Sunday, October 23, 2016

บทที่ ๑๘ อานาปานสติภาวนา



บทที่ ๑๘
อานาปานสติภาวนา
การเจริญสมาธิด้วยการทำหนดลมหายใจเข้าออก
แบบการเจริญสมาธิที่รู้จักกันเป็นอย่างดีได้แก่อานาปานสติ คือสติกำหนดลมหายใจ เข้าออก ซึ่งท่านอธิบายไว้ในพระไตรปิฎก และขยายความโดยพระอรรถกถาจารย์ทั้งหลายเป็นแบบแรก และ สำคัญที่สุดในการฝึกจิตในพระ พุทธศาสนา พระพุทธเจ้าพระองค์เอง เมื่อทรงแนะนำว่าเป็นวิธีสมบูรณ์แบบสำหรับการบรรลุพระนิพพานได้ทรงสรรเสริญอานาปานสติว่า เป็นวิหารธรมที่ประเสริฐคือเป็นวิหารธรรมคือธรรมเป็นที่อยู่อาศัยของพระพรหมและเป็นวิหาร ธรรมของพระพุทธเจ้า ในเรื่องนี้ท่านมีบันทึกไว้ในมหาสัจจกสูตรว่าพระโพธิ สัตว์ทรงพระนาม ว่า โคดมได้บรรลุปฐมฌานและอยู่ในปฐมฌานนั้นขณะเมื่อทรงพระเยาว์ ซึ่งเป็นการบรรลุที่กล่าวว่าเป็นผลแห่งการเจริญสมาธิ ข้อความนี้เป็นหสักฐานยืนยันว่าอานาปานสติเป็นสมาธิของพระพุทธเจ้า และตามความในอรรถกถาแห่งภยเภรวสูตรพระองค์ได้ทรงใช้การปฏิบัติอันเดียวกันนี้เป็นทางไปสู่อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์
พระคัมภีร์วิสุทธิมรรคและหนังสือคู่มือพระโยคาวจรอธิบายว่า อานาปานสติเป็นมูลกรรมฐาน คือกรรมฐานพื้นฐาน เมื่อบรรลุสมาธิในฌาน เพราะเป็นอุปกรณ์ช่วยเหลืออันยิ่งใหญ่ แต่พระโคดมพุทธเจ้า และพระพุทธเจ้าในอดีตทุกพระองค์ในการได้บรรลุพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณและอำนวยความสุขให้แก่พระองค์ในขณะที่ดำรงพระชนม์ชีพอยู่ อานาปานสติอาจถือได้ว่าเป็นอารมณ์กรรมฐานต้นแบบที่ได้บันทึกไว้ในวรรณคดีภาษาบาลี
อานาปานสติกรรมฐานนี้ไม่เหมือนกับอารมณ์กรรมฐานอย่างอื่น คือประกอบด้วย สมาธิวิธี และ วิปัสนาวิธีทั้งสองอย่าง ในนิกายทั้งหลายท่านจัดอานาปานสติไว้เป็น ๔ หมวด คือในสติปัฎฐานสูตร อานาปานสติรวมอยู่ในสติปัฏฐาน ๔ ในศิริมานนทสูตรอยู่ในกลุ่มสัญญา ๑๐ ในอานาปานสติสูตร ท่านเรียกว่า อานาปานสติโดยตรง และในอานาปานสังยุต ท่านเรียกว่า อานาปานสมาธิ โดยปรกติอานาปานสติจะมีแบบสำหรับฝึก ๑๖ แบบ นอกจากในสติปัฏฐานสูตรซึ่งให้ไว้เฉพาะ ๔ อย่างแรก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกายานุปัสสนา (การตามพิจารณาร่างกาย) อานาปานสติอยู่เป็นลำดับที่สิบในสมาธิสัญญา ๑๐ ซึ่ง ณ ที่นี้ ท่านเรียกว่า อานาปานสติ ใน ในอานาปานสติสูตร อานาปานสติกรรมฐานนี้รวมอยู่ในสติปัฏฐาน ๔ และรวมอยู่ในโพชฌงค์ ๗ ทำให้เกิดระบบการฝึกฝนที่สมบูรณ์ขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่พระนิพพานพระสูตรซึ่งเรียกอานาปานสติว่า
อานาปานสติสมาธิ ปรากฏในพระคัมภีร์วินัยด้วย  ดังนั้น จากขั้นต้นแห่งการพัฒนาการสอน แนวปฏิบัติข้อนี้ไดัรับการอธิบายโดยใช้ชื่อนี้เป็นส่วนสำคัญสำหรับการฝึกฝนของพระสาวก แต่เราไม่ได้พบว่าพระคัมภีร์อภิธรรมท่านอธิบายอานาปานสติในฐานะเป็นแบบเอกเทศ แม้จะสามารถรวมวิญญาณในรูปฌานทั้ง ๔ ขั้นเข้าด้วย เช่นเดียวกับกสิณ ๑๐ ก็ตาม
ท่านรวมอานาปานสติไว้ในระบบของสมาธิในุฐานะเป็นกรรมฐานข้อหนึ่งซึ่งอาจใช้ได้ ๒วิธี  วิธีแรกเราสามารถเจริญอานาปานสติไปพร้อมกับกรรมฐานแบบอื่นๆ โดยที่อานาปานสติเป็นหนทางจำเป็นเพื่อบรรลุถึงความสงบแห่งกายและจิต
ทรัพย์สำคัญอย่างหนึ่งของผู้ที่ปรารถนาจะเจริญสมาธิคือการมีร่างกายบริสุทธิ์เปล่งปลั่ง และจิตที่ผ่องใส เพราะว่าถ้าปราศจากความบริสุทธิ์ในร่างกายและความสงบในจิตแล้ว การเจริญสมาธิอาจไม่บรรลุผลสำเร็จและอาจเป็นการเสี่ยงต่ออันตรายได้ ความผิดปกติทางร่างกายแม้แต่นิดหน่อยอาจขัดขวางมิให้จิตบรรลุสมาธิได้ ตามที่พระเถระนามว่าโคธิกะได้แสดงไว้  เมื่อจิตไม่หยุดนิ่งและกวัดแกว่งไปเพราะความคิดที่ผิด การเจริญสมาธิก็ไร้ผล ตามที่ประจักษ์แก่พระเถระนามว่าเมฆิยะ ผู้ไม่สามารถจะควบคุมจิตของตนได้และมีจิตชั่วเกิดขึ้นบ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กามวิตก พยาบาท และการเบียดเบียน พระพุทธเจ้าได้ทรงแนะนำพระเมฆิยะเถระองค์นี้เองให้ เจริญอานาปานสติเพื่อขจัดเสียซึ่งความวิตก (ความคิดที่ชั่ว) ซึ่งกล่าวถึงข้างบนนี้ การเจริญอานาปานสติตามแนวที่พระพุทธ เจ้าตรัสไว้ในพระไตรปิฎก  ไม่เพียงแต่จะมีแนวโน้มไปเพื่อขจัดความลำบากต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องอยู่ในกายและจิตเท่านั้น แต่ยังควบคุมกายเนื้อเพื่อใช้กายนี้ เป็นเครื่องมืออเนกประสงค์ให้ได้บรรลุคุณธรรมขั้นสูง เมื่อใดก็ตามที่ประสงค์จะใช้อีกด้วย
วิธีที่สองประกอบด้วยอารมณ์กรรมฐาน ๔๐ อย่าง ข้อนี้เป็นวิธีที่เหมาะ สมกับผู้ที่มีอุปนิสัยต่างๆ หรือผู้ที่มีจิตถูกอารมณ์คือความใคร่รบกวนเสมอๆ วิธีนี้เป็นการคัดเลือกหนทางพิเศษสำหรับแต่ละบุคคล ความเหมาะสมอยู่ที่ว่ากรรม ฐานแต่ละอย่างจะเป็นกรรมฐานที่ ตรงกันข้ามกับอุปนิสัยของแต่ละบุคคล แต่อย่างไรก็ตามจะไม่มีวิธีเจริญสมาธิใดๆ ที่จะไม่นำไปสู่ความบริสุทธิ์และความ สุขทางจิตเลย
อานาปานสติท่านอธิบายไว้อย่างละเอียดในคัมภีร์นิกายทั้งหลายและประเด็นที่เกี่ยวข้อง กับอานาปานสติ ท่านจะกล่าวไว้ในลำดับเดียวกัน แต่ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค ท่านอธิบายไว้ โดยใช้ชื่อว่าอานาปานสติสมาธิและท่านให้ความสนใจเป็นพิเศษซึ่งทำให้เป็นคำอธิบายที่ยาวที่สุด ในวรรณคดีภาษาบาลี ท่านเริ่มอธิบายดังนี้ ‘‘ปัญญา ๒๐๐ และมากกว่า ๒๐๐ ประเภทย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้เจริญอานาปานสติ” ท่านได้อธิบายและแบ่งกลุ่มปัญญาเหล่านี้กายใต้ห้วข้อ ๑๑ หัวข้อต่อไปนี้ คือ
 ปัญญา ๘ ประเภทเพื่อเอาชนะความทุกข์ยากทั้งหลาย
๒ ปัญญา ๘ ประเภท สำหรับสิ่งที่น่าปรารถนา
 ปัญญา ๑๘ ประเภทซึ่งกล่าวถึงความไม่บริสุทธิ์
 ปัญญา ๑๓ ประเภท สำหรับความบริสุทธิ์
 ปัญญา ๓๒ ประเภท สำหรับสติ
 ปัญญา ๒๔ ประเภท สำหรับสมาธิ
 ปัญญา ๗๒ ประเภท สำหรับวิปัสสนา
 ปัญญา ๘ ประเภท สำหรับความไม่ยึดมั่น
 ปัญญา ๘ ประเภท สำหรับความสามัคคี
๑๐ ปัญญา ๘ ประเภท สำหรับความสงบ
๑๑ ปัญญา ๑๑ ประเภท สำหรับความสุขสงบในพระนิพพาน
ทั้งหมดจึงเป็นปัญญา ๒๒๐ ประเภท
จุดประสงค์สำคัญในการอธิบายเรื่องนี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นปัญญาประเภทต่างๆ ซึ่งมนุษย์สามารถจะบรรลุได้โดยการเจริญสมาธิ โดยวิธีที่จะนำมาซึ่งความรู้แจ้งอันสมบูรณ์ ในพระคัมภีร์วิสุทธิมรรค เรียกว่า “กรรมฐาน” และให้แนวปฏิบัติไว้หลายแบบหลายวิธีและแนะให้ผู้อ่านไปดูรายละเอียดในพระคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค
คำจำกัดความ
ก่อนที่จะอธิบายถึงแนวปฏิบัติกรรมฐานตามที่ท่านกล่าวไว้ในตำรา สมควรให้คำจำกัดความและกำหนดความหมายคำเหล่านี้เพื่อความชัดเจนต่อไป เพราะมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องการใช้คำ เช่น “อานา” และ “อปานะ” ในอรรถกถาทั้งหลาย และอาจก่อให้เกิดสับสนขึ้นโดยไม่จำเป็นจากการใช้คำต่างๆ และให้ความหมายคำเหล่านั้นไปต่างๆ กัน
ในตำราทั้งหลายท่านใช้คำว่า “อานาปานสติสมาธิ” ซึ่งเป็นคำผสมของคำเฉพาะ ๔ คำ คือ “อานะ” “อปานะ” “สติ” และ “สมาธิ” ซึ่งหมายความว่า “สมาธิซึ่งเกิดจากสติหรือมีสติเป็นพื้นฐาน สติตัวนี้กำหนดรู้ “อานะ” (การหายใจเข้า) หรือ “อปานะ” (การหายใจออก) หรือ การหายใจเข้าและหายใจออกทั้งสองอย่าง
