Sunday, October 23, 2016

บทที่ ๒๑, วิธีเจริญหรหมวิหาร



บทที่ ๒๑
วิธีเจริญหรหมวิหาร
๑ วิธีเจริญตามพระคัมภีร์พระไตรปิฎกเมตตา
ในขณะที่ระบบการเจริญสมาธิในพระพุทธศาสนาเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยให้รู้จักตนเอง และถือปฏิบัติเพื่อบรรลุความสมบูรณ์ของตนเองนั้น การเจริญพรหมวิหาร ๔ เป็นการแสดงออก ถึงคุณธรรมด้านบวก และเพื่อความบริสุทธิ์สุดยอดและสมบูรณ์ และความอ่อนนุ่มแห่งหัวใจซึ่ง ค่อยๆ ชัดเจนเด่นขึ้นในจิตของพระโยคีในขณะที่เขาดำเนินการฝึกของเขาอย่างสืบเนื่อง
ในบรรดาคุณธรรมเหล่านี้ เมตตาซึ่งได้แก่การประพฤติประโยชน์อย่างไม่มีขอบเขต หรือมีไมตรีอย่างไม่มีขอบเขตย่อมเน้นถึงธรรมชาติด้านบวกแห่งการอุทิศตนเองและให้การบริการอย่างเสียสละของผู้ประพฤติธรรม ซึ่งไม่จำกัดอยู่ในส่วนใดส่วนหนึ่งของความเป็นอยู่  แต่แผ่ขยายไปทั่วจักรวาฬโดยรวมสัตว์ทั้งหลายจากสูงสุดไปหาต่ำสุดและจากยิ่งใหญ่ที่สุดไปหารูปแบบแห่งชีวิต ที่ละเอียดที่สุด เมตตาตามที่เราจะเห็นตัวอย่างในพระพุทธเจ้าและในพระสาวกของพระองค์ และตามที่ ท่านแสดงไว้ในพระสูตรทั้งหลายนั้น เป็นการแสดงออก ซึ่งความรู้ ความรู้สึกที่ถาวร และเป็นทรรศนะคติที่มีอยู่เป็นนิสัยในการช่วยเหลือผู้ อื่น ตลอดถึงการแสดงไมตรี และความเป็นเพื่อนซึ่งจะพบในการกระทำคำพูดและความคิด มีข้อความจำนวนมากซึ่งสามารถจะนำมาพิจารณาเพื่อยืนยันถึงความสำคัญซึ่งให้แก่ความเป็นเทพย์ในคำสอนของพระพุทธเจ้า
การเจริญเมตตาซึ่งเมื่อกล่าวตามหลักแห่งจิตวิทยาแล้วเป็นส่วนประกอบแห่งศีลธรรมนั้น ย่อมนำไปสู่การสร้างความรู้สึกทางอารมณ์ในเรื่องความปรารถ นาดีมากกว่าที่จะเป็นสมาธิในตัวเอง แต่อย่างไรก็ตามพระสาวกควรเจริญเมตตาไปพร้อมๆ กับการเจริญสมาธิอย่างอื่น เพราะเมตตาเป็นธรรมที่จำเป็นสำหรับผู้ที่จะแสวงหาความบริสุทธิ์ทางจิตไม่ให้มีความโกรธ และ ความพยาบาท ยิ่งกว่านั้น พระสาวกจะพบว่าเมตตาเป็นธรรมสำคัญที่สนับสนุนในการเจริญสมาธิ โดยการนำความสำเร็จมาให้และให้วิธีการป้องกันตนจากนิวรณ์ภายนอก ซึ่งเขาอาจพอใจกับนิวรณ์เหล่านั้นก็ได้
ในมหาราหุโลวาทสูตร เราพบว่าพระพุทธเจ้าทรงแนะนำพระราชโอรสของพระองค์ คือพระราหุลเถระให้เจริญเมตตา ด้วยเหตุผลที่ว่าเมื่อเจริญเมตตาแล้ว ความโกรธจะหมดไป ในเมฆิยสูตรท่านเสนอแนะให้พระเมฆิยเถระเจริญเมตตา เพราะพระเถระรูปนี้ไม่ประสบความสำเร็จในการเจริญสมาธิในครั้งแรกเนื่องจากมีความคิดชั่วเกิดขึ้นไม่ขาดสาย หลังจากนั้นพระเมฆิยะเถระก็ได้บรรลุพระอรหันต์ และขจัดความคิดชั่วนั้นออกไปโดยอาศัยเมตตาที่เจริญดีแล้ว มาช่วยเสริม
วิธีเจริญเมตตาในฐานะเป็นสมาธิเอกเทศแบบหนึ่ง ท่านอธิบายไว้ในพระคัมภีร์ต่างๆ มากมาย  เราควรเอาใจใส่เป็นพิเศษในวิธี ๔ อย่างต่อไปนี้ซึ่งปรากฏในพระสุตตปิฎกเพื่ออธิบาย เรื่องนี้
๑ ในบรรดาวิธีทั้ง ๔ นี้ หลักแห่งการเจริญพรหมวิหาร  ๔ อย่าง ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยที่สุดในนิกายทั้งหลายและซึ่งอาจพบได้ในเตวิชชสูตรนั้น ส่วนใหญ่กล่าวถึงวิธีทิศาผรณะ วิธีนี้ขึ้นอยู่ กับการแผ่ความคิดประกอบด้วยเมตตาไปทั่วโลกขยายไปในทกทิศและประกอบด้วยฌานขั้นต่างๆ ขอยกหลักข้อนี้มากล่าวพร้อมกับภาษาบาลีเพื่อแสดงให้เห็นลักษณะที่แตกต่างกันดังต่อไปนี้
“โส เมตุตาสหคเตน เจตสา เอกํ ทิสํ ผริตฺวา วิหรติ ตถา ทุติยํ ตถา ตติยํ ตถา จตุตฺถํ อิติ อุทฺธํ อโธ ติริยํ สพฺพธิ สพฺพตฺตาย สพฺพาวนฺตํ โลกํ เมตฺตาสูหคเตน เจตสา วิปุเลน มหคฺคเตน อปฺปมาเณน อเวเรน อพฺยาปชฺเชน ผริตฺวา วหรติ”
แปลความว่า เขาแผ่จิตที่มีเมตตาไปสู่ทิศหนึ่ง ดำรงชีวิตอยู่ ทิศที่สองก็เช่นนั้น ทิศที่สาม ก็เช่นนั้น และทิศที่สี่ก็เช่นนั้น เช่นเดียวกันนี้ทั้งข้างบน ข้างล่าง รอบๆ ทุกๆ แห่งเสมือนหนึ่ง ตัวเขาเองอยู่ในโลกที่กว้างใหญ่ทั้งหมด และแผ่จิตอันประกอบด้วยเมตตาที่มากยิ่ง เจริญยิ่งขึ้น ประมาณไม่ได้ ปราศจากข้าศึก และปราศจากความมุ่งร้าย
พระพุทธโฆษาจารย์ได้อภิปรายหลักนี้ไว้ในพระคัมภีร์วิสุทธิมรรค ซึ่ง ณ ที่นั้น ท่านได้แยกแยะออกไปเป็น “วิกุพฺพนา” ซึ่งเป็นคำที่เกี่ยวกับ “อิทฺธิวิธ” ว่าดังนี้ “วิกุพฺพนาอิทธิ” ซึ่งหมายความว่าได้รับพลังจิตแบบต่างๆ คำนี้ (วิกุพฺพนา) ตามที่พระพุทธโฆษาจารย์ใช้ หมายถึง การเจริญเมตตาโดยวิธีหรือแบบต่างๆ มากมาย ข้อนี้บ่งถึงการประดิษฐานภูมิแห่งจิตที่กว้างใหญ่ไพศาลและมีประโยชน์ ซึ่งเพิ่มพูนขึ้นจนถึงขั้นอัปปนาหรือฌานขั้นต่างๆ  ดังนั้น หลักนี้จึงบ่งบอกถึง ทรรศนคติทางใจ ซึ่งเป็นนิสัยประจำตัวของผู้ที่ได้บรรลุฌานด้วยการเจริญเมตตา และจะพบว่าท่านกล่าวซ้ำๆ โดยการกล่าวถึงความรู้สึกที่ประกอบด้วยกรุณา มุทิตา และอุเบกขาทีละข้อ โดยเหตุที่หลักนี้เป็นข้อความแสดงถึงแบบความเป็นอยู่พิเศษที่พระโยคาวจรจะนำมาใช้ หลักนี้จึงมุ่งเน้นแสดงทรรศนคติทางจิตเกี่ยวกับโลกภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นฌาน ยิ่งกว่านั้นหลักนี้อธิบายถึงลักษณะของคนผู้ไม่ทรมานตนเองหรือไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นแต่ “ดำรงชีพอยู่อย่างสันโดษ สงบ เย็น เสวยสุขอันเกิดจากความสงบ เป็นพรหม” บริบทของหลักนี้สอดคล้องกับข้อความในอุปาลีสูตรที่ว่า ผู้ที่บรรลุฌานและอภิญญาแล้ว แต่ยังไม่เจริญเมตตา สามารถทำลายผู้อื่นได้เพียงแค่มีความโกรธครอบงำจิตเท่านั้น ท่านกล่าวไว้ว่าในอดีตกาลป่าชื่อว่า ทัณฑกะ,กาลิงคะ, เมชฌะ, และมาตังคะ กลายเป็นป่าไปเพราะความโกรธของฤษีโบราณบางตน แต่พระสาวกของพระพุทธเจ้าปรากฏว่าดำรงชีวิตอยู่ด้วยการแผ่เมตตา อันหาขอบเขตมิได้แผ่ไปยังจักรวาฬทั้งสิ้น ไม่มีความโกรธและความพยาบาท
 พระเมตตาสูตรที่รู้จักกันเป็นอย่างดีหรือที่เรียกว่ากรณียเมตตสูตรได้ชี้แจงถึงลักษณะที่ควรเจริญเมตตาทั้งในฐานะเป็นวิธีการป้องกันตนเอง และเป็นกรรมฐานในที่นั้น ท่านเน้นถึงหน้าที่ของพระสาวกผู้ปฏิบัติตามระบบแห่งการฝึกตนข้อนี้พลางก็แสวงหาความสุขและสันติ พระสูตรนี้เป็นพระสูตรที่สำคัญที่สุดสูตรหนึ่งซึ่งท่านเลือกไว้สวดในช่วงประกอบศาสนกิจหรือระหว่างสวดพระปริตร ซึ่งโดยปกติจะจัดขึ้นในโอกาสอันเป็นมงคลพิเศษหรือในกรณีที่เกิดความทุกข์จากโรคระบาด หรือความป่วยไข้ส่วนตัว พระสูตรนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับพระสาวกผู้เจริญสมาธิ  ดังนั้นจึงขอนำคำภาษาบาลีมากล่าว  ณที่นี้ พร้อมด้วยคำแปลเป็นภาษาไทย
คำภาษาบาลีจากคัมภีร์สุตตนิบาต ว่าดังนี้
 กรณียเมตฺถกุสเลน ยนฺตํ สนฺตํ ปทํ อภิสเมจฺจ สกฺโก อุชู จ สูชู จ สุวโจ จสฺส มุทุ อนติปานี
ฯลฯ
   ๑๐  ติฎฐญจ อนุปคมฺม สีลวา ทสฺสเนน สมปนฺโน กาเมสุ วิเนยฺย เคธํ น หิ ชาตุ คพฺภเสยยํ ปุนเรตีถิ
คำแปลเป็นภาษาไทย
 นี่คือสิ่งที่ควรทำโดยบุคคลผู้มีความชำนาญในการเสาะหาความดีและได้รู้แจ้งถึงทางแห่งความสงบขอให้เขาเป็นคนขยันซื่อตรงและจริงว่านอนสอนง่ายสุภาพและไม่มีความถือตัว
 เขามีความสันโดษ เลี้ยงง่าย มีกิจน้อย ไม่มีภาระกับทรัพย์สมบัติ มีอินทรีย์สงบ ฉลาด ไม่หยิ่งยะโส ไม่โลภอยากได้ของขวัญ จากตระกูล
 ขอเขาอย่าทำสิ่งใดที่เลวซึ่งนักปราชญ์ตำหนิ บัดนี้ขอให้สัตว์ทั้งหลายจงมีความสุข มีความยินดีและปลอดภัย
            ๔-๕ ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีชีวิตอยู่ไม่ว่าจะอ่อนแอหรือแข็งแรง สูงหรือกลางหรือต่ำ เล็กหรือ ใหญ่ ที่เราเห็นหรือไม่เห็น ใกล้หรือไกล เกิดแล้วหรือใกล้จะเกิดและขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงมีความสุขเถิด
 ขอใครๆ อย่าได้หลอกลวงผู้อื่นหรือถูกผู้อื่นหลอกลวงเลยเป็นอันขาด ขออย่าให้เขาปรารถนา ที่จะทำร้ายผู้อื่นเพราะมีความโกรธหรือความเกลียด
 มารดาเมื่ออยู่ในขั้นการเสิ่ยงอันตรายย่อมอนุรักษ์บุตรคนเดียวของตนฉันใด ขอให้เขามีใจกว้างอย่างไม่มีขอบเขตต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายฉันนั้น
