บทที่ ๑๕
อนุสสติภาวนา
การเจริญกรรมฐานโดยอาศัยการระลึกถึง ๖ อย่าง อนุสสติคือการระลึกถึง ๖ อย่าง “
คือการระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ศีล การบริจาค และเทวดา ท่านกล่าวไว้ใน
พระไตรปิฎกโดยเรียกชื่อว่า “อนุสสติปฎฐาน” คือ ฐานที่ตั้งของสติ
อนุสสติทั้ง ๖ อย่างนี้ ท่านจัดเป็นอารมณ์แห่งกรรมฐานด้วยเหตุผลหลายประการ
ประการแรก อนุสสติทั้ง ๖ นี้เป็นแนวทางที่ใช้สำหรับทำจิตให้มีความยินดี ในเมื่อจิตตกเป็นเหยื่อ ของความทุกข์
และเพื่อที่จะก่อให้เกิดวิปัสสนาเมื่อปฏิบัติก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป ประการที่สอง
อนุสสติเหล่านี้จัดให้เกิดมีเครื่องคุ้มกันหรือป้องกันภยันตรายต่างๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นเมื่อพระโยคี
ปฏิบัติธรรมอยู่ในที่เปลี่ยวเช่นในป่าหรือในป่าช้า เป็นต้น อนุสสติ ๓ อย่างแรกท่านแนะนำให้
เจริญเพื่อคุ้มครองตนเองในโอกาสนั้นๆ เมื่อมีความกลัวหรือสิ่งร้ายๆ ใดเกิดขึ้น
ประการที่สาม ตามที่ท่านกล่าวไว้ในพระคัมภีร์วิสุทธิมรรค อนุสสติ ๖
อย่างเหล่านี้เป็นกรรมฐานที่เหมาะสม สำหรับผู้ที่มีศรัทธาแรงกล้า
และส่งเสริมศรัทธาให้มีขึ้นสำหรับผู้ที่ไม่มีศรัทธามาก่อน คำอธิบาย
ต่อไปนี้อาศัยหลักฐานในพระคัมภีร์วิสุทธิมรรคเป็นส่วนใหญ่ซึ่งจะพบคำอธิบายเรื่องนี้อย่างละเอียด
และกว้างขวาง
อนุสสติ หมายถึง ความมีสติซึ่งเกิดขึ้นบ่อยๆ หรือ หมายถึงสติซึ่งเหมาะสมกับ
พระสาวกผู้เข้ามาอุปสมบทในพระพุทธศาสนาด้วยความศรัทธา
สติที่เกิดขึ้นเป็นประจำในพระคุณ ของพระพุทธเจ้า
และการมีจิตเป็นสมาธิในอารมณ์อันหนึ่งซึ่งเท่ากับอุปจารฌานเรียกว่า
พุทธานุสสติคือระลึกถึงพระพุทธเจ้าธรรมานุสสติและอนุสสติที่เหลือพึงเข้าใจโดยทำนองเดียวกัน
การเจริญสมาธิโดยยึดอนุสสติ ๖ อย่างเป็นอารมณ์เป็นเรื่องจำเป็นเบื้องต้นสำหรับ
พระโยคาวจร เพราะในสมาธินี้พระคุณของพระพุทธเจ้า ของพระธรรมเจ้า และของพระสงฆ์เจ้า
ซึ่งเป็นอารมณ์หลักสำหรับศรัทธาย่อมปรากฏชัดยิ่งขึ้นตามลำดับคุณธรรมในพระสาวกจะค่อยๆ
เพิ่มขึ้นอย่างแนบแน่น และพระสาวกเหล่านั้นย่อมแสดงให้เห็นว่าตนเป็นผู้เสียสละ และเป็น
ผู้ศักดิ์สิทธิ์ รำลึกถึงศีลธรรมมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และมีเทวธรรม
คือธรรมที่ทำให้บุคคล เป็นคนประเสริฐ
แต่อนุสสติส่วนมากเป็นข้อปฏิบัติของพระสาวกผู้ที่ได้บรรลุพระอริยมรรคตาม
ที่เราเรียนรู้จากมหานามสูตร เป็นต้น
ในพระสูตรนั้นพระพุทธเจ้าได้ตรัสเรื่องพระมหานามโดย ละเอียด
เมื่อมีผู้ทูลถามเกี่ยวกับชีวิตของพระโสดาบัน
ใน เคธสูตร เราพบข้อความดังต่อไปนี้ “ภิกษุทั้งหลาย พระอริยสาวกระลึกถึงพระคุณของตถาคตว่า
ดังนี้ “พระผู้มีพระภาคทรงเป็นพระอรหันต์ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระสาวกภาวนาเช่นนี้จิตจะฟูขึ้น
และปราศจากความโลภ คือความปรารถนาในกามคุณ ภิกษุทั้งหลาย พระสาวก บางองค์ทำจิตให้บริสุฑธิ์โดยการทำพุทธานุสสติให้เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน”
ณ ที่นี้ ท่านกำหนดให้สติเป็นทางแห่งการบรรลุถึงความบริสุทธิ์มากยิ่งขึ้น
และใน สัมโพโธกาสสูตรซึ่งพระกัจจายนเถระได้เทศนาไว้ ท่านอธิบายว่าอนุสสติเป็นโอกาสสำหรับพระโสดาบันผู้จะบรรลุความบริสุทธิ์อันสมบูรณ์
ในวิสาขุโปสถสูตร ท่านกล่าวว่าอนุสสติเหล่านี้ เป็นอารมณ์กรรมฐานชำระจิตให้บริสุทธิ์ซึ่งจะได้มาซึ่งผลอันยิ่งใหญ่อันเกิดจากการสมาทานอุโบสถ
อนึ่งในพระคัมภีร์เอกทสนิบาต ท่านบรรยายอนุสสติเหล่านี้เพื่อแสดงให้เห็นวิธีดำเนินชีวิตของ
พระอริยสาวกผู้ควรเจริญอนุสสติ ๖ อย่าง หลังจากได้เจริญศรัทธา พละ สติ สมาธิ
และบัญญาแล้ว ดังนั้น อนุสสติเหล่านี้ท่านจึงกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกว่าเป็นข้อปฏิบัติที่สำคัญสำหรับ
พระอริยสาวก เพื่อช่วยให้ได้บรรลุคุณธรรมสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ดี
อนุสสติเหล่านี้ย่อมเป็นคุณธรรมจำเป็นสำหรับผู้เริ่มปฏิบัติอีกด้วย
เพราะอนุสสติเหล่านี้ทำจิตให้บริสุทธิ์และส่งเสริมคุณธรรมให้เกิดมีขึ้น พัฒนาคุณสมบัติอื่นๆในเบื้องต้น
และนำไปสู่ความบริสุทธิ์แห่งจิต และ ความรู้แจ้งในขณะที่ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป
การเจริญสมาธิโดยอาศัยอนุสสติเหล่านี้ช่วยให้บรรลุเพียงอุปจารฌานเท่านั้น
และพระสาวกควรพัฒนาการแห่งวิปัสสนาให้มากยิ่งขึ้นเพื่อจะได้บรรลุพระอรหันต์
๑ พุทธานุสสติภาวนา
การภาวนาโดยการระลึกถึงพระพุทธเจ้า
พระสาวกผู้มีศรัทธาผู้ปรารถนาจะเจริญพุทธานุสสติ คือสติระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าบ่อยๆ
ควรเจริญพุทธานุสสติในที่สงัดโดยพิจารณาถึงพระคุณอันสูงยิ่งของพระพุทธเจ้า
ตามที่ท่านกล่าวไว้ในบทสรรเสริญพระพุทธคุณ ภาษาบาลีดังนี้ “อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺ พุทโธ
วิชชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พุทโธ
ภควาติ ซึ่งแปลว่าด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ
ประกอบด้วย ความรู้และความประพฤติดี ผู้เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลกทั้งปวง
ทรงเป็นสารถีผู้ยิ่งยอดฝึก มนุษย์ทั้งหลาย ทรงเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นผู้มีโชค”
ตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎก บทสรเสริญนี้เป็นข้อความที่พรรณนาพระคุณของ
พระพุทธเจ้า ท่านกล่าวไว้เป็นบทประกาศพระคุณของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นที่ทราบกัน
คือคำว่า กลฺยาโณ ภิตฺติสทฺโธ แปลว่า เกียรติศัพท์ที่ดี
และเป็นบทสรรเสริญซึ่งใช้สำหรับพุทธานุสสติ ภาวนาด้วย
ในจิตของผู้เจริญภาวนาโดยระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า ความคิดจะเกิดขึ้นซํ้าแล้วซ้ำเล่าเกี่ยวกับพระคุณของพระพุทธเจ้า
เมื่อมีความเบิกบานใจเต็มไปด้วยปิติและโสมนัส
ผู้เจริญภาวนาจะมีศรัทธาและความเลื่อมใสอย่างแรงกล้า เขาจะเห็นแจ้งในพระคุณของ
พระพุทธเจ้าและรู้สึกว่าพระพุทธเจ้าประทับอยู่ต่อหน้าเขา ความรู้สึกนี้จะหักห้ามเขาไม่ให้ประกอบกรรมที่จะทำให้เขาเลวลง
และรักษาไว้ซึ่งความเชื่อมั่นในตัวเองและคุณธรรมอันสูง พระสาวก
ผู้เจริญพุทธานุสสติภาวนาจะเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งซึ่งความหมายของบทสรรเสริญ พระพุทธเจ้าทุกบท
