บทที่ ๑๓
กสิณภาวนา
การอภิปรายทั่วไป
ตามที่ได้แสดงไว้แล้วในรายชื่อของอารมณ์กรรมฐาน แผนปฏิบัติกสิณภาวนา
ประกอบด้วยเครื่องหมายต่างๆ ๑๐ อย่าง จัดเป็นกลุ่มเรียกว่า กสิณ หรือ กสิณายตนะ
ซึ่งใช้ เป็นแนวทางให้บรรลุฌาน ในพระคัมภีร์อังคุตรนิกายท่านกล่าวว่าการปฏิบัติ เพื่อได้ฌานโดยอาศัยกสิณอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างในบรรดากสิณ
๑๐ จัดเป็นคุณสมบัติของพระสาวกของพระพุทธเจ้า
“ภิกษุทั้งหลาย, ภิกษุผู้ปฏิบัติเพ่งปฐวีกสิณ แม้ชั่วครู่หนึ่งหรือชั่วลัดนิ้วมือหนึ่ง
ท่านกล่าวว่าเป็นภิกษุผู้มีชีวิตอยู่อย่างไม่ปราศจากฌาน ผู้ปฏิบัติตามคำสอนของพระบรมครู
ผู้ปฏิบัติตามคำแนะนำของพระพุทธเจ้า และผู้ฉันอาหารบิณฑบาตของชาวบ้าน หรือของผู้มีศรัทธาอย่างถูกต้อง
ผู้ที่ปฏิบัติมากขึ้นจะขนาดไหน?”
ข้อความทำนองนี่ใช้ได้กับกสิณแต่ละอย่าง
ยิ่งกว่านั้น เราได้ทราบจากพระไตรปิฎกมีพระสาวกของพระพุทธเจ้าจำนวนมากผู้ได้
บรรลุอภิญญา (ความรู้อันสมบูรณ์ยิ่ง) จากการปฏิบัติที่กล่าวนี้
“อนึ่ง, อุทายี,
ตถาคตได้อธิบายวิธีที่พระสาวกเจริญกสิณ ๑๐ ดังนี้ บุคคลเพ่งปฐวี กสิณ ข้างบน, ข้างล่าง,
รอบๆ ว่าเป็นหนึ่งเดียว หาประมาณมิได้ บุคคลเพ่งอาโปกสิณ.. เตโชกสิณ.. วาโยกสิณ.. นีลกสิณ..
ปีตกสิณ.. โลหิตกสิณ.. โอทาตกสิณ.. อากาสกสิณ..
วิญญาณกสิณ.. ข้างบนข้างล่าง รอบๆ ว่าเป็นหนึ่งเดียว
หาประมาณมิได้ในการเพ่งอย่างนี้มีสาวกจำนวนมากของตถาคตผู้ได้บรรลุปัญญาอันสมบูรณ์สูงสุด
(อภิญญาโวสานปารมี)” ท่านวางแผนปฏิบัติเป็นรูปแบบที่แน่นอนแบบหนึ่งไว้ สำหรับการฝึกอบรมพระสาวกได้ด้วย
ประการฉะนี้
วิธีการเจริญกรรมฐานโดยการเพ่งกสิณ ตามที่ท่านอธิบายไว้ในพระไตร-ปิฎกนั้นดูเหมือน
จะมีเฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น
เพราะยังไม่มีหลักฐานแสดงว่าเป็นคำสอนและเป็นวิธีปฏิบัติในลัทธิศาสนาอื่นๆ เลย
แต่อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานอ้างอิงในคัมภีรันิกายทั้งหลาย ซึ่งบ่งบอกว่าเป็นแนวปฏิบัติในสำนักที่มิใช่พุทธศาสนา
ในพระคัมภีร์อังคุตรกนิกาย อุบาสิกาชื่อ กาลี ได้ถามพระเถระนามว่ากัจจานะว่า
เหตุใดพระพุทธเจ้าองค์เดียวเท่านั้นจึงถือว่าเป็นผู้บำเพ็ญฌานที่หาผู้อื่นเปรียบมิได้
ตามที่กล่าวไว้เป็นคาถาในคัมภีร์กุมารปัญหา” ดังต่อไปนี้
“ในฐานะเป็นผู้บำเพ็ญฌาน ข้าพเจ้าคนเดียวได้รับความสุขใจ
และได้บรรลุจุดมุ่งหมาย คือสันติในจิตใจ เพราะข้าพเจ้ารบชนะฝูงชนผู้ใฝ่ใจต่อความเพลิดเพลิน
จึงเปรียบเทียบข้าพเจ้า กับคนเหล่านั้นไม่ได้
ไม่มีการเปรียบเทียบระหว่างข้าพเจ้ากับใครๆ ทั้งนั้น”
พระเถระตอบว่า “นี่แน่น้องหญิง สมณะบางองค์และพราหมณ์บางคนได้บรรลุความสุขจนถึงขั้นฌานอันได้จากการเพ่งปฐวีกสิณ
และคิดว่าความสุขนั้นเป็นขั้นสุดยอด แต่พระพุทธเจ้าทรงทราบว่านั้นเป็นความสุขที่ไม่สมบูรณ์
จะต้องปลดเปลื้องความสูงระดับนี้ และทรงรู้แจ้งแทงตลอดถึงทางที่ถูกและทางที่ผิด”
ข้อความเช่นนี้ใช้ได้กับกสิณอื่นๆ ด้วย
ในปัญจัตตยสูตร ซึ่งท่านอธิบายถึงความเข้าใจผิดพื้นฐานแบบต่างๆ
ท่านได้กล่าวถึง วิญญาณกสิณไว้ดังนี้ “บางคนอธิบายถึงทฤษฎีเรื่องความไม่มีที่สิ้นสุด