 ขอให้เขามีจิตที่มีความรักต่อชาวโลกทั้งมอง เป็นจิตที่ไม่มีขอบเขตจำกัดทั้งข้างบน ทั้งล่าง ทางขวางและโดยรอบ มีความรักที่ไม่มีขอบเขตและมีประโยชน์สุข
 เขาจะยืนอยู่ก็ตาม เดินอยู่ก็ตาม นั่งอยู่ก็ตาม นอนอยู่ก็ตาม ย่อมมีความสุข ขอให้ เขาอธิษฐานจิตอันนี้ไว้ตลอดเวลาที่เขาตื่นอยู่ ซึ่งนักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่าประเสริฐ
๑๐  ขออย่าให้เขามีมิจฉาทิฐิขอให้มีศีลมีความรู้แจ้ง ปราศจากความเพลิดเพลินในสิ่งอันก่อให้เกิดความใคร่ทั้งหลาย ดังนั้น เขาจะไม่กลับมาเกิดอีกอย่างแน่นอน
ในหนังสือคู่มือพระโยคาวจรเราจะพบข้อความข้อนี้ว่าเมตตสูตรจะต้องท่องบ่นเป็นภาษา บาลีเป็นส่วนหนึ่งแห่งคำสวดอ้างอิงซึ่งควรจะมีก่อนการเจริญสมาธิทุกรูปแบบมีข้อสันนิษฐานว่า  ท่านจัดเนื้อหาของพระสูตรนี้โดยวิธีที่คำทั้ง หลายมีพลังเสียงกังวานบางอย่างซึ่งมีความสำคัญมาก และมักสวดด้วยเสียงสูงต่ำพิเศษแบบหนึ่ง  แต่จุดประสงค์ที่สำคัญของพระสูตรนี้ก็เพื่อจะอธิบายวิธีเจริญเมตตา และเพื่อจัดระบบที่แน่นอนสำหรับฝึกจิตซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเพ่งพิจารณา  อนึ่ง เป็นการขยายวิธีการเจริญเมตตาพิเศษเฉพาะวิธีหนึ่ง และสอด คล้องกับวิธีที่ท่านแสดงไว้ใน “เตวิชชสูตร” ยิ่งกว่านั้น ในเมตตสูตรนี้เอง ท่านเปรียบเทียบเมตตากับความรักว่าเป็น “แม่” และเรียกชื่อพิเศษว่า”พรหมวิหาร”การเจริญสมาธิประเภทนี้เพียงอย่างเดียวก็สามารถนำบุคคลไปสู่สภาพไม่เกิดอีกที่ท่านกล่าวไว้ว่า “ดังนั้นเขาจะไม่กลับมาเกิดอีกอย่างแน่นอน”
 การเจริญเมตตาแบบอื่นจะพบในพระคัมภีร์ขันธปริต ซึ่ง ณ ที่นั้นท่านกล่าวว่า เมตตาเป็นธรรมคุ้มกันอันตรายจากงู พระคัมภีร์นี้กล่าวว่า พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งในเมืองสาวัตถีได้มรณภาพลงเพราะถูกงูกัด พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายจำนวนมากได้กราบทูลข่าวนี้แก่พระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสว่า “พระภิกษุสงฆ์ได้เจริญเมตตาในงู ๔ ตระกูลคือ วิรูปักขะ ตระกูลหนึ่ง เวทปักตระกูลหนึ่ง ฉัพยาปุตตะตระกูลหนึ่ง กัณหาโคตมะกะตระกูลหนึ่ง หากพระภิกษุสงฆ์ได้เจริญเมตตาแผ่ไปยังงูทั้ง ๔ตระกูลนี้แล้วไซร้เขาก็จะไม่ตายเพราะถูกงูกัด  ดูก่อนภิกษุทั้ง หลาย ตถาคตขอแนะนำเธอทั้งหลายให้แผ่เมตตาไปยังสัตว์เหล่านั้นเพื่อการคุ้ม ครอง ป้องกันตนเอง
วิธีแผ่เมตตาที่แท้จริงท่านแสดงไว้ในรูปโศลก และจะต้องขยายความออกไปตามลำดับ เริ่มจากตระกูล ๔ ของงู ดังนี้
ขอให้ข้าพเจ้ามีเมตตาในงูวิรูปักษ์
ขอให้ข้าพเจ้ามีเมตตาในงู ฉัพยาบุตร
ขอให้ข้าพเจ้ามีเมตตาในงู เอราบถะ
ขอให้ข้าพเจ้ามีเมตตาในงู กัณหาโคตมกะ
จากนั้นการแผ่เมตตาจะค่อยๆขยายออกไปเรื่อยๆถึงขั้นที่แน่นอนและรวม ถึงสัตว์ชนิดอื่นทั้งหลาย สัตว์เลื้อยคลานที่ไม่มีเท้า สัตว์สี่เท้า และสัตว์หลายเท้า
หลังจากนั้นพระสาวกปรารถนาดังนี้
ขอให้สัตว์เลื้อยคลานจงอย่าทำร้ายข้าพเจ้า
ขอให้สัตว์ ๒ เท้า จงอย่าทำร้ายข้าพเจ้า
ขอให้สัตว์ ๔ เท้าจงอย่าทำร้ายข้าพเจ้า
ขอสัตว์ที่มีหลายเท้า จงอย่าทำร้ายข้าพเจ้า
ต่อจากนั้นเขาจะเจริญเมตตาต่อไปในสัตว์ที่หาประมาณมิได้ ดังนี้
ขอสัตว์ทั้งหลาย ขอสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย
ขอสัตว์ที่เกิดมาทั้งหลาย และขอสัตว์ทุกๆ ตัวตน
จงประสบความสุข และจงอย่าได้รับอันตรายใดๆ
โศลกนี้มีคำบางคำที่ปรากฏในหลักการเจริญภาวนาตามที่ท่านกล่าวไว้นั้นพระ คัมภีร์อื่นๆ คือคำว่า สพฺเพ สตฺตา สพฺเพ ปาณา สพฺเพ ภูตา เป็นต้น
หลังจากนั้นจะมีข้อความต่อไปนี้
“พระคุณของพระพุทธเจ้า ของพระธรรมเจ้า และของพระสงฆเจ้า หาที่สุดมิได้ สัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย เช่น ตะขาบ แมลงป่อง แมงมุม จิ้งจก และหนูเล็กหนูใหญ่มีจำนวนนับได้
ข้าพเจ้าได้ทำการคุ้มครองป้องกันตัวเองแล้วขอสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นจงหลีกไปอย่างสงบ ขอให้ความเคารพของข้าพเจ้าจงมีแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๗ พระองค์เถิด
พระสูตรนี้มีคำภาษาบาลียาวมากและจัดเรียบเรียงไว้อย่างดี มีปรากฏในขันธวัตตุ ชาดก ซึ่งพระโพธิสัตว์แนะนำสาวกของตนให้ฟังพระปริตร ซึ่งกล่าวไว้เป็นภาษาบาลี เป็นคาถาป้องกันงู เพราะพระสาวกเหล่านั้นดำรงชีพอยู่ในที่หนึ่งภายในหุบเขาหิมาลัยซึ่งมีสัตว์มีพิษจำนวนมากอาศัยอยู่  เมื่อปฏิบัติตามคำ แนะนำนี้แล้ว บรรดาฤๅษีทั้งหลายดำรงชีวิตอยู่ยืนนาน  โดยไม่มีอันตรายใดๆ และพระโพธิสัตว์เองผู้ทรงเจริญพรหมวิหารก็จะได้ไปอุบัติในพรหมโลก
ในการบรรยายเรื่องในอดีตเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าทรงแนะนำพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายให้ฟัง พระปริตรเช่นเดียวกันนั้นแล
การเจริญสมาธิข้อนี้ ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์ขุทกวัตตขันธกะในจุลวรรคว่า เป็นกฎของระเบียบวินัยและหน้าที่ และบางที่ท่านอาจนำชื่อพิเศษที่ว่า “ขันธปริตร” มาจากเรื่องนี้ก็ได้
ในบรรดาพระปริตรทั้ง ๒ นี้ วิธีที่ท่านอธิบายไว้ในเมตตสูตรสอดคล้องกับการปฏิบัติ ตามที่ปฏิบัติกันในขั้นฌาน เช่นเดียวกับหลักที่พบในเตวิชชสูตร แต่พระปริตรอีกอย่างหนึ่งดูเหมือนจะเป็นแบบการเจริญกรรมฐานที่เก่ากว่า แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งสองประเภทมีคำว่า “อโนธิโส” (ไม่มีขอบเขตจำกัด) และคำว่า “โอธิโส” (มีขอบเขตจำกัด) ซึ่งท่านอธิบายไว้ในปฏิสัมภิทามรรคดังจะพบข้าง ล่างนี้ ทั้งสองวิธีเข้ากันได้กับวิธีที่สามคือแผ่ไปทั่วทุกทิศหรือทุกภาค ซึ่งท่านให้ไว้ในหลักการปฏิบัติ ๔ อย่าง อาจต่างกันในเรื่องตัวอักษร  แต่เนื้อหาสาระเป็น อย่างเดียวกันทุกแห่ง
การแผ่เมตตาที่ขยายวงกว้างยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับหลักเหล่านี้ท่านกล่าวไว้ในเมตากถา ในพระคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค ซึ่งเราจะพบข้อความโดยละเอียดอธิบายวิธีหลายวิธีเรียงตามลำดับเลข วิธีเหล่านี้รวมอยู่ในหลักโพธิบักขิยะธรรม คือ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และมรรคมีองค์ ๘  ในเบื้องต้นท่านอ้างถึงอานิสงส์แห่งการเจริญเมตตา ซึ่งเป็นพระสูตรในพระคัมภีร์อังคุตตรนิกาย และเป็นพระสูตรที่ให้คำอธิบายเกี่ยวกับอานิสงส์แห่งเมตตาภาวนา ๑๑ อย่าง ซึ่งจะกล่าวในภายหลัง จากนั้นท่านกล่าวถึงวิธีแผ่เมตตาเป็นข้อๆ ๓ อย่าง ดังนี้
 อโนธิโส  ผรณา  การแผ่เมตตาโดยไม่มีขอบเขตจำกัด
 โอธิโสผรณา  การแผ่เมตตาโดยมีขอบเขตจำกัด
 ทิสาผรณา  การแผ่เมตตาไปทั่วทุกทิศทุกภาค
วิธีที่เรียกว่า “อโนธิโส” แบ่งแยกออกเป็น ๕ วิธี แต่ละวิธีเป็นสูตรการเจริญเมตตา เป็นเอกเทศอย่างหนึ่งๆ ดังนี้
 สพฺเพ สตฺตา  สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง
 สพฺเพ ปาณา  สิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายทั้งปวง
 สพฺเพ ภูตา  ทั้งสัตว์และสิ่งของที่เกิดมีขึ้นทั้งหลายทั้งปวง
 สพฺเพ ปุคฺคลา  บุคคลทั้งหลายทั้งปวง
 สพเพ อตฺตภาวา ปริยาปนฺนา  อัตภาพทั้งหลายทั้งปวงซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกัน
แต่ละข้อใน ๕ ข้อข้างบนนี้ ท่านนำมาประกอบกับความปรารถนา ๔ อย่าง คือ
 อเวรา โหนตุ ขอสัตว์ทั้งหลายอย่าผูกเวรกันเลย
 อพฺยาปชฺชา โหนตุ ขอสัตว์ทั้งหลายอย่าได้เบียดเบียนกันเลย
 อนีฆา โหนตุ ขอสัตว์ทั้งหลายอย่ามีความยากใดๆ เลย
 สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ ขอสัตว์ทั้งหลายจงมีความสุขอยู่เถิด
โดยทำนองเดียวกัน
“ขอให้สิ่งที่มีชีวิตทั้งปวง สัตว์ทั้งปวง บุคคลทั้งปวงและทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่จงปราศจาก ข้าศึก, ความเกลียดชัง ความทุกข์ และขอให้เขาทั้งหลายจงมีความสุข”
ในการปฏิบัติตามวิธีนี้ พระโยคาวจรรวบรวมสัตว์ทั้งปวงไว้ในความคิดที่มีเมตตา และ แผ่เมตตาไปยังเขาเหล่านั้นโดยไม่มีจำกัด “รวมทุกคนโดยไม่แบ่งพี้นที่” ตามที่ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถา  ดังนั้น จึงเรียกว่า “อโนทิโสผรณา” คือการแผ่ไปมีจำกัดหรือไม่มีขอบเขต