และควรเจริญภาวนาโดยระลึกถึงพระคุณพิเศษของพระพุทธเจ้าแต่ละบท ตามที่ท่านอธิบายไว้ในพระคัมภีร์วิสุทธิมรรค
การระลึกถึงพระพุทธเจ้าควรจะปฏิบัติตามคำที่ ท่านกล่าวไว้ คือ “โส ภควา อิติปิ
อรหํ อิติปิ สมฺมาสมฺพุทโธ เป็นต้น ซึ่งหมายความว่า “พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงเป็นอรหันต์ด้วยเหตุผลนี้พระองค์ทรงตรัสรู้เองโดยชอบด้วยเหตุผลนี้
เป็นต้นในที่นี้คำว่า “อิติ ปิ”ใช้แทนคำว่า “ด้วยเหตุผลนี้ ด้วยเหตุผลนี้”
๑ อรหัง
โดยวิธีนี้พระสาวกระลึกว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นอรหันต์ด้วยเหตุผลต่างๆ ดังนี้
๑ พระองค์ทรงเป็นพระอรหันต์เพราะพระองค์เป็นผู้ไกลจากสิ่งชั่วร้ายทั้งหลายทรงอยู่ห่างไกล
เพราะพระองค์ทรงทำลายกิเลสทุกอย่างพร้อมด้วยอนุสัย คือสิ่งที่ติดตามมาจากอดีต
คือวาสนาด้วยอริยมรรคซึ่งนำไปสู่พุทธภูมิ
๒ พระองค์ทรงเป็นพระอรหันต์เพราะทรงทำลายข้าศึกทั้งหลายเสียได้
นั่นก็คือทรงฆ่า ข้าศึกคือความชั่ว คือกิเลสได้แก่โลภะ โทสะ เป็นต้น
ด้วยวิถีทางแห่งพระอริยมรรค
๓ พระองค์ทรงเป็นพระอรหันต์เพราะทรงตัดซี่ล้อแห่งสังสารวัฏเสียได้ซึ่งเพลาแห่ง
ล้อนั้นทำด้วยอวิชชาและตัณหาและซี่แห่งล้อคือสังขารทั้งหลายและขอบแห่งล้อได้แก่ชราและมรณะ
และดุมของล้อนำมาจากมูลเหตุที่สร้างอาสวะขึ้นมา และวงล้อได้แก่ภพทั้ง ๓ ที่โคนต้นพระศรีมหาโพธิ
ด้วยอำนาจแห่งคุณธรรมและความรู้ พระองค์ได้ทรงทำลายซึ่งซี่ทั้งหมด แห่งล้อ ดังนั้นพระองค์จึงทรงพระนามว่าอรหันต์
๔ พระองค์ทรงเป็นพระอรหันต์ เพราะพระองค์สมควรแก่การบูชาด้วยเครื่องสักการะทั้งหลาย
สมควรแก่การเคารพของเทวดา และ มนุษย์ทั้งหลาย สมควรแก่การเข้าไปหาด้วยความเคารพอย่างสูง
ดังนั้นพระองค์จึงได้เพียบพร้อมไปด้วยคุณ คือความสมควรซึ่งทำให้พระองค์
สมควรได้รับขนานพระนามว่า “อรหันต์”
๕ พระองค์ทรงเป็นพระอรหันต์ เพราะพระองค์ไม่ทรงกระทำความชั่วใดๆ แม้ในที่ลับ ซึ่งไม่เหมือนกับคนทั้งหลายในโลก
ผู้ซึ่งขณะที่ประกาศตนเองว่ามีคุณธรรมแต่ยังประกอบกรรมชั่วในที่ลับเฉพาะเกรงจะถูกคนอื่นตำหนิ
ดังนั้นพระองค์จึงทรงพระนามว่าอรหันตํในความหมายว่า “ไม่ ที่ลับ คือว่า
ไม่มีการกระทำความชั่วในที่ลับ”
ดังนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงเป็นบุคคลที่ไกลจากกิเลส ผู้ทรงทำลายข้าศึกทั้งหลาย
ผู้ทรงตัดซี่แห่งล้อสังสารวัฏ ผู้สมควรแก่ความเคารพ ผู้ไม่ทรงกระทำความชั่วแม้ในที่ลับจึงทรง
เป็นพระอรหันต์ด้วยประการดังนี้
เพราะเหตุนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ดังนี้
“พระองค์ผู้เป็นนักพรต เมื่อทรงทำลายข้าศึกคือกิเลสทั้งหลายให้ห่างไกลจึงทรงพระนามว่า
“อรหันต์” ผู้ทำลายเสียซึ่งวงล้อแห่งการเกิดใหม่ ผู้สมควรรับไทยทานและปัจจัยและ
การบริจาค อันเกิดจากศรัทธา ไม่ทรงกระทำความชั่วทั้งหลายในที่ลับ
และดังนั้นพระองค์จึงทรงพระนามว่า “ผู้สมควร”
๒ สัมมาสัมพุทโธ
พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า สัมมาสัมพุทธะ
พระองค์ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบยิ่ง
เพราะพระองค์ทรงรู้แจ้งแทงตลอดด้วยพระองค์เอง ซึ่งสิ่งทั้งหลายที่จะต้องทรงรู้แจ้ง
พระองค์ ทรงประกอบด้วยพระปัญญารู้ทะลุปรุโปร่งด้วยพระองค์เอง
ทรงรับรู้สิ่งที่ควรรับรู้ ทรงกำหนดรู้ สิ่งที่ควรกำหนดรู้ทรงละสิ่งที่ควรละทรงกระทำให้แจ้งสิ่งที่ควรทำให้แจ้งทรงเจริญสิ่งที่ควรเจริญ
ดังนั้นท่านจึงกล่าวไว้ว่า
“ทุกสิ่งทุกอย่างที่ควรรู้
ตถาคตได้รู้แล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างที่ควรเจริญ ตถาคตก็ได้เจริญแล้ว
สิ่งใดก็ตามที่ควรละเว้น ตถาคตได้ละเว้นแล้ว ดูก่อนพราหมณ์ ตถาคตเป็นผู้รู้แล้วเป็น
ผู้ตื่นแล้ว”
อนึ่ง ตาเป็นอวัยวะที่นำมาซึ่งความทุกข์นี้ เป็นทุกขสัจ
ตัณหาคือความปรารถนาเพื่อจะได้มาซึ่งตาพร้อมกับอารมณ์ที่เจริญใจเป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์
นี้เป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ (สมุทัยสัจ)
การดับแห่งทุกข์และเหตุเกิดแห่งทุกข์เป็นนิโรธสัจ ทางสายกลาง ซึ่งรู้แจ้งการดับแห่งทุกข์เป็นมรรคสัจ
ดังนั้น เมื่อกำหนดรู้อารมณ์อันหนึ่งว่าเป็นจุดเริ่มต้นของตน
พระสาวกย่อมรู้ชัดทุกสิ่งทุกอย่าง นั้นคืออริยสัจทั้ง ๔ ซึ่งพระสาวกได้รับความรู้นี้ก็เพราะความพยายาม
ของตนเอง อวัยวะคือหูและอายตนะที่เหลือก็พึงเข้าใจทำนองเดียวกัน อายตนะคือตาโดยวิธีนี้
พระสาวกย่อมรู้จักอายตนะภายนอกทั้ง ๖ มีรูปเป็นต้น และรู้จักวิญญาณ ๖
มีวิญญาณที่เกิด ขึ้นเพราะอาศัยสิ่งที่มากระทบตา เป็นต้น รู้จักสัมผัส ๖
มีจักษุสัมผัสเป็นต้น รู้จักเวทนา ๖ มีเวทนาที่เกิดจากการสัมผัสทางจักษุประสาท
เป็นต้น รู้จักสัญญา คือควมจำได้หมายรู้ในสิ่งที่เห็นได้ด้วยตา เป็นต้น
รู้จักทัศนะ ๖ มีทัศนะในสิ่งที่เห็นได้ด้วยตาเป็นต้น รู้จักตัณหา ๖
มีตัณหาในสิ่งที่เห็นได้ด้วยตาเป็นต้น รู้จักความคิด ๖ มีความคิดในสิ่งที่มองเห็นได้ด้วยตาเป็นต้น
รู้จักขันธ์
๕ เป็นต้น รู้จักกสิณ ๑๐ อนุสสติ
๑๐ สัญญา ๑๐ มีสัญญาในศพที่พองขึ้น เป็นต้น รู้จักอาการ ๓๒ ในร่างกาย
รู้จักอายตนะภายใน ๖ และภายนอก ๖ รู้จักธาตุ ๑๘ รู้จักแหล่งเป็นที่อยู่อาศัย (สัตตาวาส)
๙ มีที่อยู่อาศัยแห่งอายตนะทั้งหลาย เป็นต้น รู้จักฌาน ๔ รู้จักอัปปมมัญญา ๔
รู้จัก อรูปฌาน ๔ รู้จักปัจจยาการ ๑๒ ทั้งหมดเหล่านี้เกี่ยวข้องกับอริยสัจ ๔ ดังนั้น
เมื่อพระพุทธองค์ทรงเริ่มพิจารณาข้อหนึ่งพระองค์ย่อมทรงมีความรู้ทุกๆ ข้อ
อย่างถูกต้อง ด้วยความรู้ที่ได้รับจากความพยายามของพระองค์เอง ดังนั้นพระองค์จึงได้รับขนานพระนามว่า “สัมมา สัมพุทธะ”
(สัมมา = อย่างเต็มที่, สัมมะ = อย่างถูกต้อง, พุทธะ = ผู้รู้)
๓ วิชชาจรณสัมปันโน
พระผู้มีพระภาคทรงประกอบไปด้วยวิชา (ความรู้) และจรณะ (ความประพฤติ) ดังนั้น พระสงฆ์จึงได้รับขนานพระนามว่า “วิชชาจรณสัมมปันนะ”
ควรสังเกตว่า วิชา (ความรู้) ในแง่หนึ่งท่านแบ่งเป็น ๓ ประเภท และอีกแง่หนึ่งเป็น
๘ ประเภทที่แบ่งเป็น ๓ ประเภทนั้น เราจะพบข้อความจากภยเภรสูตร ว่า ความรู้ ๓
ประเภท ได้แก่เรื่องความเป็นอยู่ในอดีต (อตีตังสญาณ) ความรู้เรื่องการตายและการเกิดของสัตว์ทั้งหลาย
(จุตูปปาตญาณ) ความรู้เรื่อง ความสิ้นอาสวกิเลสทั้งหลาย (อาสวักขยญาณ) ความรู้ ๓
ประเภทเหล่านี้มีอยู่ใน โลกุตรธรรมของพระพุทธเจ้าโดยแท้
วิชา ๘ ประเภทท่านอธิบายไว้ใน อัมพัฎฐสูตร ดังนี้
๑ วิปัสสนาญาณ คือ ปัญญาที่พิจารณาเห็นว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยงเป็นทุกข์