โดยเปล่งคำพูดว่า วิญญาณกสิณ หาประมาณมิได้ และไม่ถาวร ในอังคุตรนิกาย
ท่านกล่าวถึงแนวความคิดเช่น เดียวกันนี้เกี่ยวกับวิญญาณกสิณ
ซึ่งเราพบข้อความดังนี้ “ภิกษุทั้งหลาย กสิณมี ๑๐ อย่าง
ซึ่งวิญญาณกสิณเป็นกสิณที่สูงสุด แต่ก็ยังคงเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง”
ข้อความเช่นนี้บ่งชี้ว่า การปฏิบัติเช่นนี้เป็นที่ยอมรับกันว่ามีอยู่ในชีวิตของนักบวชในยุคแรกๆ
และเป็นทางไปสู่การบรรลุอิทธิฤทธิ์อภิญญาและการถือกำเนิดในพรหมโลก แต่การปฏิบัติเช่นนี้แตกต่างจากการปฏิบัติในพระพุทธศาส-นา
เพราะจุดประสงค์อันสูงสุดไม่ปรากฏว่าเป็นโลกุตรอย่างแท้จริง แต่ในระบบการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา
ปรากฏว่าฌานที่เกิดจากการเพ่งกสิณ ตลอดถึงฌานที่บรรลุโดยวิธีการเจริญสมาธิแบบอื่น
ไม่ใช่วิธีเดียวที่จะบรรลุมรรคผล แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็น เช่นไม่มีความจำเป็นอย่างแท้จริงสำหรับการบรรลุพระอรหันต์
เพราะเราได้ทราบว่ามีพระอรหันต์สุขวิปัสสโก
(ซึ่งตามศัพท์หมายถึงผู้บรรลุพระอรหันต์ โดยไม่เจริญสมาธิ แต่อาศัยความพยายามพัฒนาวิปัสสนาอย่างเดียว)
การให้คำจำกัดความ
คำว่า “กสิณ” (สันสกฤตว่า กฺฤตฺสฺน) ตามศัพท์แปลว่า “ทั้งหมด, ทั้งสิ้น” และใน
สาขาสมาธิท่านใช้คำนี้เป็นทั้งคุณศัพท์และนามศัพท์เช่น “กสิณายตินะ” “ปฐวีกสิณะ” เป็นต้น
คำนี้หมายถึงแผ่นดิน นํ้า ไฟ ลม สีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว อากาศ และวิญญาณ ทั้งนี้เมื่อใช้คำเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์สำหรับเจริญสมาธิ
พระคัมภีร์อรรถกถาทั้งหลายให้คำ จำกัดความว่า “สกลฎเฐน กสิณํ” ที่ชื่อว่ากสิณในความหมายว่า
“ทั้งสิ้น” ซึ่งหมายความว่า สัญลักษณ์แต่ละชนิดจะต้องถือว่าเป็นตัวแทนทั้งหมดซึ่งมีคุณสมบัติเหมาะสมกับส่วนที่
สอดคล้องกัน
เมื่อใช้คำ “กสิณ” เป็นคำเฉพาะในพระไตรปิฎก คำนี้จะมีความหมาย ๓ อย่างคือ มลฑลของกสิณ
(คือวงกลมที่ใช้เป็นเครื่องหมาย) นิมิตของกสิณ (คือ สัญญาณของเครื่องหมาย
หรือมโนภาพที่ได้รับจากเพ่งเครื่องหมาย) และความหมายสุดท้ายคือฌาน
(ซึ่งได้รับจากนิมิตนั้น)
ขอยกคำว่า “ปฐวีกสิณ” มาดูเป็นตัวอย่างเพื่อเป็นอุปกรณ์ในการเจริญฌานในขั้นต้น
คำนี้หมายถึงปริมณฑลของแผ่นดิน ไม่ว่าจะทำเป็นรูปที่เหมาะสมสำหรับเป็นเครื่องหมายตามธรรมชาติ
หรือระบบประดิษฐ์ขึ้นก็ตาม ปฐวีกสิณจัดเป็นตัวแทนในฐานะเป็นสัญลักษณ์แห่งปฐวีธาตุทั้งหมด
ดังนั้นจึงเรียกว่า “กสิณ” ขั้นที่สอง
มโนภาพที่ได้รับจากการเพ่งเครื่องหมายนั้น ท่านก็เรียกว่าปฐวีกสิณด้วย เพราะเป็นภาพของคุณสมบัติทั้งหมดซึ่งเห็นได้ทางจิต
นั้นก็ คือความแผ่ขยายไปอย่างกว้างขวาง และความเป็นของแข็งของแผ่นดิน
นอกเหนือไปจาก ปริมาณแผ่นดินอันหาที่สุดมิได้ นี่คือสิ่งที่ท่านหมายถึงสูตรที่ว่า “บุคคลย่อมเห็นปฐวีกสิณ
เบื้องบน เบื้องล่าง แสะรอบๆ โดยความเป็นหนึ่งและหาประมาณมิได้
เป็นต้น ขั้นที่ ๓ ปฐวีกสิณย่อมบ่งถึงฌาน
ซึ่งได้บรรลุโดยการเจริญสมาธิโดยอาศัยนิมิตนั้น ข้อความต่อไปนี้เป็นคำกล่าวเกี่ยวกับปฐวีกสิณ
