Sunday, October 23, 2016

บทที่ ๑๖ มรณสติภาวนา



บทที่ ๑๖
มรณสติภาวนา 
การเจริญมรณสติ คือการระลึกถึงความตาย
การเจริญมรณสติ ท่านจัดเป็นการปฏิบัติพิเศษอย่างหนึ่งเรียกว่า มรณสติคือสติกำหนด การตาย โดยแท้จริงแล้ว มรณสติเป็นวิปัสสนาภาวนา เพราะว่าพระสาวกควรจะเจริญมรณสติ ในขณะที่เข้าใจเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา
           มรณสติ ท่านจัดรวมไว้ในกลุ่มกรรมฐานว่าเป็นอารมณ์กรรมฐานอย่างหนึ่งในบรรดา อารมณ์กรรมฐาน ๔ อย่าง ซึ่งเหมาะสมที่สุดสำหรับพระสาวกผู้มีปัญญา และจัดอยู่ในกลุ่ม ของอนุสสติ ๑๐ อย่าง ตามที่ท่านกล่าวไว้ในพระคัมภีร์วิสุทธิมรรค แม้ว่า คำว่า มรณสติจะใช้กัน อย่างแพร่หลายในบรรดาชาวพุทธสมัยปัจจุบันว่า “มรณานุสสติ” หรือ “มรณานุสมฤติภาวนา” แต่ในพระไตรปิฎกท่านใช้คำว่า “มรณสติ” และในพระคัมภีร์วิสุทธิมรรคท่านก็ใช้คำนี้เช่นกัน
ในพระคัมภีร์วิสุทธิมรรค คำว่า “มรณะ” ท่านให้คำจำกัดความว่า “ชีวิตินฺทรียอุปจฺเฉท” หมายถึงการคัดออก ซึ่งพลังในชีวิตคือความเป็นอยู่ในรูปแบบหนึ่งดังนั้นในที่นี้คำว่า “มรณ” จึงไม่มุ่งหมายที่จะแสดงถึงการตาย ๓ อย่าง คือ
๑.  การตายอย่างสิ้นเชิง คือการตายครั้งสุดท้ายของ พระอรหันต์ทั้งหลาย ซึ่งหมายถึงการทำลายความเป็นอยู่ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง
๒.  การตายซึ่งเรียกว่า “สมมุติมรณะ ได้แก่การตายโดยสมบัติของสิ่งที่ไม่มีชีวิตเช่น คำพูดที่ว่า ต้นไม้ตาย โลหะตาย เป็นต้น
๓.  การตายชั่วขณะ คือการทำลายซึ่งขบวนการแห่งจิตและร่างกายในขณะหนึ่งๆ การตายที่ประสงค์จะกล่าวในที่นี้มี ๒ อย่าง คือ
 กาลมรณะ ได้แก่การตายตามกำหนดเวลา
 อกาลมรณะ ได้แก่การตายผิดกำหนดเวลา
กาลมรณะแบ่งย่อยออกเป็น ๓ ปรเภท คือ การตายเพราะหมดบุญ คือ สิ้นพลังแห่งกรรมเก่า การตายเพราะสิ้นอายุและการตายเพราะสิ้นทั้งบุญและอายุ
การตายในเวลาที่ไม่สมควร ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่อำนาจแห่งกรรมและอายุยังไม่สิ้น เช่น การตายที่เกิดจากอุบัติเหตุ ความป่วยไข้ หรือการทำอัตตวินิบาตกรรม ทั้งหมดนี้อยู่ในคำว่า “ตัดชีวิตินทรีย์” และการระลึกถึงการตัดชีวิตินทรีย์เช่นนี้ย่อมก่อให้เกิดมรณสติคือสติกำหนด การตาย อุปจารฌานที่ได้บรรลุด้วยการปฏิบัติข้อนี้ก็เรียกว่า “มรณสติ” ด้วยเช่นกัน
พระสาวกผู้ปรารถนาจะเจริญมรณสติ ควรปลีกตัวออกไปอยู่ในที่สงัด และส่งจิตไปจดจ่อ อยู่กับอารมณ์นั้น โดยคิดว่าดังนี้