เป็นอนัตตา
๒ มโนมยิทธิ มีฤทธิ์ทางใจ สามารถนิรมิตกายอื่นออกจากกายนี้ดุจชักดาบออกจากฝัก
๓ อิทธิวิธี คือแสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ
๔ ทิพพโสต คือมีหูทิพย์
สามารถได้ยินเสียงจากที่ต่างๆ
๕ เจโตปริยญาณ คือกำหนดรู้ใจของผู้อื่น
๖ ปุพเพนิวาสาบุสติ
การระลึกชาติในอดีตได้
๗ ทิพพจักขุ มีตาทิพย์
๘ อาสวักขยญาณ
มีความรู้ที่ทำ ให้สิ้นอาสวะ
ความรู้ประเภทต่างๆ เหล่านี้เรียกว่า
“วิชชา” หมายถึงการทำลาย (วิทฺธาตุ ในความหมายว่าทำลาย) คือทำลายความโง่
หมายถึงความเข้าใจ (วิทฺธาตุในความหมายว่า เข้าใจ) คือเข้าใจธรรมชาติตามปรากฏการณ์
หรือหมายถึงประสบ (วิทฺธาตุ ในความหมาย “ประสบ”) คือประสบความสุข ในพระนิพพาน
ความประพฤติประกอบด้วยหลักจริยธรรม ๑๕ ประการคือ
๑ สีลสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยศีลคือความประพฤติอันดีงาม
๒ อินทรีย์ คือการระวังไม่ให้บาปครอบงำจิตเมื่อรับรู้อารมณ์ด้วยอินทรีย์ทั้ง ๖
อย่าง
๓ โภชเนมัตตัญญุตา คือความรู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร เพื่อเลี้ยงร่างก่าย
เพื่อทำชีวิตให้มีความผาสุก ไม่ใช่เพื่อความสนุกสนาน
๔ ชาคริยานุโยค คือการหมั่นประกอบการงานด้วยความตื่นอยู่เสมอ ไม่เห็บแก่นอน
ชำระจิต ให้ปราศจากนิวรณ์ตลอดกาลเป็นนิตย์
๕ มีศรัทธา
๖ มีหิริความละอายต่อบาป
๗ มีโอตัปปะ คือความเกรงกลัวต่อบาป
๘ เป็นพหูสูต
คือเป็นผู้ได้ยินได้ฟังมามาก
๙ มีความเพียรอันตนเริ่มบำเพ็ญแล้ว
๑๐ มีสติมั่นคง
๑๑ มีปัญญาเฉลียวฉลาด
๑๒
ได้ปฐมฌานคือฌานที่ ๑ ซึ่งมีองค์ ๕ คือ วิตก, วิจารณ์, ปิติ สุข และเอกัคคตา
๑๓ ได้ทุติยฌาน คือฌานที่ ๒ ซึ่งมีองค์ ๓ คือ ปิติ สุข และเอกัคคตา
๑๔ ได้ตติยฌาน คือ ฌานที่ ๓ ซึ่งมีองค์ ๒ คือสุข และเอกัคคตา
๑๕ ได้จตุตถฌาน คือฌานที่ ๔
พระโยคาวจรย่อมประพฤติตนนำตนไปสู่พระนิพพานโดยหลักจรณะ ๑๕ ที่กล่าวมานี้
ดังนั้น หลักสำหรับประพฤติเหล่านี้ท่านจึงเรียกวา จรณะ (ตามศัพท์แปลว่า เท้า หรือ
ก้าวเท้า)
ในพระคัมภีร์มัชฌิมนิกาย ท่านอธิบายไว้อย่างพิสดาร จรณะเหล่านี้เป็นทางไปสู่ความสุขใน
พระนิพพาน พระผู้มีพระภาคได้รับขนานพระนามว่า “วิชชาจรณสัมปันนะ” เพราะพระองค์
ประกอบพร้อมไปด้วยความรู้และหลักความประพฤติเหล่านี้แล
อนึ่งการทำวิชชาให้สมบูรณ์ย่อมนำมาซึ่งพระสัพพัญญุตญาณ (คือความรู้ทุกอย่าง) ของพระพุทธเจ้า
และการทำจรณะให้สมบูรณ์ย่อมนำมาซึ่งมหากรุณาของพระพุทธเจ้า เพราะพระสัพพัญญุตญาณทำให้พระองค์ได้ทรงทราบถึงประโยชน์และสิ่งที่มิใช่ประโยชน์สำหรับสรรพสัตว์ทั้งหลาย
พระองค์จึงทรงอาศัยพระมหากรุณาธิคุณแนะนำสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ดำเนินชีวิตไปสู่ทางที่เป็นประโยชน์
ดังนั้นพระสาวกของพระองค์จึงได้รับการแนะแนวที่ถูกต้องไม่เหมือน
สาวกของครูที่มุ่งสอนให้ทรมานตนเองและปฏิบัติเคร่งครัดทั้งหลาย
เพราะว่าครูเหล่านั้นขาดวิชชาและจรณะ
๔ สุคโต
หลังจากทรงดำเนินไปตามทางที่ถูกต้องแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงบรรลุถึงความสุขที่แท้จริง
ดังนั้น พระองค์จึงได้รับขนานพระนามว่า “สุคโต” (ตามศัพท์แปลว่า “ดูไปดีแล้ว”
พระองค์ทรงดำเนินไปอย่างมีความสุขตามทางคืออริยมรรค พระองค์เสด็จไปยิงสถานที่ ที่ปลอดภัยโดยไม่พลาด
ดังนั้น พระองค์ได้เสด็จไปด้วยดีสู่ทางที่ถูกต้อง คือพระนิพพาน
ซึ่งไม่มีการตาย อนึ่งนับตั้งแต่พระองค์ได้ทรงกราบที่พระบาทของพระพุทธเจ้า
พระนามว่าทีปังกร พระองค์ได้ทรงปฏิบัติพระองค์ตามสายกลางสร้างบารมีให้สมบูรณ์ ทรงช่วยเหลือมวลมนุษย์และทรงพยายาม
เพื่อประโยชน์สุขของเขาทั้งหลาย จนกระทั่งทรงบรรลุบรมสุข คือ พระนิพพาน
โดยไม่ทรงยึดทัศนคติที่ว่าทุกสิ่งเป็นของถาวรชั่วนิรันดรหรือทุกสิ่งย่อมสลายไปสิ้นซึ่งเป็นคติที่ดิ่งเกินไป
ปราศจากความยินดีในกามคุณและการทรมานพระองค์เอง ดังนั้นพระองค์จึงทรงพระนามว่า “สุคต”
ซึ่งแปลว่าผู้มีความสุขหรือผู้เสด็จไปดี
พระองค์มีพระนามว่า “สุคต” ซึ่งแปลว่า “ผู้พูดเก่ง” ด้วย พระองค์ตรัสอย่างถูกต้อง
โดยทรงเลือกวาจาที่เหมาะสม คือคำที่เต็มไปด้วยความหมาย เหมาะกับโอกาสและสถานการณ์
ในเรื่องนี้เราอาจระลึกถึงข้อความต่อไปนี้ “คำที่ตถาคตรู้ว่าไม่แท้ไม่จริง
ไม่มีประโยชน์ และ เป็นคำซึ่งไม่น่าฟังสำหรับผู้อื่น คำเหล่านี้ตถาคตจะไม่กล่าว
คำที่ตถาคตรู้ว่าแท้จริงแต่ไม่มีประโยชน์ทั้งไม่น่าฟังสำหรับผู้อื่นคำเหล่านี้ตถาคตจะไม่กล่าว
คำที่ตถาคตรู้ว่าแท้จริงและมีประโยชน์แต่ไม่น่าฟังสำหรับผู้อื่น การกล่าวคำเช่นนั้น
ตถาคตจะต้องรอเวลาอันเหมาะสม คำที่ ตถาคตรู้ว่า ไม่แท้ ไม่จริง ไม่มีประโยชน์ แต่เป็นที่น่าฟังสำหรับผู้อื่น คำเช่นนั้น ตถาคตจะไม่กล่าวคำที่ตถาคตรู้ว่าแท้จริง
แต่ไม่มีประโยชน์และทั้งไม่เป็นที่น่าฟังสำหรับผู้อื่น คำเหล่านั้น ตถาคต จะไม่กล่าว
คำที่ตถาคตรู้ว่าเป็นคำแท้จริง มีประโยชน์และน่าฟังสำหรับผู้อื่น ตถาคตย่อมรู้เวลา
อันเหมาะสมที่จะกล่าวคำเหล่านั้น
ด้วยเหตุนั้น พระตถาคตจึงทรงพระนามว่า “สุคต” ในความหมายว่า “พระองค์ตรัส
อย่างถูกต้อง”
๕ โลกวิทู (โลกวิทู)
เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักโลกในทุกแง่มุม พระองค์จึงทรงพระนามว่า “โลก
วิทู” = ผู้ทรงรู้โลก โดยเหตุที่พระองค์ทรงรู้ รู้จักและเข้าใจโลก
(โลกตามศัพท์แปลว่า สิ่งที่สลายได้) ทรงรู้ธรรมชาติที่แท้จริงของโลก ที่มาของโลก
การดับสลายแห่งโลกและวิธีดับสลายแห่งโลก ดังนั้นท่านจึงกล่าวไว้ดังต่อไปนี้
“ดูก่อนสหาย ข้าพเจ้าขอกล่าวว่า ที่ที่บุคคลไม่เกิด ที่ที่บุคคลไม่แก่
ที่ที่บุคคลไม่อยู่ใต้อำนาจแห่งความชรา ความตาย หรือการเกิดใหม่ ไม่มีใครรู้
ไม่มีใครเห็น หรือเข้าใจได้ด้วยการเดิน หรือ ด้วยการท่องเที่ยว ดูก่อนสหาย
และข้าพเจ้าก็ไม่กล่าวว่า ถ้าไม่ไปถึงที่สุดแห่งโลกแล้ว คนเราไม่สามารถขจัดความป่วยไข้ได้
ดูก่อนสหาย ข้าพเจ้าขอประกาศว่าโลก และ ที่เกิดแห่งโลก ความดับสลายแห่งโลก
และทางซึ่งนำไปสู่ความดับสลายแห่งโลกมีอยู่ในร่างกายนี้เอง ซึ่งยาว ๑ วา
ประกอบด้วยวิญญาณ และจิต”
“บุคคลไม่สามารถถึงที่สุดแห่งโลกด้วยการเดินหรือถ้าบุคคลถึงที่สุดแห่งโลกได้ บุคคลก็ไม่สามารถปราศจากความป่วยไข้ ดังนั้น
เป็นความจริงที่ว่าผู้ที่มีปัญญารู้โลกเท่านั้นจึงจะไปถึงที่สุดแห่งโลก ที่สำคัญที่สุดก็คือว่าผู้ที่ประพฤติพรหมจรรย์ ด้วยใจจริงเหนือสิ่งอื่นใด
