากว่าขณะจิตแต่ละขณะ บังเอิญมีส่วนเกี่ยวข้องขณะจิตทั้งหลายซึ่งมีมาก่อน  ขณะแห่งความคิดอาจกล่าวได้ว่ารับช่วงความโน้มเอียงมาจากบรรพบุรุษและส่งทอดความโน้มเอียงนั้น ไปยังผู้สืบทอดมรดกของตนตามวาระความต่อเนื่องกัน (สันตติ) นี้เองที่ถ่ายทอดนิสัยให้แก่ กระแสวิญญาณของแต่ละบุคคล ทั้งนี้เพราะว่านิสัยก็คือแรงจูงใจที่จะคิดและกระทำโดยวิธีใดวิธีหนึ่งนั้นเอง ซึ่งกลายเป็นนิสัยประจำตัวของแต่ละบุคคล ดังนั้น เราจะเห็นว่า สิ่งที่สมมติเรียก กันว่า “การเกิดใหม่” ของแต่ละบุคคลก็เหมือนกับการเกิดและการตายชั่วขณะหนึ่งต่อเนื่องกัน แห่งขณะจิต ซึ่งได้แก่การนำความโน้มเอียง ซึ่งมีในอดีตติดตัวไป ข้อนี้กำหนดชนิดและคุณภาพ ของนามรูป  เมื่ออุบัติขึ้นมาในกรณีของบุคลิกภาพการพัฒนาชั้นต่อไป อาจเปลี่ยนแปลงโดย การกระทำที่มี เจตนาต่อเนื่องกันไป
ตามที่นักจิตวิทยาฝ่ายตะวันตกเข้าใจกัน การกระทำที่มีความตั้งใจสามารถเกิดขึ้นได้ จากจิตที่รับรู้เรื่องนั้นๆ หรือจากชั้นภูมิของจิตที่ไม่รับรู้เรื่องนั้น และดังนั้น การกระทำเหล่านั้น ย่อมได้รับการกระตุ้นจากอารมณ์ และเชาว์ปัญญาในระดับต่างๆ กัน มนุษย์แต่ละคนจะถูก ต้อนไปทางนี้ และทางนั้นบ้างโดยแรงกระตุ้นที่ขัดแย้งกัน หรือสลับกันไป จุดมุ่งหมายของวิชา จิตคาสตร์ของฝ่ายตะวันตกก็เพื่อเปิดเผยทุกสิ่งทุกอย่างที่มีในตัวบุคคล และเพื่อรวมเป็นอัน หนึ่งอันเดียวกันถ้ารวมได้ แต่การรวมกันแบบนี้เป็นการประนิประนอมกันทั้งภายในและภาย นอกตามความจำเป็นเท่านั้น    แม้ว่าจะได้รับความสำเร็จก็ตามจากแนวความคิดทางพระพุทธศาสนา ไม่มีอะไรเลยนอกจากการเปลี่ยนสิ่งลวงตาอันหนึ่งไปยังสิ่งลวงตาอีกอันหนึ่ง โดยทึกทักเอาว่า สิ่งลวงตาที่ถูกเปลี่ยนแทนนั้นเป็นสิ่งที่ปาปรารถนามากกว่าสิ่งลวงตาที่เกิดใหม่ เป็นความจริงสิ่งลวงตาเหล่านั้นอาจดีกว่า ถ้าว่าจุดมุ่งหมายเป็นเพียงการกระทำให้แต่ละบุคคล มีความเหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมของเขาอย่างสะดวกยิ่งขึ้น หรืออย่างมีผลดียิ่งขึ้น แต่ถ้าจุดมุ่งหมายบ่งว่า เพื่อเข้าใจธรรมชาติของจิต และเพื่อบรรลุความสมบูรณ์สูงสุดของจิตแล้ว จะต้อง มีหลักวิชาอย่างหนึ่งซึ่งพิจารณาปัจจัยต่างๆ มากกว่าที่นักจิตศาสตร์ตะวันตกยอมรับด้วย ความพอใจ ถ้าไม่มีจุดมุ่งหมายข้อนี้แล้ว มนุษย์อาจได้รับความสำเร็จในฐานะเป็นหน่วยหนึ่ง ของสังคม แต่จะผิดหวังโดยสิ้นเชิงในฐานะเป็นบุคคลผู้ก้าวหน้า ซึ่งพัฒนาบุคลิกของตนในเรื่อง ความเป็นบุคคล