“ถ้าภิกษุเจริญปฐวีกสิณ”
กสิณายตนะ
ในพระสุตตันตปิฎกท่านกล่าวถึงกสิณ ๑๐ อย่าง พร้อมกับคำว่า “อายตนะ” ดังนี้ว่า “กสิณายตนะ”
ซึ่งบ่งว่าเป็นขอบเขตหรือเป็นแดนแห่งจิตและความคิด คำว่า อายตนะเป็นคำเฉพาะใช้เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์ทางจิตวิทยาระหว่างจิตกับรูป
อาจแปลได้หลายอย่าง เช่น แปลว่าขอบเขต ดินแดน สถานที่ สาเหตุ แหล่งกำเนิด หรือ ที่อยู่อาศัย
เช่น อายตนะภายในคือตา กับ อายตนะภายนอก คือรูปที่เห็น
จากความคิดที่ว่าทั้งสองเป็นแหล่งหรือสาเหตุแห่งความ-รู้สึก ความเข้าใจ ฯลฯ
ท่านจึงเรียกว่า “จักขุอายตนะ” และรูปายตนะตามลำดับ ในทำนองเดียวกัน คำว่า “อายตนะ”ใช้กับอายตนะภายในและภายนอกอื่นๆ
ได้ทุกอย่าง กสิณ๑๐สามารถเรียกว่า “อายตนะ” ได้ เพราะกสิณทั้งหลายมีความสัม-พันธ์กับจิต
และ ความคิด โดยเหตุที่กสิณเหล่านี้ เป็น รูปารมณ์
และธรรมารมณ์ที่สอดคล้องอับอารมณ์ของอายตนะภายใน กสิณ ๘ อย่างแรก
เกี่ยวข้องกับรูปและผัสสะ และ ๒ อย่างหลังเกี่ยวข้องกับจิต แต่นิมิตของกสิณทุกอย่าง
เกี่ยวข้องกับจิตอย่างเดียว พระอรรถกถาจารย์ผู้อธิบายเนตติ
กล่าวเสริมข้อความนี้ว่ากสิณทั้งหลายเรียกว่า “อายตนะ”
ในความหมายที่ว่ากสิณเหล่านี้ เป็นพื้นฐานแห่งความสุขพิเศษของ ผู้ปฏิบัติธรรมในแหล่งข้อมูลยุคหลัง
คำว่า “กสิณ” ใช้เป็นคำเทศเทศเฉพาะโดยไม่มีคำว่า “อายตนะ”
แต่ท่านไม่ได้กล่าวถึงกสิณ ๒ ชนิดหลัง คืออากาสกสิณและวิญญาณกสิณ
ท่านกล่าวไว้ในพระคัมภีร์พระธรรมสังคิณีว่าเฉพาะกสิณ ๘ ชนิดเท่านั้น (ไม่รวม ๒
ชนิดสุดท้าย) เป็นวิธีที่จะบรรลุรูปฌาน สภาพของกสิณที่ท่านไม่ได้กล่าวถึง และเหตุผลในการงดกล่าว
ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ได้กล่าวไว้ในพระคัมภีร์อัฎฐสาลินี ตามที่ได้ยกมากล่าวแล้ว
ในพระคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคท่านกล่าวถึงเฉพาะกสิณ ๘ ชนิดแรกเท่านั้น
ซึ่งในที่นั้นท่าน กล่าวถึงสภาพของรูปวัตถุ เหตุผลในการงดกล่าวถึงกสิณ ๒
ชนิดสุดท้าย ที่ท่านอธิบาย ไว้ในอรรถกถา ก็คือว่าอากาสกสิณไม่ปรากฏชัด
เพราะบ่งถึงพื้นของอวกาศอันหาที่สุดมิได้ด้วย นั่นก็คือการบรรลุอรูปฌานที่ ๑
แต่วิญญาณเป็นอันเดียวกับอรูปฌานที่ ๒
ในพระคัมภีร์วิสุทธิมรรค ท่านใช้อาโลกกสิณ (แสงสว่าง) และปริจฉินนอากาสกสิณ (อากาศซึ่งหาที่สุดมิได้)
แทนกสิณ ๒ ชนิดสุดท้าย ดังนั้นจึงมีกสิณทั้งหมด ๑๐ ชนิด แม้ว่าใน พระไตรปิฎกท่านจะไม่กล่าวถึงอาโลกกสิณในรายชื่อที่ว่า
กสิณายตนะ แต่ท่านก็กล่าวไว้ใน ฌานวรรคในอังคุตรนิกาย
อันนี้ทำให้เกิดมีกสิณทั้งหมด ๑๐ ชนิด แต่อย่างไรก็ตามในอรรถกถา
ท่านก็ไม่ได้กล่าวถึงหัวข้อที่เพิ่มขึ้นนั้น ในกรณีที่มีอิทธิฤทธิ์ปรากฏขึ้น ท่านกล่าวไว้ว่าผู้ที่มีอิทธิฤทธิ์ดังกล่าวนั้นโดยปล่อยแสงออกจากร่างของตนและปล่อยแสงแห่งฤทธิ์นี้ไปยังโลกภายนอก
เราจะเห็นได้ว่าพลังฤทธิ์อันนี้เป็นผลแห่งการปฏิบัติอาโลกกสิณอย่างได้ผล
ควรสังเกตด้วยว่า ชาวพุทธยุคแรกๆ นิยมใช้อาโลกกสิณนี้
มณฑลกสิณ
คำว่า “มณฑล” ตามศัพท์หมายถึง “วงกลม” เป็นคำที่ใช้ในอรรทกถาทั้งหลาย
เพื่อหมายถึงเครื่องหมายแห่งกสิณ หรือสิ่งที่ทำขึ้น ตามที่ปฏิบัติกันมาในประเทศศรีลังกา