ย่อมเข้าใจที่สุดแห่งโลก และย่อมไม่ปรารถนาโลกนี้และโลกหน้า”
อนึ่ง โลกมีอยู่ ๓ คือ สังขารโลก ได้แก่สภาวธรรมทั้งปวงที่มีการปรุงแต่งตามเหตุ
ปัจจัยรวมถึงรูปธรรมและเจตสิกทั้งหลาย ตามที่ท่านอธิบายไว้ในปฏิสัมภิทา
สัตว์โลกได้แก่ โลกคือหมู่สัตว์ ซึ่งท่านอธิบายไว้ว่าเป็นโลกนิรันดรหรือไม่นิรันดร
และอากาสโลก ได้แก่โลกอันกำหนดด้วยอากาศคือจักรวาล
ซึ่งท่านอธิบายไว้ว่ามีหลายพันจักรวาล
พระผู้มีพระภาคทรงรู้แจ้งโลกทั้ง ๓ ในทุกแง่ทุกมุม ทรงรู้สภาพทุกอย่างของสิ่งที่มีชีวิต
ทั้งหลาย อุปนิสัย และความปรุะพฤติตลอดถึงเจตนาของเขาเหล่านั้น ดังนั้นพระองค์จึงทรงรู้โลกแห่งสรรพสัตว์ในทุกแง่มุม
และโลกแห่งอวกาศซึ่งมีระบบนับไม่ถ้วน ดังนั้นพระองค์จึงทรงพระนาม
ว่าผู้รู้แจ้งโลก เพราะเหตุที่พระองค์ทรงรู้จักโลกทุกชนิดตลอดถึงสภาพของโลกนั้น ๆ
๖ อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ
เนื่องจากมีความจริงที่ว่าไม่มีผู้มีคุณธรรุมเท่าพระผู้มีพระภาคจึงไม่มีใครที่สูงกว่าพระองค์
ดังนั้นพระองค์จึงทรงพระนามว่า “อนุตฺตร” (ไม่มีผู้ยิ่งกว่า)
พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้อยู่เหนือโลกทั้งหมดในด้านคุณธรรม
คือ สมาธิ ปัญญา วิมุติ วิมุติญาณทัศนะ ไม่มีใครเทียมเท่าพระองค์ ดังนั้นพระผู้'มีพระภาคจึงตรัสเรื่องคุณธรรมของพระองค์ไว้ดังนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ในโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก และพรหมโลก ในเผ่าชน ทั้งหลายผู้ประพฤติตะบะและบรรดาพราหมณ์ทั้งหลายตถาคตไม่เห็นใครอื่นที่จะมีคุณธรรมเท่าตถาคตเลย”
อนึ่ง พระผู้มีพระภาค นำมนุษย์ทั้งหลายผู้ควรแก่การฝึก ทรงอบรมเขาและฝึกเขาดุจสารถีฝึกม้าในที่นี้คำว่า
ปุริสะทัมมะ หมายถึงผู้ที่ยังไม่ได้รับการฝึกและสมควรที่จะได้รับการฝึก
ผู้สมควรได้รับการฝึกดังกล่าวรวมทั้งมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายพระองค์ได้รับยกย่องว่าได้ทรงฝึก
ได้ทรงอนุเคราะห์ให้พ้นจากกิเลสและตั้งไว้ในคุณธรรม แม้แต่สัตว์เดียรฉานเช่น
อปลาละ จูโลทร,
มโหทร, อัคคิสิขา, ธูมสิ ขา,
อารวาลา, พญานาค, และช้างธนปาล คนที่ฝึกยาก เช่น สัจ นิคนถ์
พราหมณ์หนุ่มชื่ออัมพัฎฐะ, โปกขรศาติ, โสณทัณฑ์, กูฏทันด์ อมนุษย์ ทั้งหลาย
เช่น ยักษ์ ทั้งหลาย คือ อาลวกะ, สุจิโลกมะ, ปรโลมะ, ท้าวสักกะราชาของเทวดาทั้งหลาย
บุคคลเหล่านี้ ได้รับการฝึกโดยวิธีต่างๆ เช่น เราอ่านพบว่า “ดูก่อนเกสิ, ตถาคตฝึกผู้ที่ควรฝึก ตถาคตฝึกเขา
เหล่านั้นอย่างรุนแรง ตถาคตฝึกเขาเหล่านั้นอย่างละมุนละไมและอย่างรุนแรง”
พระองค์ทรงฝึกผู้ที่ได้รับการฝึกมาแล้ว และทรงประกาศให้เขาทราบถึงฌานที่ ๑ และ
การบรรลุขั้นอื่นๆ กระตุ้นให้เขาก้าวขึ้นสู่ทางที่ก้าวหน้าสูงขึ้น ซึ่งนำไปสู่ความเป็นอรหันต์
ดังนั้นพระองค์จึงได้ยกย่องว่าสารถีผู้ฝึกที่ยอดเยี่ยม หรือเป็นผู้นำของคนที่ควรฝึกที่ยอดเยี่ยม
๗ สัคถาเทวะมะนุสสานัง
พระผู้มีพระภาคทรงสงสอนสรรพสัตว์ตามอุปนิสัยของเขาทั้งหลาย โดยทรงมุ่งจะให้
ความสุขแก่เขาทั้งหลายทั้งในโลกนี้และโลกหน้าในฐานะเป็นบรมครูพระองค์เป็นเหมือนผู้นำหมู่
คาราวาน หัวหน้าคาราวาน ย่อมแนะนำลูกคาราวานให้ข้ามทะเลทราย เสี่ยงต่อการรบกวนของ
ขโมยทั้งหลาย ผ่านป่าที่เสี่ยงต่อสัตว์ป่าที่ดุร้าย ผ่านท้องที่กันดารและแห้งแล้งและนำเขาเหล่านั้นไปอย่างปลอดภัยฉันใด
พระผู้มีพระภาคก็ฉันนั้น พระองค์ทรงเป็นครู เป็นผู้นำคาราวาน ทรงพาสรรพสัตว์ข้ามทะเลทรายคือสังสารวัฏเสียได้
ผ่านการเกิด แก่ เจ็บ และตาย และพาเขา เหล่านั้นไปสู่สภาพอันปลอดภัยคือพระนิพพานด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้พระองค์จึงทรงพระนามว่า
ครูของมวลเทพและมนุษย์ทั้งหลาย
๘ พุทโธ
พระนาม “พุทโธ” ซึ่งหมายถึงพระผู้ตรัสรู้ ผู้ตื่นอยู่
เป็นพระนามที่สัมพันธ์กับพระผู้มีพระภาคโดยการยอมรับพระปัญญาคือการหลุดพ้นและเป็นพระนามแรกและก่อนพระนามอื่นๆ
ทั้งหมด พระองค์เองตรัสรู้พระอริยสัจ ๔ ประการ และทรงช่วยให้ผู้อื่นรู้พระอริยสัจ
๔ เช่นกัน พระองค์ทรงบรรลุพระสัพพัญญตญาณคือความรู้ทุกอย่างซึ่งโดยอาศัยพระสัพพัญญูตญาณเอง
พระองค์ทรงรู้ทุกสิ่งทุกอย่างทั้ง อดีต ปัจจุบัน และ อนาคต
ดังนั้นพระองค์จึงทรงพระนามว่าพุทธะ พระผู้ตรัสรู้ อนึ่ง ในพระคัมภีร์นิเทส
และพระคัมภีร์ปฏิสัมภิทา พระองค์ได้รับขนานพระนามว่า “โพเธดา” = ผู้ทำให้สว่างในสัจธรรม
หมายถึงผู้ที่ทำความหมายของคำให้ชัดแจ้งแก่ผู้อื่น ดังนั้นพระองค์จึงทรงพระนามว่า “พุทธ”
พระผู้ทรงทราบด้วยพระองค์เองและทรงทำผู้อื่นให้รู้
๙ ภควา
คำว่า “ภควา” เป็นพระนามที่แสดงถึงความเคารพและความนับถือที่มีต่อผู้ที่ยอดเยี่ยมในบรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลาย
ซึ่งได้แก่ผู้ที่สูงส่งที่สุดในด้านคุณธรรม
ดังคำสรรเสริญที่นักปราชญ์ในอดีตได้พรรณนาไว้ ต่อไปนี้
คำว่า “ภควา” เป็นพระนามที่ดีที่สุด เป็นคำที่สูงที่สุด
พระองค์ได้รับการเคารพนับถือ ดังนั้นพระองค์จึงได้รับขนานพระนามว่า “ภควา” ใน
พระคัมภีรมหานิเทศ ท่านกล่าวไว้ว่า คำว่า “ภควา” ไม่ใช่พระนามที่พระราชมารดาบิดาหรือ
พระญาติถวายแด่พระองค์ พระนามนี้เกิดขึ้นแก่พระองค์เพราะพระองค์ได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณที่โคนพระศรีมหาโพธิ
โดยเป็นพระนามที่ได้รับเมื่อพระองค์ได้บรรลุวิมุติ”
ดังนั้นจึงเป็นพระนามที่มีความสำคัญที่ใช้ขนานพระนามพระองค์เพราะพระคุณนานาประการของพระองค์
พระนามว่า “ภควา” ยังมีความหมายชัดเจนว่า “พระองค์ผู้ได้ทรงทำลายแล้ว” นั่นก็คือ
พระองค์ได้ทรงทำลายอุปทานคือความยึดมั่นถือมั่นทุกอย่างพระองค์ได้ทรงเพิกถอนสาเหตุแห่ง
กิเลสทั้งหลาย และทรงทำลายเครื่องผูกรัดสังสารวัฏทั้งหลาย ข้อนี้แสดงให้เห็นความสำเร็จ
ของพระองค์ในร่างกายคือธรรม (ธรรมกาย) และบรมปิติโสมนัสของพระองค์
เพราะทรงประกอบด้วยคุณธรรมที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย
“ภควา” ตามหลักนิรุกติศาสตร์
ตรงกับคำว่า “ภาคยวา” = ผู้ที่มีทรัพย์สมบัติ หรือ “ชื่อเสียง” พระผู้มีพระภาค
หลังจากทรงบำเพ็ญทานบารมี, ศีลบารมี และคุณธรรมอย่างอื่นให้
บริบูรณแล้วย่อมมีทรัพย์สมบัติหรือชื่อเสียง ซึ่งก่อให้เกิดความสุขทางโลกและความสุขอันยอดเยี่ยม
ดังนั้นพระผู้มีพระภาคจึงทรงพระนามว่า “ภควา” เงื่อนไข ๒ อย่างนี้แสดงให้เห็นว่า
พระองค์เป็นที่เคารพนับถืออย่างสูงของโลกและว่าทั้งบุคคลผู้ร่ำรวยและบุคคลผู้ยากจนเข้าไปเฝ้าพระองค์