ในที่นี้คำว่า “อานะ” และคำว่า “อปานะ” เป็นอารมณ์ของสติแยกกันเป็น ๒ อย่าง ซึ่งตรงกับ คำว่า “อัสสาสะ” (ลมหายใจเข้า) และคำว่า ปัสสาสะ (ลมหายใจออก) ในเรื่องนี้ อาจยกเอาข้อความมากล่าวดังนี้ “อานนฺติ อสฺสาโส, โน ปสฺสาโส, อปานสติ  ปสฺสาโส, โน อสฺสาโส แปลว่า “อานะ” ได้แก่ อัสสาสะไม่ใช่ ปัสสาสะ “อปานะ”ได้แก่ ปัสสาสะไม่ใช่อัสสาสะ ในอรรถกถาปฏิสัมภิทาท่านกล่าวว่า “อานา” ใช้หมายถึง “อากาศ” ซึ่งถูกสูดเข้าไปในภายในร่างกาย และ “อปานะ” ใช้หมายถึง “อากาศ” ซึ่งปล่อยออกจากร่างกาย “อปานะ” มีคำจำกัดความว่า “อเปตํ อานโต” นั่นก็คือ “อปานะ” เป็นลมซึ่งต่างจาก “อานะ” คำว่า “ลม หายใจเข้าและลมหายใจออก” ท่านใช้คำเช่นเดียวกันคือคำว่า อัสสาสะ และปัสสาสะตามลำดับ ข้อความที่ว่า “จิตของผู้ที่ติดตามเบื้องต้นท่ามกลางและที่สุดแห่ง “อัสสาสะ” เป็นธรรมอยู่ในภายใน และจิตซึ่งติดตามเช่นนั่น เกี่ยวกับปัสสาสะ(ลมหายใจออก) ย่อมเป็นธรรมชาติอยู่ภายนอก ดังนี้ ย่อมบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า อัสสาสะ คือลมหายใจเข้า และ ปัสสาสะ คือลมหมายใจออก
แต่อรรถกถาพระวินัยซึ่งพระพุทธโฆษาจารย์อ้างถึงในพระคัมภีร์วิสุทธิมรรคนั้นให้ ความหมายตรงกันข้าม ในที่นั้น “อัสสาสะ” ได้แก่ “ลมหายใจออก และ “ปัสสาสะ” ได้แก่ “ลมหายใจเข้า” เมื่ออ้างถึงการตีความอื่นๆ ท่านกล่าวว่า “แต่ในอรรถกถาพระสุตันตะท่านกล่าวไว้ในลักษณะกลับลำดับกัน” เหตุผลที่ให้ความหมายเช่นนี้ท่านกล่าวไว้ดังต่อไปนี้ “เมื่อผู้ที่นอนอยู่ในครรภ์มารดาออกมาจากครรภ์นั้น อากาศภายในร่างกายย่อมออกมาก่อนแล้ว จากนั้นอากาศจากข้างนอก  ซึ่งมีฝุ่นละเอียดปนอยู่จึงเข้าไปข้างในและเมื่อสัมผัสกับเพดานก็พัดออกมาข้างนอก ดังนั้นจึงควรเข้าใจคำว่า อัสสาส” (ลมหายใจออก) และปัสสาสะ (ลมหายใจเข้า)
ในคัมภีร์มหานิเทศ เราได้เรียนรู้มาว่า อัสสาสะ และปัสสาสะ เป็นชื่อของลม ๒ ประเภท ซึ่งสนับสนุนขบวนการของชีวิตที่มีร่างกาย เรียกว่าชีวิตินทรีย์ อรรถกถาแห่งคัมภีร์มหานิเทศ อธิบายว่าอัสสาสะเป็นลมหายใจเข้า และปัสสาสะเป็นลมหายใจออก
ในบรรดาลมหายใจ ๒ ประเภทซึ่งสนับสนุนชีวิตและอินทรีย์นี้ ลมหายใจเข้าซึ่งเป็นลมสำคัญ อาจได้รับยกย่องก่อนลมหายใจออก ยิ่งกว่านั่น คำว่า “อานะ”ซึ่งตรงกับคำ “ปาน”(สันสกฤตว่า ปราณ) มาจากรากคำ (ธาตุ) อนุ” ซึ่งเท่ากับคำว่า “ปานเน” “เพื่อมีชีวิตอยู่” “อนุ” หายใจ ควรจะใช้ในความหมายอันสำคัญคือ “หายใจเข้า” ลมหายใจออกเพราะเป็นอากาศที่สิ้นคุณสมบัติในการที่จะให้ชีวิตและเป็นอากาศที่จะต้องระบายออกจากร่างกายเพื่อว่าอากาศที่สดชื่นอย่างอื่นจะได้เข้าไปแทนที่ จึงมีตำแหน่งความสำคัญเป็นอันดับรองลงมา คำว่า “อปานะ” ซึ่งต่างจากคำว่า “อานะ” จะต้องใช้กับกระแสลมหายใจออกซึ่งไม่มีชีวิตยิ่งกว่านั้น ในขณะสิ้นชีวิต ลมหายใจสุดท้ายเป็นลมหายใจออก ดังนั้น เมื่อทราบว่าความตายตามติดชีวิตอย่างใก้ลชิด และไม่ใช่ชีวิตตามติดความตายดังนี้ จึงมีเหตุผลมากขึ้นที่จะใช้คำว่า อัสสาสะ ซึ่งสอดคล้องกับ การทำงานของกระแสชีวิตคือ อานะ”ให้หมายถึงลมหายใจเข้า และใช้คำว่า ปัสสาสะ ซึ่งสอดคล้องกับการทำงานของกระแสไร้ชีวิตคือ “อปานะ” ให้หมายถึงลมหายใจเข้าออก
ดังนั้นจึงขอแปลคำว่า “อัสสาสะ” (ภาษาสันสกฤตว่า อาศฺวาส) ว่า ลมหายใจเข้า และ คำว่า ปัสสาสะ (ภาษาสันสกฤตว่า ปฺรศฺวาส) ว่า ลมหายใจออก ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค ซึ่งเป็นงานของพระสารีบุตรเถระ เราพบว่ามีการยืนยันข้อความนี้ทั้งในด้านความสำคัญที่เกี่ยวโยงกันของคำทั้งสองนี้และในด้านการจัดลำดับตลอดถึงความหมายของคำทั้งสองนี้
ควรเข้าใจว่า สติที่ตั้งมั่นด้วยการเข้าใจ “อานะ” และ อะปานะ” หรือทั้งสองคำก่อให้เกิดอารมณ์กรรมฐาน เรียกว่า “อานาปานสติ” และควรกล่าวไว้ด้วยว่า สติซึ่งตั้งมั่นในลมหายใจเข้า หรือลมหายใจออก ย่อมก่อให้เกิดกรรมฐานขึ้นในขั้นต้นจนกระทั่งพระสาวกเข้าใจลมทั้งสองประเภทว่าเป็นความเจริญก้าวหน้าของสมาธิ การเจริญอานาปานสติจะก่อให้เกิดความเป็นหนึ่งแห่งจิตซึ่งกำหนดเรียกว่า อานาปานสมาธิ
วิธีเจริญสมาธิตามที่ปรากฏในพระบาลี
ต่อไปนี้เป็นพระธรรมเทศนาซึ่งอธิบายว่า อานาปานสติสมาธิเป็นอารมณ์ของสมาธิภาวนาและแนะวิธีการเจริญสมาธิตลอดถึงการพัฒนาขึ้นเป็นขั้นตอนรวม ๑๖ ขั้น(ฌาน ๑๖) ขอนำพระธรรมเทศนานี้มากล่าวในรูปเดิมของท่าน เพราะเป็นเทศนาที่ท่านนำคำอธิบายในอรรถกถามาแสดง ดังต่อไปนี้
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย,อานาปานสติสมาธินี้ เมื่อฝึกฝนอบรมและปฏิบัติแล้วย่อมนำไปสู่ความสงบ ความบริสุทธิ์ ความอิ่มใจ และความสุข อานาปานสติสมาธิ ย่อมทำให้ความดำริผิดทุกอย่างหมดสิ้นไปและทำจิตให้สงบในทันที”
“อานาปานสติสมาธินี้ เมื่อฝึกฝนอบรมและปฏิบัติแล้ว ย่อมนำไปสู่ความสงบ  และนำจิตให้สงบในทันทีได้อย่างไร ณ ที่นี้พระภิกษุรูปหนึ่ง หลังจากไปสู่ป่า สู่โคนต้นไม้ หรือสู่เรือน ที่สงบ นั่งขัดสมาธิ นั่งตัวตรง และกำหนดสติไว้เฉพาะหน้า(ที่ปลายจมูก) “เขามีสติอยู่หายใจเข้า มีสติอยู่หายใจออก” ดังต่อไปนี้
๑.๑ ในขณะที่หายใจเข้ายาว เขามีความรู้ว่า “ข้าพเจ้าหายใจเข้ายาว ในขณะที่ หายใจออกยาว เขามีความรู้สึกว่า “ข้าพเจ้าหายใจออกยาว”
๑.๒ ในขณะที่หายใจเข้าสั้น เขามีความรู้สึกว่า “ข้าพเจ้าหายใจเข้าสั้น” ในขณะ ที่หายใจออกสั้น เขามีความรู้สึกว่า “ข้าพเจ้าหายใจออกสั้น”
๑.๓ เขาฝึกฝนตนเองดังนี้ว่า “ในขณะที่รู้แจ้งร่างกายทั้งหมด ข้าพเจ้าจะหายใจเข้า” เขาฝึกตนเองดังนี้ว่า “ในขณะที่รู้แจ้งร่างกายทั้งหมด ข้าพเจ้าจะหายใจออก”
๑.๔ เขาฝึกตนเองดังนี้ว่า “ในขณะที่ทำส่วนของร่างกายให้สงบ ข้าพเจ้าจะหายใจเข้า” เขาฝึกตนเองดังนี้ว่า “ในขณะที่ทำส่วนร่างกายให้สงบ ข้าพเจ้าหายใจออก”
๑.๕ เขาฝึกตนเองดังนี้ว่า “ในขณะที่มีปิติคือความอิ่มใจ ข้าพเจ้าจะหายใจเข้า” เขาฝึกตนเองดังนี้ว่า “ในขณะที่มีความปิติความอิ่มใจ ข้าพเจ้าจะหายใจออก”
๑.๖ เขาฝึกตนเองดังนี้ว่า “ในขณะ ที่มีความสุข ข้าพเจ้าจะหายใจเข้า” เขาฝึกตนเองดังนี้ว่า “ในขณะที่มีความสุข ข้าพเจ้าจะหายใจออก”
๑.๗ เขาฝึกตนเองดังนี้ว่า “ในขณะที่มีจิตสังขาร คือจินตธาตุ ข้าพเจ้าจะหายใจเข้า” เขาฝึกตนเองดังนี้ว่า “ในขณะที่มีชีวิตสังขาร คือจินตธาตุ ข้าพเจ้าจะหายใจออก”
๑.๘ เขาฝึกตนเองดังนี้ว่า “ในขณะนี้ทำจินตธาตุให้สงบ ข้าพเจ้าจะหายใจเข้า” เขาฝึกตนเองดังนี้ว่า “ในขณะที่ทำจินตธาตุให้สงบ ข้าพเจ้าจะหายใจออก”
๑.๙ เขาฝึกตนเองดังนี้ว่า “ในขณะที่รู้แจ้งสภาพของจิต ข้าพเจ้าจะหายใจเข้า” เขาฝึกตนเองดังนี้ว่า “ในขณะที่รู้แจ้งสภาพของจิต ข้าพเจ้าจะหายใจออก”
๑.๑๐ เขาฝึกตนเองดังนี้ว่า “ในขณะที่ทำจิตให้ยินดี ข้าพเจ้าจะหายใจเข้า” เขาฝึกตนเองดังนี้ว่า “ในขณะที่ทำจิตให้ยินดี ข้าพเจ้าจะหายใจออก”
๑.๑๑ เขาฝึกตนเองดังนี้ว่า “ในขณะที่ทำจิตให้เป็นสมาธิ ข้าพเจ้าจะหายใจเข้า ในขณะที่ทำจิตให้เป็นสมาธิ ข้าพเจ้าจะหายใจออก”
๑.๑๒ เขาฝึกตนองดังนี้ว่า “ในขณะที่รู้แจ้งจิตข้าพเจ้าจะหายใจเข้าในขณะที่รู้แจ้งจิต ข้าพเจ้าจะหายใจออก”
๑.๑๓ เขาฝึกตนเองดังนี้ว่า “ในขณะที่พิจารณาความไม่เที่ยง ข้าพเจ้าจะหายใจเข้า ในขณะที่พิจารณาความไม่เที่ยง ข้าพเจ้าจะหายใจออก”
๑.๑๔ เขาฝึกตนเองดังนี้ว่า ‘ในขณะที่พิจารณาความไม่มีกิเลสข้าพเจ้าจะหายใจเข้า ในขณะที่พิจารณาความไม่มีกิเลส ข้าพเจ้าจะหายใจออก”
๑.๑๕ เขาฝึกตนเองดังว่านี้ “ในขณะที่พิจารณาความดับกิเลส ข้าพเจ้าจะหายใจเข้า ในขณะที่พิจารณาความดับกิเลส ข้าพเจ้าจะหายใจออก”
๑.๑๖ เขาฝึกตนเองดังนี้ว่า ในขณะที่พิจารณาความไม่มีกิเลสโดยสิ้นเชิง ข้าพเจ้าจะหายใจเข้า ในขณะที่พิจารณาความไม่มีกิเลสโดยสิ้นเชิง ข้าพเจ้าจะหายใจออก”
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติสมาธินี้เมื่อได้รับการฝึกฝนอบรมและปฏิบัติย่อมนำไปสู่ความสงบ ความบริสุทธิ์ ความอิ่มใจ อานาปานสติสมาธิ ย่อมทำให้ความดำริผิดทุกอย่างหมดสิ้นไป และทำจิตให้สงบในทันที”