สิ่งนี้ อาจเป็นกรอบซึ่งทำมาจากไม้ ๔ ชิ้น ผูกติดกัน หรืออาจเป็นแผ่นกระดาน, แผ่นหิน หรือที่ดินสักก้อนหนึ่ง ทำเหมือนนาที่ได้ไถไว้แล้วก็ได้
๓ อย่างหลังนี้โดยปรกติจะแบ่งเป็นตอนๆ แต่ละ ตอน จะเป็นตัวอย่างกสิณ
มณฑลกสิณที่เป็นหินบางอย่างจะพบที่บริเวณสิ่งสลักหักพังในเมือง อนุราชบุรี วิธีเตรียมและการใช้มณฑลเช่นนี้จะอธิบายในภายหลัง
อารมณ์และนิมิตของกสิณ
คำว่า “อารมณ์” โดยทั่วๆ ไปหมายถึงสิ่งที่จิตกำหนด เป็นคำที่พระอรรถกถาจารย์
ทั้งหลายใช้เรียกสิ่งใดก็ตามซึ่งอยู่ในขอบข่ายของสมาธิ คำนี้ตรงกับคำว่า “นิมิต”
ซึ่งตามศัพท์
หมายถึงสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายซึ่งใช้กับสมาธิอันเกิดจากอายตนะภายนอก
(คือสิ่งต่างๆนอกร่างกาย) กับอายตนะภายใน (คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ทั้ง ๒
อย่าง ตามพระคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะนิมิตแบ่งออกเป็น ๓ คือ ปริกรรมนิมิต อุคคหนิมิต
และปฏิภาคนิมิต
อารมณ์ที่ได้รับเลือกและเพ่งเป็นกรรมฐาน เรียกว่า ปริกรรมนิมิต ซึ่งหมายถึง
เครื่องหมายสำหรับการฝึกสมาธิในเบื้องต้น และเป็นสิ่งเดียวกับอารมณ์กรรมฐานทั้งหมด
๔๐อย่าง ในการเจริญสมาธิโดยอาศัยกสิณ นิมิตก็คือเครื่อง-หมาย หรือแผ่นกสิณซึ่งให้เป็นอารมณ์
โดยอาศัยอายตนะภายนอก คือ รูปและสัมผัส
หลังจากพิจารณากสิณ ก็จะเป็นปริกรรมนิมิตว่าเป็นภาพในจิต เรียกว่า มโนภาพซึ่ง
เป็นสิ่งประทับใจในความคิด และเป็นภาพจำลองของสิ่งนั้น
พร้อมกับโทษทุกอย่างของสิ่งนั้น ซึ่งเสนอให้จิตทราบว่าเป็นความจริงอันชัดแจ้ง ประดุจเห็นชัดด้วยตา
ภาพที่เห็นนี้เรียกว่า อุคคหนิมิต ซึ่งเป็นคำที่ใช้ในความ-หมายเท่ากับมโนภาพในสัญลักษณ์นั้นๆ
ซึ่งจะเห็นได้โดยการปฏิบัติอย่างต่อ-เนื่อง
นิมิตชนิดนี้มีชื่อเรียกต่างๆ กัน เช่น “สัญลักษณ์ที่จะยึด เครื่องหมายสำหรับยึด
หรือเครื่องหมายแห่งการยึด” ในความหมายตามตัวอักษร คำว่า “อุคคหะ” ได้แก่สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เราศึกษาหรือเรียนรู้
และในที่นี้หมายถึงการยึดภาพมาไว้ในจิต
เพื่อให้ภาพนั้นอยู่ในจิตเหมือนสิ่งที่ท่องจำได้ หลังจากได้อุคคหนิมิตแล้ว
พระสาวกไม่จำเป็น จะตัองเพ่งที่ปริกรรมนิมิต ซึ่งยึดปฏิบัติในเบื้องต้นแล้วอีก
แนวการฝึกสมาธิโดยอาศัยนิมิตทั้ง ๒ ซึ่งได้แก่ เครื่องหมายแห่งวัตถุ ซึ่งเป็นอายตนะ
ภายนอก และภาพในจิตซึ่งอยู่ภายในเรียกว่า “ปริกรรมภาวนา” ซึ่งเป็นสมาธิขั้นต้น
ความเป็น หนึ่งแห่งความคิดซึ่งจดจ่ออยู่กับนิมิตทั้งสองนี้ ท่านเรียกว่า “ปริกรรมสมาธิ”
ซึ่งเป็น สมาธิขั้นต้น
สมาธิขั้นต้นนี้ย่อมปลดเปลื้องภาพของรูป, สีและสัดส่วนที่มีขอบเขตจำกัดหรือที่
สร้างขึ้นมา ซึ่งเรียกว่ากสิณโทษ และย่อมเปลี่ยนภาพนั้นเป็นความรู้ซึ่งเป็นนามธรรม
และ เฉพาะเจาะจง เพราะเกี่ยวข้องกับวัตถุเฉพาะอย่าง ภาพซึ่งเป็นความรู้นี้เรียกว่า
ปฏิภาคนิมิต คือภาพที่อยู่เบื้องหลังซึ่งไม่ปรากฏในอายตนะหรือไม่ปรากฏเป็นอินทรีย์ที่รับรู้ว่าเป็นวัตถุที่มีตัวตน
แต่ภาพนี้สถิตอยู่ในจิตในฐานะเป็นเครื่องหมายแทนคุณภาพทั้งหมดหรือเป็นส่วน ซึ่งจิตแสดง