ทั้งนักปราชญ์และคนไร้การศึกษา ทั้งหญิงและชาย ทั้งพระราชา ทั้งพสกนิกร ทั้งฆราวาส
ทั้งนักบวช ต่างเข้าไปเฝ้าพระองค์ เพื่อขอรับคำแนะนำซึ่งจะช่วยให้ผู้ไปเฝ้าได้รับความสุขทั้งทางวัตถุและทางจิตใจ ดังนั้นพระผู้มีพระภาคจึงทรงไว้ซึ่งพระยศและคุณธรรมอันบริสุทธิ์ยิ่ง
ซึ่งจะได้รับ โดยการเจริญกุศลโดยถ่ายเดียว พระองค์ทรงดำรงชีพอันสูงและเด่นที่สุด
พระองค์ไม่ทรงยึดมั่น ถือมั่นทั้งทางกายทางใจ และทรงบรรลุวิมุติ
คือความหลุดพ้นจากกิเลสและคุณธรรมอื่นๆ เหนือประสบการณ์ของมนุษย์ด้วยเหตุดังกล่าวนี้พระองค์จึงทรงพระนามว่า
“ภควา” = ผู้ยิ่งใหญ่ หรือ ผู้มีโชค
เมื่อพระสาวกพิจารณาคุณธรรมของพระพุทธเจ้า
โดยวิธีนี้จิตของเขาจะยึดพระพุทธเจ้า เป็นอารมณ์ และดังนั้นจึงไม่ถูก โลภ
โกรธ หลง ครอบงำ เมื่อไม่มีกิเลสเหล่านี้จิตของเขาย่อมเป็นอิสระ
ปราศจากนิวรณ์เครื่องกีดกั้นความเจริญ ความคิดย่อมดำเนินต่อไปคือจะไปจดจ่ออยู่ที่ พระพุทธเจ้า
การคุมจิตให้สูงขึ้นและมั่นคง และเพิ่มพูนภาวะแห่งฌานให้มากยิ่งขึ้นได้เกิด
องค์ฌานขึ้นในพระองค์คือวิตก และวิจารซึ่งยึดและรู้แจ้งแทงตลอดอารมณ์ทั้งหลายซึ่งเป็น
พุทธคุณ จากนั้นก็เกิดปิติขึ้นมา ซึ่งก่อให้เกิดความสงบทั้งทางกายและทางใจ
ซึ่งก่อให้เกิด ความสุขขึ้นมา
และความสุขดังกล่าวจะตั้งมั่น ซึ่งสร้างความสุขอันยิ่งทั้งทางกายและทางใจ
จิตซึ่งอยู่ในอารมณ์ที่มีความสุขดังนี้ และ มีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์
ย่อมจะสงบและเยือกเย็น ดังนั้น
ในระหว่างการเจริญสมาธิ องค์ฌานทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นทันที แต่เนื่องจากพระคุณของ พระพุทธเจ้าเป็นธรรมชาติที่มีความเจริญลึกซึ้ง
และ การที่พระโยคีระลึกลึงพระคุณชนิดต่างๆ อยู่ก่อน เขาจึงไม่บรรลุอัปปนาแต่จะบรรลุเพียงอุปจาร
คือภาวะใกล้ฌานเท่านั้น ฌานที่เกิดขึ้นจากการระลึกถึงพระพุทธคุณดังนี้
เรียกว่าพุทธานุสสติฌาน
พระภิกษุผู้เจริญพุทธานุสสติภาวนา ย่อมมีความเคารพ และ นับถือพระพุทธองค์อย่างแท้จริง
ย่อมเต็มเปี่ยมไปด้วยศรัทธาและสติย่อมตั้งมั่น
มีปิติและโสมนัสย่อมขจัดความกลัว และสิ่งที่น่าหวาดเสียวออกไปได้
และสามารถอดทนต่อทุกขเวทนา จะมีความรู้สึกว่าตนได้อยู่ใกล้ชิดพระพุทธเจ้าเพราะสามารถควบคุมจิตของตนให้จดจ่ออยู่กับพระพุทธคุณเสมอๆ
ดังนั้น ร่างกายของผู้เจริญพุทธานุสสติจะมีจิตใจระลึกถึงพระพุทธองค์เสมอ
และดังนั้น ร่างกายของผู้ เจริญพุทธานุสสตินี้จึงสมควรแก่การบูชา
เสมือนหนึ่งเป็นวิหารจิตของผู้เจริญพุทธานุสสติจะถูกหล่อหลอมให้น้อมไปเพื่อได้พุทธภูมิ
และ เมื่อมีอกุศลกรรมเกิดขึ้น เขาสามารถขจัดอกุศลกรรมนั้นออกไปเสียได้โดยมีความรู้สึกละอาย
ต่อบาป และเกรงจะถูกตำหนิ เหมือนหนึ่งว่าเขาอยู่เฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า
ฉะนั้น
สมาธิที่ได้รับจากการเจริญพุทธานุสสติ มีอานิสงส์ ๒ ประการ คือจะได้ความบริสุทธิ์
แห่งจิต และการน้อมนำไปสู่วิปัสสนา ตามที่ได้อธิบายไว้ในวัตถูปมสูตร
และในวิสาขุโปสถสูตร ด้วยอำนาจแห่งการเจริญสมาธิดังกล่าวนี้ ถ้าไม่สามารถจะบรรลุธรรมขั้นสูง
ในเส้นทางแห่งพระอรหันต์ในชีวิตนี้ได้พระสาวกย่อมจะได้บรรลุจุดหมายปลายทาง ซึ่งเพียบพร้อมไปด้วยความสุข
พุทธานุสสติภาวนา เป็นภาวนาที่สำคัญที่สุดและปฏิบัติได้บ่อยที่สุด สำหรับชาวพุทธ
และคำภาวนาจะกล่าวได้อย่างน้อยวันละ ๒ ครั้งในขณะปฏิบัติงาน
เราย่อมเจริญพุทธานุสสติภาวนาในฐานะ เป็นเครื่องอารักขาอย่างหนึ่งในบรรดาเครื่องอารักขาทั้งหลาย
๔ อย่าง ซึ่งเป็น ธรรมที่จำเป็นสำหรับพระสงฆ์ทั้งหลาย ดังที่ท่านกล่าวไว้เป็นภาษาบาลีว่า
“พุทธานุสสติ เมตตา จ อสุภํ มรณสติ
อิติ อิมา จตุรารกฺขา ภิกขุ ภาเวยฺย สีลวา”
พุทธานุสสติ เมตตา อสุภะและมรณสติ
ทั้ง ๔ นี้เป็นเครื่องอารักขา ถ้าภิกษุเจริญ กรรมฐานเหล่านี้ ก็จะเป็นผู้มีศีล
พระพุทธเจ้าทรงแนะนำกรรมฐานเหล่านี้ด้วยพระองค์ว่าเป็นเครื่องคุ้มกันสำหรับพระภิกษุทั้งหลาย
ผู้อาศัยอยู่ในป่าที่โคนต้นไม้ หรือ ในที่สงัดเจริญกรรมฐานอยู่
๒ ธรรมานุสสติภาวนา
(การเจริญสมาธิโดยการระลึกถึงพระธรรม)
พระธรรมแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ พระปริยัติธรรมได้แก่พระธรรมที่จะต้องศึกษา พระปฏิบัติธรรม
ได้แก่พระธรรมที่จะต้องเจริญและปฏิเวธธรรมได้แก่พระธรรมที่จะต้องรู้แจ้ง
ในบรรดาพระธรรมทั้ง ๓ ประเภทนี้
พระปริยัติธรรมได้แก่พระธรรมที่เป็นคำสอนซึ่งจารึกไว้ในพระไตรปิฎก
ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นพระพุทธพจน์ หรือสัตถุศาสน์ โดยเหตุที่เป็น พระธรรมที่ใช้กับประมวลทฤษฎีและหลักแห่งความเชื่อถือตลอดถึงการกระทำของมนุษยธรรม
จึงประมวลระบบทั้งหมดในพระพุทธศาสนา
เมื่อนำเอาคำว่า “ธรรม” มาใช้กับความหมายที่กล่าวนี้ กับคุณค่าที่แท้จริงของ
พระพุทธพจน์ และกับชีวิตพรหมจรรย์ ธรรมจึงบ่งถึงหลักสูตรสำหรับฝึกฝนตนเองอันแท้จริง
ได้แก่ ศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งพุทธศาสนิกชนจะต้องปฏิบัติให้ครบทุกอย่างนี้เรียกว่า
พระปฏิบัติธรรม ทั้งคำสอนและการปฏิบัติตามคำสอนมุ่งจุดสูงสุด คือ วิมุตติสุข
ได้แก่ความสุข อันเกิดจากการหลุดพ้นจากกิเลสทั้งหลาย ทุกคนจะต้องเข้าใจและรู้แจ้งความสุขนี้ด้วยตนเอง
โดยผ่านขั้นตอนต่างๆ ๙ ขั้นตอน คือ มรรค ๔ ได้แก่ โสดาปัตติมรรค, สกทาคามีมรรค,
อนาคามีมรรค และ อรหัตตมรรค และผล ๔ ได้แก่ โสดาปัตติผล, สกทาคามีผล, อนาคามีผล, และอรหัตตผล
และในที่สุดได้แก่พระนิพพาน ที่กล่าวมานี้เป็นโลกุตรผล ๙ ชั้นซึ่งได้รับจาก
คำสอนและการปฏิบัติในชีวิตพรหมจรรย์ นี้เรียกว่าพระปฏิเวธธรรม
พระธรรมในฐานะเป็นอารมณ์แห่งกรรมฐานย่อมรวมถึงเฉพาะพระปริยัติธรรมและ
พระปฏิเวธธรรมเท่านั้น และพระสาวกผู้ปรารถนาจะมีสมาธิด้วยการปฏิบัติกรรมฐานโดยยึด
พระธรรมเป็นอารมณ์ ควรตั้งสติกำหนดพระธรรมโดยระลึกถึงคุณค่าต่างๆ ของพระธรรมซึ่งมี
๒ อย่าง ตามที่ท่านกล่าวไว้ในหัวข้อต่อไปนี้
“สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม สนฺทิฐิโก
อกาลิโก เอหิปสฺสิโก โอปนยิโก ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญญูหีติ”
= พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว
อันบุคคลจะเห็นได้ด้วยตนเองไม่มีกาลเวลาจำกัด ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้าไปหา
พึงรู้ได้เฉพาะตนเอง