 มีรูปแบบของโอธิโสผรณาหรือวิธีจำกัดอยู่ ๗ อย่าง
 สพฺพา อิตฺติโย = ผู้หญิงทั้งปวง
๒ สพฺเพ ปุริสา = ผู้ชายทั้งปวง
๓ สพฺเพ อริยา  = พระอริยะทั้งปวงหรือผู้บรรลุความสมบูรณ์ทั้งปวง
๔ สพฺเพ อนริยา = ผู้ที่ไม่ใช่อริยะทั้งปวงหรือผู้ที่ไม่บรรลุความสมบูรณ์
๕ สพฺเพ เทวา  = เทวดาทั้งปวง
๖ สพฺเพ มนุสฺสา = มนุษย์ทั้งปวง
๗ สพฺเพ วินิปาติกา = ผู้ที่มีความทุกข์ทั้งปวง
แต่ละข้อเหล่านี้ควรจะนำไปประกอบกับความปรารถนา ๔ อย่าง และกล่าวซ้ำๆ แยกกันหรือรวมกันในระหว่างเจริญสมาธิภาวนา
ในการใช้วิธีนี้ พระโยคาวจรย่อมแผ่เมตตา ในขณะที่แบ่งสัตว์ทั้งหลายเป็นกลุ่มตามธรรมชาติและสภาพของเขา  ดังนั้นท่านจึงเรียกสมาธิประเภทนี้ว่า “โอธิโสผรณา” หรือ “การแผ่เมตตาภายในขอบเขตจำกัด”
 มีรูปแบบแผ่เมตตาไปยังทิศต่างๆ และภูมิภาคที่ใก้ลชิด ๑๐ อย่างเริ่มต้นจากทิศตะวันออก แบบเหล่านี้ประกอบด้วยเข็มทิศ ๘ จุด คือ จุดตามตัวเลขทิศใหญ่ ๔ จุด จุดใก้ลชิด คือทิศย่อย ๔ จุด จุดข้างบน และจุดข้างล่าง หลักปฏิบัติมีดังต่อไปนี้
“ขอให้สัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในทิศตะวันออกจงอย่าเป็นศัตรูต่อกันเลยจงอย่ามีเวรต่อกันเลย จงอย่าเบียดเบียนกันเลยและขอให้สัตว์ทั้งหลายมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขเถิด”
โดยทำนองเดียวกัน
“ขอให้สัตว์ทั้งหลายในทิศตะวันตก ทิศเหนือ และทิศใต้  ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ทิศเบื้องบนและทิศเบื้องล่าง จงอย่ามีศัตรูต่อกันเลย ฯลฯ
ในวิธีแผ่เมตตาทั้ง ๓ เหล่านี้ มีหลักปฏิบัติ ๒๒ อย่าง (๕, ๗ และ ๑๐) และตามที่ปรากฏ ในพระอรรถกถาแต่ละอ้างถึงเมตตาซึ่งจะนำไปสู่อัปปนาหรือชั้นฌาน
ในบรรดาอโนธิโสผรณา ๕ อย่าง มีวิธีเจริญดังนี้
“ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงอย่ามีเวรต่อกันเลย” เป็นอัปปนาอันหนึ่ง
“ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงอย่าเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย” เป็นอัปปนาอันหนึ่ง
“ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงอย่ามีทุกข์เลย” เป็นอัปปนาที่ ๓ และ
“ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงดำรงชีวิตอย่างมีความสุข” เป็นอัปนาที่ ๔
ดังนั้น ในวิธีแผ่เมตตาที่ไม่มีจำกัดนั้น มีอัปปนา ๒๐ อย่าง คือ อัปปนา ๔ อย่าง ในหลักปฏิบัติแต่ละอย่างในบรรดาหลักปฏิบัต ๕ อย่างนั้น โดยทำนองเดียวกัน อัปปนา ๔ ในหลักปฏิบัติแต่ละอย่างในบรรดาหลักปฏิบัติ ๗ อย่างนั้นรวมกันทั้งหมดเป็นอัปปนา ๒๘ ซึ่งเป็นอัปปนาใน วิธีการแผ่เมตตาที่มีขอบเขตจำกัดนั้น
            หลักปฏิบัติ ๔ อย่าง ในวิธีโอธิโสท่านก็นำไปรวมกับทิศ ๑๐ ดังนี้
            “ขอสัตว์ทั้งปวงในทิศตะวันออกจงอย่ามีเวรต่อกันเลย” เป็นต้นโดยวิธีนี้มีอัปปนาถึง๒๐๐  ในแต่ละภาคมีอัปปนา ๒๐
โดยทำนองเดียวกัน หลักปฏิบัติ ๗ อย่าง ก็รวมกันทิศทั้ง ๑๐ ด้วย ดังนี้
“ขอให้ผู้หญิงในทิศตะวันออก”  เป็นต้น ย่อมรวมกันทั้งหมดเป็นอัปปนา ๒๘๐ คือ ๒๘ อย่าง ในแต่ละภาค
ดังนั้น จึงมีอัปปนา ๔๘๐ รวมทั้งหมดจึงมีอัปปนา ๕๒๘ (๒๐, ๒๘, ๘, ๒๐๐ และ ๒๘๐) ซึ่งท่านกล่าวไว้ในพระคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค
พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า พรหมวิหาร ๓ อย่าง คือกรุณา มุทิตา และอุเบกขา ใช้วิธีแผ่ขยายอันเดียวกันกับการแผ่เมตตา และพระสาวกผู้เจริญกรรม ฐาน ๓ อย่างเหล่านี้ด้วยวิธี อัปปนาเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งย่อมได้อานิสงส์ ๑๑ ประการซึ่งท่านกล่าวไว้ในข้อความต่อไปนี้
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การเจริญเมตตาเจโตวิมุตติ ที่ก้าวหน้าแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นยานพาหนะแล้ว ทำให้เป็นพื้นฐานแล้ว มีอยู่เป็นปกติแล้ว มีความชำนาญแล้ว จัดไว้ดีแล้ว ย่อมให้อานิสงส์ ๑๑ อย่าง อานิสงส์ ๑๑ อย่างนั้น คืออะไรบ้าง คือ
 หลับอยู่เป็นสุข
 ตื่นอยู่ก็เป็นสุข
 ไม่ฝันร้าย
 เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย
 เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย
 เทวดาย่อมคุ้มครอง
 อัคคีภัย ยาพิษ ดาบ ย่อมไม่เข้ามาใกล้ตัว
 จิตมีสมาธิเร็ว
 ผิวพรรณผ่องใส
๑๐  ตายโดยไม่มีความสงสัยอยู่ในจิต
๑๑  ถ้าไม่ได้บรรลุธรรมที่สูงขึ้น เขาจะอุบัติในพรหมโลก


คำอธิบายของพระอรรถกถาจารย์
พระพุทธโฆษจารย์ เมื่ออธิบายคำสอนตามพระไตรปิฎก ไดให้คำอธิบายพรหมวิหาร ภาวนา และอธิบายถึงวิธีการเจริญกรรมฐานเหล่านี้ โดยถือว่าแต่ละข้อเป็นกรรมฐานเอกเทศ คำอธิบายของพระพุทธโฆษจารย์มีรายละเอียดกว้าง ๆเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติและคำแนะนำเบื้องต้นให้แก่ผู้เริ่มปฏิบัติ ซึ่งดูเหมือนจะได้มาจากประสบการณ์ของพระโยคาวจรเถระผู้อยู่ร่วมกับพระพุทธโฆษาจารย์
พระสาวกผู้ปรารถนาจะเริ่มเจริญสมาธิโดยการแผ่เมตตา จะต้องปฏิบัติดังนี้ เบื้องแรกเขาควรรักษาศีลในช่วงเวลาเริ่มปฏิบัติ โดยการสมาทานศีลซึ่งท่านกล่าวไว้ ในพระไตรปิฎกว่าเป็นพื้นฐานทางศีลธรรม และ ปฏิบัติตนโดยยึดศีล ธรรมเป็นพื้นฐาน
เมื่อไม่มีอุปสรรคใดๆ ทั้งภายในและภายนอก แล้วเขาควรรับเมตตาเป็นกรรมฐาน อย่างหนึ่งจากครูผู้ฉลาดสามารถสอนเขาได้ ขั้นต่อไป ในขณะที่ทั้งบนอาสนะที่จัดอย่างเหมาะสมในที่ที่สงัด และเลือกเวลาที่เหมาะสมแล้ว ควรเตรียมใจของตนไว้ คำนึงถึงบาปหรือโทษแห่งความโกรธ และผลคือความดีของความอดทน เพื่อบรรลุถึงจุดสุดยอดนี้ เขาควรระลึกถึง ข้อความต่อไปนี้
“คนที่โกรธหรือมีจิตถูกความโกรธครอบงำ อาจฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ทำลายความสุขของผู้ อื่นและของตนเองได้”     
“ความอดทนหรือความอดกลั้นเป็นคุณสมบัติสูงสุดของการประพฤติพรต พระนิพพาน เป็นความสุขอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดังนี้
โดยการปฏิบัติเช่นนี้ จิตจะปราศจากความโกรธ และความอดกลั้นจะเข้ามาแทนที่การเจริญเมตตา ควรเริ่มต้นด้วยแนวคิดที่จะทำลายเสีย ซึ่งความโกรธ และสร้างความอดกลั้นขึ้นมา  แต่ในเบื้องต้นพระสาวกไม่ควรแผ่ความรักอันประ กอบด้วยเมตตาไปยังบุคคล ๔ ประเภทต่อไปนี้ ด้วยเหตุผลทางจิตวิทยาบางอย่าง บุคคลดังกล่าวคือ
 บุคคลที่ไม่เป็นที่รักของตน
 บุคคลผู้เป็นเพื่อนสนิท
 บุคคลผู้ที่ตนมองด้วยความวางเฉย
 บุคคลผู้เป็นศัตรู
อนึ่ง ท่านได้เสนอแนะไว้ว่า ในเบื้องต้น บุคคลไม่ควรแผ่เมตตาไปยังบุคคลผู้มีเพศตรงกันข้ามกับตนหรือไปยังผู้ที่เสียชีวิตแล้ว
ท่านอธิบายเหตุผลในเรื่องนี้ไว้ดังนี้      พระสาวกอาจพบความลำบากในเบื้องต้นในการแผ่ความเห็นใจ ซึ่งโดยปกติจะให้แก่คนที่ตนรักนั้นไปยังคนที่ตนไม่รัก ในเวลาเดียวกันเมตตาภาวนาควรมีการไม่ยึดมั่นถือมั่น และในการพยายามที่จะอยู่อย่างไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ในขณะเจริญภาวนาแผ่เมตตาไปยังบุคคลผู้เป็นที่รักมากนั้น พระสาวกไม่เพียงแต่จะเกิดความเบื่อหน่ายเท่านั้น แต่ความไม่ยึดมั่นถือมั่นของเขาอาจถูกความรู้สึกเป็นทุกข์มารบกวน  ถ้าเพื่อนรักของเขาได้ รับความเศร้าโศรกแม้แต่นิดหน่อย การแสดงความนับถือหรือความรักต่อบุคคลผู้ที่ถูกมองด้วยความวางเฉย ย่อมเป็นการยาก ตั้งแต่เริ่มแรกทีเดียว ความโกรธอาจเกิดในบุคคลที่นึกถึงข้าศึกคนใดคนหนึ่ง เป็นไปได้ที่ว่ากิเลสอาจเกิดขึ้นในเขาผู้เจริญเมตตาตรงไปยังคนที่มีเพศตรงกันข้าม ตามที่ปรากฏแก่คนผู้หนึ่งผู้เจริญภาวนาพิจารณาความรักที่ตนมีต่อภรรยาของตน จากการแผ่เมตตา ไปยังคนตาย พระสาวกย่อมไม่บรรลุฌานหรือไม่บรรลุอุปจารฌาน โดยอาศัยเมตตา ข้อความนี้ จะพิสูจน์ได้จากเรื่องของพระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่ง ผู้แผ่เมตตาไปยังครูของเขาผู้เสีย ชีวิตแล้วและเขาก็ไม่ได้บรรลุฌาน  เมื่อเขาส่งความรักของเขาไปยังพระเถระอีกรูปหนึ่ง ผู้ยังมีชีวิตอยู่ เป็นต้น ด้วยเหตุผลเหล่านี้ การเจริญกรรมฐานโดยการแผ่เมตตาไม่ควรเริ่มต้น ด้วยบุคคลเช่นนั้น