“มรณํภวิสุสติ ชีวิตินฺทฺริยํ อุปจฺฉิชฺชสฺสติ แปลว่า “ความตายจักเกิดขึ้น ชีวิตินทรีย์จักถูกตัดขาด” หรือกล่าวแต่เพียงว่า มรณํ, มรณํ ตาย, ตาย, ก็ได้ การกล่าวซ้ำๆ ซึ่งคำใดคำหนึ่งในบรรดาคำเหล่านี้จะก่อให้เกิดการปฏิบัติธรรมขั้นต้นขึ้นมาพระสาวกควรปฏิบัติธรรมคือการะลึกถึงความตายนี้ในทางที่ถูกต้องและเหมาะสม คือให้มีสติกำกับตลอดเวลา ในขณะเดียวกันก็มีความสลดใจและความเข้าใจ แต่ไม่ควรจะเริ่มต้นด้วยการระลึกถึงความตายของใครคนใดคนหนึ่งโดย เฉพาะเช่นความตายของคนที่เป็นที่รักหรือคนที่เป็นศัตรู หรือความตายของผู้ที่ตนมีความรู้สึกเฉยๆ ในการระลึกถึงความตายของคนซึ่งเป็นที่รักย่อมก่อให้เกิดความทุกข์ ดุจทุกข์ ที่เกิดขึ้นแก่มารดาผู้ระลึกถึงการตายของบุตรสุดที่รักฉะนั้น ใน การระลึกถึงความตายของคนที่เป็นข้าศึกกัน ย่อมเกิดความไม่ดีคือความไม่รู้สึกสงสาร เช่นเดียวกับความยินดีที่เกิดขึ้นเมื่อ ข้าศึกระลึกถึงความตายของข้าศึก นั้นเอง เมื่อระลึกถึงความตายของคนที่วางเฉย ความสังเวชย่อมไม่เกิดเช่นเดียว กับความรู้สึกสังเวชไม่เกิดในสัปเหร่อผู้เผาศพเมื่อเห็นศพ ฉนั้น ความกลัวย่อมเกิดขึ้น เมื่อติดเรื่องการตายของตนเอง เช่นเดียวกับ ความกลัวซึ่งเกิดขึ้นในคนเขลาผู้มองดูเพชฆาต ฉะนั้น  ดังนั้น เมื่อเห็นสัตว์ผู้ประสบความตาย ในกาลอันไม่สมควร หรือตาย ตามธรรมชาติ หรือเมื่อคิดเรื่องการตายของบุคคลผู้มีเกียรติและ มีชื่อเสียง พระสาวกควรเจริญภาวนาโดยยึดความตายเป็นอารมณ์ อ้างถึงตัวเอง ใช้สติควบคุม ให้เกิดสังเวชและปัญญา ซึ่งทำใจให้มีดุลภาพ ควบคุมให้เหมาะสมกับธรรมารมณ์ เมื่อเขาปฏิบัติอย่างถูกต้องนิวรณ์ทั้งหลายก็จะหมดไป สติตั้งมั่นอยู่กับความตายซึ่งเป็นอารมณ์ และ สมาธิจะเข้าขั้นอุปจารสมาธิ
ถ้าแนวปฏิบัติดังกล่าวนี้เป็นไปไม่ได้ เขาควรภาวนาถึงความตายด้วยวิธีต่างๆ ๘ วิธีต่อไปนี้ คือ
 ความตาย ย่อมเข้ามาใกล้ และขู่สัตว์ทั้งหลายดุจเพซฌฆาต คือตามมาหาเราและขู่ ว่า”ข้าจะฆ่าแก”
 ควรพิจารณาย้อนหลังดังต่อไปนี้ความรุ่งเรืองและความสำเร็จทุกอย่างในโลกนี้ย่อม สิ้นสุดลงฉันใด ชีวิตที่รุ่งโรจน์ก็ย่อมจบลงด้วยความตายอย่างเลี่ยงไม่ได้ฉันนั้น ตามที่ท่าน กล่าว ไว้ว่า
“ความแก่และความตายย่อมเกิดขึ้นแก่สัตว์ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นผู้ดี,เป็นพราหมณ์,พ่อค้า,ทาสหญิงชาย, คนจัณทาลก็ตาม ไม่มีใครจะหลีกหนีได้ ทุกชีวิตย่อมถูกบดขยี้ ไม่มีที่หลีกหนี สำหรับช้าง สำหรับกองทหารราบไม่มีใครได้ชัยชนะในการสู้รบโดยวิธีทำเสน่ห์หรือด้วยโภคทรัพย์