สัญลักษณ์ออกมาตามที่ท่านกล่าวไว้ในพระคัมภีร์วิสุทธิมรรคในบรรดาอารมณ์กัมมัฏฐานทั้งหมด
๔๐ ประการ อารมณ์กัมมัฏฐานเพียง ๒๒ ประเภท เท่านั้นเป็นปฏิภาคนิมิต ซึ่งได้แก่กสิณ
๑๐ อสุภะ ๑๐ อานาปานัสสติ และกายคตาสติ อารมณ์กัมมัฏฐาน ๑๘ ประเภท
นอกจากนี้ย่อมไม่ เกิดขึ้นเพราะมีคุณสมบัติอันลึกซึ้งที่อารมณ์เหล่านั้นเป็นตัวแทนอยู่
ภูตกสิณ และวรรณกสิณ
ในอรรถกถารุ่นหลัง เราพบว่า กสิณ ๔ ชนิดแรก เรียกว่า ภูตกสิณ เพราะสอดคล้อง
กับธาตุ ๔ (มหาภูตธาตุ) คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม กสิณ ๔ ชนิตต่อไปนี้เรียกว่า วรรณกสิณ
เพราะเกี่ยวข้องกับสีทั้ง ๔ คือ สีเขียว, เหลือง, แดง, และขาว กสิณที่เหลือ ๒ ชนิด
เกี่ยวข้อง กับแสงสว่างและอากาศตามลำดับ ดังนั้นเราอาจแบ่งกสิณ ๑๐ ชนิดตามที่ปรากฏในพระคัมภีร์วิสุทธิมรรค
เป็น ๓ กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ ๑ ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม
กลุ่มที่ ๒ สีต่างๆ คือ สีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว
กลุ่มที่ ๓ แสงสว่างและอากาศ
ตามหนังสีอคู่มือพระโยคาวจร กสิณ ๔ ชนิดแรก ได้แก่ ภูตกสิณ
และที่เหลือได้แก่ กสิณ ๖ อย่าง คือ
วรรณกสิณ ในที่นี้ อาโลกกสิณ และอากาสกสิณ ท่านจัดเป็นวรรณกสิณด้วย
เพราะมีปฏิกิริยาต่อตาเช่นเดียวกัน
โดยเหตุที่กสิณทั้งหลายปรากฏในรูปที่ให้ไว้ กสิณ ๘ ชนิดแรก จึงนำไปสู่รูปฌาน
และ ๒ ชนิดสุดท้ายนำไปสู่อรูปฌาน ในพระคัมภีร์เนตติปกรณ์ท่านกล่าวไว้ว่า กสิณ ๘
ชนิดแรก เป็นฝ่ายสมถะ หรือเรียกว่าสมาธิภาวนา และกสิณ ๒ ชนิดสุดท้ายเป็นฝ่ายวิปัสสนาภาวนา พระอรรถกถาอังคุตรนิกายได้อธิบายไว้ว่ากสิณท้งหมด
๑๐ชนิด เป็นฐานของรูปฌาน,วิปัสสนา, อภิญญา, และนิโรธ
เป็นที่ประจักษ์ว่าแบบแผนของกสิณสมาธิ
ท่านอธิบายว่าเป็นแบบที่แน่นอนของสมาธิ ซึ่งมีการบรรลุพระนิพพานเป็นเป้าหมายสูงสุด
ต่อไปนี้จะกล่าวถึงวิธีเจริญกสิณตามที่พบในอรรถกถาทั้งหลาย
และวิธีดำเนินการตามแบบเถรวาท
คำอธิบายตามอรรถกถา
เราจะพบคำอธิบายเรื่องกสิณภาวนาอย่างละเอียด และครบถ้วนในพระคัมภีร์วิสุทธิมรรคเท่านั้น
และอรรถกถาอื่นๆ ใดจะอ้างถึงพระคัมภีร์วิสุทธิมรรคเมื่อต้องการรายละเอียด
เรื่องนี้ บทบรรยายอันพิสดารซึ่งเริ่มต้นด้วยการเจริญกัมมัฏฐาน เป็นคำนำทั่วๆ ไป
เพื่อให้เข้าใจ อารมณ์กัมมัฏฐานทั้ง ๔๐ ประเภท
แต่การกล่าวถึงกัมมัฏฐานแต่ละอย่างเป็นพิเศษ รวมถึง การสอนวิธีฝึก และรายละเอียดทางจิตวิทยา
ท่านได้อธิบายไว้อย่างเหมาะสม ต่อไปนี้เป็น
ข้อความที่คัดมาจากคำอธิบายอย่างละเอียดลออ เรื่องกสิณภาวนา เริ่มจากปฐวีกสิณ
ปฐวีกสิณ
พระสาวกผู้ปรารถนาจะบรรลุฌานโดยการเพ่งแผ่นดิน เบื้องแรกควรอยู่ในวิหารที่เหมาะสมตามที่ได้อธิบายไว้แล้ว
จากนั้นควรปลดเปลื้องตนเองไม่ให้มีภาวะใดๆ แม้เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม
คือควรปลงผมและหนวด และตัดเล็บให้เรียบร้อย และควรครองจีวรที่สะอาด
และขัดถูบาตรให้เกลี้ยง ควรทำความสะอาดเตียง เก้าอี้และสมบัติอื่นๆ
และจัดให้เป็นระเบียบ หลังจากจัดทำสิ่งเหล่านี้แล้ว และฉันอาหารแล้ว ให้นั่งอย่างสบายในที่ที่สงบ