จุดประสงค์ข้อหนึ่งของการเจริญสมาธิในพระพุทธศาสนา คือการทำให้แต่ละบุคคล เข้าใจอย่างชัดแจ้งถึงฐานะของตนในโลก มูลเหตุที่กำหนดให้เขาอยู่ ณ ที่ๆ เขาเป็นอยู่ และจุดที่เขาจะต้องพยายามเพื่อบรรลุ เมื่อเขาได้บรรลุจุดประสงค์นี้แล้วเท่านั้น เขาจึงจะได้ รับขนานนามว่า “เป็นนายแห่งจุดหมายปลายทางของตน” ด้วยเหตุผลนี้ ถ้าไม่ใช่ด้วยเหตุผลอื่น หนังสือเล่มนี้ควรดึงดูดความสนใจของประชาชนผู้เป็นนักคิดทั้งหลาย ทั้งในเอเชียและในโลกตะวันตก ในชิวงเวลาที่มีอารมณ์ไม่แน่นอนหรือมีความเครียด จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคนจะ ต้องพยายามเพื่อเข้าใจความหมายของชีวิต และบุคคลจะทำสิ่งนี้ได้โดยวิธีเดียว คือการเข้าใจ ความมีความเป็นในภายในตัวของเขาเอง คำตอบปัญหารีบด่วนซึ่งเผชิญหน้าเราอยู่ในปัจจุบัน จะไม่พบในโลกนอกตัวเรา หรือในเงื่อนไขซึ่งเกิดขึ้นรอบๆ ตัวเขา เพราะจากการวิเคราะห์ครั้งสุดท้าย สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงการแสดงออกมาของสภาพที่อยู่ในภายในตัวเราเท่านั้น โลกนี้มนุษย์สร้างมันขึ้นมา ถ้าโลกนี้จะต้องเปลี่ยนไปจากภายใน ณ จุดดั้งเดิมของมัน นั่นก็คือจิต นี่คือความจริง ที่ปรัชญาตะวันออกสอนไว้ และความจริงข้อนี้ได้บรรลุถึงขั้นที่เจริญที่สุดในพระพุทธศาสนา เพราะเราจะพบว่า วิธีการพัฒนาอินทรีย์ (ความเป็นใหญ่ในตัวบุคคลที่ซ่อนเร้นในมนุษยชาติ) มีอยู่วิธีหนึ่งซึ่งประกอบด้วยเหตุผลและมีระบบ เป็นระบบที่รับสืบทอดกันมาหลายยุคหลายสมัย ครั้งแรก ด้วยการปากเล่ากันปากต่อปาก ต่อมาด้วยการขีดเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร โดยผู้ที่ได้ปฏิบัติมาด้วยตนเอง นับตั้งแต่ยุคที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนเป็นครั้งแรกเป็นต้นมา และโดยผู้ที่ ใช้ชีวิตที่มีการพิสูจน์ความจริง และมีความสามารถเช่นเดียวกับพระบรมครูของเรา
ในการรวบรวมและเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้พระ ดร พี วชิรญาณ (Ven  Dr p  Vajiranana) มหาเถระได้นำข้อมูลที่สำคัญที่สุดจากเอกสารต่างๆ ทั้งหมดที่สืบทอดมาถึงเรามาเสนอ และเรียบเรียงอย่างมีระบบ ใช้หัวข้อที่เหมาะสม จัดหาเอกสารที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันมาอ้างอิง ให้คำอธิบาย และวิจารณ์เอกสารเหล่านั้น เป็นครั้งแรกที่ได้พยายามจัดทำหนังสือประเภทนี้  นับตั้งแต่สมัยที่พระอรรถกถาจารย์ ภาษาบาลีผู้ยิ่งใหญ่ฝ่ายเถรวาททั้งหลายได้ทำไว้ เพราะว่า หนังสือเล่มนี้มีจุดมุ่งหมายอันแน่วแน่ คือการสำรวจการเจริญสมาธิในพระพุทธศาสนาโดย บุคคลผู้มีคุณสมบัติดีเด่นคนหนึ่ง สำหรับข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้ารู้สึกว่าได้รับอภิสิทธิ์อันยิ่งใหญ่ที่ ได้รับความไว้วางใจ และให้โอกาสช่วยเหลือในการผลิตหนังสือเล่มนี้ ข้าพเจ้าเองได้มีส่วนช่วย เหลือเพียงเล็กน้อย แต่ในขณะที่ช่วยเตรียมการพิมพ์เผยแพร่หนังสือเล่มนี้ ข้าพเจ้าได้รับความรู้เพิ่มขึ้นอีกมากมายเกี่ยวกับเอกสารทั้งหลายเหล่านั้น และมีความเข้าใจถึงวิธีที่จะนำเอกสารเหล่านั้นมาใช้ในการเจริญสมาธิได้ดีขึ้น ซึ่งข้าพเจ้ารู้สึกเป็นหนี้บุญคุณอย่างยิ่งต่อผู้แต่งซึ่งเป็น
ครูของข้าพเจ้า ในการสนทนากันอย่างยืดยาว เรายึดประเด็นหลักคือการให้ความหมายของคำและยึดวิธีที่ดีที่สุดเพื่ออธิบายคำสอนที่คลุมเครือมาก บางข้อเกี่ยวกับการเจริญภาวนาที่ข้าพเจ้าได้ศึกษามาข้าพเจ้าแสดงความเคารพในท่านไม่เพียงแต่ในความเป็นผู้คงแก่เรียนของท่าน ความขยันหมั่นเพียรของท่าน ความเป็นนักการศึกษาของท่าน ความรอบรู้ของท่าน ความสุจริตใจอย่างมีสติรอบคอบของท่านเท่านั้น แต่ในบางสิ่งที่มีค่ามากยิ่งกว่าที่กล่าวมาแล้ว   
นั่นก็คือวิปัสสนาปัญญาที่รู้แจ้งใน ปรมัตถธรรมของท่าน ซึ่งมีอยู่เบื้องหลังคำสอนทั้งหลาย
สัพพะทานัง ธัมมะทานัง ชินาติ : การให้ธรรมเป็นทานชนะการให้ทุกๆ อย่าง ในการผลิตหนังสือเล่มนี้ให้เป็นสมบัติของชาวโลก พระดร พี  วชิรญาณ มหาเถระได้สร้างบุญอันสูงสุด ข้าพเจ้าขอตั้งความปรารถนาขอให้หนังสือเล่มนี้รับใช้ประชาชนไม่เพียงแต่เป็นแหส่งข้อมูล อ้างอิงสำหรับนักการศึกษาทั้งหลายเท่านั้น แต่ยังเป็นหนทางเสนอแนะวิธีการเจริญกรรมฐาน แก่คนจำนวนมากผู้แสวงหาข้อแนะนำทางจิตใจในสมัยที่มีความทุกข์ยากอีกด้วย เขาเหล่านั้นก็ เช่นเดียวกับข้าพเจ้าย่อมเป็นหนี้บุญคุณแก่ผู้แต่ง และก็เช่นเดียวกับข้าพเจ้าย่อมให้เกียรติผู้แต่งว่าเป็นครูของตน ด้วยอำนาจผลกุศลธรรม ขอให้ผู้แต่งบรรลุถึงประตูชัยอันสูงส่งแห่งการ เจริญภาวนาคือการพ้นจากทุกข์ทั้งสิ้น คือได้บรรลุพระนิพพาน