 ควรระลึกถึงความตายโดยการอนุมานว่าตนเองจะต้องตายเหมือนบุคคลอื่นที่ตายแล้วว่าดังนี้  “บุคคลทั้งหลายในอดีต ผู้มีความสำคัญอันยิ่งใหญ่ มีบุญมีอำนาจมากมีพลังและ การศึกษาเล่าเรียนมามากได้ตายไปแล้วทุกคน ผู้ที่บรรลุถึงจุดสุดยอดแห่งความก้าวหน้าทาง ศีลธรรม เช่นพระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้าย่อมถึงแก่มรณกรรม ข้าพเจ้าเองก็จะต้องตายเหมือนกับมหาบุรุษเหล่านั้น” ควรพิจารณาโดยการอนุมานตามที่กล่าวมานี้
๔ ความตายเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่ากรณีใดๆเพราะร่างกายนี้ย่อมอยู่ภายใต้สาเหตุแห่งความตายนานาชนิด เช่นโรคร้อยพันชนิด และอันตรายภาย นอกอื่นๆ จำนวนมากสาเหตุแห่งการตายอย่างใดอย่างหนึ่งอาจเกิดขึ้นแก่ร่างกายในขณะใดก็ได้และทำให้ร่างกายดับสลาย ไปในเรื่องนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
 “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, บัดนี้ เมื่อเวลากลางวันผ่านไป และเวลากลางคืนก็เข้ามาแทนที่ พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งระลึกดังนี้ว่า “สาเหตุแห่งการตายมีมากมาย งูอาจกัดข้าพเจ้า และด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าอาจตายได้อันตรายอันเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า หรือข้าพเจ้าอาจเกิดสะดุดสิ่งใดแล้วล้มลง อาหารที่ข้าพเจ้ารับประทานอาจทำให้ข้าพเจ้าเดือดร้อน หรือดีหรือเสลดในร่างกายของข้าพเจ้าอาจทำให้ข้าพเจ้าได้รับความลำบาก หรือกระแสลมอันเฉียบคมอาจทำให้ข้าพเจ้าเดือดร้อน และด้วยเหตุนั้น ๆข้าพเจ้าอาจตายหรือประสบอันตราย” ควรพิจารณาความตายตามวิถีทางของ ร่างกายและการนำไปสู่อันตรายมากมายด้วยประการฉนี้
 ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายมีอยู่ได้ เพราะลมหายใจเข้าและลมหายใจออกพร้อมด้วย อิริยาบท ความร้อน ความเย็น ธาตุทั้งสี่และอาหาร ชีวิตจะดำเนินต่อไปได้ก็ต่อเมื่อได้รับการ สนับสนุนจากการทำหน้าที่อย่างเป็นระบบของลมหายใจเข้าออก เมื่อขบวนการนี้หยุดลง สัตว์ทุกชีวิตย่อมถึงแก่ความตาย อนึ่งชีวิตดำเนินไปได้ก็ต่อเมื่อได้รับการสนับสนุนจากการใช้อิริยาบถทั้ง ๔อย่างสม่ำเสมอ การใช้อิริยาบถอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไปย่อมก่อให้เกิดความอ่อนกำลัง