วิธีเจริญสมาธิข้อนี้ ตามที่ท่านอธิบายไว้ในพระธรรมเทศนานี้ เป็นวิธีทางพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะ ไม่เหมือนกับวิธีการปฏิบัตินอกพระพุทธศาสนา แต่อย่างไรก็ตาม วิธีนี้เป็นระบบการควบคุมลมหายใจซึ่งเรียกกันว่า “ปราณายาม” ซึ่งเป็นพื้นฐาน แห่ง หัฐโยคะ” พวกฤๅษีชาวอินเดียได้ปฏิบัติตามระบบการควบคุมลมหายใจอย่างหนึ่งมาแล้ว แบบการปฏิบัติที่ เคร่งครัดที่สุดนี้ซึ่งรู้จักกันดีในพระคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาว่า อัปปาณะกะฌาน”(ฌานที่เกิดจากการไม่หายใจ) ได้รับการบันทึกไว้ในมหาสัจจกสูตร ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเพียรอันยิ่งใหญ่ (มหาปธาน)ของพระพุทธเจ้า ก่อนการบรรลุพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในขณะที่เจริญสมาธิชนิดนี้ พระพุทธเจ้าทรงทราบว่าเป็นการทรมานร่างกายอย่างเดียวเท่านั้น และในขณะที่ทรงทราบ ว่าไมใช่ทางไปสู่การตรัสรู้ พระองค์จึงทรงเลิกปฏิบัติและทรงหันกลับมาใช้วิธีซึ่งพระองค์ได้ปฏิบัติแล้ว ในระหว่างที่ทรงพระเยาว์ใต้ร่มเงาแห่งต้นหว้า ซึ่งด้วยการปฏิบัติของพระองค์
พระองค์ได้ทรงบรรลุปฐมฌาน ประสบการณ์ในการปฏิบัติเช่นนี้ช่วยให้พระองค์ทรงทราบว่าเป็นการปฏิบัติที่นำไปสู่ความสุขและความบริสุทธิ์แห่งจิตจากกิเลสทั้งหลาย ในเรื่องนี้ เราพบข้อความดังต่อไปนี้
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเคยใช้เวลาในการเจริญอานาปานสติสมาธินี้มาแล้วและ ในขณะที่ตถาคตเจริญอานาปานสติสมาธินี้อยู่นั้นร่างกายและตาของตถาคตไม่เคยเหนื่อยอ่อน และจิตของตถาคตก็ปราศจากอาสวะทั้งหลายด้วยผลแห่งการเจริญสมาธิข้อนี้
พระโยคาวจรผู้ปฏิบัติสมาธินี้ตามวิธีที่ท่านให้ไว้จะได้รับผลเช่นเดียวกันในทันที ดังนั้น พระธรรมเทศนาข้างบนนี้จึงกล่าวถึงสมาธินี้ว่า มีความสงบ, มีความบริสุทธิ์, มีความอิ่มใจ และมีความสุข” คำพูดเหล่านี้อธิบายถึงลักษณะของอานาปานสติซึ่งต่างจากอารมณ์กรรมฐาน อย่างอื่น เช่น อสุภกรรมฐาน ๑๐ อย่าง และกายคตาสติกรรมฐาน การเจริญสมาธิโดยการพิจารณาอารมณ์กรรมฐานกลุ่มหลังนี้ อาจก่อให้เกิดความรู้สึกเกลียดชังเพราะธรรมชาติของ อารมณ์ที่เกี่ยวข้อง แม้ว่าในแง่แห่งการรู้แจ้งแทงตลอดอารมณ์กรรมฐานเหล่านี้จะลึกซึ้งที่สุดก็ตาม แต่พระสาวกผู้เจริญสมาธิโดยพิจารณาอารมณ์ที่ไม่สวยงามเหล่านี้ ก่อนที่จะได้รับความสำเร็จที่สมบูรณ์ อาจเกิดความรู้สึกเกลียดชังร่างกายของตนเองและแสวงหาทางที่ผิดเพื่อขจัดความเกลียดชังนั้น เช่นเดียวกับพระภิกษุ ๕๐๐ รูป แห่งเมืองเวสาลีผู้หาอาวุธมาเพื่อประหารชีวิตตน ฉนั้น ในโอกาศนี้เอง พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาว่าด้วยอานาปานสติสมาธิตามที่ได้กล่าวข้างบนนี้ และทรงวางระเบียบพระวินัย คือ ปาราชิก ข้อ ๓ ว่าพระภิกษุรูปใดฆ่ามนุษย์ หรือยั่วยุให้ฆ่าตนเอง พระภิกษุรูปนั้นควรจะถูกขับออกจากองค์การพระสงฆ์
อานาปานสตินี้ไม่เหมือนกับอารมณ์กรรมฐานอื่นๆ เพราะโดยธรรมชาติที่แท้จริงแล้ว เป็นอารมณ์กรรมฐานที่สงบ เยือกเย็น และมีความสุข พระโยคาวจรจะรู้สึกสดชื่นและแจ่มใส เสมอด้วยอำนาจแห่งอานาปานสติกรรมฐานนั้นจะอิ่มเอิบเสมอเพราะความสงบอันดีเลิศและความลึกซึ้งด้านสติบัญญา ดังนั้น การเจริญอานาปานสติจึงไม่มีความลำบากหรืออันตรายใดๆ เหมือนในระบบหัฐโยคะ อานาปานสติย่อมทำให้กายและจิตสงบตั้งแต่เริ่มปฏิบัติ ความมัวหมองในจิตทุกประเภทจะหมดไป จะได้รับวิปัสสนาญาณที่สมบูรณ์ และในที่สุดพระสาวกจะรู้แจ้งถึงผลอันสูงสุดของอานาปานสติ คือความสุขในพระนิพพาน
แนวทางปฏิบัติ : ภาค ๑
ตามที่แสดงไว้ในพระธรรมเทศนาข้างบนนี้ ท่านอธิบายอานาปานสติไว้เป็น ๑๖ ชั้น รวมแบ่งเป็น ๔ ภาค แต่ละภาคมีแบบฝึกหัด ๔ แบบ
ภาคที่ ๑ ซึ่งรวมถึงหลักการเจริญสมาธิเบื้องต้น มีแบบปฏิบัติ ๔ แบบ เป็นแบบการเจริญกรรมฐานซึ่งเหมาะสำหรับผู้เริ่มต้น  แต่อีก ๓ แบบที่เหลือเป็นการเจริญภาวนาตามแบบวิปัสสนาซึ่งสูงขึ้น โดยเหตุที่จุดมุ่งหมายสำคัญในการจัดดังนี้ก็คือ การตั้งสติกำหนดซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นเบื้องต้นในการบรรลุญาณที่สมบูรณ์  ดังนั้นอานาปนาสติ ๔ ขั้น จึงรวมถึงสติปัฎฐานทั้ง ๔ ตามลำดับ คือ กายานุปัสสนาสติปัฎฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสนาสติปัฏฐาน พระสาวกผู้เจริญสมาธิภาวนาควรฝึกภาคแรกเป็นกรรมฐานหลัก  และหลังจากได้บรรลุฌานที่ ๔ แล้ว จึงควรเจริญวิปัสสนาเพื่อบรรลุพระอรหัตพร้อมด้วย ญาณอันสูงคือปฏิสัมภิทาญาณ
หลักการปฏิบัติเบื้องต้น
ในเบื้องต้นพระสาวกผู้ที่ชำระศีลของตนให้บริสุทธิ์และรักษาวินัยที่จำเป็นข้ออื่นให้สะอาดหมดจดแล้ว ควรรับกรรมฐานข้อนี้จากอาจารย์ผู้มีความชำนาญในการจะบรรลุฌานชั้นต่างๆ โดยการเจริญภาวนาอย่างเดียวกันนี้ ถ้าไม่สามารถปฏิบัติได้ดังนี้ ควรศึกษารายละเอียดจาก บุคคลผู้สามารถอธิบายเรื่องนี้ด้วยความรู้ที่ได้จากพระคัมภีร์หลังจากศึกษาเรื่องนี้โดยละเอียดแล้ว ควรเลือกที่อยู่แบบใดแบบหนึ่งตามที่อธิบายไว้ในพระบาลี คือที่อยู่ในป่า โคนต้นไม้หรือใน เรือนที่เงียบสงัด ในขณะนี้จิตซึ่งมีลักษณะชอบติดตามอารมณ์ต่างๆ ซึ่งได้รับจากอายตนะทั้งหลายจะไม่จดจ่ออยู่กับอารมณ์กรรมฐานที่ละเอียดอ่อนคืออานาปานสติ แต่จะกวัดแกว่งออกนอกทางไปเหมือนวัวดื้อที่มีอันตราย นายโคบาลผู้ประ สงค์จะฝึกลูกวัวร้ายย่อมพรากมันไปจากแม่ของมัน และผูกมันไว้กับหลักที่มั่นคงในระยะที่ห่างไกล แม้ว่าลูกวัวนั้นจะไม่อยู่นิ่งและพยายามหนี แต่มันก็หนีไปไม่ได้ และในที่สุดก็จะนอนอยู่ใกล้ๆหลักนั้นฉันใด ผู้ที่ประสงค์จะฝึกจิตของตนก็ฉันนั้น เบื้องแรกเขาจะต้องดึงจิตออกจากกอารมณ์ที่จิตคุ้นเคย และแล้วก็นำจิตไปสู่ความสงบสงัด  ในขณะที่ผูกจิตไว้ด้วยเชือกคือสติติดกับหลักคือลมหายใจเข้าออกนั้น เขาจะต้องฝึกจิตจนกระทั่งเป็นจิตที่เหมาะสมพอที่จะเกิดจิตสมาธิได้ ด้วยจุดประสงค์ข้อนี้เอง พระพุทธเจ้าจึงทรงแนะที่อยู่ ๓ แบบสำหรับการเจริญอานาปานสติ พระสาวกควรเลือกที่อยู่ที่เหมาะสมที่สุดแห่งหนึ่งในบรรดาที่อยู่ ๓ อย่างนี้ ซึ่งเหมาะตามฤดูกาลและเหมาะสมกับสภาพร่างกายของตน ที่อยู่ในป่าหรือใต้ต้นไม้เหมาะสมสำหรับการเจริญสมาธิแบบนี้ แต่ผู้ที่พบว่าจะไปถึงป่า หรือโคนต้นไม้ที่เหมาะสม(คืออยู่ไกลจากหมู่บ้านประมาณ ๑ ไมล์ เป็นอย่างน้อย) ได้ยากก็ควรอยู่ในเรือนหลังหนึ่งซึ่งปราศจากสิ่งรบกวนทั้งหลาย
ในขณะที่อยู่ในที่ซึ่งเหมาะสม หลังจากขจัดอุปสรรคเล็กน้อยออกแล้วและปฏิบัติหน้าที่ทุกอย่างครบถ้วนแล้ว พระสาวกควรถืออิริยาบทที่ตนชอบที่สุดสำหรับการเจริญสมาธิของตน นั่งขัดสมาธิตามที่ได้อธิบายไว้ในพระบาลี ตั้งตัวตรง และปล่อยให้ร่างกายได้พักผ่อนบนเครื่องยันคือกระดูกสันหลังโดยการทำให้อก คอ และศีรษะตั้งตรง การนั่งดังกล่าวนี้จะประกันได้ว่า  หนัง กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นในร่างกายย่อมไม่ขดงอ และจิตจะไม่ถูกความอึดอัดซึ่งอาจเกิดขึ้นได้มารบกวน พระสาวกอาจนั่งโดยวิธีใดวิธีหนึ่งอย่างอื่นซึ่งจะช่วยให้เขาได้รับความสะดวก และ ความเรียบง่าย จากนั้นควรตัดความคิดทางประสาทสัมผัสทั้งหมดไปออกไปจากจิต และ กำหนดจิตจดจ่ออยู่กับอารมณ์นั้น พลางก็ตั้งสติไว้ที่ปลายจมูก และเฝ้าดูลมหายใจเข้าออก เสมือนหนึ่งว่ายืนอยู่ข้างหลังสติ สมจริงตามที่ท่านกล่าวไว้เป็นภาษาบาลี ซึ่งตรงกับภาษาไทยว่า “เขานั่งขัดสมาธิ ตัวตรง ตั้งสติไว้เฉพาะหน้า มีสติอยู่ หายใจเข้า มีสติอยู่กับหายใจออก” การปฏิบัติดังนี้เป็นความสมบูรณ์แห่งขบวนการทำจิตให้จดจ่ออยู่กับอารมณ์และการควบคุมร่าง กายและจิตไว้เพื่อการเจริญกรรมฐาน
ขบวนการหายใจที่แตกต่างกัน
 ในขณะที่หายใจเข้ายาว พระสาวกย่อมรู้ว่า “ข้าพเจ้าหายใจเข้ายาว” ในขณะที่หายใจออกยาวย่อมรู้ว่า “ข้าพเจ้าหายใจออกยาว”
๒ ในขณะหายใจเข้าสั้น..... ในขณะหายใจออกสั้น.....