ในเบื้องแรก พระสาวกควรปลูกเมตตาโดยการแผ่ความรักไปในตนเอง ดังนี้
“ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุขบริหารตนอยู่เถิด”
ในเบื้องแรกทีเดียว พระสาวกควรปลูกเมตตาโดยการแผ่ความรักไปในตนเองดังนี้
“ขออย่าให้ข้าพเจ้ามีเวรอย่าให้มีการเบียดเบียนอย่ามีความทุกข์กายทุกข์ใจขอให้ข้าพเจ้า มีความสุขบริหารตนอยู่เถิด”
“ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากศัตรู ปราศจากการพยาบาท อย่าลำบาก ขอให้ข้าพเจ้าดำรงตน อยู่อย่างมีความสุขเถิด”
เราใช้ข้อความนี้เพราะส่วนหนึ่ง เพราะตนเองย่อมเป็นที่รักที่สุดของคนแต่ละคน และเป็นคนที่จะรักได้ง่ายที่สุดและอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนเราจะต้องปลูกฝังความรักในตนเอง ซึ่งเป็นคุณสมบัติ ในแง่บวกก่อนที่จะแผ่ขยายไปยังชาวโลก
ไม่มีวิธีใดในพระคัมภีร์ที่กล่าวถึงการเจริญเมตตาต่อตนเอง แต่ข้อนี้มิได้หมายความว่า ข้ดแย้งกัน เพราะจุดประสงค์ของวิธีทั้งหลายก็เพื่อจะอธิบายถึงการแผ่เมตตาโดยวิธีอัปปนา คำว่า “รักตนเอง” ในที่นี้ท่านกล่าวไว้เพื่อยกตนเองเป็นตัวอย่าง จริงอยู่แม้ว่าบุคคลจะปลูกความรักในตนเองเป็นเวลา ๑๐๐ ปี โดยกล่าวว่า “ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุข” เป็นต้น เขาก็จะไม่ได้บรรลุฌาน แต่ผู้ที่ตั้งความปรารถนาว่า “ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุข” ย่อมมองตนเองเป็นประจักษ์พยานและ คิดว่า “ข้าพเจ้าปรารถนาจะมีความสุข ปราศจากความทุกข์ฉันใด สัตว์ทั้งหลายอื่นๆ ก็ย่อมปรารถนาจะมีความสุข ปราศจากความทุกข์ ฉันนั้นสัตว์ทั้งหลายย่อมปรารถนาเช่นเดียวกัน”
จากนั้นความปรารถนาจะเกิดขึ้นแก่เขาว่า “ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงเสวยความสุขและได้รับสิ่งอันประเสริฐ ยิ่งกว่านั้นวิธีแผ่ความรักไปในตนเองก่อนแล้วแผ่ไปยังผู้อื่นเช่นนี้พระพุทธเจ้า ตรัสไว้ดังต่อไปนี้
“เมื่อท่องเที่ยวไปในทิศต่างๆ และใช้ความคิด จะพบว่าไม่มีอะไรที่จะเป็นที่รักของคนมากไปกว่าตนเอง เพราะว่าตนเองย่อมเป็นที่รักของตน ขอให้บุคคลผู้รักตนเองอย่าได้ทำอันตรายแก่ผู้อื่น”
ดังนั้นพระสาวกควรแผ่เมตตาในตนเองก่อน โดยจากตนเองเป็นตัวอย่าง แล้วคิดไปถึงบุคคลผู้เป็นที่รักและมองเขาด้วยความรัก หรือควรแก่การเคารพเช่นครู หรือ คนอื่นที่เหมือน ครู หรือ มารดาบิดาของเขา เขาย่อมพบว่าเป็นการง่ายที่จะแผ่เมตตาในคนเช่นนั้น ในขณะที่พิจารณาประเด็นต่างๆ มากมายเช่นคุณธรรมของบุคคลผู้นั้น และการเรียนของเขาเป็นต้น
ผู้เจริญกรรมฐาน เมื่อปฏิบัติตามหลักแห่งการเจริญสมาธิควรหวนไปคิดเรื่องความรักที่มี ต่อเพื่อนผู้เป็นที่รักที่สุดของเขาดังนี้ ขอให้เขามีคว่ามสุข” เป็น ต้น ณ ที่นี้เขาจะพบความสุข และความยินดี เพราะเป็นการง่ายที่จะยึดเพื่อนของเขาไว้ในความรักนับถือเหมือนตัวเขาเอง แต่พระสาวกไม่ควรพอใจกับความสำ เร็จในเรื่องสมาธิที่มีความรักเป็นอารมณ์แต่ควร หันไปสนใจกับงานที่ยากกว่านี้ นั้นควรแผ่เมตตาไปยังบุคคลที่ตนเองมีความรู้สึกเฉยๆกับเขา  เขาควรกำหนดเพื่อนคนนั้นไว้ในฐานะเท่าเทียมกับเขาเอง คือส่งความรักอันบริสุทธิ์ไปยังเขาด้วย ปริมาณเท่าๆ กัน
ขั้นต่อไป เขาแผ่เมตตาไปยังข้าศึกของเขา ถ้าจะมีใครสักคนหนึ่งที่เขารู้สึกว่าเป็นศัตรูกับเขา ณ จุดนี้แหละ เขาจะพบว่างานของเขายากที่สุด นั่นก็คือการแผ่เมตตาเช่นเดียวกันนั้นไปยังข้าศึกของตน เพราะว่าในขณะที่เขาปล่อยจิตที่มีความรักไปยังข้าศึกของเขานั้น  เขาอาจนึกถึงความผิดที่บุคคลผู้นั้นทำต่อตนและโดยวิธีนี้ความโกรธจะเกิดขึ้นในตนแทนที่ความรักจะเกิดขึ้นในตน เมื่อเป็นเช่นนี้เขาต้องเจริญกรรมฐานประเภทอื่นหลายๆ ประเภทเพื่อขับไล่ความโกรธออกไป โดยการดำรงชีวิตอยู่ด้วยความรักต่อเนื่อง ซึ่งแผ่ไปยังบุคคลผู้นี้โดยไม่มีความรู้สึกแบบสะกดจิต และโดยไม่มีจุดประสงค์ที่ลี้ลับอยู่ในจิต ถ้าเขาไม่ได้รับความสำเร็จในขั้นนี้ เขาควรพยายามแผ่เมตตาไปยังบุคคล ๓ ประเภทแรก ทำต่อ เนื่องจนจิตของเขาอ่อนและสงบลง หลังจากออกไปจากความรักซึ่งได้เจริญมาเช่นนั้น เขาควรส่งความคิดไปยังบุคคลผู้กระตุ้นให้เกิดศัตรูและโดยวิธีนี้ ความ คิดที่เป็นศัตรูต่อกันจะต้องพ่ายแพ้หมดไป เพราะความพยามยามที่จะสร้างความรักขึ้นนั้นและ จะฆ่าเสียได้ซึ่งความเป็นศัตรูต่อกัน
ถ้าว่าแม้จะพยายามเช่นนั้น ก็ยังไม่ได้ผลอันใด เขาควรพยามยามขจัดความเป็นศัตรู ออกไปโดยการระลึกถึงพระดำรัสแนะนำต่อไปนี้
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าขโมยและนักสืบจะถูกตัดแขนด้วยเลื่อยและถ้าแม้ในเรื่องนั้นภิกษุรูปหนึ่งรูปใดทำจิตให้โกรธ ในเรื่องนี้เขาไม่เป็นสาวกในศาสนาของตถาคต”
“คนที่ถูกทำให้โกรธแล้วโกรธตอบ เป็นคนเลวกว่าคนผู้ทำให้โกรธ คนที่ถูกด่า แต่ไม่ด่าตอบ เป็นคนชนะในการต่อสู้กัน
เพื่อประโยชน์ของทั้ง ๒ ฝ่าย เขาจึงพยามยามฝึกฝนตนเอง เป็นผู้ทำให้ความโกรธของตนหมดไป โดยรู้สึกว่าคนอื่นเขาก็โกรธเช่นกัน”
พระสาวกเมื่ออ้างถึงพระพุทธพจน์เหล่านี้และนึกถึงข้อความอื่นที่ท่านกล่าวไว้ในพระคัมภีร์   อังคุดตนิกาย ควรคิดคำนึงดังนี้
“เธอ ผู้มีความโกรธเช่นนั้นและมีความขุ่นเคืองจะไม่เป็นสาวกในศาสนาของพระบรมครู ผู้มีพระมหากรุณาธิคุณในการมีความโกรธเธอเป็นคนเลวกว่าคู่แข่งของเธอและจะไม่ได้ชัยชนะใน การสงครามที่กำลังต่อสู้อยู่อย่างยาก”   
“ถ้าในขณะที่เขาพยายามเช่นนั้น ความโกรธหมดไปก็เป็นการดี ถ้าไม่หมดไปเขาควรระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า กฎแห่งกรรม และการเกิดใหม่ การวิเคราะห์ลักษณะเฉพาะของบุคคล และการเจริญสมาธิรูปแบบอื่นๆ ซึ่งจะนำมาซึ่งความสงบและระงับความโกรธ เสียได้”
ในแบบปฏิบัติข้อนี้ พระสาวกควรระลึกถึงหรืออ่านเรื่อง ชาดก เช่น สีลว ชาดก ขันติวาทชาดก จุลธรรมปาลชาดก ฉัททันตชาดก กปิชาดก ภูริทัตตชาดก ฉัมเปยยชาดก สังขปาลชาดก และมาตุโปสกชาดก ในชาดกเหล่านี้เขาจะได้พบว่าพระโพธิสัตว์แผ่เมตตาไปยังศัตรูของตนอย่างไร และเอาชนะความโกรธได้อย่าง ไร
ในการเจริญกรรมฐานโดยพิจารณากฎแห่งกรรม พระสาวกควรคิดเกี่ยว กับตนเองโดยวิธีนี้ “พ่อหนุ่ม  เมื่อโกรธผู้อื่น เธอจะทำอย่างไร? การกระทำที่มีความโกรธนี้ซึ่งเป็นมูลเหตุแห่งความโกรธจะไม่นำเธอไปสู่อันตรายหรือ ความจริง เธอมีกรรมเป็นของตนเอง เธอเป็นทายาทแห่งกรรมของเธอ กรรมของเธอย่อมเป็นแหล่งกำเนิดของเธอ เธอจะได้รับผลของกรรมที่เธอทำในชาตินี้และผลของกรรมจะนำเธอไปจากธรรมและสู่สภาพที่มีความทุกข์
อนึ่ง พระสาวกควรพิจารณาพระสูตรทั้งหลายในพระคัมภีร์อนมดัคคสังยุตในพระคัมภีร์สังยุตตนิกาย ซึ่งท่านกล่าวไว้ดังนี้
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย,ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะพบว่าบุคคลผู้ใดมิใช่มารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่สาว น้องสาว บุตรชาย หรือบุตรหญิงในสังสารวัฎซึ่งหาที่สุดมิได้นี้
เพราะเรื่องเป็นดังนี้ บุคคลผู้ที่เขามีความอาฆาตต่อ อาจเป็นญาติสนิทมิตรคนหนึ่งในอดีตก็ได้ และดังนั้นเมื่อพิจารณาความเป็นไปได้ดังนี้ พระสาวกอาจสามารถระงับความรู้สึก อาฆาตพยาบาทต่อคนอื่นๆ ได้
ในที่สุด พระสาวกควรระลึกถึงเรื่องต่างๆ ตามหลักจิตวิทยาให้มากยิ่งขึ้น เช่น ระลึกว่าดังนี้
“นี่แน่ะเพื่อนรัก ในการโกรธกับบุคคลผู้นี้ เธอโกรธอะไร เธอโกรธขนบนร่างกายเขาหรือ หรือโกรธเล็บ กระดูก เนื้อ หรือหนัง ฯลฯ หรือเธอโกรธธาตุทั้ง ๔ในร่างกายของเขา คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ หรือโกรธ กับเบญจขันธ์ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือเธอโกรธอินทรีย์ ทั้งหลาย หรือกิจของอินทร์ทั้งหลาย?”                