ในพระไตรปิฎก พระธรรมคุณตามที่กล่าวข้างบนนี้ย่อมดำเนินตามหัวข้อในพุทธานุสสติและท่านกล่าวไว้เพื่อให้เห็นความเด่นพิเศษแห่งพระธรรมคุณทั้งหลาย
ทั้งตัวพระธรรมและ การบรรลุพระธรรม เช่นเดียวกับในเรื่องพุทธานุสสติ พระสาวกควรศึกษาอย่างถ้วนถี่
ถึงความหมายของคำ ในพระธรรมคุณต่างๆ เพราะพระธรรมคุณเหล่านั้นเป็นอารมณ์ของสติ
และการฝึกจิตให้ระลึกถึงพระธรรม
หัวข้อต่อไปนี้เป็นข้อความตามพระอรรถกถาซึ่งท่านกล่าวไว้ในพระ คัมภีร์วิสุทธิมรรค
เพื่ออธิบายความหมายของคำแต่ละคำอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น
๑ สวากขาโต
คำนี้ซึ่งอ้างถึงความบริสุทธิ์และความสมบูรณ์แห่งพระพุทธพจน์ ย่อมมีความหมาย
รวมถึงทั้งพระปริยัติธรรมและพระปฏิเวธธรรม แต่คำอื่นๆที่มีเฉพาะปฏิเวธธรรมหรือโลกุตรธรรมเท่านั้น
พระปริยัติธรรมท่านอธิบายไว้อย่างดีเพราะมีความงามในเบื้องต้น
ในท่ามกลางและในที่สุด เพราะความสมบูรณ์ทั้งโดยอรรถและพยัญชนะ
และเพราะประกาศแบบแห่งพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์ และบริบูรณ์ดี ดังนั้น
เราจึงพบข้อความต่อไปนี้
“พระผู้มีพระภาคทรงสอนพระธรรม ซึ่งงามในเบื้องต้น ในท่ามกลางและในที่สุดสมบูรณ์ด้วยอรรถและพยัญชนะ
พระผู้มีพระภาคได้ทรงประกาศพรหมจรรย์อันสมบูรณ์และ บริสุทธิ์โดยแท้จริง”
พระธรรมนี้งามในเบื้องต้น เพราะอธิบายว่า ความบริสุทธิ์แห่งศีลเป็นปัจจัยสำคัญ
เบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์ งามในท่ามกลาง เพราะอธิบายถึงความบริสุทธิ์แห่งสมาธิ
ซึ่งมีฐานะเป็นฐานแห่งความบริบูรณ์แห่งศีล งามในที่สุด เพราะชี้ให้เห็นว่าความรู้ที่สมบูรณ์
และพระนิพพาน เป็นจุดมุ่งหมาย ดังนั้น พระสาวกผู้ดำเนินชีวิตตามคำสอนนี้จึงมีศรัทธาและ
ความเชื่อมั่นในขณะที่ฟังคำสอนนี้ ย่อมหลุดพ้นจากนิวรณ์ทั้งหลาย
และได้รับความบริสุทธิ์ และความสงบในขณะที่ปฏิบัติตามคำสอนนี้ ในที่สุด เพราะได้ปฏิบัติตามคำสอนนี้
ย่อมได้รับ ความสุขอันเป็นผลที่ตามมา ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ พระธรรมจึงเรียกว่า “สวากขาโต”
ซึ่งพระผู้ มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว
โลกุตตรธรรมก็เป็นสวากขาตธรรมด้วย เพราะท่านจัดโลกุตรธรรมไว้ในหลักสูตรแห่ง
การปฏิบัติธรรมด้วย ซึ่งเป็นธรรมที่ควรแก่การเข้าไปใกล้พระนิพพาน แต่ในขณะเดียวกันพระนิพพาน
ก็เป็นธรรมที่คู่ควรกับผลแห่งการปฏิบัติ ดังที่เราพบข้อความต่อไปนี้
“หนทางไปสู่พระนิพพานสำหรับพระสาวกทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้วอย่างดี
หนทางนี้ย่อมประสานพระนิพพาน และพระนิพพานย่อมประสานหนทางนี้”
หนทางไปสู่พระนิพพานท่านให้คำจำกัดความว่า “ทางสายกลาง”เพราะทางนี้หลีกเลี่ยง
ที่สุด ๒ อย่าง มรรค ๔ และผล ๔ ท่านกล่าวว่าเป็นธรรมที่ทำให้กิเลส สงบ
ระงับเพราะมรรค และผลย่อมมีแนวโน้มไปเพื่อผลเช่นนั้น
ประตูชัยท่านกล่าวว่าได้แก่พระนิพพานเพราะเป็น ความสุขนิรันดร ดังนั้น
โลกุตรธรรมท่านจึงกล่าว “สวากขาโต” = ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัส
๒ สันทิฎฐิโก
คำนี้ประการแรกทีเดียว
แสดงให้เห็นว่าพระอริยมรรคจะต้องปฏิบัติและรู้แจ้งด้วยตนเองของแต่ละบุคคล
เมื่อเจริญพระอริยมรรค ผู้ปฏิบัติย่อมได้บรรลุผลคือ ความสิ้นสุดแห่งการทรมานของกิเลส
และข้อนี้จะพบได้ในปัจจุบันชาตินี้เอง ดังนั้น ผลของการเจริญพระอริยมรรค
จึงเรียกว่า “สันทิฎฐิโก” = อันบุคคลเห็นได้ด้วยตนเองในตนเอง ดังที่ท่านกล่าวไว้ในพระคัมภีร์อังคุตตรนิกาย
ว่า
“ดูก่อนพราหมณ์ ผู้ที่มีกิเลส ผู้ที่มีกิเลส ถูกกิเลสครอบงำ มีจิตเต็มไปด้วยกิเลส
ย่อมคิดทำลายตนเอง ย่อมคิดทำลายผู้อื่น ย่อมคิดและทำลายทั้งตนเองและผู้อื่น
และย่อมได้รับ ความทุกข์และความเศร้าโศก เมื่อเขาดับกิเลสได้ เขาย่อมไม่ทำลายตนเอง
เขาย่อมไม่ทำลายผู้อื่น เขาย่อมไม่ทำลายทั้งตนเองและผู้อื่น
เขาย่อมไม่มีความทุกข์และความเศร้าโศก ดูก่อน พราหมณ์
ดังนั้นพระธรรมจึงเป็นธรรมชาติที่บุคคลเห็นได้ด้วยตนเอง ”
ประการที่สอง ผู้ที่ได้บรรลุโลกุตตรธรรมทั้ง ๙ (มรรค ๔ ผล๔ นิพพาน ๑) ได้บรรลุ ด้วยตนเอง ไม่ใช่ด้วยศรัทธาของบุคคลอื่น
ผู้ที่ได้รับสิ่งดลใจที่จะบรรลุธรรมเหล่านั้นควรได้รับ ความสำเร็จตามเป้าหมายของตนโดยอาศัยความเชื่อนั้นในตนเอง
ดังนั้น พระธรรมจึงเรียกว่า สันทิฐิโก” = รู้แจ้งด้วยตนเอง
๓ อะกาลิโก
พระโลกุตตระธรรมไม่เหมือนกับคุณค่าทางโลกทั่วๆ ไป ซึ่มีกำหนดในการให้ผล
คุณค่าของพระโลกุตตรธรรมไม่อยู่ภายใต้กำหนดเวลา แต่จะให้ผลทันที ดังนั้น จึงเรียกว่า “อกาลิโก” =
ให้ผลทันทีที่ปฏิบัติ ข้อความนี้หมายถึงพระอริยมรรค
๔ เอหิปัสลิโก
พระอริยมรรคเป็นธรรมคู่ควรแก่การแสดงให้ผู้อื่นได้เห็น เสมือนหนึ่งเชื่อเชิญเขาทั้งหลายให้มาดูพระธรรมนี้
พระโลกุตตรธรรม ๙ ประการนี้ เพราะเหตุที่มีความจริงและมีความบริสุทธิ์
ซึ่งทำให้เป็นพระธรรมที่มีค่าที่สุด จึงมีเหตุผลสำหรับการเชื้อเชิญเช่น “มาดูซิ” ดังนั้น คำว่า เอหิปัสสิโก จึงเป็นฺคำที่เหมาะสม
๕ โอปะนะยิโก
พระธรรมเป็นธรรมชาติที่ควรบรรลุ โดยวิธีการปฏิบัติต่อเนื่องและด้วยความพยายาม ที่จริงจัง
เพราะว่าผลที่เกิดขึ้นเป็นผลที่คู่ควรกับความพยายาม อนึ่ง
พระธรรมเป็นธรรมชาติที่ควรแก่การบรรลุเพราะว่าคุณธรรมที่เหนือธรรมดาเหล่านั้นรวมอยู่ในจิตด้วยการรู้แจ้งแทงตลอด
โดยเหตุที่พระธรรมย่อมนำบุคคลไปสู่ความสุขนิรันดรซึ่งได้แก่พระนิพพาน ดังนั้นพระธรรมจึงได้รับขนานนาม ว่า “โอปะนะยิโก”
= คู่ควรกับการบรรลุ
๖ ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ
พระธรรมเป็นธรรมชาติที่จะต้องกระทำให้แจ้งด้วยตนเอง โดยนักปราชญ์ทั้งหลายแต่ละคน
เพราะว่านักเรียนย่อมไม่บริสุทธิ์จากบาป เพราะครูของเขาปฏิบัติตามอริยมรรคหรือ บุตรย่อมไม่บริสุทธิ์
เพราะเหตุแห่งความบริสุทธิ์ของบิดาหรือมารดาของเขา ทุกๆ คนจะต้องปฏิบัติตามอริยมรรคด้วยตนเอง
และเขาเองจะต้องได้บรรลุผลแห่งการปฏิบัตินั้น ดังนั้น พระธรรม จึงไม่ใช่ธรรมชาติที่คนจะต้องมองว่า
เป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่จะได้บรรลุด้วยความสงสารจากผู้อื่น นักปราชญ์ควรได้เห็น
ได้รู้แจ้ง และยินดีในพระธรรมด้วยจิตของตน ดังนั้น ท่านจึง กล่าวคำว่า “ปัจจัตดัง
เวทิตัพโพ วิญญูหิ”
ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระสาวกระลึกถึงพระธรรมคุณตามสมควร ย่อมบรรลุสมาธิขั้นอุปจาร
และจิตของตนย่อมปราศจากนิวรณ์ทั้งหลาย แต่ในข้อนี้ เช่นเดียวกับพุทธานุสสติภาวนา