นี้เป็นการเริ่มต้นที่แท้จริงสำหรับการเจริญอานาปานสติเป็นการยอมรับและแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างกิจกรรม ๒ อย่าง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการหายใจ ซึ่งเมื่อเข้าใจแล้วจะช่วยให้พระสาวกมีสติอยู่เสมอ
พระคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค มีวิธีอยู่ ๙ วิธี ซึ่งพระสาวกจะรู้ว่าหายใจเข้าและออกยาว เมื่อหายใจเข้าและหายใจออกยาว วิธีทั้ง ๙ นั่น มีดังต่อไปนื้
 หายใจเข้ายาว
๒ หายใจออกยาว
 หายใจเข้าและหายใจออกยาว ซึ่งแต่ละครั้งควรจะมีกำหนดเวลาในการหายใจนั่น พระสาวกจะรู้สึกว่าการหายใจของตนค่อย ๆสงบ และแผ่วเบา แล้วจะเกิดมีความปรารถนาที่จะหายใจต่อไปอีก
 ด้วยความปรารถนานี้หายใจเข้า
 ด้วยความปรารถนานี้ หายใจออก
 ด้วยความปรารถนานี้ หายใจเข้า และหายใจออก ซึ่งแต่ละครั้งเป็นการหายใจที่ยาว แต่สงบกว่าครั้งก่อนๆ ในขั้นนี้เขารู้สึกมีความยินดี
 ด้วยจิตมีความยินดี หายใจเข้า
 ด้วยจิตมีความยินดีหายใจออก
 ด้วยจิตมีความยินดี หายใจเข้า และหายใจออกยาวซึ่งสงบและแผ่วเบาอย่างเต็มที่ ณจุดนี้ จิตจะไม่คิดถึงการหายใจยาวและจะตั้งมั่นอยู่ในความสงบ       ในขั้นนี้ การหายใจจะละเอียดสุขุมมาก และจิตจะเกิดปฏิภาคนิมิตและดังนั้นจะไม่มี การหายใจซึ่งเกิดขึ้นในวิธี ๙ วิธีนี้ ท่านเรียกว่า “กายะ” คือร่างกาย และสติที่มีความเข้าใจการหายใจเช่นนี้เป็นพื้นฐานท่านเรียกว่า “สติ” การพิจารณาถึงลักษณะของสติเช่นความไม่มั่นคง เป็นต้น เรียกว่าความรู้ สำหรับผู้ที่มีความรู้เช่นนี้โดยวิธีใดวิธีหนึ่งใน ๙ วิธีเหล่านี้จะเกิด มีสติปัฏฐานภาวนาอย่างสมบูรณ์เกี่ยวกับการพิจารณาร่างกาย ซึ่งรวมอานาปานสติเข้าไว้ด้วย
๓ การฝึกขั้นที่สอง คือการหายใจสั้นๆซึ่งใช้ได้กับวิธีทั้ง ๙  ตามที่กล่าวมาแล้วด้วยความแตกต่างก็คือว่ามีความละเอียดอ่อนกว่าขั้นสุดท้าย เพราะบ่งถึงการหายใจสั้นซึ่งใช้เวลาสั้นๆตามสภาพของร่างกายของผู้เจริญสมาธิ
ดังนั้นพระสาวกเมื่อทราบถึงการหายใจ ๒ ประเภทใน ๒ ขั้นแล้วย่อมรู้จักการหายใจเหล่านั้นแต่ละอย่างโดยวิธี ๙ วิธี ดังนั้นเขาจึงมีสติตั้งมั่นซึ่งพาไปสู่ฌานโดยอาศัยวิธีเจริญสมาธิ และพาไปสู่วิปัสสนาโดยอาศัยสติปัฎฐาน ขั้นต่างๆเหล่านี้ทั้งหมดอาศัยพฤติกรรมต่างๆ ๔ อย่างของอากาศธาตุซึ่งเกิดขึ้นที่ปลายจมูกในรูปแบบการหายใจเข้าทั้งยาวและสั้น และการหายใจออกทั้งยาวและสั้น
 การรู้แจ้งลมหายใจ
“ในขณะที่รู้แจ้งร่างกายทุกส่วน(ปริมาตรแห่งการหายใจ) ข้าพเจ้าจะหายใจเข้า จะหายใจออก เขาฝึกตนเองโดยวิธีนี้”
การฝึกแบบนี้ยากกว่า ๒ แบบ ที่กล่าวแล้ว ในที่นี้พระสาวกจะต้องทำงาน ๓ อย่าง คือ
 การสังเกตลมหายใจในขณะหายใจเข้าและหายใจออก
 การสังเกตข้อแตกต่าง ๓ อย่างของลมหายใจ คือเบื้องต้นท่ามกลางและที่สุดแห่งลม
 การฝึกจิตของตน
ในกรณีที่มีการเคลื่อนไหวอันเกิดจากการหายใจเข้า ปลายจมูกเป็นจุด เริ่มต้น หัวใจเป็นจุดกลาง และ สะดือเป็นจุดสุดท้าย ด้วยการหายใจออก สะดือเป็นจุดเริ่มต้น หัวใจเป็นจุดกลาง และ ปลายจมูกเป็นจุดสุดท้าย หลังจากเข้าใจเรื่องนี้อย่างชัดแจ้งแล้ว เขาหายใจเข้า และ หายใจออก ในขณะเดียวกันนั้น จิตย่อมสัมปยุตคือประกอบด้วยความรู้ซึ่งมีกายทั้งหมดเป็นพื้นฐาน ทั้งหมดจะมีสื่อสารทางจิตว่า “ในขณะที่รู้แจ้งการหายใจทั้งหมดข้าพเจ้าจะหายใจเข้า จะหายใจออก” สำหรับบางคนจุดเริ่มต้นของลมหายใจเข้าและหายใจออกซึ่งแผ่ไปยังส่วนย่อยของร่างกายนั้นเป็นลมที่เด่นชัด แต่จุดกลางและจุดสุดท้ายของลมไม่เด่นชัด แต่สำหรับบางคนจุดสุดท้ายเด่นชัด แต่จุดเริ่มต้นและจุดกลางไม่เด่นชัด สำหรับบางคนจุดสุดท้ายเด่นชัด 
แม้จุดเริ่มต้นและจุดกลางไม่เด่นชัด สำหรับคนจำนวนน้อยทุกจุดเด่นชัดไม่มีอะไรสับสน พระสาวกผู้มุ่งหวังความสำเร็จในการเจริญภาวนานี้ควรเป็นเหมือนบุคคลประเภทสุดท้าย  ดังนั้นจึงมี ข้อความว่า “เมื่อรู้แจ้งกายทั้งหมด ข้าพเจ้าจะหายใจเข้า จะหายใจออก” เพราะเหตุนี้พระสาวก ย่อมพยายามเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนหรือความย่อท้อ ณ จุดใดจุดหนึ่ง แต่เพื่อฝึกจิตให้มีระดับ สูงขึ้นเพื่อที่จะเข้าใจทุกจุดโดยไม่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงมีข้อความว่า “เขาย่อมฝึกตนเอง”  ซึ่งหมายความว่าโดยอาศัยสติซึ่งประกอบไปด้วยความรู้เรื่องลมหายใจอย่างทะลุปรุโปร่ง เขาย่อมพัฒนาสมาธิและความรู้ ซึ่งบ่งบอกถึงการฝึกฝนอบรมตนในคุณงามความดีมาก่อน เขาย่อมทำให้การฝึกฝนตนเองซึ่งมีองค์ ๓ สมบูรณ์บริบูรณ์ด้วยประการฉะนี้แล
 การทำลมหายใจให้สงบ
“ในขณะที่ทำส่วนสำคัญทางร่างกายให้สงบ ข้าพเจ้าจะหายใจเข้า จะหายใจออก เขาฝึกตนเองด้วยประการฉะนี้” ในการเจริญอานาปานสตินี้พระสาวกมาถึงขั้นสุดท้ายของวิธีเจริญสมาธิ ซึ่งเขาจะได้รับความสงบทางกาย ” และด้วยวิธีนี้ เขาย่อมทำสมาธิให้สมบูรณ์
ลมหายใจเข้า...ลมหายใจออกมีจิตเป็นเหตุ แต่จะมีอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีร่างกาย ช่างเหล็กย่อมทำให้ลูกสูบเปิดและปิด และทำให้ลมเป่ามาจากลูกสูบนั้น และทั้งช่างเหล็กและเครื่องมือมีความจำเป็นในการผลิตวัสดุอันใดอันหนึ่งขึ้น ฉันใด การทำงานของลมหายใจเข้า และลมหายใจออกก็ฉันนั้น จะต้องมีร่างกาย มีจิตใจ และมีความคิด ดังนั้น แม้ว่าจิตจะทำให้การหายใจทำงาน แต่การหายใจนั้นท่านก็เรียกว่า “กายสังขาร” ซึ่งหมายถึงความซับซ้อนในร่างกาย หรือ “กายธาตุ” เมื่อร่างกายและจิตมีความทุกข์หรือควบคุมไม่ได้ กายสังขารนี้มีสภาพหยาบและลึก จะเร็วขึ้นและทำงานมากขึ้นจนรูจมูกไม่พอที่จะหายใจโดยไม่อาศัยปากช่วย แต่เมื่อได้รับการควบคุม สงบ และเงียบแล้ว การหายใจจะสงบและละเอียดเพื่อว่าผู้ปฏิบัติจะได้เข้าใจถึงการทำงานของมัน เมื่อบุคคลวิ่งอย่างเร็วแบกของหนัก หรือทำความพยามยามทางร่างกายอย่างอื่น การหายใจของเขาจะแรง แต่เมื่อเขาพัก ผ่อนโดยนั่งในร่มเงา ดื่มนํ้าหรืออาบน้ำชำระร่งกายแล้ว การหาย ใจของเขาจะแผ่วเบาและสงบลง โดยทำนองเดียวกัน จากการเจริญอานาปานสติภาวนา ร่าง กายและจิตของเขาซึ่งตอนแรกไม่ได้พักผ่อนย่อมมีสภาพสงบ และความหยาบของลมหายใจก็จะหมดไป และแล้วในขั้นต้นลมหายใจจะมีจังหวะซึ่งนำไปสู่การพักผ่อน และทำให้สมอง ควบคุมการทำงานอย่างสงบและเรียบง่าย  ดังนั้นพระสาวกย่อมควบคุมลมหายใจของตนโดยวิธีที่จะไม่ให้จมูกเต็มไปด้วยลมหายใจที่ลึกและแรง  แต่เขาจะหายใจเข้าและออกด้วยความคิดที่จะห้ามความรุนแรงและความมีปริมาณมากของลมหายใจของเขา และดังนั้นเขาย่อมพยายาม เพื่อรักษา ลมหายใจให้มีจังหวะเหมาะสมจนกระทั่งได้บรรลุฌาน
โดยเหตุที่จิตเป็นผู้สร้างกระบวนการหายใจ การทำงานของลมหายใจจึงขึ้นอยู่กับ ภาวะของจิตในเวลาที่กำหนดให้เวลาใด เวลาหนึ่ง ซึ่งจะมีอาการไม่สงบ  เมื่อจิตถูกอารมณ์รบกวน และแผ่วเบา เมื่อจิตสงบ เมื่อจิตบรรลุฌานตามลำ ดับ การหายใจย่อมมีสภาพสุขุมยิ่งขึ้นในขั้นต่อๆ ไป ในฌานที่สี่ การหายใจย่อมสงบที่สุด และจะหยุดทำหน้าที่ของตนดังจะพบในพระคัมภีร์สังยุตตนิกายดังนี้ “ผู้ใดบรรลุฌานที่สี่ กายธาตุ (กายสังขาร) แห่งลมอัสสาสะและปัสสาสะของ ผู้นั้นย่อมสิ้นไป”
ดังนั้น กายสังขารที่หยาบของลมหายใจซึ่งเกิดขึ้นก่อนเวลาเจริญสมาธิย่อมค่อยๆ จมลงไปจากขั้นอุปจารของฌานที่ ๑ และจะหมดสิ้นไปอย่างสมบูรณ์ในฌานที่ ๔ ทั้งนี้ เพราะได้ บรรลุฌานแต่ละขั้นโดยอาศัยวิธีเจริญภาวนา