การวิเคราะห์ธรรมชาติมิใช่บุคคลของข้าศึกเช่นนี้จะช่วยให้เขาเข้าใจ ความจริงที่ว่าบุคคลที่เขาถือว่าเป็นศัตรูนั้นเป็นเพียงส่วนผสมผสานของสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งซึ่งจะสูญสิ้นไปทุกขณะ และเขาไม่พบความเป็นบุคคลที่เขาจะโกรธได้ ดังนั้นจิตของเขาจะหลุดพ้นจากความคิดอาฆาต ในที่นี้อาจเกิดปัญหาขึ้นว่า ถ้าไม่มีบุคคลหรือไม่มีปัจเจกชนเป็นอารมณ์ของความโกรธ แล้วจะไม่เป็นความจริงหรือที่จะพูดว่าไม่มีบุคคลใดที่รับความรักได้  เมื่อเป็นเช่นนี้คนเราจะสามารถเจริญเมตตาต่อบุคคลอื่นๆ ได้อย่างไร? แน่ละเป็นความจริงที่ว่าไม่มีบุรุษบุคคลที่อาศัยอยู่อย่างแท้จริงเพื่อเป็นอารมณ์แห่งเมตตาหรือความโกรธ แต่คุณค่าแห่งความรักตามหลักจิตวิทยา มีว่าความรักหมายถึงความไม่มีความโกรธ หรือความไม่มีความโน้มน้อมไปยังความโกรธ ดังนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สารสำคัญหรือจุดมุ่งหมายของเมตตาคือความสงบแห่งความพยาบาท (วฺยาปาทอุปสม) และท่านเรียกอีกว่า การสลัดออกจากความโกรธ  ดังนั้น เมื่อความโกรธสิ้นไป คือ ไม่สามารถพบว่าจะอยู่ไหนความรักก็เข้ามาแทนที่ในจิตของพระสาวก ในขั้นต้นๆ จำเป็นที่พระสาวกจะต้องมีอารมณ์ส่วนบุคคลเป็นฐานสำหรับเพิ่มคุณภาพของความรัก จนกระทั่ง เมื่อเขาได้พัฒนามันอย่างเต็มที่แล้ว พระสาวกก็จะประกาศเรื่องนี้แก่ชาวโลก โดยไม่ต้องมี วิจารณญาณ
บุคคลผู้ไม่มีข้าศึกหรือผู้ที่ไม่มีความคิดเป็นศัตรูกับใครเพราะมีจิตเป็นอริยะ ควรเปลี่ยนขอบเขตของการแผ่เมตตาทันที หลังจากแผ่เมตตาในบุคคลเป็นกลางๆ เมื่อเขาเข้าใจว่าเขาได้รับความสม่ำเสมอของจิต ไม่เฉพาะต่อตัวเอง แต่ต่อผู้อื่น ๒ หรือ ๓ ประเภทแล้ว ขอบเขตนั้นก็จะเปลี่ยนไป แล้วเขาก็สามารถแผ่เมตตาไปในทุกๆ คนอย่างสม่ำเสมอและเท่าๆ กัน สมดังที่โบราณาจารย์กล่าวไว้ว่า
“เมื่อเขาเห็นความแตกต่างระหว่างตนเอง ว่าเป็นคนผู้เป็นที่รัก เป็นกลางและเป็นศัตรู เขาย่อมเป็นคนปรารถนาดีต่อมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายใครจะกล่าวไม่ได้ว่าเขาถูกฆ่าในขณะเจริญเมตตา แต่เมื่อพระภิกษุเห็นว่าขอบเขตเหล่านี่ไม่มีแล้ว และแผ่เมตตาไปยังเทวโลกและมนุษย์ โลกเท่าๆกันโดยไม่มีขอบเขตแล้ว เขาย่อมเป็นบุคคลผู้ยิ่งใหญ่กว่าอย่างมากในบรรดาบุคคล ๒ คน”
ในขณะที่พระสาวกแผ่เมตตาไปยังมนุษยชาติอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด และแล้วก็แผ่ไป ยังชีวิตทุกรูปแบบนั้น เขาย่อมได้นิมิตคืออารมณ์ในจิตและได้อุปจารฌาน นิมิตนี้อาจเป็นบริกรรมนิมิตซึ่งเป็นนิมิตในแบบฝึกหัดเบื้องต้น ซึ่งควรฝึกด้วยการกล่าว ซํ้าๆ ซึ่งคำที่อ้างถึงสัตว์ทั้งหลาย หรือได้อุคคหนิมิตทางจิตซึ่งแสดงให้เห็นสัตว์ทั้งหลาย โดยเหตุที่การเจริญสมาธิด้วย การพิจารณาอุคคหนิมิต มีกำลังแรงกล้า จิตย่อมบรรลุอุปจารซึ่งใกล้ที่สุดที่จะบรรลุฌาน   
เมื่อทำลายขอบเขตจำกัดเช่นนั้นแล้ว พระสาวกเจริญภาวนาพัฒนาและพิจารณาช้าๆ ซึ่งนิมิตนั้นด้วยอุปจารสมาธิจนกระทั่งได้บรรลุอัปปนาฌานอย่างมีความสุข ซึ่งเป็นวิญญาณที่มีสภาพสูงขึ้น และ ณ จุดนี้เขาย่อมเป็นแหล่งรวมความรักอย่างแท้จริง
ในขั้นนี้ เขาจะไม่มีนิวรณ์ ๖ อย่างมารบกวน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขาจะไม่มีความโกรธ และจะประกอบไปด้วยความหลุดพ้นทางจิต โดยอาศัยเมตตา (เมตตาเจโตวิมุตติ) ซึ่งในที่นี้ควรเรียกว่า “ปฐมฌาน” เพราะเป็นการบรรลุครั้ง แรก
ในการออกจากปฐมฌานและหันกลับไปสู่วิญญาณตามปกติ เขาย่อมแผ่เมตตาไปยังจักรวาฬทั้งสิ้น ดังที่เราจะพบในหลักต่อไปนี้เขาดำรงชีพอยู่ด้วยการแผ่จิตอันประกอบด้วยเมตตาไปยังภาคหนึ่งของโลก”  เขาดำรงชีพอยู่ด้วยการแผ่เมตตาอันยิ่งใหญ่ พอกพูน และนับประมาณมิได้ ไม่มีจำกัด และปราศจากความอาฆาตพยาบาท ไปยังโลกที่กว้างใหญ่ทั้งสิ้นด้วยประการฉะนี้
ต่อจากนั้น พระสาวกก็เจริญสมาธิด้วยการแผ่เมตตาซํ้าๆ และในเวลาอันสมควรเขาย่อมได้ บรรลุฌานที่ ๒ และที่ ๓ ตามระบบฌาน ๔ ตาม คำสอนในพระสุดตันตปิฎก หรือได้บรรลุฌานที่ ๒ ฌานที่ ๓ และฌานที่ ๔ ในระบบฌาน ๕ ตามพระคัมภีร์อภิธรรมทันทีที่ออกจากฌานใด ฌานหนึ่งโดยเฉพาะ เขาย่อมแผ่เมตตาอันไม่มีขอบเขตอันสูงส่งไปยังชีวิตทุกชีวิตสืบต่อไป และ ดังนั้นย่อมสามารถรวมตัวเขาเข้ากับโลกทั้งสิ้น ทำลายเสียซึ่งเครื่องกางกั้น และขอบเขตจำกัดส่วนบุคคลทั้งหลายให้หมดไป พระสาวกผู้ปฏิบัติตามคำสอนของ พระพุทธเจ้า ย่อมได้บรรลุสภาวะทิพย์ในหัวใจ  ซึ่งในสภาพนี้เขาย่อมเปลี่ยนจากสภาพมนุษย์ธรรมดาไปสู่สภาพเป็นพรหม และ ในขั้นนี้เขาย่อมคู่ควรที่จะได้รับอานิสงส์ ๑๑ อย่าง ตามที่ได้อธิบายไว้แล้ว เมื่อเขายึดภาวะ ขั้นนี้เป็นฐานแห่งการเจริญภาวนาสูงขึ้น ในที่สุดเขาก็จะได้บรรลุพระนิพพานซึ่งเป็น การตรัสรู้ อันยิ่ง ใหญ่ และเป็นการหลุดพ้นขั้นสุดท้าย ยังมีอีกวิธีหนึ่งซึ่งอธิบาย ถึงการแผ่ เมตตา       ซึ่งวิธีนี้จะไม่คำนึงถึงกรณีพิเศษ  แต่จะครอบคลุมถึงกิจกรรมในวงกว้างออกไป วิธีนี้กล่าวถึง การขยายอารมณ์จากขั้นต้นไปจนถึงขั้น บรรลุอัปปนา ในขณะการเจริญขยายไปอย่างมั่นคง เช่นเดียว กับบุคคลผู้มีความชำนาญในการ ทำไร่ไถนา จัดแบ่งที่ดินที่จะไถ ฉันใดพระสาวก ก็ฉันนั้น เขาควรเจริญ เมตตา แบ่ง ครอบครัวหนึ่ง ออกไป โดยกล่าวว่าขอให้เพื่อนผู้อยู่ในบ้านนี้ปราศจากข้า ศึกและพยาบาท จงขจัดความป่วยไข้และเชื้อโรคให้หมดไป และดำรงเพื่อยู่อย่างมีความสุขเถิด”
เมื่อทำจิตให้ละเอียดอ่อนและมีเมตตาในผู้ครองเรือน ๑ คน เช่นนั้นแล้ว ผู้เจริญสมาธิ ควรขยายผู้ครองเรือน เป็น ๒ คน และต่อไปเป็น ๓ คน ๔ คน ๕ คน เรื่อยไป จนถึง ๑๐ คน แล้วขยายไปถึงคนทั้งถนน ทั้งเมือง ทั้งหมู่บ้าน อำเภอ อาณาจักร ประเทศเสี้ยวหนึ่งของโลก และในทำนองเดียวกันไปถึงทั้งโลกและยิ่งๆ ขึ้นไป เท่าที่จะมีได้เป็นได้ และควรแผ่เมตตาไปถึงทั้งมนุษย์และอมนุษย์ทั้งสิ้น ทั้งขั้นสูงและขั้นต่ำ โดยไม่ต่างกัน โดยทำนองเดียวกันนี้ พระสาวกควร แผ่เมตตา กรุณา และ อุเบกขาให้ครอบคลุมไปถึงทุกสิ่งทุกอย่างทั้งคนและสัตว์ วิธีการแผ่เมตตาเป็นต้นที่ละเอียดละออ ท่านกล่าวไว้ในหนังสือคู่มือซึ่งจะได้พบต่อไป
เมื่อสรุปสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ทั้งหมดทุกประเภทแล้ว ชาวพุทธในปัจจุบันจะกล่าวคาถาต่อไปนี้ ในตอนจบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา และเป็นส่วนหนึ่งในการฝึกสมาธิของเขาดังนี้
“ภวคฺคุปาทาย อวีจิ เหฎฺฐโต เอตฺถนฺตเร สตฺตกายุปปนฺนา
รูปี อรูปี จ อสญฺญสญฺญิโน ทุกฺขา ปมญฺจนฺตุ ภุสนฺตุ นิพฺพุติ”
แปลจากภพที่สูงที่สุดต่ำลงมาจนถึงนรก ชื่อ อเวจี สัตว์ทั้งหลายกลุ่มใดที่มีอยู่จะมีรูปหรือไม่มีรูปก็ตาม รู้อยู่หรือไม่รู้อยู่ก็ตาม ขอให้เขาทั้งหมดจงปราศจากความทุกข์มีความสุขในพระนิพพาน
แต่ข้อความนี้เป็นเรื่องของกรุณามากกว่าเรื่องเมตตา เพราะมีคำว่า “ทุกฺขา ปมุญจนฺตุ” ซึ่งจะพบในการเจริญกรุณา
 กรุณาภาวนา
การเจริญกรุณาภาวนาย่อมแตกต่างจากการเจริญเมตตาในเบื้องต้นทีเดียว เพราะ กรุณา กล่าวถึงความรู้สึกสงสารซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเห็นความทุกข์ของสัตว์ทั้ง หลาย เช่นผู้ที่มีความจนและความทุกข์ หรือผู้ที่ได้รับความลำบากจากความป่วยไข้หรือความพิการ พระสาวกปรารถนาจะเจริญกรุณาภาวนา ควรเริ่มต้นด้วยการระลึกถึงโทษแห่งความไม่มีกรุณา และ อานิสงส์แห่งกรุณา ในการทำเช่นนั้นไม่ควรเริ่มเจริญกรุณาภาวนาโดยยึดคนที่ตนรักและคนอื่นๆ เป็นอารมณ์เช่นเดียวกับการเจริญเมตตาภาวนา เพราะคนที่เป็นที่รัก เป็นกลางๆ หรือ เป็นศัตรูย่อมมีอยู่ในประเภทเดียวกัน และไม่ใช้อารมณ์ที่เหมาะกับกรุณาภาวนา ในเมื่อพิจารณาถึงความสำคัญทางด้านจิตวิทยา อนึ่งบุคคลที่มีเพศตรงกันข้ามและผู้ที่ตายแล้วก็ไม่ใช้อารมณ์ที่ เหมาะสมกับกรุณาภาวนาเช่นกัน