จากนั้นให้เพ่งอย่างตั้งใจไปที่เครื่องหมาย คือพื้นดินไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติ
หรือดินที่ทำขึ้นก็ตาม ควรรับ นิมิตอันนั้นไว้ในจิต
การปฏิบัติแบบนี้ ท่านอธิบายไว้ดังต่อไปนี้ ผู้ที่ศึกษาปฐวีกสิณ ย่อมกำหนด
สัญลักษณ์บนแผ่นดินซึ่งจะเตรียมไว้ก่อนหรือไม่ก็ตาม แต่ต้องมีขนาดจำกัด
มีสัญลักษณ์มี เครื่องหมาย มีขอบเขต มีขนาดเท่ากระด้ง หรือ จาน
ขณะผู้ปฏิบัติเพ่งนิมิตดังกล่าว และกำหนดไว้ในใจอย่างไม่ลดละ
ต่อมาจะได้รับรู้ถึงความก้าวหน้าในการปฏิบัติของตน โดยพิจารณาว่านิมิตนั้นเป็นแก้วมณี
และปลูกความรักในนิมิตนั้นด้วยความเคารพ
และผูกจิตทั้งหมดไว้กับนิมิตนั้นด้วยความตั้งใจอันแน่วแน่ว่า “ด้วยการฝึกนี้ ขอให้ข้าพเจ้าหลุดพ้นจาก
ความตายและความแก่”
เมื่อผู้ปฏิบัติเสวยผลในอดีตชาติซึ่งเกิดมาจากคำสอนของพระพุทธเจ้า
หรือได้บรรลุถึง ความเป็นนักพรต และโดยวิธีนั้นสามารถบรรลุฌานที่ ๔ และที่๕ แล้ว
เขาไม่จำเป็นจะต้องยึด นิมิตคือ แผ่นดินอีกต่อไป
เพราะว่าดินที่เขาไถไว้หรือลานนวดข้าวก็ย่อมใช้เป็นนิมิตได้ อย่างที่พระเถระนามว่า
มัลลกะได้ใช้มาแล้ว ท่านกล่าวไว้ว่า ในขณะที่พระเถระเพ่งดูที่ทุ่งนาที่ เขาไถไว้
มโนภาพก็เกิดขึ้นกำหนดขนาดของทุ่งนานั้นได้ ท่านขยายทุ่งนานั้น และฌานทั้ง ๕
ก็เกิดขึ้น และท่านสร้างวิปัสสนาบนพื้นภูมินี้ ท่านก็ได้บรรลุถึงความเป็นอรหันต์
แต่บุคคลผู้ไม่มีประสบการณ์ในอดีตชาติควรทำกสิณตามอารมณ์กัมมัฏฐานที่ได้รับ
จากอาจารย์ของตน พยายามหลีกเลี่ยงโทษ ๔ อย่าง คือจะต้องไม่มีสีใดสีหนึ่งในบรรดาสี
ทั้งหลายคือ สีเขียว เหลือง แดง หรือขาว ดินเหนียวที่ใช้ทำนิมิตนั้นจะต้องไม่มีสีใดสีหนึ่ง
ข้างบนนี้ เพราะเป็นสีของกสิณชนิดอื่น แต่ควรเป็นสีแดงอ่อนๆ เช่นสีอรุณ
ซึ่งเป็นสีที่ปรากฏ ในท้องฟ้าในเวลาอรุณ หรือสีของดินเหนียวในแม่น้ำคงคา
กรอบซึ่งใช้วางแผ่นดินเหนียว ต้องไม่อยู่ใกล้วิหารนัก เพื่อมิให้มีเสียงรบกวน
ที่ที่จะเจริญภาวนาควรเลือกเอาพื้นที่ซึ่ง อยู่ท้ายสุดติดกับวิหาร และควรมีเงาจากต้นไม้หรือร่มเงาจากวัตถุอื่นๆ
หรือเป็นปะรำชั่วคราว มุงด้วยใบไม้ หรือเป็นถ้ำหรืออุโมงค์ ณ ที่นี้
ผู้ปฏิบัติควรทำกรอบไม้ซึ่งย้ายไปมาได้หรือตั้งประจำก็ได้ตามแต่จะสะดวก
ถ้าเป็นกรอบไม้ที่เคลื่อนที่ได้ ซึ่งมีไม้ ๔ ชิ้น ควรมีผ้าหรือเสื่อปูก่อน และบนเสื่อนี้ควรเอาดินเหนียววางทั่วๆ
ในกรอบนั้น หลังจากขจัดเศษผ้า รากไม้ ก้อนกรวด ออกไปเรียบร้อยแล้ว
จะต้องทำดินเหนียวให้เรียบ ต้องนวดจนใช้การได้ดี จากนั้นควรทำเป็น รูปจานกว้าง ๑
คืบ มีเส้นผ่า-ศูนย์กลาง ๔ นิ้ว ในการปฏิบัติตอนแรก ผู้ปฏิบัติควรแผ่
ดินเหนียวนั้นบนพื้นดิน และเพ่งแผ่นดินเหนียวนั้น
ถ้ากรอบไม้ติดอยู่กับพื้นดินจะต้องมีขนาดเล็ก ตอน-ล่างและขนาดใหญ่ตอนบนเช่นเดียวกับกลีบบัว
ถ้าหาดินเหนียวที่มีสีอันเหมาะ-สมไม่ได้ อาจสร้างจานดินเหนียวประเภทอื่นขึ้นก็ได้
แล้วลาดดินสีอรุณบนจานนั้น ควรระวังให้มีขนาดตามที่กำหนด
ควรทำพื้นผิวให้เรียบดุจหนังหน้ากลอง ช่องว่างนอกพื้นที่ของจานอาจมีสีขาวได้ น้ำที่จะทำให้พื้นที่เสมอควรใช้น้ำที่ตกจากหิน