ในกรณีการเจริญวิปัสสนา กายธาตุของลมหายใจซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่จะรู้อารมณ์นั้นเป็น กายธาตุที่หยาบและหนัก ในขณะที่เจริญวิปัสสนาให้มากขึ้น กายธาตุย่อมมีสภาพสงบ  เมื่อจิตบรรลุอภิญญาและเข้าใจลักษณะที่สามของสภาพความเป็นอยู่ที่ปรากฏ และในขณะนั้นแล การหายใจจะมีสภาพสงบขั้นสุดท้าย และจิตย่อมบรรลุสมาธิอันสมบูรณ์ในอารมณ์ของอานาปานสติ
ดังนั้น ใน ๒ ขั้นนี้ ท่านกล่าวว่า กายธาตุของลมหายใจย่อมสงบโดยสิ้น เชิงด้วยแนวคิดที่จะบรรลุขั้นนี้เอง พระสาวกจึงปฏิบัติอานาปานสติกรรมฐาน ซึ่งมีสูตรดังนี้
“ในขณะที่ทำกายธาตุให้สงบ ข้าพเจ้าจะหายใจเข้า  จะหายใจออก เขาฝึกตนเองดังนี้”
วิธีเจริญกรรมฐานแบบต่างๆ ที่พบในพระคัมภีร์อรรถกถาทั้งหลาย
นอกจากนี้ยังมีวิธีเจริญอานาปานสติกรรมฐานอีกหลายวิธีซึ่งนำมาใช้เป็นแนวทางพิเศษ เพื่อให้เกิดความสนใจต่ออารมณ์ของสมาธิแบบนี้ในพระคัมภีร์วิสุทธิมรรค ท่านอธิบายวิธีต่างๆ เหล่านั้น ไว้ดังต่อไปนี้
 คณนา - การนับลม
 อนุพนฺธนา - การติดตามขบวนของลมด้วยสติ
 ผุสฺสนา - การสังเกตจุดสัมผัสของลม
 ฐปนา - การให้จิตไปจดจ่ออยู่กับเครื่องหมาย
 สลฺลกขณา - การพิจารณาถึงเครื่องหมายที่มีลักษณะเฉพาะ
 จิตฺตปริวตฺตน – การย้ายจิตจากวิญญาณขั้นต่ำไปสู่วิญญาณขั้นสูง
 บริสุทธิ - ความบริสุทธิ์หรือการเสวยผล
 ปฏิสฺสนุนา - การพิจารณาการบรรลุผล
ในบรรดาวิธีเหล่านี้ ๕ วิธีแรกเป็นวิธีที่นำมาใช้เพื่อตั้งสติไว้กับอารมณ์คือลมหายใจเข้าออก แต่ ๓ วิธีหลัง เป็นขั้นต่างๆ ซึ่งกำหนดผลของการปฏิบัติ 
การนับลมหายใจเข้าออก
การนับลมหายใจเข้าออกช่วยผู้เริ่มต้นที่ไม่ชินกับการทำจิตให้มีสมาธิในวัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ลมหายใจที่จะนับนั้นจะต้องเป็นลมเต็มที่และลมปกติ ก่อนจะนับ ควรหายใจลึกๆ ช้าๆ สัก ๒-๓ ครั้ง ครั้งแรกหายใจเข้าเต็มที่จนถึงกระบังลมในท้องแล้วหายใจออกช้าๆ เต็มที่จนหมดลมหายใจ เข้าไป ทำเช่นนี้ซ้ำๆ สักพักหนึ่งจะช่วยให้มีการพักผ่อนทางร่างกาย และปลุกสมองให้ทำงานอย่างเรียบง่าย เมื่อเริ่มลมหายใจเข้าหรือหายใจออก ผู้เจริญสมาธิควรนับจาก ๑ ถึง ๕ จากนั้น
นับจาก ๑ ถึง ๑๐ แต่ไม่ควรหยุดแค่ ๕ หรือนับมากกว่า ๑๐ และไม่ควรหยุดชงักในระหว่าง เพราะถ้าหยุดต่ำกว่า ๕ จิตของเขาซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่จำกัดสั้นๆ จะไม่มีการพักผ่อน เช่นเดียวกังฝูงโคที่ถูกขังไว้ในคอกที่เล็ก ฉะนั้น แต่ถ้านับเกินกว่า ๑๐ จิตของเขาจดจ่ออยู่กับจำนวน แทนที่จะจดจ่ออยู่กับลมหายใจ ถ้าขบวน การขาดไป คือถ้านับ ๑, ๓, ๕, หรือ ๒ ๔, ๖  เป็นต้น หรือหยุดนับแล้วเริ่มนับอีกหลังจากหยุดไประยะเวลาหนึ่งจิตของเขาจะสับสนจะสงสัยว่าอารมณ์กรรมฐานมีความสมบูรณ์หรือไม่ ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงข้อบกพร่องในการนับของตนเสีย ครั้งแรก ควรนับช้าๆ ตามแบบผู้นับเมล็ดข้าวเปลือก ผู้ที่นับเมล็ดข้าวเปลือกย่อมนับจนเต็มกระบุงแล้วเทข้าวออก พลางก็พูดว่า “๑” ในขณะตวงข้าว เขาจะนับว่า “๑, ๑” และจะนับเช่นเดียวกันว่า “๒, ๒” เป็นต้น
โดยทำนองเดียวกัน ผู้เจริญสมาธิ ในขณะที่เริ่มหายใจเข้าหรือหายใจออกตามแต่จะเห็นว่าเหมาะสม เขาควรเริ่มนับ “๑” และว่าซ้ำจนกระทั่งการหายใจครั้งที่สองจะมาถึง เช่น ๑, ๑” “๒, ๒” จนถึง “๑๐, ๑๐” และสังเกตลมหายใจในขณะ ที่เกิดขึ้นต่อๆ กัน ในขณะที่นับเช่นนั้น ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกจะชัดเจนและปรากฏเด่นชัดแก่จิตของเขา
ต่อไปเขาควรละขบวนการนับที่ช้าและเริ่มนับอย่างเร็ว เช่น ๑,๒,๓ ,๔,๕,      ....๑๐” ลมหายใจที่ปรากฏชัดนั้น จากวิธีนับที่ช้ามาก่อนนั้น บัดนี้จะเคลื่อนไหวเร็วขึ้นและซ้ำไปซ้ำมา เสมือนได้รับกลิ่นไอบางอย่าง และ สูดเข้าไปด้วยความตั้งใจ
ต่อไปเมื่อสังเกตเห็นความเคลื่อนไหวที่เร็วของลมหายใจ เขาไม่ควรรักษาลมนั้นไว้ในร่างกาย ทั้งไม่ควรขับไล่ออกไป แต่ควรสังเกตลมเหล่านั้นในขณะที่มาถึงรูจมูก และนับอย่างเร็ว “๑,๒,๓ ๔,๕,  ; ๑, ๒,๓,๔,๕,๖  ; ๑,๒,๓,๔,๕,๖,๗, ; .....๘;        ......๙; .......๑๐ ”
เมื่ออารมณ์กรรมฐานสัมปยุตกับขบวนการนับดังกล่าวนี้ การนับนั้นเอง จะทำให้จิตมีสภาพรวบรวมและนำไปใช้กับอารมณ์ได้อย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับเรือในกระแสน้ำเชี่ยวได้รับการควบคุมให้อยู่ในที่ของมันโดยอาศัยกรรเชียงถือท้าย ในขบวนการนับอย่างเร็วนี้อารมณ์กรรมฐานจะปรากฏเหมือนกระแสลมต่อเนื่องปรากฏที่ปลายจมูก ในขณะสังเกตความสืบเนื่องของลม ที่ไม่มีสิ่งใดมาขัดขวางนี้ เขาควรนับอย่างเร็วเหมือนที่นับแล้ว โดยไม่สนใจกับลมใดๆ ทั้งภาย ในและภายนอกร่างกาย ทั้งนี้เพราะว่า เมื่อเขาปล่อยจิตให้เกี่ยวข้องกับลมหายใจเข้า จิตของเขาจะสับสนจะถูกลมภายในร่างกายรบกวน เมื่อเขาปล่อยใจให้ออก ไปกับลมหายใจออก จิตจะฟุ้งซ่าน ไปกับความคิดนานาชนิด พระสาวกจะบรรลุความสำเร็จในการปฏิบัติของตนได้ก็โดยการพัฒนาสติให้จดจ่ออยู่กับจุดที่ลมหายใจสัมผัสเท่านั้น  ดังนั้น พระสาวกควรนับลมเรื่อยไป จนกระทั่งสติของตนตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์คืออัสสาสะ ปัสสาสะ โดยไม่ต้องอาศัยการนับ การนับเพียง แต่ช่วยให้มีการควบคุมความคิดซึ่งเกิดมาจากอารมณ์ภายนอกเท่านั้น และดังนั้นย่อมชวนให้สติตั้งมั่นอยู่กับลมหายใจในฐานเป็นธรรมารมณ์ของสมาธิ
ดังนั้น วิธีนับแบบนี้ ตามที่ชาวพุทธปฏิบัติกัน มีขบวนการ ๒ อย่าง แต่ละอย่างดำเนินการได้ ๒ วิธี ตามที่อธิบายแล้ว ตารางต่อไปนี้จะช่วยให้เข้าใจเรื่องนี้ง่ายขึ้นสำหรับผู้เริ่มปฏิบัติ
ตารางการนับลมหายใจ
ปกติ : อารมณ์, ลมหายใจ  เข้าหรือออก
การนับช้าๆ ๑,๒,๓,๔,๕,๖,๗,๘,๙,๑๐
กับการหายใจช้าๆ ๑,๑, ๒,๒,๓  ๓,๓,๔  ,๔,๕  ,๕,๖  ๖,๖,๗  ๗,๗,๘  ๘,๘,๙  ๙,๙,๑๐ เหนือปกติหรือพัฒนาไปสู่กรรมฐาน : อารมณ์, รูจมูก
การนับเร็วๆ กับลมหายใจเข้า-ออก
 ๑,๒,๓,๔,๕,๖,๗,๘,๙,๑๐
 ๑,๒,๓,๔, ๑,๒,๓,๔,, ๑,๒,๓,๔,,๖,๗  ๑,๒,๓,๔,,๖,๗,๘
๑,๒,๓,๔,,๖,๗,๘, ๑,๒,๓,๔,,๖,๗,๘,๙,๑๐
ควรรวมระบบนี้เข้ากับการหายใจทั้งสอง คือหายใจเข้า และหายใจออกคือใช้กับลมหายใจเข้าออกที่สั้น และการหายใจเข้าออกที่ยาว
อนุพันธนา = การติดตามการปฏิบัติ
ในการปฏิบัติขั้นนี้ พระสาวกควรเลิกการนับและติดตามลมหายใจด้วยสติ ในการกระทำเช่นนั้น ไม่ควรเอาใจใส่กับการเริ่มต้น ท่ามกลาง หรือ ที่สุดแห่งลมหายใจตามที่ปฏิบัติในส่วนที่ ๓ ของการปฏิบัติ ๔ อย่างแรกเพราะเราพบข้อความในปฏิสัมภิทามรรคดังต่อไปนี้ “จิตของเขาผู้ติดตามเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุดแห่งลมหายใจเข้าด้วยความเอาใจใส่” ย่อมแผ่ซ่านไปทั่วร่างกายของเขา จิตของผู้ติดตามลมหายใจออกด้วยความสนใจย่อมได้รับการรบกวนจากผู้ติดตาม   ลมหายใจออกด้วยความสนใจย่อมได้รับ การรบกวนจากข้างนอก” ดังนั้น ในการให้ความสนใจที่จะติดตามลมหายใจ พระสาวกควรสังเกตแหล่งที่ คือรูจมูก ซึ่งลมหายใจสัมผัสในการเข้าและออก ในวิธีการนับ เขาได้สังเกตเรียบร้อยแล้วซึ่งจุดสัมผัสโดยการนับจุดสัมผัสนั้นพร้อมกับลมหายใจ