ในพระคัมภีร์วิภังค์ เราจะพบข้อความ “พระภิกษุแผ่จิตซึ่งมีเมตตาไปยังเสี้ยวหนึ่งของ โลกอย่างไร? ในขณะที่พบคนที่อยู่ในสภาพยากจน เขาควรแสดงกรุณาและความสงสารแก่เขาโดยกล่าวว่า “อนิจจา บุรุษผู้นี้มีความทุกข์ ขอให้เขาสิ้นทุกข์เถิด”
            เมื่อในพบคนเช่นนั้น เขาควรแสดงความกรุณา ต่อบุคคลสักคนหนึ่งผู้แม้มีอันจะกิน และมีความสุข แต่เป็นคนทำความชั่ว เขาควรเปรียบเทียบบุคคลเช่น นั้นกับ บุคคลที่ถูกตัดสินประหารชีวิต  พระสาวกผู้เจริญกรรมฐานข้อนี้ ควรประคับตนเองด้วยคุณธรรมคือความกรุณาสงสารคนเช่นนั้น โดยวิธีดังต่อไปนี้ “บัดนี้ บุคคลผู้นี้มีแม้จะมีความสุขมาก มีฐานะดี และมีความสุขจากทรัพย์สมบัติของตน อย่างไรก็ตาม เขาจะไม่มีความสุขเช่นนั้นในอนาคต เนื่องจากความประ พฤติชั่วของเขา   และการปราศจากความดีของเขา”  ยิ่งกว่านั้น เมื่อเขาได้ข่าวหรือได้พบบุคคลที่ประสบโชครัายบางอย่าง หรือประสบความหายนะบางอย่าง เขา ควรสร้างความกรุณา และแผ่ความกรุณาไปยังบุคคลนั้น
หลังจากเจริญกรุณาด้วยคำพูด การกระทำและความคิดแล้ว เขาควรพัฒนาความกรุณา นั้นไปยังบุคคล ๔ ประเภทเช่นเดียวกับในเมตตาภาวนา ในที่สุด เมื่อขจัดขอบเขตทั้งสิ้นแล้ว ย่อมจะแผ่ความกรุณาอันหาขอบเขตมิได้ไปยังโลกทั้งสิ้น แม้ในขณะที่เขาออกจากฌานก็ตาม
แต่ในอรรถกถาอังคุตตนิกาย การจัดลำดับไม่ตรงกันกับที่กล่าวแล้ว ในที่นี้เขาจะพบว่าควรแผ่กรุณาไปยังศัตรูก่อน จากนั้นควรแผ่ไปยังคนที่ได้รับความทุกข์ จากนั้นไปยังเพื่อน และ สุดท้ายไปยังตัวเอง พระพุทธโฆษาจารย์เถระ เมื่อกล่าวว่า ข้อนี้ใม่ตรงกับข้อความที่กล่าวไว้ใน วิภังค์ (ตามที่กล่าวแล้วข้างบนนี้) เสนอแนะลำดับที่กล่าวไว้ในที่นี้ ยิ่งกว่านั้น ควรเจริญกรุณา ภาวนา ๓ วิธีด้วย คืออโนธิโส  โอธิโส ทิสผรณา ตามลำดับ เป็นรูปแบบต่างๆ ๕ อย่าง อย่างละ ๑๐ อย่างเช่นเดียวกับในเมตตา เมื่อเจริญเช่นนั้นกรุณาจะให้อานิสงส์ ๑๑ อย่างเริ่มตั้งแต่ “หลับอยู่ก็เป็นสุข เป็นต้น ท่านอธิบายกรุณาเป็นพิเศษไว้ในพระคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค ในบทที่ว่าด้วยมหากรุณาฌานคือ ความรู้เรื่องพระมหากรุณาของพระพุทธเจ้า ในที่นั้นท่านอธิบายว่า พระพุทธเจ้าทรงสงสารสัตว์โลก เมื่อทอดพระเนตรเห็นเขามีความทุกข์แบบต่างๆ รวม ๘๙ อย่าง  ความกรุณาเป็นพระ คุณอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้า จนถึงกับได้รับการยกย่องว่าเท่ากับญาณของพระองค์
 มุทิคาภาวนา
พระสาวกผู้เจริญมุทิตากรรมฐานควรเริ่มต้นที่บุคคลที่เป็นที่รัก แล้วต่อไปถึงคนอื่นๆ เพราะว่าเพื่อนคนหนึ่งๆ โดยที่เขาเป็นเพื่อนจึงไม่ใช่เหตุที่ใกล้ชิดแห่งมุทิตา ยิ่งคนกลางๆ หรือ ข้าศึกยิ่งไมใช่เลย ทั้งคนที่มีเพศตรงกันข้าม หรือคนตาย ย่อมไม่ใช่อารมณ์ที่เหมาะสมสำหรับ มุทิตากรรมฐานนี้  แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อนที่เขารักมากอาจเป็นสาเหตุที่ใกล้ชิดของมุทิตา ดังนั้น เพื่อนที่รักมากควรเป็นบุคคลแรกที่ควรแผ่มุทิตาไปถึง เมื่อได้เห็นหรือได้ยินคนที่เรารักมีชีวิตอยู่อย่างมีสุขและมีปิติ พระสาวกควรแสดงออกซึ่งความยินดีด้วย โดยกล่าวว่า “บุคคลผู้นี้มี ความสุข จริงหนอ ช่างดีอะไรอย่างนี้ ช่างโดดเด่นอะไรอย่างนี้”
เราพบข้อความในพระคัมภีร์วิภังค์ว่า “พระภิกษุแผ่จิตอันประกอบด้วยมุทิตาไปยังเสี้ยวของโลกได้อย่างไร เมื่อเห็นบุคคลคนหนึ่งผู้เป็นที่รักและก่อให้ เกิดความสนใจ เขาจะมีความยินดี ฉันใด พระสาวกย่อมแผ่มุทิตาไปยังสัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น ดังนั้น หลังจากสร้างคุณภาพ หรือ มุทิตา และปฏิบัติมุทิตากรรมฐานในบุคคลที่เป็นที่รักยิ่ง พระสาวกแผ่ขยายมุทิตากรรมฐานนั้นไปยังบุคคลที่เป็นกลาง แล้วก็ไปถึงข้าศึก เมื่อตั้งบุคคลอื่นๆในที่เสมอกับตน เขาย่อมดำเนิน การตามวิธีแผ่มุทิตาแบบไม่มีจำกัด และเพิ่มพูนอัปปนาแห่งมุทิตากรรม ฐานโดยวิธีฌาน ๓ อย่างและฌาน ๔ อย่าง ที่เหลือพึงเข้าใจว่าปฏิบัติตามหลักอันเดียวกันกับเมตตาภาวนา
คุณค่าที่แท้จริงของการเจริญภาวนาข้อนี้ได้แก่การทำลายความริษยาและการหวงแหนพร้อมกับถอนรากแห่งความเห็นแก่ตัวและการปรากฏแห่งคุณธรรมคือความดีและความยินดี แห่งความมีมุทิตาจิตกับความสุขของคนอื่นข้อความนี้ท่านมักจะใช้คำว่าอนุโมทนาความชมเชย หรือความยินดีในการกระทำดี และความรุ่งเรืองของผู้อื่น มุทิตากรรมฐานนี้ชาวพุทธปฏิบัติกัน เป็นกุศลกรรมบทอย่างหนึ่งในบรรดากุศลกรรมบท ๑๐ อย่าง
 อุเบกขาภาวนา
พระสาวกผู้ได้บรรลุฌาน ๓ หรือฌาน ๔ ในเมตตา กรุณา และมุทิตาแล้วควรออก จากฌานที่ ๓ ซึ่งในขั้นนี้เป็นฌานที่ชินแล้วและแล้วควรพยายามแผ่จิตที่มีอุเบกขาไปยังสัตว์ทั้งหลาย เขาย่อมเห็นความอ่อนพลังของกรรมฐาน ๓ อย่างข้างต้น และ เข้าใจถึงธรรมชาติที่ลุ่มลึกกว่า และ สงบกว่าของอุเบกขา เนื่องจากเป็นความรักที่มีคุณค่าทางจิตวิทยา กรุณาและมุทิตา จึงมี ความสัมพันธ์กับราคะอยู่บ้างซึ่งเป็นความยึดนั้นทางจิต  ดังนั้นฌานที่เกิดขึ้นโดยอาศัยกรุณา และ มุทิตาจึงยังมีความยินดีขั้นหยาบมาครอบงำได้  ซึ่งอาจทำให้พระโยคาวจรไม่ได้บรรลุ ธรรมที่สูงขึ้น ในการพิจารณาเรื่องนี้ พระสาวกย่อมตั้งอุเบกขาขึ้น โดยยึดบุคคลที่เขาวางเฉยตามปกติเป็นอารมณ์ทางจิตในพระคัมภีร์วิภังค์ท่านกล่าวว่า”เมื่อพบบุคคลที่รักไม่มากหรือไม่น้อย เขาย่อมมีจิตมั่นคงฉันใด เขาย่อมแผ่อุเบกขาไปยังสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงฉันนั้น”
หลังจากแผ่อุเบกขาไปยังบุคคลผู้หนึ่งตามที่กล่าวแล้ว พระสาวกควรแผ่ไปยังบุคคล ซึ่งเป็นที่รักต่อไปแผ่ไปยังเพื่อนสนิท หลังจากนั้นจึงแผ่ไปยังศัตรู ในที่สุด เขาแผ่ไปโดยไม่มีจำกัดขอบเขตโดยวางตนเองและบุคคลอื่นๆ ไว้เท่าๆ กัน และเจริญนิมิตแห่งฌานไปเรื่อยๆ
เมื่อทำเช่นนี้ ฌานที่ ๔ ก็จะเกิดขึ้นแก่เขาแผ่จิตของเขาไปในคุณธรรมคือพรหมวิหาร ซึ่งเป็นจิตที่มั่นคงและมีดุลยภาพดี และแสดงออกถึงความมีจิตหนักแน่น ในขณะที่วิญญาณตั้งอยู่ในตำแหน่งกลาง ไม่หวั่นไหวเพราะความยินดีหรือความเสียใจ เพราะความสุขหรือความทุกข์ อุเบกขาเป็นองค์คุณธรรมสำหรับฌานที่ ๔ ในทุกๆ รูปแบบของการเจริญสมาธิ แต่ฌานที่ ๔ ในอุเบกขาพรหมวิหารไม่เกิดขึ้นในบุคคลผู้ไม่ได้เจริญพรหมวิหาร ๓ อย่างข้างต้น แม้ว่าเขาจะได้บรรลุฌานที่ ๓ ในสมาธิรูปแบบอื่น เช่น ปฐวีกสิณ เป็นต้นก็ตาม เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น เพราะว่าอารมณ์ไม่เหมือนกัน อุเบกขาพรหมวิหารย่อมเกิดขึ้นเฉพาะแก่ผู้ที่ได้บรรลุฌานที่ ๓ ในพรหมวิหารอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๓ อย่างนั้น ทั้งนี้เพราะอารมณ์กรรมฐานมีลักษณะคล้ายกัน ตามหลักจิตวิทยาวิธีการเจริญพรหมวิหารและอานิสงส์ที่จะได้รับพึงเข้าใจว่าเป็นอย่างเดียวกับที่ได้กล่าวไว้แล้วในเมตตาพรหมวิหาร
อุเบกขาเป็นบารมีข้อสุดท้ายซึ่งพระโพธิสัตว์เจริญเพื่อบรรลุความเป็นพุทธเจ้า ดังนั้น อุเบกขาจึงเป็นพระธรรมที่จะทำให้เป็นพระพุทธเจ้าลักษณะการปฏิบัติของพระโพธิสัตว์ท่านกล่าวไว้ดังต่อไปนี้
“ข้าพเจ้ารู้สึกเท่าๆ กัน ต่อบุคคลที่ก่อให้เกิดความทุกข์แก่ข้าพเจ้า และบุคคลผู้ให้ความสุขแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่ยึดมั่นถือมั่น ข้าพเจ้ามีดุลยภาพต่อความเพลิดเพลินและความทุกข์ร้อนต่อคำสรรเสริญ และคำนินทา ข้าพเจ้าเป็นกลางๆในทุกที่ทุกแห่งนี้เป็นอุเบกขาบารมีของข้าพเจ้า”
คำแนะนำในการปฏิบัติ
ในหนังสือคู่มือพระโยคาวจร ท่านให้รายละเอียดมากขึ้นเกี่ยวกับคำแนะ นำในการเจริญ พรหมวิหารภาวนา ซึ่งในที่นั้นท่านวางพรหมวิหารทั้ง ๔ ไว้หลังอรูปฌาน ๔ ดังนี้