อนึ่ง ชีวิตนี้ย่อมต้องการความร้อนและความเย็นพอสมควร ถ้าความร้อนหรือความเย็นอันใดอันหนึ่ง มากเกินไปย่อมก่อให้เกิดความตายได้ อนึ่ง ชีวิตนี้จะดำรงอยู่ตลอดเวลาที่ธาตุทั้งสี่มีระเบียบอันเหมาะสม การขาดระเบียบของธาตุใดธาตุหนึ่งย่อมก่อให้เกิดความตายได้ อนึ่ง ชีวิตนี้จะต้องได้รับการสนับสนุนจุนเจือจากอาหาร ถ้าไม่มีอาหารชีวิตก็จะดำรงอยู่ไม่ได้  ดังนั้น จึงควรพิจารณาความตายโดยคำนึงถึงความอ่อนแอแห่งชีวิต และสิ่งต่างๆ ที่ชีวิตจะต้องอาศัยตามที่กล่าวแล้ว
 ชีวิตในโลกนี้ไม่แน่นอน เพราะไม่สามารถกำหนดได้ด้วยกาล เหตุ สถานที่ และ จุดมุ่งหมายปลายทาง สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
“ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ กำหนดไม่ได้ รู้ไม่ได้ ชีวิตนี้ลำบาก และไม่ยืนนาน เต็มไปด้วยความทุกข์ เพราะไม่มีวิธีที่จะทำให้คนที่เกิดมาแล้วไม่ตาย แม้ว่าเขาจะมีอายุมากก็ตาม ความตายย่อมมาถึงเขา สัตว์ทั้งหลายมีธรรมชาติเช่นนี้”
เราพบข้อความที่สอดคล้องกับข้อความข้างบนนี้ในพระคัมภีร์วิสุทธิมรรคดังต่อไปนี้
ชีวิต, โรค, เวลา สถานที่ และจุดหมายปลายทางทั้ง ๕ นี้ ไม่มีเครื่องหมายไม่เป็นที่รู้กันในโลกแห่งความเป็นอยู่นี้  ชีวิตไม่มีเครื่องหมาย เพราะเราไม่สามารถกำหนดหรือทำให้ลดลงเพื่อเป็นกฎดังต่อไปนี้ว่า
“คนเราจะต้องมีชีวิตอยู่ได้นานขนาดนั้น ไม่มากไม่น้อยกว่านั้น ชีวิตอาจสลาย ณ จุดใดจุดหนึ่ง คือในระยะที่เพิ่งจะเริ่มเกิดในครรภ์ครั้งแรก หรือขั้นที่ ๒ ขั้นที่ ๓ เป็นต้น หรือในเดือนแรก เดือนที่ ๒ เดือนที่ ๓ หรือหลังจากนั้นหรือในเวลาคลอดหรือเวลาอื่นภายใน๑๐๐ปีหรือหลังจาก ๑๐๐ ปี”  
ความป่วยไข้ก็ไม่สามารถกำหนดดังต่อไปนี้ไดัว่า “สัตว์ทั้งหลายต้องตายด้วยโรคนี้ ไม่ใช่โรคอีกอย่างหนึ่ง” เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายย่อมตายด้วยโรคหรือความป่วยไข้ชนิดใดก็ได้ เวลาตายก็รู้กันไม่ได้เช่นกันเพราะจะกำหนดดังนี้ไม่ได้ว่า “คนเราต้องตายเวลานี้ไม่ใช่เวลาอื่น”  สัตว์ย่อมตายในเวลาเช้า เที่ยง เย็น หรือกลางคืนก็ได้ทั้งนั้น สถานที่ตายก็เช่นกันย่อมไม่มีใครรู้เพราะจะกำหนดว่า “ร่าง กายของคนที่จะตายต้องอยู่ ณ ที่นี้ไม่ใช่ที่อื่น” ดังนี้ไม่ได้   อนึ่ง จุดหมายปลาย  