คำนำ

คำนำ

    หนังสือเล่มนี้เป็นผลแห่งการสืบสวนถึงภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ผลที่ได้รับ การบรรลุธรรม และจุดมุ่งหมายสุดท้ายในการเจริญสมาธิในพระพุทธศาสนา ตามที่ค้นพบใน พระคัมภีร์ต่างๆ ของฝ่ายเถรวาทซึ่งแต่งไว้เป็นภาษาบาลี
    ในที่นี้ คำว่า สมาธิ ไม่ถือว่าเป็นการหลุดพ้นไปจากโลกซึ่งเป็นเชิงลบ แต่เป็นพลังที่ทรงความสามารถซึ่งเป็นเชิงบวก เป็นคุณธรรมที่สามารถยกสถานภาพของบุคคลจาก สภาพธรรมดาขึ้นสู่สภาพที่ประเสริฐได้ เป็นมรรควิถีที่ช่วยบุคคลให้ออกจากความมืด คืออวิชชาได้ และช่วยพัฒนาความฉลาดให้สูงขึ้นจนถึงจุดรู้แจ้งเห็นจริงอย่างสมบูรณ์ ซึ่งเป็น เป้าหมายสุดท้ายที่มนุษย์แสวงหา เป็นวิถีทางอันเดียวที่จะนำบุคคลไปถึงความหลุดพ้นในที่สุด ซึ่งเป็นความสุขนิรันดร พระพุทธเจ้าตรัสเรียกการหลุดพ้นนี้ว่า ‘‘นิรฺวาณ” (ตรงกับภาษาบาลีว่า นิพพาน) ในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ
    หลักฐานสำคัญสำหรับหนังสือเล่มนี้ได้มาจากตำราภาษาบาลี ซึ่งค้นคว้าจากสมาคม บาลีปกรณ์ในประเทศอังกฤษ ในการเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ ข้าพเจ้าพยายามเสนอเนื้อหา สาระจากหลักฐานและข้อมูลพื้นฐานที่พบในพระคัมภีร์ต่างๆ ในพระไตรปิฎกและอรรถกถา ทั้งหลายตามลำดับ จนถึงจุดหมายขั้นสุดท้ายแห่งการเจริญสมาธิโดยทั่วๆไป โดยทั่วไปโครงการนี้ดำเนินการได้โดยอ้างถึงงานชิ้นสำคัญคือ วิสุทธิมรรค (ผลงาน) ของพระพุทธโฆษาจารย์เถระ ตามแนวทางที่กล่าวนี้ ได้พบความสลับซับซ้อนมาก จึงอาจมีข้อบกพร่องผิดพลาดได้    แต่ข้าพเจ้าได้พยายามอย่างดีที่สุดเพื่อขจัดข้อบกพร่องดังกล่าว
ความคาบเกี่ยวกันของเนื้อหาสาระ ทำให้เกิดการซ้ำซ้อนอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่สิ่งนั้นไม่เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด ผู้อ่านจะพบว่าความซับซ้อนดังกล่าวช่วยให้ประเด็นที่ไม่กระจ่างและ เข้าใจยากกลายเป็นประเด็นกระจ่างชัดและเข้าใจง่ายขึ้น โดยการพิจารณาเรื่องนั้นๆ ในหลาย แง่มุมเพราะเรื่องบางเรื่องเมื่อมองในแง่เดียวอาจเข้าใจได้เป็นบางส่วนเท่านั้นแต่เมื่อมองหลายแง่มุม อาจเข้าใจได้อย่างครบถ้วน การเจริญสมาธิทุกรูปแบบ จะเกี่ยวโยงไปถึงคำสอนพุทธปรัชญา ขั้นพื้นฐาน และมีความสัมพันธ์กันในหลายประเด็น จนบางครั้งความจำเป็นในการอ้างอิงถึง เนื้อหาที่เกี่ยวข้องนั้นปรากฎเป็นงานที่ก้าวหน้าขึ้น
    ข้าพเจ้าใช้เวลา ๓ ปี คันคว้าหาข้อมูลที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เพื่อเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ภายใต้การควบคุม ของ ดร อี เจ ทอมัส (Dr  E J  Thomas) ขณะนั้นเป็นรองบรรณารักษ์ ห้องสมุดมหาวิทยาลัยแห่งนั้น ซึ่งข้าพเจ้าขอบันทึกไว้ในที่นี้ว่าบุคคลผู้นี้มีความกรุณาต่อ ข้าพเจ้ามาตลอดเวลาการค้นคว้าของข้าพเจ้า และขอขอบคุณท่านไว้ ณ ที่นี้ด้วย
    อนึ่ง ข้าพเจ้าขอขอบคุณบุคคลต่อไปนี้ ผู้ได้ช่วยเหลือข้าพเจ้าด้านข้อมูลต่างๆ ในช่วง เวลาการค้นคว้าที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ คือ นายบี แอล บรูดัน (Mr  B L  Bronkton) นายเอ จี   กร้านด์ และนางอี กร้านด (Mr  A G Grant, Mrs E  Grant) และ บุตรชายของเขา นายอลัน กร้านด้  (Mr  Alan Grant) นายฟรานซิส เจ  เพนี (Mr  Francis J Payne), และนางสาวคอนสแตนต์ หลุยส์เบรี (Miss Constant Lounsberg) จากปารีส
    ในช่วงเวลาการค้นคว้านั้น ข้าพเจ้าได้มีโอกาสปรึกษากับบุคคลหลายคนเกี่ยวกับ เนื้อหาสาระของวิทยานิพนธ์และบุคคลเหล่านั้นได้ให้กำลังใจและช่วยเหลือข้าพเจ้าเป็นอย่างดีคือ ดร  ดับเบิลยู สตีด (Dr W. steede) ศาสตราจารย์ทางภาษาบาลี มหาวิทยาลัยลอนดอน ดร ดับเบิลยู วาย อีแวนซ์เวนช์ จีชัส (Dr W Y  Evanswentz) มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด
    ในที่สุด ข้าพเจ้าขอขอบคุณ นาย ฟรานซีส สตอรี (Mr  Francis Story) ผู้ได้ช่วยตรวจ  ปรู๊ฟและเขียนคำนำซึ่งอธิบายถึงความสำคัญของเนื้อหาวิชาตามความเข้าใจพระพุทธธรรม อย่างลึกซึ้งของเขา
    ข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้จะมีประโยชน์คุ้มค่าสำหรับผู้ช่วยเหลือทุกๆ คนซึ่งถูกเอ่ยนามข้างบนนี้รวมถึงสำนักพิมพ์และผู้พิมพ์โฆษณาด้วยขอให้ได้พระนิพพาน ทุกคนเทอญ