ณ จุดนี้ พระสาวกพยามยามติดตามลมหายใจไม่ใช่ด้วยการช่วยเหลืออันเกิดจากการนับแต่ด้วยสติอย่างเดียวโดยสังเกตเฉพาะการสัมผัสของลมและตั้งจิตไว้เพื่อเฝ้าดูที่รูจมูกนายทวารบาลสังเกตเฉพาะผู้ที่มายังประตู ฉันใด จิตที่รักษาไว้ที่ประตูของลมหายใจก็ฉันนั้น คือจะสังเกต ลมเฉพาะโดยการสัมผัสในขณะที่ลมผ่านเข้าออก แต่ไม่สนใจกับขั้นตอนต่างๆ ของลมไม่ว่าจะเริ่มต้น ท่ามกลางหรือที่สุดของลม เพราะทั้งสามนั้นไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติขั้นนี้ มีตัวอย่างแสดงให้ เห็นเรื่องนี้โดยการเปรียบเทียบกับเลื่อยซึ่งปรากฏในปฏิสัมภิทามรรคดังนี้ คนที่เลื่อยไม้สักมี สติจดจ่ออยู่เฉพาะที่ฟันเลื่อยซึ่งสัมผัสกับท่อนไม้ แต่ไม่สนใจกับฟันเลื่อยอื่นๆ ซึ่งผ่านไปใน ขณะที่เขาเลื่อย ทั้งไม่รับรู้ฟันเลื่อยอื่นๆ ฉันใด พระภิกษุก็ฉันนั้นคือทั้งอยู่ด้วยสติที่จดจ่ออยู่กับ ปลายจมูก หรือส่วนบนของปากในฐานะเป็นสัญญาณภายนอกของลมหายใจ  และไม่สนใจกับ ลมหายใจซึ่งผ่านมาและผ่านไป เพราะลมดังกล่าวเป็นที่ประจักษ์แก่เขาแล้วในขั้นแรก ในขณะ ที่ติดตามลมหายใจด้วยสติเช่นนั้น พระภิกษุย่อมรู้ประจักษ์ถึงความมีอยู่ของลมทั้งสองนั้นโดยการรู้สึกสัมผัสที่รูจมูก หรือริมฝีปากบนซึ่งเป็นรากฐานแห่งความสนใจของตบะ การหายใจของคนที่มีจมูกยาว ย่อมกระทบปลายจมูก และของคนที่มีจมูกสั้นย่อมกระทบริมฝีปากบน  ดังนั้นเขาควรเอาจิตจดจ่ออยู่กับสัญญาณนั้นด้วยความคิดว่า “นี่คือที่ที่ลมสัมผัส” ข้อความนี้ เป็นข้อความที่ท่านหมายถึงในพระบาลีโดยใช้คำว่า “กำหนดสติไว้เฉพาะหน้า”
หัวข้อต่อมา ๒ หัวข้อ คือ การสัมผัสกับการตั้งไว้ มีความสัมพันธ์กับการปฏิบัติคือ การติดตามลมหายใจตามที่อธิบายไว้แล้ว และดังนั้นจึงไม่ได้จัดไว้เป็นแนวปฏิบัติอีกแบบหนึ่งต่างหาก  ณ ที่นี้ คำสอนที่ว่า “ตั้งจิตไว้กับสัญญาณ”  จะ ต้องเข้าใจว่า ตั้งจิตไว้กับอารมณ์คือสติ นั้นคือ สัญญาณแห่งการหายใจ ซึ่งจากสัญญาณนี้จะเกิดปฏิภาคนิมิตขึ้น
ปฏิภาคนิมิตซึ่งจะพบได้ในรูปแบบต่างๆ
ดังนั้น เมื่อพระสาวกปฏิบัติกรรมฐานข้อนี้โดยวิธีต่างๆ ๔ อย่างเหล่านี้ ปฏิภาคนิมิตจะเกิดขึ้นหลังจากการปฏิบัติไม่นาน และแล้วจะได้บรรลุอัปปนาซึ่งในที่นี้เรียกว่า “ฐปนา” พร้อมกับองค์ฌานต่างๆ สำหรับผู้ปฏิบัติบางคน ขบวน การของการหายใจที่หยาบจะค่อยๆ ลดลงในระหว่างการนับลม และด้วยอาการเช่นนี้ร่างกายและจิตจะสงบลง ในขณะนั้น ร่างกายจะมีสภาพเสมื่อนหนึ่งจะลอยขึ้นไปในอากาศ จากเวลาที่ลมหยาบสงบลงแล้ว  จิตจะฟูขึ้นและกำหนดเอาสัญ ญาณแห่งการหายใจที่แผ่วเบามาเป็นอารมณ์ ไม่เหมือนกับอารมณ์กรรมฐาน
ประเภทอื่นซึ่งจะปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อเจริญมากขึ้น อานาปานสติกรรมฐานนี้ต้องการความสุขุมมากขึ้นในขณะที่เจริญมากขึ้นอาจมีสภาพที่รู้ไม่ได้จนพระสาวกรู้สึกว่าตนหยุดหายใจโดยสิ้นเชิง  เมื่อมีสภาพรู้ไม่ได้เช่นนั้น พระสาวกไม่ควรลุกจากที่นั่งเพราะสงสัยไปว่า “กรรมฐานหายไปจากข้าพเจ้าแล้วหรือ?” หรือว่า “ข้าพเจ้าจะถามอาจารย์หรือไม่?” ทั้งนี้ เพราะว่าเมื่อเขาไปและเปลี่ยนอิริยาบถ เช่นนั้น กรรมฐานของเขาจะหายไป และเขาจะต้องเริ่มต้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น เขาควรจะนั่งอยู่ ณ ที่เดิมและปฏิบัติต่อไปโดยกำหนดความคิดไว้ ณ จุดเดิมแห่ง
สัญญาณการหายใจ ด้วยการพิจารณาโดยความเอาใจใส่อย่างใกล้ซิด เขาย่อมรู้ถึงความมีอยู่แห่งลมหายใจในขณะที่ลมหายใจ สัมผัสรูจมูกทั้งสอง ดังนั้น เขาย่อมได้ปฏิภาคนิมิตแห่งลมหายใจเข้าออก ซึ่งมีอยู่ในสภาพที่ละเอียดที่สุด อานาปานสติเป็นอารมณ์กรรมฐานที่ละเอียด สุขุมและยากที่สุด และไม่เหมาะกับบุคคลซึ่งมีอำนาจความทรงจำและสัญชาติญาณไม่ดี ดังข้อความในพระคัมภีร์ทั้งหลายต่อไปนี้ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, ตถาคตไม่แนะนำให้บุคคลที่ลืมง่ายและเข้าใจยากเจริญอานาปานสติ”  ดังนั้นจำเป็นจะต้องมีสติสมบูรณ์และมีความเข้าใจรวดเร็ว
พระสาวกควรรักษาสติของตนไว้เสมอ ณ จุดที่สัมผัสกับลมหายใจ
ในขณะที่พระสาวกปฏิบัติอยู่นั้น ในไม่ช้าก็จะเกิดนิมิตขึ้น ลักษณะที่ปรากฏ ของนิมิตจะแตกต่างกันไปตามแบบของสภาพภายในจิตสำหรับบุคคลบางคนนิมิตปรากฏโดยมีสัมผัสเบาๆ  เช่นเดียวกับปุยฝ้ายหรือลมอ่อนๆ สำหรับบางคนจะปรากฏเหมือนดวงดาว พลอยทับทิมกลมๆ หรือไข่มุก และสำหรับบางคนจะปรากฏเหมือนการสัมผัสแรงๆ ของไม้เรียวปลายแหลม บางคนรู้สึกเหมือน กับเชือกยาวๆ หรือพวงดอกไม้สีขาว หรือกลุ่มควัน สำหรับบางคบจะปรากฏ
เหมือนใยแมลงมุม เมฆ ดอกบัว ล้อรถ ดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์
ตามหนังสือ “คู่มือพระโยคาวจร” เครื่องหมายคือนิมิตของกรรมฐานนี้ปรากฏเสมือนหนึ่งนํ้าที่กระเพื่อมจะมีฟอง และเหมือนฟองนํ้าในคลื่น  ถ้ามิ ฉะนั้น ก็จะปรากฏเหมือนกลุ่มควันซึ่งลอยขึ้นลงในท่ามกลางคลื่น หรือเหมือน กับเมฆขาวในท้องฟ้า ปฏิภาคนิมิตปรากฏเหมือนพัดที่ประคับด้วยเพชรพลอย หรือเหมือนกระจกผลึกซึ่งลอยอยู่ในท้องฟ้า หรือ เหมือนพระจันทร์ที่ลอยผ่านหมู่เมฆ หรือไม่ก็เหมือนกับฝูงนกกะเรียนสีขาวบินไปข้างหน้าเมฆสีดำ  นิมิตนี้ชัดเจนและบริสุทธิ์กว่านิมิตอื่นๆ ทั้งหมด  จากนั้นจะเกิดมีขณะแห่งความคิด ๓ ขณะ คือ บริกรรม อุปจาร และ อัปปนา ในขณะทั้ง ๓ นี้ บริกรรมเป็นเหมือนขนหางนกยูงมัดหนึ่ง อุปจารค่อนข้างมืดและดำเหมือนแมลงฝึกแข็ง อัปปนาเหมือน กับปุยฝ้ายซึ่งมีการสัมผัสที่อ่อนนิ่ม หรือ เหมือนกับพวงดอกไม้สีขาวเช่น ดอกมะลิ หรือดอกบัว ในขณะปฏิบัติพระสาวกควรสังเกต ความคิด ๓ รูปแบบเหล่านี้ และถอนมันออกจากปลายจมูก และใช้จิตกำหนดมันไว้ที่หัวใจและ แล้วไว้ที่สะดือ หลังจากนั้นจึงกำหนดไว้ที่รูจมูก
อารมณ์ ๓ อย่างต่างๆ กัน
ในสมาธิภาวนานี้มีธรรมารมณ์ต่างกัน ๓ อย่างคือ อัสสาสะ,ปัสสาสะและนิมิตหรือ สัญญาณของลมทั้ง ๒ นั้น ในบรรดาธรรมารมณ์ทั้ง ๓อย่างนี้อัสสาสะและปัสสาสะจะต้องศึกษา อย่างทะลุปรุโปร่งในการฝึกขั้นก่อนๆ เริ่มต้นจากการนับ สำหรับนิมิตนั้นจะต้องเรียนรู้จากขั้น ของอนุพันธนาโดยการสัมผัสอารมณ์ทั้ง ๓ นี้ด้วยความสนใจพิเศษ และตั้งจิตไว้ ณ จุดที่ลมหายใจสัมผัส การเจริญสมาธิจะสำเร็จผลไม่ได้จนกว่าอารมณ์ทั้ง ๓ นี้จะชัดเจนและเด่นชัด
แม้ว่าอารมณ์ทั้ง ๓ เหล่านี้จะสัมพันธ์กับอารมณ์ของสมาธิอย่างแยกไม่ออกก็ตาม แต่อารมณ์เหล่านี้ก็มีลักษณะแตกต่างกันตามสภาพของจิตซึ่งเกิดกับอารมณ์เหล่านี้จิตซึ่งเกิดกับ ลมหายใจเข้าจะกำหนดรู้ได้ว่าลักษณะการทำงานของลมหายใจเข้าไม่เหมือนกับลักษณะการทำงานของลมหายใจออก จิตซึ่งเกิดขึ้นกับลมหายใจออก จะกำหนดรู้ได้ว่าลักษณะการทำงานของลมหายใจออกไม่เหมือน กับลักษณะการทำงานของลมหายใจเข้าจิตที่ตั้งนั้นอยู่กับนิมิตแห่งลมหายใจ ทั้งสองชนิดนี้ จะไม่กำหนดรู้ทั้งการหายใจเข้าและการหายใจออก แต่จะกำหนดรู้จุดสัมผัสของลมทั้งสองนั้น  ดังนั้น จึงเป็นความจริงที่อารมณ์ ๓ อย่างเหล่านี้ไม่ใช่อารมณ์ของจิตสภาพเดียวกัน  แม้ว่าจะสัมพันธ์กับอารมณ์อันเดียวกันก็ตามสมาธิย่อมไม่นำไปสู่ความสำเร็จ หรือ ฌาน จนกว่าสภาพเด่นๆ เหล่านี้จะแจ่มชัดและเข้าใจเต็มที่ ลมอัสสาสะหรือลมปัสสาสะไม่นำไปสู่ฌาน แต่นิมิตของลมทั้งสองนี้นำไปสู่ฌาน แต่อย่างไรก็ตาม นิมิตที่กล่าวนี้จะเกิดมีขึ้นไม่ได้  นอกจากจะได้ ศึกษาลมอัสสาสะและลมปัสสาสะอย่างทะลุปรุโปรง