ทางก็รู้กันไม่ได้เช่นกัน เพราะจะกำหนดว่า ผู้ที่ตายจากที่นี้จะไปเกิดใหม่ในที่นี้” ดังนี้ไม่ได้ เพราะเมื่อดับขันธ์จากเทวโลก สัตว์ทั้งหลายย่อมมาเกิด ในมนุษย์ทั้งหลายเมื่อตายจากโลก มนุษย์เขาย่อมเกิดในเทวโลกหรือโลกอื่นๆ ก็ได้  ดังนั้น จึงควรระลึกความตายโดยพิจารณาว่า สิ่งที่กล่าวมาแล้วมีสภาพไม่แน่นอน
๗ ชีวิตของมนุษย์ มีช่วงเวลาสั้น ผู้ที่มีชีวิตอยู่นาน ก็จะมีชีวิตอยู่ได้เพียงร้อยปี หรือ มากกว่าร้อยปีเล็กน้อยเท่านั้น สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายสั้นจะเสื่อมสลายไปในไม่ช้า ควรทำความดี ควรประพฤติพรหมจรรย์ ผู้ที่เกิดมาแล้วไม่มีทางหลีกหนีจากความตายได้  ผู้ที่มีชีวิตอยู่นาน ย่อมมีชีวิตอยู่ได้เพียง ๑๐๐ ปี หรือมากกว่า ๑๐๐ ปี เพียงเล็กน้อยเท่านั้น”
ชีวิตของคนทั้งหลายสั้น ดังนั้นคนฉลาดไม่ควรหาความเพลิดเพลินในชีวิตนี้ ขอให้ปฏิบัติเหมือนกับว่ามีศีรษะกำลังถูกไฟไหม้ เพราะไม่มีหนทางที่ความตายจะไม่มาถึง ดังนั้น ชาวพุทธควรเจริญภาวนา คือการระลึกถึงความตายโดยพิจารณาว่าชีวิตนี้มีช่วงเวลาสั้น
 เมื่อกล่าวอย่างกระทัดรัดแล้ว ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายมีช่วงเวลาสั้นมากอย่างแท้จริง คือจะมีอยู่ซวขณะแห่งความรู้สึกหนึ่งเท่านั้น เปรียบดังล้อรถที่หมุนอยู่ ย่อมหมุนอยู่ ณ จุดเดียวเท่านั้นของยาง และเมื่อหยุดก็ย่อมหยุดอยู่ ณ จุดเดียวเช่นกัน ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ก็ฉันนั้น เมื่อมีชีวิตอยู่ ก็ย่อมอยู่ชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้น เมื่อความคิดนั้นหมดไป สัตว์ผู้นั้นก็สิ้นไปด้วย ณ จุดนี้จะเห็นได้ว่าตามหลักจิตวิทยา ระยะเวลาแห่งชีวิตถูกจำกัดด้วยขณะจิตขณะหนึ่ง เพราะชีวิตดำรงอยู่ชั่วขณะแห่งการมีอยู่แห่งจิตเท่านั้น นั้นก็คือมีขณะจิต ๓ ขณะ คือ ขณะเกิดขึ้น ขณะตั้งอยู่ และ ขณะดับไป ชีวิตจะดำเนินอยู่เพียงชั่วขณะจิตใดจิตหนึ่งที่มีอยู่เท่านั้น ดังนั้นท่านจึงกล่าวว่ามนุษย์หรือสัตว์ตนหนึ่งๆ มีชีวิตอยู่ชั่วขณะจิตหนึ่งๆ เท่านั้น ในเรื่องนี้ควรระลึกถึงข้อความต่อไปนี้
“ในขณะจิตที่เป็นอดีต บุคคลไม่มีชีวิตอยู่ในขณะจิตที่เป็นปัจจุบัน และ จะไม่มีชีวิตอยู่ในขณะจิตที่เป็นอนาคต
ในขณะจิตที่เป็นอนาคต บุคคลย่อมไม่มีชีวิตอยู่ในขณะจิตที่เป็นอดีต ไม่มีชีวิตอยู่ในขณะจิตที่เป็นปัจจุบัน แต่จะมีชีวิตอยู่ในขณะจิตที่เป็นอนาคต
ในขณะจิตที่เป็นปัจจุบัน บุคคลไม่ได้มีชีวิตอยู่ในขณะจิต ที่จะเป็นอดีต จะไม่มีชีวิตอยู่ในขณะจิตที่เป็นอนาคต แต่มีชีวิตอยู่ในขณะจิตที่เป็นปัจจุบัน”