พระสาวกย่อมไม่บรรลุอัปปนาสมาธิ เพราะพระธรรมคุณเป็นธรรมชาติลึกซึ้งยากที่จะเข้าใจได้
และการระลึกถึงคุณสมบัติต่างๆ ของพระธรรมย่อมต้องการความพินิจพิเคราะห์เป็นพิเศษ
แต่เพราะเหตุที่จิตของพระสาวกปราศจากนิวรณ์ทั้งหลาย
ย่อมสามารถบรรลุสมาธิที่สมบูรณ์ ซึ่งทำให้เหมาะสมสำหรับการเจริญวิปัสสนา
ซึ่งในที่สุดจะนำเขาไปสู่ความสุขคือพระนิพพานได้
๓ สังฆานุสสติ
(ภาวนาด้วยการระลึกถึงพระสงฆ์)
คำว่า”สังฆะ” ตามศัพท์หมายถึง “ที่ประชุม” และถ้าเป็นคำที่ใช้ทั่ว ๆไปหมายถึง “องค์กร แห่งพระภิกษุ” แต่ในสังฆานุสสติ
ในฐานะเป็นอารมณ์กรรมฐาน และเป็นหนึ่งในสรณะ ๓ อย่าง ในพระพุทธศาสนา คำว่า “สังฆะ”
หมายถึงเฉพาะพระอริยสาวกผู้ได้บรรลุพระอริยมรรค ๔ และพระอริยผล ๔ เท่านั้น
พระสาวกผู้ปรารถนาจะเจริญสมาธิโดยยึดพระสงฆ์เป็นอารมณ์ควรเจริญในที่สงัดและเป็นเอกเทศ
พลางระลึกถึงพระคุณของพระอริยสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ตามที่ท่านแสดงไว้ดังนี้
“สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ ฯลฯ อนุตฺตรํ ปุณฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺสาติ =
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติสมควร
พระสงฆ์สาวกของ พระผู้มีพระภาค ได้แก่ บุรุษ ๔ คู่, แยกเป็นพระอริยบุคคล ๘
ผู้สมควรแก่เครื่องสักการะ แก่การต้อนรับ แก่การถวายทาน แก่การเคารพ
เป็นเนื้อนาบุญอันยิ่งยอดของชาวโลก” ;
เมื่อพระสาวกเจริญสมาธิตามข้อความข้างบนนี้ควรระลึกถึงพระคุณแห่งพระสงฆ์ด้วย
ประการ ฉะนี้
ณ ที่นี้ คำว่า “สุปฏิปนฺโน” หมายถึงได้บรรลุพระอริยมรรค
ซึ่งเป็นทางที่ไม่หมุนกลับ จากเป้าหมาย เป็นทางตรงที่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์
ทางนี้เพราะเป็นทางตรงไม่คดงอท่านจึง เรียกว่าพระอริยมรรคที่ถูกต้อง
เพราะว่าทางนี้สอดคล้องกับพระธรรม ท่านจึงเรียกว่า “สามีจิ” แปลว่า
เหมาะสมหรือเป็นไปตามกฎเกณฑ์ ดังนั้นพระอริยบุคคลทั้งหลายผู้ได้บรรลุถึงสายนี้
ท่านจึงเรียกว่า ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัตชอบ ปฏิบัติสมควร”
ในบรรดาพระอริยสาวกทั้งหลายเหล่านั้น พระสาวกผู้ได้บรรลุหนทางนั้น
ท่านเรียกว่า “ผู้ปฏิบัติดี”ในข้อที่ว่าท่านเหล่านั้นได้รับการฝึกฝนในระเบียบวินัยที่ดีและความประพฤติที่ถูกต้อง
เพราะว่าโดยอาศัยวินัยที่ถูกต้องและความประพฤติที่ถูกต้องนี้แหละที่พระสาวกทั้งหลายได้บรรลุ
คุณธรรมที่จำเป็น อนึ่ง พระอริยสาวกเหล่านั้นเป็นผู้ปฏิบัติดี
เพราะได้ประพฤติตนตามคำแนะนำของกฎและธรรมที่ท่านอธิบายไว้แล้วอย่างดี
พระอริยสาวกเป็นผู้ปฏิบัติตรงเพราะได้ ปฏิบัติตามสายกลางซึ่งไม่มีที่สุด ๖ อย่าง
ปราศจากวาจาคดโกง การกระทำที่คดโกงและความคิดที่เต็มไปด้วยความคดโกง
พระอริยสาวกเป็นผู้ปฏิบัติชอบเพราะได้ดำเนินไปเพื่อบรรลุพระนิพพาน
ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ญาย” พระอริยสาวกเป็นผู้ปฏิบัติสมควรเพราะแนะนำตนเอง จนกระทั่งว่าความประพฤติของตนสมควรแก่การอธิบายว่า
“ปฏิบัติตามกฎ” เพราะเป็นความประพฤติที่เหมาะสมกับตำแหน่งและคู่ควรแก่การเคารพนับถือซึ่งได้รับจากผู้ใจบุญทั้งหลาย
อนึ่งเกี่ยวกับข้อความที่ว่า “บุรุษ๔คู่” ควรตั้งข้อสังเกตว่าผู้ที่ได้บรรลุพระอริยมรรคข้อที่ ๑
และอีกผู้หนึ่งที่บรรลุพระอริยผลข้อที่ ๑ รวมกันเป็น ๑ คู่ ดังนั้นพระอริยบุคคล ๔
คู่ เกิดจากพระอริยมรรค ๔ และพระอริยผล ๔
อนึ่ง “บุรุษบุคคล ๘” ได้แก่พระอริยบุคคล ๘ ประเภท โดยแยกกันเป็นส่วนบุคคล คือ
บุคคลผู้ได้พระอริยมรรคข้อแรกเป็นคนหนึ่ง
และผู้บรรลุพระอริยผลข้อแรกเป็นอีกบุคคลหนึ่ง โดยวิธีนี้จึงมีบุรุษบุคคล ๘ ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ที่ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค
โสดาปัตติผล สกทาคามีมรรค สกทาคามีผล อนาคามีมรรค อนาคามีผล อรหัตมรรค และอรหัตผล
จะเห็นได้ว่า ในขณะที่กำหนดเอา ๔ คู่ จากมรรค ๔ และผล ๔ นั้น บุรุษบุคคล ๘
ประเภท ย่อมเป็นตัวอย่างของการบรรลุ ๘ ขั้น ในพระอริยสงฆ์ ดังนั้น บุรุษ ๔
คู่เหล่านี้แต่ละคู่ทำหน้าที่ แทนขั้นของการบรรลุระดับสมบูรณ์
แต่ก็ถือว่าเป็นบุคคล ๘ ประเภทซึ่งแสดงถึงระดับแห่งการ บรรลุทางจิตวิทยานั้น
ย่อมสร้างระบบเป็นพระอริยสงฆ์ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ในกลุ่มคำ “คู่ควรแก่ของถวาย” เป็นต้น คำว่า ของถวาย (อาหุนัง) หมายถึงบางสิ่ง
บางอย่างซึ่งได้รับการตระเตรียมเป็นอย่างดี นำมาจากระยะทางที่ไกลและถวายแด่พระผู้ทรงคุณธรรม
ในที่นี้บ่งถึงปัจจัย ๔ อย่าง พระอริยสงฆ์เป็นผู้ควรแก่ของถวาย
และผู้ถวายก็ย่อมได้ รับบุญมาก ดังนั้นจึงมีคำว่า “คู่ควรแก่ของถวาย” (อาหุเนยฺย) คำนี้ท่านอธิบายถึง
อาหวนียะ ด้วย ซึ่งหมายความว่า ควรแก่การถวายในรูปแบบของการบวงสรวงมีผู้เชื่อว่า
ถ้าถวายของสิ่งใด สิ่งหนึ่ง แด่พระพรหมด้วยหวังจะได้รับพรอันยิ่งใหญ่
ควรจะถวายลงในกองไฟ ดังนั้น สำหรับบุคคลเช่นนั้น การบูชาไฟเป็นวิธีที่ดีที่สุด
เพราะให้ผลมาก แต่ถ้าประสงค์จะถวายเพื่อได้รับผลมาก
แน่นอนพระอริยสงฆ์ย่อมเป็นผู้รับที่เหมาะสมที่สุด สิ่งที่ถวายแด่พระอริยสงฆ์ย่อมให้ผลมหาศาลสมตามที่
ท่านกล่าวไว้ในพระธรรมบทว่า
“บุรุษอาจบูชาไฟอยู่ในป่าเป็นเวลาร้อยปี แต่การเคารพต่อผู้พัฒนาตนเอง
ผู้สมบูรณ์ แม้ชั่วขณะหนึ่ง ยังดีกว่าการบูชาไฟนั้น”
เมื่อพิจารณาข้อความ“ควรแก่การต้อนรับ” ควรสังเกตว่าของต้อนรับซึ่งเตรียมไว้
อย่างดีเพื่อต้อนรับแขก และการต้อนรับเพื่อนและญาติสนิทด้วยไมตรีจิตและให้ความเพลิดเพลินแก่เขารวมอยู่ในคำว่า
“อาคันตุกทาน”
พระสงฆ์เป็นผู้ควรแก่ของถวายและการต้อนรับเช่นนั้น เพราะว่าไม่มีแขกผู้ใดที่จะเทียบสมาชิกแห่งพระสงฆ์ได้ยกเว้นในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่เท่านั้น
ใช้แต่เท่านั้น สมาชิกของพระสงฆ์ โดยแท้จริงแล้ว
เป็นผู้ไม่มีบ้านเรือนและเพียบพร้อมไปด้วยคุณสมบัติที่น่าสรรเสริญและน่ายินดี
พระสังฆคุณอีกข้อหนึ่ง คือทักขิไณยผู้ควรแก่ของอุทิศถวาย
ของอุทิศถวายเรียกว่าทักษิณา เมื่อของนั้นถวายโดยผู้ที่มีศรัทธาในโลกนี้ และเชื่อว่าจะสามารถเก็บเกี่ยวผลของทานในโลกหน้า
หมู่แห่งสงฆ์เป็นผู้สมควรจะได้รับทักษิณาเช่นนั้น เพราะท่านมีคุณธรรมที่จะทำให้ทักษิณานั้นมีผลคือบุญกุศลอันไพศาล
ดังนั้นท่านจึงมีนามว่า “ผู้ควรแก่ทักษิณา”
หมู่สงฆ์เป็นผู้ควรแก่การต้อนรับด้วยความนับถือ เช่น การประณมมือไว้ที่หน้าผากเป็นต้น