เมื่อเห็นนิมิตในรูแบบต่างๆ ตามที่กล่าวแล้ว พระสาวกควรแจ้งให้อาจารย์ของตนทราบ อาจารย์จะให้คาแนะนำเพิ่มเติมแก่เขา ผู้ได้พบนิมิตในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งควรรักษานิมิตนั้น ไว้ตามที่ได้อธิบายแล้วในเรื่องกสิณภาวนา ด้วยความเอาใจใส่เป็นพิเศษ เอาจิตมาจดจ่อที่นิมิตนั้นซํ้าๆ เขาควรส่งจิตของตนทั้ง หมดให้ไปอยู่กับนิมิตนั่น ซึ่งเป็นแบบปฏิบัติที่เรียกว่า ‘‘ฐปนา นั่นก็คือ หลังจากนิมิตปรากฏ เขาไม่ควรนับลมหายใจไม่ควรติดตามลมหายใจ และ ไม่ควรสังเกตการสัมผัสของลมหายใจ แต่ควรเอาจิตไปจดจ่ออยู่กับภาพที่มองเห็นในช่วงเวลา หายใจเข้าออก  เมื่อสมาธิมีพลังแก่กล้ายิ่งขึ้น นิวรณ์ทั้งหลายจะหมดไป สิ่งมัวหมองทางจิตจะลดลง สติจะตั้งมั่นและจิตจะจดจ่ออยู่กับสภาพของอุปจารสมาธิ จากขั้นนี้ เขาไม่ควรคิดเรื่องสี หรือรูปของภาพที่เห็นนั่น แต่ควรถือว่าเป็นความรู้เรื่องตัวแทนแห่งจิต ซึ่งเกิดจากธาตุลมที่ หายใจเข้าออก ในขณะที่พิจารณาอยู่อย่างนี้ เขาย่อมบรรลุฌานที่ ๔ และฌานที่ ๕ ในเวลาที่สมควร
พระสาวกผู้ปรารถนาจะเพิ่มพูนอารมณ์กรรมฐานข้อนี้เพื่อบรรลุธรรมสูงยิ่งขึ้นควรทำจิตให้เหมาะสมที่จะได้รับความรู้ในขั้นวิปัสสนา (วิปัสสนาญาณ) โดยการพิจารณาไตรลักษณ์ ในขณะที่ออกจากฌานที่ ๔ เขาย่อมพิจารณาเห็นกายและจิตว่าเป็นแหล่งที่มาแห่งลมหายใจ เพราะว่าลมหายใจจะทำงานได้ก็โดยอา ศัยกายกับจิตเท่านั้น  แล้วเขาสามารถจะแยกแยะให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการหายใจและร่างกายเป็นรูปคือรูปวัตถุ และจิตกับความคิดเป็นนาม คืออรูปวัตถุ ต่อไปเขาจะพิจารณาเห็นลักษณะของรูปและนามใน ๓ ลักษณะ คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นสิ่งที่ไม่จริงแท้  ในขณะที่เพิ่มพูนความรู้ที่กล่าวนี้ และได้รับความเป็นอิสระจากความทะยานอยากในสิ่งต่างๆ ซึ่งดับสลายไปทุกขณะ เขาจะได้รับปัญญา คือความรอบรู้ทุกอย่าง ซึ่งนำไปสู่มรรค ๔ และ จะรู้แจ้งผลของมรรคเหล่านั้นในภาวะเป็นพระอรหันต์อันเป็นเป้าหมายขั้นสุดท้ายแห่งการฝึกฝนอบรมตนของเขา
นี้เป็นที่สุดแห่งการเจริญสมาธิด้วยอานาปานสติ  ซึ่งเริ่มจากการนับลมหายใจเข้าออก และจบลงด้วยการรู้แจ้งผลแห่งความเป็นอรหันต์ การพรรณนาการเจริญอานาปานสติ ๔ แบบแรกก็จบลงด้วยประการฉะนี้
แนวทางปฏิบัติ : ตอนที่ ๒
ตอนนี้กล่าวถึงการปฏิบัติขั้นต่อไปอีก ๔ ขั้น เป็นการอธิบายถึงการเจริญอานาปานสติสมาธิเพื่อบรรลุถึงขั้นวิปัสสนา วิธีนี้เรียกว่า เวทนานุปัสสนาสติปัฎฐาน และมีส่วนเกี่ยวข้องกับ สมาธิและวิปัสสนาทั้ง ๒ อย่าง โดยมีหลักปฏิบัติดังต่อไปนี้
๕ “เมื่อมีความยินดี (ปิติ) ข้าพเจ้าจะหายใจเข้า  จะหายใจออกเขาฝึกฝนตนเองด้วย ประการฉะนี้”
ในหลักปฏิบัติข้อนี้และข้ออื่นๆ ไม่มีระบบการเจริญกรรมฐานแยกเป็นเอกเทศเพราะว่าหลักทั้งหลายย่อมกล่าวถึงขบวนการทางจิตของผู้ที่ได้บรรลุขั้นต่างๆ โดยการปฏิบัติที่มีมาก่อนแล้ว ดังนั้นพระอรรถกถาในเรื่องนี้จึงให้หลักการปฏิบัติต่อไปนี้และตีความหลักปฏิบัติ เหล่านั้นตามบริบทของตน
มีวิธีที่พระสาวกได้รับปิติในขณะที่เจริญอานาปานสติอยู่ ๒ วิธี  วิธีแรกคือเมื่อได้บรรลุฌาน ๒ ประเภทแรก ย่อมได้รับปิติอันเนื่องมาจากความสำเร็จซึ่งเกิดจากการรู้แจ้งอารมณ์นั้น  วิธีที่สองคือเมื่อออกจากฌานทั้งสองซึ่งมีปิตินั้นแล้ว เขาย่อมเพ่งพิจารณาปิตินั้นซึ่งประกอบ ด้วยฌาน และรู้แจ้งว่าปิตินั้นเป็นปิติชั่วครู่และไม่ถาวร ในขณะที่เขารู้แจ้งแทงตลอดถึงลักษณะของปิติโดยอาศัยวิปัสสนา เขามีปิติเพราะเขาไม่มีความสับสนใดๆเพราะในพระคัมภีร์ปฏิสัมภิทา ท่านกล่าวไว้ว่า
“ด้วยการหายใจยาว สติย่อมตั้งมั่นในบุคคลที่รู้แจ้งถึงความสงบและความเป็นหนึ่งแห่งจิต โดยอาศัยความรู้แจ้งนั้นพร้อมด้วยสติเช่นนั้น เขาย่อมมีปิติ ด้วยการหายใจออกยาวเขาย่อมมีปิติ ด้วยการหายใจเข้าและออกสั้น  ด้วยการหายใจเข้าออกและด้วยความรู้แจ้งซึ่งกาย   ด้วยการทำกายทำกายให้สงบ   เขาย่อมมีปิติ โดยทำนองเดียวกัน พระสาวกย่อมมีปิติและเต็มไปด้วยปิติ ตลอดการเจริญสมาธิและทุกขณะของสมาธิ เช่น การเพ่งพิจารณา การรู้แจ้ง การไต่ตรอง การมีศรัทธา มีพลัง มีสติ มีสมาธิ เป็นต้น ดังนั้นจึงมีพระบาลีความว่า เมื่อมีปิติ ข้าพเจ้าจะหายใจเข้า จะหายใจออก เขาฝึกฝนตนด้วยวิธีนี้”
หลังจากนั้นก็เป็นหลักปฏิบัติ ซึ่งมีดังนี้
๖ “เมื่อมีความสุข ข้าพเจ้าจะหายใจเข้า จะหายใจออก” เขาฝึกฝนตนเองดังนี้
หลักปฏิบัติข้อนี้อ้างถึงฌาน ๓ ประเภทแรก ซึ่งในฌานเหล่านี้ พระสาวกได้รับความสุขอันเกิดมาจากอารมณ์คือ อานาปานสติ และ จากความชัดเจนแห่งมโนภาพ รายละเอียดที่เหลือควรเข้าใจเช่นเดียวกับที่กล่าวแล้วข้างบนนี้
๗ “เมื่อมีความวิตก ข้าพเจ้าจะหายใจเข้า จะหายใจออก” เขาฝึกฝนตนเองดังนี้
ในหลักปฏิบัติข้อนี้ พระสาวกย่อมรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งจิตสังขาร(คือมโนธาตุ) ซึ่งประกอบกับฌานทุกขั้น ในที่นี้คำว่าจิตสังขารใช้กับขันธ์ ๒ อย่างคือ เวทนาขันธ์ กับ สัญญาขันธ์
๘ ”เมื่อทำวิตกให้สงบข้าพเจ้าจะหายใจออก  จะหายใจเข้า เขาฝึกฝนตนเองดังนี้
ในหลักปฏิบัติข้อนี้ พระสาวกฝึกฝนตนเองด้วยจิตมุ่งหมายที่จะทำเจตสิกที่หยาบและต่ำ ให้สงบและประณีตขึ้นเจตสิกเหล่านี้เกี่ยวข้องอยู่กับเวทนาและสัญญาซึ่งสัมปยุตด้วยปิติและสุข  อย่างไรก็ตาม ปิติและสุขดังกล่าวย่อมเกิดขึ้นพร้อมกับเวทนา  ซึ่งอาจนำเขาไปติดอยู่กับภาวะในฌาน และดังนั้น ย่อมกันไม่ให้เขาได้บรรลุคุณธรรมที่สูงขึ้น ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า การบรรลุเช่นนั้น เป็นการบรรลุขั้นหยาบและอยู่ในระดับต่ำ  ดังนั้นพระสาวกย่อมเพ่งพิจารณา ถึงธรรม ชาติที่ไม่แน่นอนของเวทนา และเจริญวิปัสสนา และ ดังนั้นจึงข้ามพ้นความยินดีตามธรรมดา ซึ่งได้รับในฌาน สมดังพระบาลีความว่า “เมื่อทำวิตกให้สงบฯลฯ อานาปานสติ ๔ ขั้นเหล่านี้ ย่อมเจริญก้าวหน้าไปโดยอาศัยเวทนานุปัสสนาคือการเพ่งพิจารณาเวทนา และ ดังนั้นย่อมอยู่ในตอนที่สองของสติปัฎฐานภาวนา”
แนวทางปฏิบัติ : ตอนที่ ๓
ขั้นที่สามของสมาธินี้ซึ่งประกอบด้วยขั้นต่างๆ ๔ขั้นต่อไปนี้ย่อมรวมเป็นสติปัฏฐานที่ ๓ คือ จิตตานุปัสสนา (การเพ่งพิจารณาจิต)
๙ “ในขณะที่รู้แจ้งซึ่งจิต ข้าพเจ้าจะหายใจเข้า  จะหายใจออก” เขาฝึกฝนตนเองดังนี้
พระสาวกผู้ได้ฌานขั้นต่างๆแล้วย่อมเพ่งพิจารณาธรรมชาติที่ไม่เที่ยงของจิตในแต่ละฌาน และย่อมรู้แจ้งว่า จิตย่อมเปลี่ยนไปแต่ละขณะ ด้วยความคิดเช่น นี้ เขาย่อมหายใจเข้าออก
๑๐ “เมื่อทำจิตให้ยินดี ข้าพเจ้าจะหายใจเข้า จะหายใจออก เขาฝึกฝนตนเองดังนี้
ในที่นี้ พระสาวกย่อมฝึกฝนกำหนดลมหายใจเข้าออก มีความยินดี และทำจิตของตนให้ร่าเริงแจ่มใส ในสมาธิขั้นนี้ จิตย่อมมีความยินดี ๒ วิธี คือ วิธีแรก เขาเข้าฌาน ๒ อย่างแรก ซึ่งมีปิติ ในขณะที่มีปิติ เขาย่อมทำจิตให้ร่าเริงและยินดีด้วยปิตินี้  วิธีที่ ๒ เมื่อออกจากฌาน เขาย่อมพิจารณาธรรมชาติที่ใม่เที่ยงแท้แห่ง ปิติ ซึ่งเกิดขึ้นในฌานนั้น  ดังนั้นในขณะที่มีวิปัสสนาญาณ เขาย่อมถือเอาปิตินั้นว่าเป็นอารมณ์แห่งความคิดของตน และทำจิตให้ร่าเริงและยินดี การปฏิบัติเช่นนี้ท่านกล่าวว่า “ในขณะที่ทำจิตให้ยินดี ข้าพเจ้าหายใจเข้า หายใจออก”
๑๑  “ในขณะที่ทำจิตให้มีสมาธิข้าพเจ้าจะหายใจเข้า หายใจออก” เขาย่อมฝึกฝนตนเองดังนี้
ในขั้นนี้ จิตย่อมได้รับการควบคุมเป็นอย่างดีให้จดจ่ออยู่กับอารมณ์โดยอาศัยฌานที่ ๑ ฌานที่ ๒ และฌานต่อๆ ไป เมื่อเข้าฌานเหล่านั้นแล้ว และออกจากฌานเหล่านั้น เขาย่อมเพ่งพิจารณาจิต  ซึ่งมีสภาพเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอในฌานนั้นๆ เมื่อวิปัสสนาเกิดขึ้นย่อมมีสมาธิ ชั่วคราวเกิดขึ้นในจิต ซึ่งเกิดมาจากการรู้แจ้งสามัญลักษณะทั้งหลาย โดยวิธีนี้ เขาควบคุมจิตให้จดจ่ออยู่ในขณะปฏิบัติกำหนดลมหายใจเข้าออก การปฏิบัติเช่นนี้ท่านสรุปว่า “ในขณะควบคุม เขาหายใจเข้า หายใจออก” เขาย่อมฝึกฝนตนเองดังนี้