            “ชีวิต บุคลิกภาพ ความเพลิดเพลิน และ ความทุกข์เหล่านี้มีอยู่เพียงชั่วขณะจิตหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น จึงผ่านไปโดยเร็ว”
ตามกฎนี้ ตราบใดที่มีความสืบต่อแห่งจิต ย่อมมีความสืบต่อแห่งชีวิต เมื่อจิตหยุดทำงานในระบบร่างกายของแต่ละบุคคล ชีวิตก็ย่อมดับไปด้วย นี้แหละเรียกว่า ความตาย ดังนั้น ควรเจริญมรณานุสสติภาวนา โดยพิจารณาธรรมชาติที่ไม่ถาวรของชีวิต
เมื่อพระสาวกระลึกถึงความตายโดยวิธีใดวิธีหนึ่งในบรรดาวิธีทั้ง ๘ เหล่านี้  จิตของตนจะสร้างนิสัยความชินขึ้น โดยอาศัยการกล่าวซ้ำๆ และสติก็จะตั้งอยู่โดยยึดความตายเป็นอารมณ์ นิวรณ์ทั้งหลายจะสิ้นไป และองค์ฌานทั้ง หลายก็จะปรากฏขึ้น เพราะเหตุที่ความตายเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและ มักจะเป็นเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความกระวนกระวายใจ การมีสติระลึกถึงความตายจึงช่วยให้บรรลุเพียงอุปจารฌานเท่านั้น  ดังนั้น อุปจารฌานนั้นย่อมนำ ไปสู่อัปปนาสมาธิ ท่านกล่าวไว้ว่า การเจริญสมาธิประเภทนี้ซึ่งดำเนินการด้วยความเอาใจใส่เป็นอย่างดีแม้ขณะหนึ่งย่อมให้ผลมหาศาล
            “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระภิกษุผู้เจริญมรณสติ ดังนี้ว่า  ถ้าข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่นานพอที่จะหายใจเข้าหลังจากหายใจออก หรือ หายใจออกหลังจากหายใจเข้าได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าและได้ทำความดีต่างๆ มากมายแล้วย่อมเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่สำหรับข้าพเจ้า พระภิกษุเหล่านี้ได้รับคำชมเชยว่า ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาทเจริญมรณสติเพื่อทำลายเสียซึ่งอาสวกิเลสทั้งหลาย
พระสาวกผู้เสียสละตนเองเพื่อเจริญมรณสติย่อมไม่ประมาทตลอดกาลเป็นนิตย์และไม่สนใจกับความมีอยู่ เป็นอยู่ของโลก สละเสียซึ่งความปรารถนาในชีวิต ตำหนิการทำความชั่ว ปราศจากตัณหาความทะยานอยากในสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิต   เข้าใจเรื่องอนิจจตาอย่างดี ด้วยสิ่งเหล่านี้พระสาวกย่อมเข้าใจอย่างประจักษ์ซึ่งธรรมชาติแห่งความเป็นอยู่ ที่มีทุกข์ และไม่มีตัวตน ในเวลาตาย ย่อมไม่มีความหวาดกลัว และมีสติกำหนดและควบคุมตนเองได้ ถ้าในชีวิตปัจจุบัน ยังไม่บรรลุพระนิพพาน เมื่อตายไปแล้ว ก็จะได้รับความสุขในชาติหน้า”

No comments:

Post a Comment