ดังนั้น หมู่สงฆ์ท่านจึงเรียกว่า “อัญชลีกรณีโย” = ผู้ควรแก่การน้อมไหว้
อนึ่งบุญซึ่งเกิดมาจาก การดำรงชีพในภาวะเป็นสงฆ์ ย่อมนำไปสู่ประโยชน์ทุกๆ ชนิด
และนำไปสู่ความสุขที่แท้จริงในโลก ดังนั้น
พระสงฆ์ท่านจึงกล่าวว่าเป็นเนื้อนาบุญอันยอดยิ่งของชาวโลก
เมื่อพระสาวกระลึกถึงพระคุณของพระสงฆ์ จิตของตนจะไม่ถูกตัณหารุกรานแม้ความโกรธ
ความหลงก็ไม่มาครอบงำได้ แต่จิตของพระสาวกจะดำเนินไปตรงทางและมีความปิติ
ปราศจากนิวรณ์ทั้งหลายแล้วองค์ฌานต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นในขณะเดียวกันนั้นเอง แต่เพราะเหตุที่
พระสังฆคุณ เป็นธรรมชาติลึกซึ้ง และต้องการความตั้งใจจริงในการระลึกถึงพระคุณต่างๆ
ของ พระสงฆ์ ฌานที่ได้จึงเป็นเพียงอุปจารฌานเท่านั้น
พระสาวกผู้ปฏิบัติธรรมโดยการระลึกถึงพระสังฆคุณเสมอๆ ย่อมมีความเคารพและ
ศรัทธาในพระสงฆ์และไม่ถูกความกลัว และความหวั่นหวาดครอบงำ ย่อมสามารถทนต่อความทุกข์
และสามารถสร้างแนวความคิดว่ากำลังมีชีวิตอยู่กับพระสงฆ์และจิตของตนก็มุ่งหมายที่จะบรรลุถึงพระสังฆคุณ
ถ้าเมื่อระลึกถึงพระสังฆคุณแต่ไม่บรรลุพระอรหัตในปัจจุบันชาติก็จะมี ความสุข
ในชาติหน้าอย่างแน่นอน
๔ สีลานุสสฅิภาวนา
การเจริญสมาธิโดยระลึกถึงพระคุณแห่งศีล
พระสาวกผู้ปรารถนาจะเจริญสมาธิโดยพิจารณาพระคุณของศีล
ควรปลีกตนไปอยู่ในที่สงัด และระลึกถึงความบริสุทธิ์แห่งศีลของตนดังต่อไปนี้
“อโห วต เม ศีลานิ อขณฺทานิ, อจฺฉิทฺทานิ, อสพลานิ, อกมฺมาสานิ,
ภุชิสฺสานิ, วิญญูปสตฺถานิ, อปรามฎฐานิ, สมาธิสมฺวตฺตนิกานีติ ”
โอหนอ ศีลของข้าพเจ้าไม่เดาะ ไม่ขาด ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นอิสระ ผู้รู้สรรเสริญ
ปราศจากสิ่งมัวหมอง เป็นไปเพื่อสมาธิ
ในสมาธินี้ ผู้ครองเรือนควรระลึกถึงศีลของตนตามแบบที่เหมาะสมสำหรับตน แต่พระภิกษุหรือภิกษุณี
ควรพิจารณาศีลของตนตามรูปแบบที่เหมาะสมของตนเองโดยเฉพาะ
เมื่อพระสาวกระลึกถึงพระคุณแห่งศีลของตนจิตจะไม่ถูกกิเลสคือโลภ โกรธ หลง ครอบงำ
แต่จะมีปิติ และโสมนัสเพราะพระคุณแห่งศีล เช่นเดียวกับในข้อที่กล่าวแล้ว
องค์ฌานจะเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันนั้น แต่เป็นเพียงขั้นอุปจารฌาน พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติศีลานุสสติย่อมเป็นผู้ขมัก
เขม้นในการอบรมศีลของตนย่อมดำเนินชีวิตที่มีศรัทธาปราศจากความกลัวและการตำหนิติเตียน
และเห็นโทษในความผิดเล็ก ๆน้อยๆ ถ้าไม่สามารถบรรลุมรรคผลในชาตินี้ได้ก็ย่อมจะมีชีวิตที่
มีความสุขในอนาคต
๕ จาคานุสสติ
การเจริญสมาธิโดยพิจารณาการบริจาค
ผู้ที่ปรารถนาจะเจริญสมาธิด้วยการพิจารณาการบริจาค ควรเป็นบุคคลที่ให้อาหาร
และมอบสิ่งของให้แก่ผู้อื่นเป็นนิจสิน อนึ่งในขณะเจริญสมาธิ เขาควรอธิษฐานว่า “ตั้งแต่บัดนี้
เป็นต้นไป ตราบใดที่มีปฏิคาหก ข้าพเจ้าจะไม่รับประทานสิ่งใดโดยไม่ได้บริจาคทาน
แม้ว่าของสิ่งนั้นจะมีเพียงกำมือเดียวก็ตาม” ในวันที่เขาอธิษฐานจิตเช่นนั้น
เขาควรบริจาคสิ่งของเท่าที่จะบริจาคได้ให้แก่บุคคลผู้หนึ่งที่สมควรได้รับและมีคุณธรรมเด่น
และยึดการบริจาคนั้นเป็นอารมณ์แห่งจิตเขาควรเจริญภาวนาในที่สงัดพิจารณาถึงคุณธรรมในการบริจาคดังต่อไปนี้
“เป็นลาภของข้าพเจ้าหนอ เป็นลาภใหญ่ที่ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่ด้วยจิตปราศจากมลทิน
คือความตระหนี่ มีมือที่เอื้ออารีและสะอาด พร้อมที่จะให้การช่วยเหลือ
ยินดีในการให้ทาน มีชีวิต อยู่ในท่ามกลางประชาชนผู้มีมลทินคือความตระหนี่”
ดังนั้น เมื่อเขาพิจารณาถึงการบริจาคของตนซึ่งมีคุณสมบัติคือการปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน
จิตของเขาจะไม่ถูก โลภ โกรธ หลง ครอบงำ แต่จะเป็นจิตที่ฟูขึ้นและมั่นคง
ด้วยสติที่มีในการบริจาคของตน เช่นเดียวกับในกรณีแรก
เมื่อจิตของเขาปราศจากนิวรณ์และ
ยึดนั้นอยูในอารมณ์นี้องค์ฌานทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นในเวลาเดียวกันในขั้นอุปจารสมาธิอันนี้เรียกว่า
“จาคานุสสติ” เพราะเกิดขึ้นจากการนึกถึงคุณสมบัติของการบริจาค
พระสาวกผู้เจริญโดยยึดการบริจาคเป็นอารมณ์นี้จะเป็นผู้มีความดื่มด่ำในจาคะมากยิ่งขึ้นและจะไม่มีความโลภ
จะดำรงชีวิต อยู่ด้วยเมตตา และเพราะมีความเชื่อนั้นและความร่าเริง
จึงเป็นการแน่นอนว่าย่อมมีความก้าวหน้าที่มีความสุข
๖ เทวดานุสสติภาวนา
การเจริญภาวนาด้วยการระลึกถึงเทวดา
ผู้ที่ปรารถนาที่จะเจริญเทวดานุสสติ
คือการเจริญภาวนาด้วยการระลึกถึงเทวดาจะต้อง ประกอบไปด้วยศรัทธา พลัง และสติ ซึ่งสัมปยุตด้วยอริยมรรคแล้วควรระลึกถึงคุณธรรมของตน
ยึดเทวดาเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้
“มีเทพเจ้าทั้งหลายผู้คุ้มครองทิศทั้งนี้มีเทพเจ้าชั้นดาวดึงส์ ขั้นยามา ชั้นดุสิต
ชั้นนิมมานนรดี และ ชั้นปรนิมมีตวสวัตตีมีเทพเจ้า ชั้นพรหมมีเทพเจ้าทั้งหลายที่สูงกว่าเทพเจ้าเหล่านั้น
เทพเจ้าทั้งหลายเหล่านั้นอุบัติในภูมินั้นๆ ด้วยศรัทธาเหล่าใดก็ตาม ศรัทธาเช่นนั้นย่อมมีใน
ข้าพเจ้าเช่นกัน เทพเจ้าเหล่านั้นอุบัติในภูมินั้นๆ ด้วยคุณธรรมใดๆ
ด้วยการศึกษาใดๆ ด้วย การบริจาค ใดๆ และด้วยปัญญาใดๆ ข้าพเจ้าย่อมมีคุณธรรม เช่นนั้น
ปัญญาเช่นนั้น”
เมื่อพระสาวกพิจารณาถึงคุณธรรมของตนมีศรัทธาเป็นต้น ดังนั้น และเปรียบเทียบ
คุณธรรม เหล่านั้นกับคุณธรรมของเทพเจ้าทั้งหลาย ในขณะนั้นจิตของตนย่อมปราศจาก โลภะ
โทสะ และโมหะ ดังนั้นท่านจึงได้กล่าวถึงพระสาวกเช่นนั้นไว้ดังนี้
“ดูก่อนมหานาม, เมื่อพระอริยสาวกระลึกถึงคุณธรรมของตนและคุณธรรมของเทพเจ้าทั้งหลาย
แล้ว จิตของตนจะไม่ถูกโลภะ โทสะ และโมหะครอบงำ”
ควรสังเกตว่า ตามความในพระอรรถกถา พระสาวกควรพิจารณาคุณธรรมของเทพเจ้าทั้งหลาย
เป็นเบื้องต้น ได้แก่คุณธรรมคือ ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญา และหลังจากนั้นควรพิจารณา
คุณธรรมทั้งหลายซึ่งมีอยู่ในตนเอง เมื่อเพ่งพิจารณาดังนี้ จิตของตนจะปราศ
จากนิวรณ์ทั้งหลาย และองค์ฌานทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นในขั้นอุปจารสมาธิ เช่นเดียวกับในอนุสสติประเภทอื่นๆ
ฌานนี้เรียกว่าเทวดานุสสติ เพราะเกิดขึ้นจากการพิจารณาถึงคุณธรรมของ
ตนเองและของเทพยดา ทั้งหลาย
พระสาวกผู้เจริญสมาธิข้อนี้ ย่อมเป็นที่รักของเทพยดาทั้งหลาย และย่อมบรรลุคุณธรรมขั้นสูงขึ้น
ถ้าไม่ก้าวหน้าต่อไปในปัจจุบันชาตินี้ ก็จะได้รับความสุขในชาติหน้า
สารบัญ
No comments:
Post a Comment