“เมื่อพระสาวก กล่าวสรรเสริญพระรัตนตรัยตามปกติแล้ว ปฏิบัติหน้าที่เบื้องต้นและ ถวายเครื่องสักการะเสร็จแล้ว ขอให้กล่าวข้อความต่อไปนี้
“ข้าพเจ้าขอพยายามเพื่อปฏิบัติตามพระพุทธพจน์อย่างได้ผล เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อคำสอนของพระองค์ ข้าพเจ้าปรารถนาอย่างจริงใจ ที่จะได้อุคคหนิมิต และปฏิภาคนิมิตไว้ในจิตสันดานของข้าพเจ้า ซึ่งเป็นหนทางให้บรรลุถึงอุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิอัน เกิดจากการเจริญพรหมวิหาร ๔ อย่าง...  ขอให้อัปปนาสมาธินั้นจงเป็นเครื่องช่วยให้ได้บรรลุพระนิพพาน เถิด”
หลังจากปรารภเช่นนี้แล้ว เขาก็ปรารถนาที่จะได้เมตตาเป็นประการแรก และทั้งขัดสมาธิ บนอาสนะของตน เตรียมตนเองโดยกล่าวคำต่อไปนี้ซ้ำๆ คือ
อหํ สุขี โหมิ     อหํ สุขี โหมิ
ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุข           ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุข
เมื่อเจริญสมาธิต่อไป จิตของเขาก็จะแน่วแน่และจะเข้าไปสู่ภวังค์ คือความสืบเนื่องแห่ง ความเป็นอยู่ และในขณะที่เขาออกจากภวังค์ ปฐวีธาตุก็จะปรากฏขึ้น
ในหนังสือคู่มือนี้ สมาธิทุกประเภทย่อมสงบอยู่กับธาตุทั้ง ๔ และอากาศในเบื้องต้น เช่นเดียวกับในระดับฌานทั้งหลาย นายวูดเวอร์ด แปลข้อความนี้ว่า ปฐวีธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาศธาตุ
ปรากฏว่า ข้อนี้เป็นระบบการกำหนดรู้พลังจิตกับพลังกาย ดังนั้นจึงทำให้เกิดความสามัคคีกันแห่งจิตและร่างกายของผู้ปฏิบัติเพื่อว่าเขาจะได้องค์ประกอบแห่งคุณธรรม ซึ่งเขากำลังเจริญอยู่ในอัตภาพทั้งหมดของเขา นี้อาจถือว่าเป็นพื้น ฐานแห่งอิทธิฤทธิ์ ซึ่งด้วยอิทธิฤทธิ์นี้ พระโยคาวจรสามารถควบคุมธาตุทั้งหลายได้ตามใจปรารถนา ในที่อื่นในวรรณคดีบาลีจะไม่พบข้อความเกี่ยวข้องกันหรือคำอธิบายโดยตรงเกี่ยวกับระบบบนี้   อรรถกถามูลปริตยสูตรแบ่งธาตุ เหล่านี้แต่ละอย่างเป็น ๔ กลุ่ม คือ ลักษณะ รูปทรง อารมณ์  และการรับรู้ ๒ กลุ่มสุดท้าย สอดคล้องกับอารมณ์ของสมาธิตามลำดับ เช่น กสิณ เป็นต้น และกับฌานซึ่งเกิดจากกสิณเหล่านั้นตลอดถึงอานิสงส์ของฌานเหล่านั้น
ในที่นี้หนังสือคู่มือกล่าวว่าเมตตาเป็นอันเดียวกับปฐวีธาตุในฐานะเป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จ ในตอนจบหลักแรกแห่งสมาธิ และในขณะที่กล่าวถึงหลักที่ ๒ หนังสือคู่มือนั้น กล่าวว่าหลังจากการปรากฏแห่งสมาธิ พระสาวกควรพัฒนากระแสแห่งความคิด ๒อย่าง ซึ่งปรากฏในสมาธินั้น คือ ความคิดเบื้องต้น (บริกรรม) และความคิดที่เข้าไปใกล้ฌาน (อุปจาร)  ซึ่งหมายถึงมุ่งหน้าไปยังทิศตะวันออกของโลกหมายความว่าพอจบหลักข้อนี้แล้วพระสาวกย่อมอยู่ ในขั้นฌานแล้วให้พระสาวกค่อยๆแผ่ความคิดออกไปเริ่มต้นจากปลายจมูกไปจนถึงหมื่นจักรวาฬ ล้านจักรวาฬ จนหาที่สุดมิได้
จากนั้น เขาก็เริ่มเหมือนเมื่อก่อน และเจริญสมาธิสืบต่อไปจนกระทั่งปฐวีธาตุปรากฏขึ้น และแล้วให้เจริญอัปปนา ๒๐ ข้อ ในเสี้ยวหนึ่งของโลก โดยแผ่เมตตาไปยังสิงมีชีวิต ๕ ชนิด ดังนี้
ในทิศตะวันออกพระสาวกย่อมแผ่เมตตาไปยังสิ่งมีชีวิตทั้งปวงสัตว์ทั้งปวง สัตว์เดียรฉานทั้งปวง บุคคลทั้งปวง และทุกอย่างที่มีชีวิต แผ่ไปยังแต่ละประเภท ๔ วิธี โดยคิดดังนี้ “ขอให้สัตว์ทั้งหลายที่อยู่ทางทิศตะวันออกจงเป็นมิตรกันอย่าเบียดเบียนกันอย่าทำร้ายกันและรักษาตน อยู่อย่างมีความสุขเถิด
ให้กล่าวเช่นนี้กับพรหมวิหารอย่างอื่นหมุนเวียนไปตามสำดับจากนั้นให้แผ่ส่วนบุญไปยัง สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ และให้ทำเช่นเดียวกันนี้ในทิศที่เหลืออีก ๙ ทิศ
ต่อจากนั้น พระสาวกเจริญอัปปนา ๒๘ อย่างในทิศหนึ่งๆ โดยพิจารณาถึงสัตว์ ๗ ประเภท สตรีทั้งหมด บุรุษทั้งหมด บุคคลผู้สมควรทั้งหมด บุคคลผู้ไม่สมควรทั้งหมด เทวดาทั้งหมด มนุษยชาติทั้งหมด ผู้ที่อยู่ในภพที่ไม่มีความสุขทั้งหมด และแผ่เมตตาไปยังแต่ละคน โดยปฏิบัติ ตามวิธีทั้ง ๔ ที่กล่าวแล้วข้างบนนี้” หลังจากนั้นพระสาวกแผ่ส่วนบุญไปยังบุคคลและสัตว์ ทั้งหลายทั้งปวงเป็นลำดับไป
หลังจากปฏิบัติดังนี้แล้ว พระสาวกย่อมถอนความนึกคิดจากกลุ่มสุดท้ายของสัตว์ทั้งหลาย นั่นก็คือจากสัตว์ผู้มีความทุกข์ในทิศตะวันออก และปล่อยให้ทิศนั้นเข้าไปสู่ร่างกายของตนให้เต็มทั่วร่างกาย ในขณะเดียวกันนั้น จะกล่าวคำว่า “ข้าพเจ้ามีความสุข ข้าพเจ้ามีความสุข  ข้าพเจ้ามีความสุข
เมื่อเขารู้สึกเสมือนหนึ่งว่าความคิดของเขาผุดขึ้นจากศีรษะของเขา ขอให้เขากล่าวว่า “ขอให้สัตว์ทั้งหลายจงมีความสุขเถิด” ๓ ครั้ง แล้วเขาก็ปล่อยให้ความคิดค่อยๆ เกิดขึ้นจนถึง หมื่นจักรวาฬ และหลังจากได้ดำเนินไปไกลถึงขนาดนั้นแล้ว ให้กล่าวซ้ำๆ ว่า “ขอให้สัตว์ทั้งหลายจงมีความสุขเถิด” ต่อไป เมื่อไปถึงจักรวาฬอันนับไม่ถ้วนแล้ว ให้กล่าวว่า “จงมีความสุข จงมีความสุข จงมีความสุข”  ในที่สุดน้อมมาถึงตนเอง กล่าวว่า “ข้าพเจ้ามีความสุข” (๓ ครั้ง)
เพื่อเป็นการแนะนำให้รู้จักสมาธิแต่ละอย่าง พระสาวกควรปฏิบัติตามหลักการกล่าว อ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หน้าที่เกี่ยวกับพิธีกรรมและการถวายเครื่องสักการะต่างๆ หลังจากเสร็จสิ้นหน้าที่เบื้องต้นแล้วให้ทำเครื่องหมายสำหรับกำหนดช่วงเวลาแห่งการเจริญสมาธิโดยใช้ไส้เทียน (๑ ถึง ๒ นิ้ว ซึ่งจะปล่อยให้เผาไหม้จนหมดเปลวไฟ การแผ่อัปปนา ๒๘ ข้อจะต้องทำให้เสร็จ ในกรณีของทิศ ๙ ทิศที่เหลือ ทำนองเดียวกับที่ทำให้กรณีของทิศตะวันออกและควรปฏิบัติ ตามหลักการเจริญสมาธิทั้งในแนวอนุโลมและปฏิโลม นั่นก็คือเริ่มต้นจากตนเองแล้วก็แผ่เรื่อยๆ ไปยังระบบจักรวาฬซึ่งหาประมาณมิได้ แล้วก็เจริญแบบปฏิโลมโดยเริ่มจากระบบจักรวาฬที่นับไม่ได้กลับมาหาตนเอง
หลังจากได้บรรลุปฐมฌานแล้ว พระสาวกจะปฏิบัติต่อไปโดยวิธีเดียวกันไปยังทุติยฌาน ซึ่งมีส่วนสัมพันธ์กับเตโชธาตุ และแล้วพระสาวกย่อมได้บรรลุตติยฌาน จตุตถฌาน จนกระทั่งถึง ปัญจมฌาน

กรุณา
การเจริญกรุณาภาวนา เริ่มต้นด้วยคำว่า “อหํ ทุกฺขา ปมุญจามิ”  ขอให้ข้าพเจ้าพ้นจากทุกข์  ในขณะที่เจริญอยู่เช่นนี้ เตโชธาตุย่อมปรากฏแก่เขาเป็นสิ่งแรก เขาเจริญบริกรรม ภาวนาและอุปจารภาวนา และในขณะที่รักษาภาวนาทั้ง ๒ ไว้อย่างดี เขาย่อมแผ่กรุณาไปยังสัตว์ ทั้งหลายทั้งปวงด้วยจิตที่แผ่กระจายไปทั่วทิศตะวันออกของหมื่นจักรวาฬ  เมื่อเริ่มจากศีรษะแล้วก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ทีละขั้น เขาแผ่กรุณาไปยังล้านล้านจักรวาฬ และจักรวาลที่นับไม่ได้  พลางก็เจริญภาวนาโดยกล่าวว่า “สพฺเพ สตฺตา ทุกฺขา ปมุญจนฺตุ = ขอสัตว์ทั้งหลายจงอย่ามีความทุกข์เลย” เป็นต้น กล่าวต่อไปจนกระทั่งเปลวไฟซึ่งยาว ๒ นิ้วหมดไป เมื่อปฏิบัติตามวิธีอันเดียวกันอย่างที่ใช้ในเมตตาอย่างแน่นอนแล้ว พระสาวกย่อมเจริญกรุณาไปจนถึงขั้นฌานที่ ๕
มุทิตา
ในการเจริญมุทิตาภาวนา พระสาวกกล่าวข้อความดังนี้ว่า “อหํ มา วิกจฺฉามิ” ขอข้าพเจ้าอย่าได้หยุดจากความสุข ซึ่งข้าพเจ้าได้บรรลุมาแล้ว ดังนั้น อาโป ธาตุย่อมปรากฏแก่เขา แล้วเขาก็หันไปสนใจกับสัตว์อื่นๆ โดยใช้สูตรดังต่อไปนี้
 สพฺเพ สตฺตา ลทฺธสมปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ = ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงอย่าเสื่อม จากสมบัติปกติที่ได้รับกันแล้วเลย
             ลทฺธยสโต มา วิคจฺฉนฺตุ = ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงอย่าเสื่อมจากยศที่เขามีอยู่เลย
 ลทฺธปสํสโต มา วิคจฺฉนฺตุ = ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงอย่าเสื่อมจากความนับถือที่เขามีอยู่เลย