และดินก็ควรทำให้เรียบและเสมออย่างแท้จริง
หลังจากเตรียมนิมิตแห่งกสิณของตนแล้ว พระสาวกควรกวาดบริเวณที่จะทำสมาธิ น้ำชำระร่างกายแล้วกลับมานั่งบนอาสนะที่จัดไว้
คืออาสนะซึ่งสูง ๑ คืบ กับ ๔ นิ้ว และมีระยะห่างจากกรอบนั้น ๒ ศอกครึ่ง
เมื่อนั่งในท่าที่สบายแล้ว พระสาวกควรเริ่มเจริญสมาธิภาวนาในเบื้องต้น
ควรพิจารณาโทษแห่งกามคุณโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง เช่น ไม่มีความพอสำหรับกามคุณ เป็นต้น
และมีความยินดีในความสงบภายในอันเกิดจากการออกบวช
ซึ่งเป็นหนทางให้พ้นจากความชั่วร้ายแห่งชีวิต ทำใจให้ร่มรื่นด้วยความสุข
โดยระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และ พระสังฆคุณ เมื่อมาปฏิบัติต่อจากที่ปฏิบัติมาแล้ว
ให้คิดว่า “หนทางนี้เป็นทางดำเนินของพระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย
ตลอดถึงพระสาวกของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย” และกล่าวว่า
“ด้วยการปฏิบัตินี้ข้าพเจ้าจะได้รับความสุขในพระนิพพาน
ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “ปวิเวก” คือความเป็นอิสระสมบูรณ์อย่างแน่นอน”
หลังจากเตรียมจิตของตนโดยวิธีนี้แล้ว พระสาวกควรเจริญกัมมัฏฐานโดยเพ่งกสิณยึด
นิมิตของกสิณ และเพ่งกสิณนั้นอย่างไม่ลดละ แต่ไม่ควรลืมตากว้างเกินไป
เกรงว่าจะเกิด ความสับสน จะต้องดูที่แผ่นจานนั้น แต่ไม่ต้องชัดเกินไป เพราะถ้าชัดเกินไป
นิมิตจะไม่ปรากฏ ไม่ควรตั้งใจมากเกินไป และไม่ควรปล่อยปละละเลยจนเกินไป เช่นเดียวกับบุคคลที่มองดูตัวเอง
ในกระจกเงา เขาจะไม่สนใจรูป สี และสัณฐานของกระจกเงานั้น ฉันใด
พระสาวกก็ควรเพ่งนิมิตโดยไม่คำนึงถึงสีและลักษณะอื่นของนิมิตฉันนั้น เมื่อไม่คำนึงถึงสีและวัตถุที่สร้างเป็นนิมิตขึ้นมาทั้งหมดนั้น
เขาควรทำความเข้าใจเรื่องดิน
ซึ่งเป็นกสิณว่าเป็นเพียงสัญลักษณ์ของดินเท่านั้น แต่จะคิดเรื่องแผ่นดินที่สร้างนิมิตขึ้นเท่านั้นยังไม่พอ
ควรคิดว่าตนก็เป็นอันเดียวกับแผ่นดิน โดยกำหนดว่าส่วนที่แข็งทั้งหมดในร่าง-กายของตนก็มีปฐวีธาตุ
คือธาตุดินอยู่ด้วย
เพื่อจุดประสงค์ข้อนี้ เขาควรเลือกชื่อสักชื่อหนึ่งที่ได้เรียกแผ่นดิน เช่น
ปฐวี มหิ เมธีนี ภูมิ เป็นต้น ซึ่งเหมาะที่สุดสำหรับเขาและกล่าวคำนั้นซํ้าๆ แต่โดยเหตุที่คำที่ใช้บ่อยที่สุดคือคำว่า
ปฐวี เขาควรเจริญสมาธิด้วยปฐวีกสิณนี้ กล่าว ซ้ำๆ และหยุดบ้างในบางเวลา เขาควรเพ่งพิจารณาแผ่นดินจนกว่าจะได้นิมิตที่ชัดเจน
บางครั้งจะลืมตา แต่บางครั้งจะหลับตา แม้ว่าการเจริญสมาธิแบบนี้อาจต้องกล่าวซํ้าๆ
เป็นร้อยเป็นพันครั้งก็ตาม เมื่อนิมิตแห่งแผ่นดินปรากฏ ในจิตอย่างชัดเจนเมื่อลืมตาเช่นเดียวกับเมื่อหลับตาแล้ว
สัญลักษณ์ที่เรียกว่า อุคคหนิมิต (รูปที่เห็นในจิต) ก็จะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์
เมื่อได้บรรลุถึงอุคคหนิมิตแล้ว
พระสาวกไม่ควรนั่งอยู่ในที่เดิม แต่ควรลุกขึ้นแล้วเข้าไปในที่อยู่ของตน และทั้งเจริญสมาธิในห้องนั้น
ถ้าสมาธิขั้นนี้ซึ่งยังอยู่ในสภาพที่ยังไม่แก่กล้า ขยายไปเพราะมีความคิดอื่นเข้ามาแทรกแซง
เขาควรกลับไปยังที่เก็บนิมิตนั้นแล้วสร้างนิมิตขึ้นใหม่ และมายังที่อยู่ของตนอีกครั้งหนึ่ง