๑๒  “ในขณะที่รู้แจ้งจิต ข้าพเจ้าจะหายใจเข้า หายใจออก” เขาฝึกฝนตนเองดังนี้ นั่นก็คือ ในขณะที่ทำจิตให้เป็นอิสระ เขาปฏิบัติกำหนดลมหายใจเข้าออก ในปฐมฌาน เขาย่อมปล่อยวางจิตของเขาให้พ้นจากนิวรณ์ทั้งหลาย โดยอาศัย ทุติยฌาน จิตของเขาจะปราศจากวิตกและวิจาร โดยอาศัยตติยฌาน จิตของเขาจะปราศจากปิติ โดยอาศัยจตุตถฌาน จิตของเขาจะปราศจาก สุขและทุกข์ ในขณะเข้าและออกจากฌานเหล่านี้  เขาเพ่งพิจารณาจิต อันสัมปยุตด้วยฌานเหล่านั้น และรู้แจ้งว่าจิตนั้นไม่เที่ยงแท้ถาวร ในขณะวิปัสสนาเกิดขึ้น เขาย่อมหายใจเข้าและหายใจออก ทำจิตให้ปราศจากความคิดที่ว่ามีความถาวรโดยการเพ่งพิจารณา ถึงความไม่ถาวร ให้ปราศจากความคิดที่ว่ามีความสุขโดยการเพ่งพิจารณาความทุกข์ ให้ปราศจากความคิดที่ว่ามีตัวตนโดยการเพ่งพิจารณาความเป็นอนัตตา ให้ปราศจากความคิดที่ว่ามีความยินดี โดยการเพ่งพิจารณาถึงความน่ารังเกียจ ให้ปราศจากความคิดที่ว่าน่ารัก  โดยการเพ่งพิจารณาถึงอนุปาทาน (ความไม่ยึดมั่นถือมั่น) ให้ปราศจากปฏิจจสมุปบาท  โดยการเพ่งพิจารณานิโรธและให้ปราศจากการยึดนั้น  โดยการเพ่งพิจารณาเนกขัมมะคือการออกบวช ดังนั้นเขาย่อมได้รับคำอธิบายว่า
“ในขณะปล่อยจิตให้ว่าง เขาหายใจเข้า หายใจออก” เขาย่อมฝึกฝนตนเองดังนี้ ที่กล่าวนี้เป็นการปฏิบัติ ๔ อย่างอันเกี่ยวกับการเพ่งพิจารณาจิต (จิตตานุปัสสนา) ซึ่งเป็นสติปัฏฐานข้อที่สาม
แนวทางปฏิบัติ:ภาคที่๔
การปฏิบัติอันดับที่ ๔ และเป็นอันดับสุดท้ายแห่งการเจริญอานาปานสติ มีขั้นตอน การปฏิบัติ ๔ อย่างดังต่อไปนี้ ซึ่งเป็นสติปัฏฐานข้อที่ ๔ เรียกว่า ธรรมาบุปัสสนา คือการเพ่ง พิจารณาธรรม
ในบรรดาขั้นแห่งการปฏิบัติเหล่านี้มีคำอธิบายเกี่ยวกับขั้นแรกดังนี้
๑๓ “ในขณะที่เพ่งพิจารณาความไม่เที่ยงแท้ ข้าพเจ้าจะหายใจเข้า  จะหายใจออก”  เขาย่อมฝึกฝนตนเองดังนี้
หลักปฏิบัตินี้ กล่าวถึงการเพ่งพิจารณาความไม่เที่ยงซึ่งมีอยู่ในเบญจขันธ์ ซึ่งมีลักษณะธรรมดาคือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ในขณะที่พิจารณาเห็นว่า ขันธ์ ๕ แต่ละอย่างคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ มีสภาพไม่เที่ยงเพราะธรรมชาติที่แท้จริงของมันเองนั้น พระสาวก ย่อมหายใจเข้า หายใจออก เขาฝึกฝนตนเองดังนี้ ต่อไปเป็นขั้นที่ ๒
๑๔ “ในขณะที่พิจารณาถึงความเป็นอิสระจากกิเลสตัณหา ข้าพเจ้าจะหายใจเข้า  จะหายใจออก” เขาฝึกฝนตนเองดังนี้
ในที่นี้ควรจำไว้ว่ามีอิสรภาพ (วิราคะ) อยู่ ๒ อย่าง คือ อิสรภาพอันได้แก่การไม่ยึด นั้นถือนั้นในสังขารทั้งหลาย ซึ่งทั้งหมดเป็นเพียงผ่านๆ มา และไม่ยั่งยืน และอิสรภาพคือพระนิพพาน ซึ่งเป็นการหลุดพ้นโดยประการทั้งปวง อิสรภาพชนิดแรกเป็นวิปัสสนา ซึ่งเป็นทางนำไปสู่อิสรภาพ ชนิดที่สองคือพระนิพพานและผู้เจริญอานาปานสติกรรมฐาน  เมื่อกำหนดอิสรภาพทั้ง ๒ ชนิดนั้นได้ เรียกว่าเป็นบุคคลในข้อความนี้ “ในขณะที่พิจารณาเห็น ความเป็นอิสระจากกิเลสตัณหา เขาหายใจเข้าออกอยู่ เขาย่อมฝึกฝนอบรมตนเองดังนี้ หลังจากนั้นเป็นขั้นที่ ๓
๑๕ “ในขณะที่พิจารณาความดับ ข้าพเจ้าจะหายใจเข้า จะหายใจออก” เขาย่อมฝึกฝนตนเองดังนี้
ความดับมี ๒ ประเภท ความดับชั่วคราวและความดับโดยสิ้นเชิง ความดับชั่วคราว หมายถึงความดับอาสวะทั้งหลายตามลำดับในขั้นต่างๆ แห่งการปฏิบัติ ความดับโดยสิ้นเชิง ได้แก่พระนิพพานซึ่งเป็นประตูชัยสุดท้ายเมื่อเข้าใจความดับทั้ง ๒ อย่างเหล่านี้แล้วพระสาวกย่อมฝึกตนเองด้วยการเจริญอานาปานสติ ในที่ สุดก็มาถึง ขั้นที่ ๔
๑๖  “ในขณะที่พิจารณาถึงเนกขัมมะ ข้าพเจ้าจะหายใจเข้า จะหายใจออก” เขาย่อมฝึกฝนตนเองดังนี้
คำว่า เนกขัมมะ ในที่นี้หมายถึงวิปัสสนา และมรรค ได้แก่ พระอริยมรรคซึ่งถือว่า เป็นการสละ หรือ ละ มี ๒ ประเภท คือการละในความหมายว่า “เลิกละ” และการละในความหมายว่า “วิเศษเหนือธรรมดา”
ประการแรก วิปัสสนาที่เจริญไปตามลำดับนั้นย่อมก่อให้เกิดการเลิกละ คือละความเศร้าหมองในจิตซึ่งได้แก่กิเลส และด้วยกิเลสเหล่านั้น ย่อมเกิดมีพลังที่ทำให้ขันธ์ทั้งหลายรวมกันเป็นกองขึ้น
ประการที่ ๒ วิปัสสนาซึ่งนำมาซึ่งความรู้แจ้งถึงโทษของสังขตธรรม ย่อมนำจิตไปสู่พระนิพพาน ซึ่งข้ามพ้นสภาพเล็กๆ น้อยๆ ทุกอย่างตลอดถึงการยึดมั่นถือมั่นทั้งหลาย  ซึ่งมีธรรมชาติเป็นปฏิปักษ์ต่อการบรรลุจุดหมายอันสูงสุด ดังนั้นท่านจึงเรียกว่า “การละ” ทั้งในความหมายที่ว่า “เลิกละ” และในความหมายที่ว่า “วิเศษเหนือธรรมดา”
มรรคย่อมนำไปสู่การถอนรากเง่าแห่งกิเลสทั้งหลาย และดังนั้นย่อมนำไปสู่การ “เลิกละ” กิเลสอาสวะทั้งหลาย และนำจิตไปสู่พระนิพพาน และดังนั้นจึงอยู่เหนือสภาพทางโลกทุกอย่างทุกประการ เป็นการละทั้งในความหมายว่า “เลิกละ” และ ในความหมายว่า “เหนือปกติธรรมดา” พระสาวกประกอบด้วยปัญญารู้แจ้งเนกขัมมะทั้งสองนี้ ฝึกตนเองในการหายใจเข้า หายใจออก จัดเป็นบุคคลที่ท่านอธิบายว่า “ในขณะที่พิจารณาเนกขัมมะ เขาหายใจเข้า หายใจออก” เขาย่อมฝึกฝนตนเองดังนี้
การเจริญอานาปานสติตอนที่ ๔ นี้ ท่านจัดเป็นวิปัสสนาที่แท้จริง แต่สามตอนแรกเป็นสมถะและวิปัสสนา ดังนั้นการเจริญอานาปานสติสมาธิท่านจึงจัดไว้ ๑๖ ชั้น ซึ่งแบ่งเป็น ๔ กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีส่วนสัมพันธ์กับสติปัฏฐาน ๔ และแต่ละกลุ่มได้รับการพัฒนาเป็นระบบแห่งการเจริญสมาธิในพระพุทธศาสนาแบบอิสระ สมาธินี้เอง นำไปสู่การบรรลุทุกสิ่งทุกอย่างที่จำเป็น สำหรับการเข้าใจตนเองเพราะว่าตามแนวการปฏิบัตินี้ อานาปานสติเป็นรากเหง้า ซึ่งจากรากเหง้านี้จะเกิดมีความรู้ที่สมบูรณ์ขึ้น และ จะมีการละกิเลสตามมา คำกล่าวนี้สอดคล้องกับข้อความต่อไปนี้
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติกรรมฐาน ย่อมทำให้สติปัฏฐานทั้ง ๔ สมบูรณ์ เมื่อสติปัฎฐาน ๔ เจริญแล้ว สติปัฏฐานทั้ง ๔ เหล่านี้ ย่อมทำให้โพชฌงค์ ๗ สมบูรณ์บริบูรณ์ โพชฌงค์ ๗ ที่เจริญแล้ว ย่อมทำให้ปัญญาคือความรู้สมบูรณ์ และการหลุดพ้นจากกิเลสก็ย่อม เกิดมีขึ้น”
อนึ่งผู้ที่ปฏิบัติสมาธินี้ ย่อมรู้แจ้งถึงความดับแห่งลมหายใจครั้งสุดท้ายของตนสมจริง ตามข้อความต่อไปนี้
“ดูก่อนราหุล เมื่ออานาปานสติเจริญขึ้นโดยวิธีนี้ ผู้ปฏิบัติย่อมกำหนดรู้ลมหายใจครั้งสุดท้าย  เมื่อลมหายใจนั้นหยุด ลมหายใจดังกล่าวจะไม่หยุดไปโดยปราศจากการกำหนดรู้”
ข้อนี้หมายความว่าในขณะสิ้นชีวิตผู้เจริญอานาปานสติกรรมฐานจะรับรู้และจำลมหายใจครั้งสุดท้ายได้ และเขาย่อมสามารถรู้แจ้งว่าเขามาถึงที่สุดแห่งชีวิตของเขาแล้ว  ดังนั้นเขาจึงสามารถตายได้ในอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่งที่เขาต้องการ และเตรียมร่างกายของเขาไว้พร้อม เช่นเดียว กับพระภิกษุแห่งวิหารชื่อ จิตตลบรรพตในประเทศศรีลังกา ผู้ถึงแก่มรณกรรมในขณะเดินจงกลม อยู่ในวิหารคต
พระโยคาวจรผู้เจริญอานาปานสติกรรมฐาน ตามวิธีที่กล่าวข้างบนนี้จะได้รับอานิสงส์ หลายประการ  ซึ่งเป็นผลแห่งการเจริญนั้น และในที่สุดก็จะได้บรรลุความสุขในพระนิพพานในภาวะเป็นพระอรหันต์ หรือถ้าปรารถนาจะประวิงการบรรลุของเขา เขาก็จะมีความสุขในภาวะเป็นพระพุทธเจ้า  ดังนั้นบัณฑิตทั้งหลายควรประกอบตนเองในการเจริญอานาปานสติด้วยความไม่ประมาท  ซึ่งจะนำมาซึ่งผลอันยิ่งใหญง และจะได้รับความสุขในพระนิพพาน
การอธิบายอานาปานสติกรรมฐานตามแนวอรรถกถาก็จบลงเพียงเท่านี้

No comments:

Post a Comment