             ลทฺธสุขโต มา วิคจฺฉนฺตุ = ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงอย่าเสื่อมจากความสุขที่เขาได้รับแล้วเลย
ในขณะที่ยืดศรีษะของตนเป็นจุดเริ่มต้นและทำต่อไปจนความคิดแผ่ไปทั่วหมื่นจักรวาฬนั้น ให้พระสาวกกล่าวซ้ำๆ ดังนี้ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงอย่าเสื่อม จงอย่าเสื่อม จากสมบัติ ยศ ความนับถือและความสุขที่เขาได้รับแล้วเลย”
ในขณะที่พระสาวกเริ่มแผ่ความคิดไปเริ่มจากหมื่นจักรวาฬและดำเนินต่อไปจนความคิดไปถึงล้านล้านจักรวาฬ ขอให้กล่าวซ้ำๆ ดังนี้ “ขอให้สัตว์ทั้งหมดทั้งปวงอย่าเสื่อม อย่าเสื่อม จาก......(๓ ครั้ง)
จากล้านล้านจักรวาฬและต่อไปจนความคิดไปถึงขอบจักรวาฬที่นับไม่ล้วนนั้นให้พระสาวก กล่าว ขั้าๆ ดังนิ้”ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงอย่าเสื่อม อย่าเสื่อมจาก......(๓ ครั้ง)
โดยทำนองนี้พระสาวกย่อมเจริญมุทิตาต่อสัตว์ทั้งหลายจนถึงขั้นปัญจฌานตามวธีที่กล่าว แล้วข้างบนนี้
อุเบกขา
การเจริญอุเบกขาพรหมวิหารจะต้องใช้คำว่า “กมฺมสฺสโก โหมิ”  ข้าพเจ้าเป็นเจ้าของแห่งกรรม เมื่อเจริญสมาธิดังนี้ วาโยธาตุจะปรากฏแก่เขา ด้วยการสังเกตอย่างใกล้ชิด ซึ่งบริกรรมภาวนาและอุปจารภาวนา เขาจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออกตามที่ได้อธิบายแล้วข้างบนนี้ และแผ่อุเบกขาไปยังสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงตลอดทิศทั้งสิบของโลกและกล่าวคำต่อไปนี้ซํ้าๆ “สัพเพ สัตตา กัมมัสสกา โหนตุ = ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงมีกรรมเป็นของของตนเถิด และควรใช้ ข้อความอย่างเดียวกันนี้กับคำว่า “สัพเพ ปาณา” หลังจากกล่าวถึงทิศตะวันออกแล้ว ให้พระสาวกฝึกแผ่อุเบกขาโดยวิธีแห่งอัปปนา ๒๐ และอัปปนา ๒๘ ทั้งโดยอนุโลมและปฏิโลม  ในเวลาอันสมควร เขาย่อมบรรลุฌานที่ ๕ และดังนั้นย่อมเป็นเจ้าแห่งพรหมวิหาร ๔ หรือ ทิพยภพ
ในหนังสือคู่มือเล่มนั้นเราพบว่าท่านกล่าวซ้ำๆ ซึ่งพรหมวิหาร ๔ แต่ละอย่างพร้อมกับฌาน ๕ แต่ละอย่าง และแล้วท่านก็กล่าวถึงการปฏิบัติที่ลึกลับบางอย่าง คือ การยึดถือคำพูด ๖ คำ การแผ่ขยาย การประชุมแห่งธาตุ นัย ๔, นัย ๕, สมาธิ ความมั่นคงแห่งธรรม และการเจริญสมาธิ โดยพิจารณาไส้ตะเกียง
อย่างไรก็ตาม วิธีดังกล่าวเหล่านี้ไม่พบในพระไตรปิฎภหรือในอรรถกถาทั้งหลาย ตามที่กล่าวไว้แล้วข้างบนนี้ พรหมวิหาร ๓ อย่างแรกสามารถให้เกิดฌาน ๓ อย่างแรกหรือ ๔ อย่างแรกอันประกอบด้วยคุณสมบัติพิเศษของตนเพราะพรหมวิหาร ๓ อย่างแรกเหล่านี้ไม่สามารถแยกออกจากองค์ฌาน คือปิติ ซึ่งจะต้องเป็นกลางๆ ถ้าจะได้บรรลุฌานที่ ๔ อุเบกขา  ซึ่งเกิดขึ้นในท่ามกลางดุลยภาพ ซึ่งได้แก่การดำรงไว้ซึ่งฐานเป็นกลางระหว่างที่สุด ๒ อย่าง คือ ปิติ กับ โทมนัส ย่อมไม่เกิดขึ้นนอกเหนือไปจากความรู้สึกเป็นกลาง  ดังนั้นจึงเป็นคุณ สมบัติของฌานที่ ๕ วิธีการรวมพรหมวิหารเข้ากันฌาน ๕ ทุกอย่างตามหนังสือคู่มือเล่มนั้นดูเหมือนจะไม่สอดคล้อง กับวิธีที่ท่านกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกและในพระอรรถกถาทั้งหลาย
อย่างไรก็ตามในอัฎฐกนิบาตอังคุตตรนิกาย พระพุทธเจ้าทรงแนะนำภิกษุรูปหนึ่งดังนี้
“ดูก่อนภิกษุ เธอควรฝึกการเจริญสมาธิด้วยวิตกและวิจาร ในปฐมฌานและด้วยวิตก แต่ไม่มีวิจารในทุติยฌาน หลังจากนั้นไม่ให้มีทั้งวิตกและวิจาร แต่ให้มีปิติในตติยฌาน ต่อไปให้ ทิ้งปิติเสียแต่ให้มีสุขอยู่ในจตุตถฌาน และในที่สุดให้ทิ้งสุขเสีย แต่ให้อุเบกขาในปัญจมฌาน”
พระสูตรกล่าวต่อไปอีกว่า ควรฝึกสมาธินี้โดยอาศัยเจโตวิมุตติ ๔ อย่าง คือเมตตาและ พรหมวิหารอย่างอื่นๆ และควรฝึกพร้อมกับสติปัฏฐาน ๔ ตาม ลำดับ
พระคัมภีร์วิสุทธิมรรค เมื่ออภิปรายจุดนี้ กล่าวว่า ด้วยคำแนะนำนี้พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสไว้อย่างชัดเจนว่า ภิกษุผู้ได้ฌานที่ ๔ในขณะที่เจริญมูลสมาธิให้ยิ่งขึ้นไป  แต่ไม่พอใจในสมาธินั้น ควรเจริญสมาธินั้นพร้อมด้วยเมตตาและพรหมวิหารอื่นๆด้วย เพื่อให้ฌานเกิดขึ้นตามลำดับ ข้อนี้มิได้หมายความว่าเขาควรบรรลุหรือแม้สามารถบรรลุฌานทั้ง ๔ ได้โดยอาศัยพรหมวิหาร แต่ละอย่าง แต่จะบรรลุได้โดยอาศัยพรหมวิหารเฉพาะที่เขาประสงค์จะให้เกิดขึ้นเท่านั้น ดังนั้น จึงกล่าวได้อย่างถูกต้องว่า เมตตา กรุณา และมุทิตา มีความสัมพนธ์กับ ฌาน ๓ ข้อแรก หรือ ๔ ข้อแรก แต่อุเบกขาเป็นของฌานที่ ๕ และเป็นฌานข้อสุดท้าย
ในกรณีนี้วิธีที่ท่านกล่าวไว้ในหนังสือคู่มือเล่มนั้นควรแปลความออกมาดังนี้ หลังจากได้ บรรลุฌานทั้งหลายด้วยกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว พระสาวกควรแผ่ความคิดอันประกอบ ด้วยพรหมวิหารไปยังตนเองและผู้อื่นทั้งหลายทั้งในขณะเข้าฌานและในขณะออกจากฌาน  ข้อนี้อาจเป็นเหตุผลที่ว่าเหตุใดหนัง สือคู่มือเล่มนั้นจึงรวมพรหมวิหารทั้ง ๔ พร้อมทั้งธาตุของพรหมวิหาร ๔ นั้นเข้ากับวิธีการแผ่พรหมวิหาร ๔ เหล่านั้นทั้งแบบอนุโลมและปฏิโลม ด้วยการ แผ่เช่น นั้นผู้ปฏิบัติย่อมได้บรรลุฌานตามลำดับ
การเชื่อมประสานการเจริญพรหมวิหาร ๔ กับวิธีการเจริญสมาธิแบบอื่นนี้ท่านกล่าวยืนยันไว้ในพระไตรปิฎก เช่น พระคัมภีร์สังยุตตนิกายกล่าวว่า พระสาวกควรเจริญพรหมวิหาร พร้อมกับโพธิปักขิยธรรมเช่น โพชฌงค์ ๗ (ตามพระคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค) และควรเจริญพร้อมกับ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ และมรรคมีองค์ ๘ และกล่าวเสริมว่า สมาธิเหล่านี้ เมื่อปฏิบัติอย่างขยันแล้ว จะนำผู้ปฏิบัติไปสู่ความสุขนิรันดรคือพระนิพพาน
บทสรุป
สมาธิทั้ง ๔ อย่าง ซึ่งรู้จักอันเป็นอย่างดีในภาษาสิงหลว่า “สะตะระ กะมะฎะหัน” เป็นการเจริญสมาธิที่มีผู้นิยมอันมากที่สุดสำหรับภิกษุในปัจจุบัน และสำหรับฆราวาสที่มีใจบุญคือสมาธิที่เจริญโดยยึดพระพุทธเจ้า เมตตา อสุภ และความตายเป็นอารมณ์ การเจริญ สมาธิโดยอาศัยเมตตามีข้อมูล ๑๐ บรรทัด ซึ่งสรุปวิธีทั้งหมดที่ได้อธิบายไว้แล้ว ดังนี้
ภาษาบาลี (เขียนแบบบาลีไทย)
อัตตูปะมายะ สัพเพสัง             สัตตานัง สุขะกามะตัง
ปัสสิตวา กะมะโต เมตตัง       สัพพะสัตเตสุ ภาวะเย
สุขี ภะเวยยัง นิททุกโข            อะหัง นิจจัง อะหัง วิยะ
หิตา จะ เม สุขี โหนตุ              มัชฌัตตา อะถะ เวริโน
อิมัมหิ คามะเขตตัมหิ               สัตตา โหนตุ สุขี สทา
ตะโต ปะรัญจะ รัชเชสุ            จักกะวาเฬสุ ชันตุโน
สะมันตา จักกะวาเฬสุ                         สัตตานันเตสุ ปาณิโน
สุขีโน ปุคคะลา ภูตา                อัตตะภาเว คะตา สิยุง
ตะถา อิดถิปุมา เจวะ                อะริยา อนะริยา ปิจะ
เทวา นะรา อะปายัฎฐา ตะถา ทะสะทิสาสุ จะ
จะตุภาณะวาระ
แปลความตามตัวอักษร ดังนี้
“เมื่อเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายปรารถนาจะมีความสุขเช่นเดียวกับตน ให้เจริญเมตตาแก่สัตว์ทั้งหลายดังต่อไปนี้ ขอให้ข้าพเจ้าจงมีความสุขเสมอๆ ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากความทุกข์  ขอให้เพื่อนทั้งหลายของข้าพเจ้าจงเป็นเช่นนี้ ขอให้คนที่เป็นกลางและคนผู้เป็นศัตรูจงเป็นเช่นนี้  ขอให้สัตว์ทั้งหลายในหมู่บ้านนี้จงมีความสุขตลอดกาล ขอให้คนที่อยู่ในต่างประเทศและในโลกอื่นๆ ทั้งหลายจงมีความสุขตลอดกาลเช่นกัน ตลอดถึงสัตว์หาประมาณมิได้และสิ่งที่มีชีวิตทั่วโลก บุคคลทุกคน สัตว์ทุกประเภทและทั้งหมดที่มีชีวิต ตลอดทั้งหญิงและชาย ทั้งที่คู่ควรและไม่คู่ควรทั้งหมดที่อยู่ในทิศทั้ง ๑๐ รวมทั้งเทวดา , มนุษย์ และผู้ไม่มีความสุขทั้งหลาย ขอให้ ทั้งหมดจงมีความสุข ปราศจากความป่วยไข้

No comments:

Post a Comment