พระ ดร. ปรวาแฮระ วชิรญาณ
(Ven Dr.  P.  VAJIRAYANA)
โคลัมโบ
สิงหาคม ค ศ  ๑๙๖๑

คำปรารภ

คำปรารภ

    มูลนิธิแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ ซึ่งได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิ เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๓๔ มีจุดประสงค์ ๕ ประการ คือ
    ๑  บำรุงการศึกษาพระปริยัติสัทธรรม
    ๒  บำรุงการศึกษาพระปฏิบัติสัทธรรม
    ๓  เผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งในและนอกประเทศ
    ๔  ดำเนินการหรือร่วมมือกับองค์การสาธารณประโยชน์
    ๕  ไม่ดำเนินการเกี่ยวกับการเมืองแต่ประการใด
    เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ ที่ประชุมกรรมการมูลนิธิฯ ได้มีมติให้ดำเนินการแปลหนังสือทางพระพุทธศาสนา ซึ่งตีพิมพ์เป็นภาษาอื่นให้เป็นภาษาไทย และถ่ายถอดอักษรหนังสือที่พิมพ์ด้วยอักษรอื่นเป็นอักษรไทยแล้วแปลเป็นภาษาไทย
กรรมการที่ประชุมได้มีมติมอบหมายให้ รองศาสตราจารย์ ชูศักดิ์ ทิพย์เกษร แปลหนังสือ เล่มนี้จากต้นฉบับภาษาอังกฤษชื่อ “Buddhist Meditation” ซึ่งแต่งโดยพระเถระชาวศรีลังกา ชื่อพระ พี วชิรญาณ Ph D   ข้าพเจ้ามั่นใจว่าหนังสือเล่มนี้ซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก จะให้ความรู้และแนวทางสำหรับเจริญสมาธิได้เป็นอย่างดี
    ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ ข้าพเจ้าขอขอบคุณ รองศาสตราจารย์ ชูศักดิ์ ทิพย์เกษร เป็นอย่างยิ่งไว้ ณ โอกาสนี้ และขอขอบคุณผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ สังวร พรหมเสน เป็นพิเศษที่ได้กรุณาสอบทานและปรับปรุงข้อความบางตอนให้ เหมาะสมยิ่งขึ้น
    ธนิต อยู่โพธิ์
    ประธานกรรมการ มูลนิธิแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์

สารบัญ

สารบัญ
คำปรารภ
คำนำ
บทนำ
บทที่ ๑ ทฤษฎีการเจริญสมาธิในพระพุทธศาสนา
บทที่ ๒หลักการเจริญสมาธิในพระไตรปิฎก
บทที่ ๓ คำจำกัดความ
บทที่ ๔ ฌานและสมาธิ
บทที่ ๕ อารมณ์กรรมฐานและวิธีปฏิบัติกรรมฐาน
บทที่ ๖ สีลวิสุทธิ
บทที่ ๗ การตัดความกังวลทั้งปวง
บทที่ ๘ การแสวงหาสหายและครู
บทที่ ๙ การเลือกกรรมฐาน
บทที่ ๑๐ สถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเจริญสมาธิ
บทที่ ๑๑ โพธิปักขิยภาวนา
บทที่ ๑๒ เวลาและอิริยาบถสำหรับการเจริญสมาธิ
บทที่ ๑๓ กสิณภาวนา
บทที่ ๑๔ อสุภภาวนา   
บทที่ ๑๕ อนุสสติภาวนา
บทที่ ๑๖ มรณสติภาวนา
บทที่ ๑๗ กายคตาสติภาวนา
บทที่ ๑๘ อานาปานสติภาวนา
บทที่ ๑๙ อุปสมานุสสติ
บทที่ ๒๐ การเจริญพรหมวิหาร
บทที่ ๒๑ วิธีเจริญพรหมวิหาร
บทที่ ๒๒ อาหาเรปฏิกูลสัญญา
บทที่ ๒๓ จตุธาตุววัฏฐานภาวนา
บทที่ ๒๔ อรูปสมาบัติ

จุดมุ่งหมายของ Blog

      จุดมุ่งหมายของ Blog นี้ เริ่มจากได้ download หนังสือ สมาธิในพระพุทธศาสนา โดย รองศาสตราจารย์ชูศักดิ์ ทิพย์เกษร แปลจากหนังสือ Buddhist Mediation ของ Ven. Dr.P.Vajiranana

หนังสือนี้เป็นผลแห่งการสืบสวนถึงภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ผลทีได้รับ การบรรลุธรรม และจุดมุ่งหมายสุดท้ายในการเจริญสมาธิในพระพุทธศาสนา ตามที่ค้นพบในพระคัมภีร์ต่างๆ ของฝ่ายเถรวาทซึ่งแต่งไว้เป็นภาษาบาลี
       หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้ ไปได้ระยะหนึ่ง เห็นว่าดี มีประโยชน์ จึงต้องการ Print มาเพื่อง่ายต่อการอ่าน แต่เนื่องจากรูปเล่มหนังสือที่ download มา เมื่อพิมพ์มาแล้วค่อนข้างอ่านยาก จึงได้ทะยอยพิมพ์ใส่ MS WORD ไปได้ ประมาณ 3 บท แต่เกิดปัญหา File เอกสารชำรุด จึงคิดว่าจะเริ่มทะยอยอ่านและ พิมพ์เก็บไว้ใน Blog ตั้งแต่ต้นอีกครั้ง
      ข้าพเจ้าขอขอบคุณ รอง ศาสตราจารย์ชูศักดิ์ ทิพย์เกษร และ web http://www.buddhistelibrary.org เป็นอย่างยิ่งไว้ ณ โอกาสนี้
REF : http://www.buddhistelibrary.org/th/displayimage.php?pid=822