และทั้งอย่างสบายในที่นั้น เขาควรเจริญสมาธิด้วยความตั้งใจอย่างเต็มที่
ในพระคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ ท่านเรียกวิธีการเจริญสมาธิดังกล่าวนี้ว่า “บริกรรม”
(กรรมเบื้องต้น) และสมาธิที่ได้จากการบริกรรมเรียกว่า “บริกรรมสมาธิ”
ในขณะที่เจริญสมาธิซึ่งได้จากอุคคหนิมิตนี้มากขึ้น ก็จะละนิวรณ์ทั้ง ๕
ได้สามารถขจัดกิเลสในจิตเสียได้ และจิตก็จะตั้งมั่นด้วยอุปจารสมาธิ
(สมาธิที่อยู่ใกล้) จากนั้นก็จะเกิดปฏิภาคนิมิตขึ้น
ซึ่งได้แก่นิมิตที่เกิดขึ้นตามมา หรือสัญลักษณ์แห่งสิ่งเหมือน ซึ่งละเอียดกว่าอุคคหนิมิตเป็นร้อยเท่าพันเท่า
ในภาพก่อนคืออุคคหนิมิตนั้น จะสังเกตเห็นว่ามีโทษแห่งดวงกสิณอยู่ แต่ในปฏิภาคนิมิตไม่มีโทษดังกล่าว
ปฏิภาคนิมิตมีลักษณะเหมือนกระจกเงาที่สะอาด
หรือเหมือนดวงจันทร์เมื่อออกจากเมฆแล้วฉะนั้น
แต่โดยแท้จริงแล้ว ปฏิภาคนิมิต ไม่มีทั้งสี ทั้งลักษณะแห่งความเป็นของแข็ง
เพราะถ้ามีแล้วเราก็จะมองเห็นได้ด้วยสายตาเหมือนรูปร่างที่หยาบ
จึงเหมาะสมยิ่งขึ้นสำหรับพระสาวกผู้เจริญสมาธิที่จะพิจารณาถึงลักษณะ ๓ อย่าง คือ
ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มิใช่ตัวตน ปฏิภาคนิมิตนี้เป็นความรู้อย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดจากความเข้าใจที่มีชื่อเรียกว่า
“ปฏิภาค” ในความหมายที่ว่าเป็นตัวแทนแห่งจิตที่เข้าใจถึงคุณภาพเบื้องต้นของวัตถุต่างๆ
ในกรณีนี้ได้แก่ปฐวีธาตุ และเป็นธาตุที่ปราศจากความจริงโดยสิ้นเชิง
จากเวลาที่ปฏิภาคนิมิตนี้ปราภฎ ผู้ปฏิบัติจะระงับนิวรณ์ทั้งหลายเสียได้ และจะละ
กิเลสได้และจิตจะมีสมาธิอย่างเต็มที่ในขั้นอุปจารสมาธิ สมาธิขั้นนี้เรียกว่า
อุปจารสมาธิ เพราะใกล้กับอัปปนาสมาธิ หรือสมาธิในฌาน
และยังอยู่ในระหว่างกามาวจรกับรูปาวจร ดังนั้นจึงมีชื่อเรียกว่า “กามาวจรสมาธิ”
ในการฝึกสมาธิโดยอาศัยกสิณ อุปจารสมาธิมีพลังอ่อน เนื่องจากเกิดขึ้นก่อนอัปปนาสมาธิ
ทั้งนี้เพราะปัจจัยที่เกิดด้วยกันไม่มีพลัง เช่นเดียวกับเด็กอ่อน เมื่อให้ยืนขึ้นจะล้มลงซํ้าแล้ว
ซํ้าอีก จิตที่มีอุปจารสมาธิก็ฉันนั้น จะมีอยู่ชั่วขณะหนึ่งในวัตถุที่เป็นปฏิภาคนิมิต
แล้วจะตกภวังค์ คือจิตใต้สำนึก แต่เมื่อจิตออกจากภวังค์ไปสู่อัปปนาสมาธิขั้นสูงซึ่งมีสภาพมั่นคง
เพราะสัมปยุตด้วยองค์ฌานแล้ว จิตนั้นจะยึดวัตถุนั้นอยู่ตลอดทั้งวันและคืน ณ ที่นี้
จิตจะดำเนินไปโดยการสืบทอดแห่งความคิดที่มีประโยชน์
ถ้าพระสาวกสามารถบรรลุอัปปนาสมาธิ ในการเจริญสมาธิแบบเดียวกัน และในที่นั่งอันเดียวกัน
ในขณะพิจารณาอยู่นั้นก็เป็นการดี ถ้าไม่สามารถก็ควรรักษานิมิตนั้นด้วยความเอาใจใส่อย่างดีที่สุด
เหมือนหนึ่งว่านิมิตนั้นเป็นเบื้องต้นแห่งกฎสากล ๗ ข้อ ที่ให้สาวกผู้ ปรารถนารักษานิมิตแห่งกสิณของตนจะต้องปฏิบัติตาม
คือ
๑ ที่อยู่ :
จะต้องไม่ขัดกับชีวิตที่มุ่งเจริญภาวนา
๒ หมู่บ้านที่เข้าไป :
หมู่บ้านที่เข้าไปเพื่อแสวงหาอาหารจะต้องอยู่ไม่ไกลมากเกินไป ควรมีระยะทางเพียง ๗๕๐ ช่วงลูกธนูยิงตก และเป็นสถานที่ที่มี
อาหารสัปปายะ คือ สะดวกสบายในเรื่องหาอาหารบิณฑบาท
๓ การสนทนาปราศรัย :
จะต้องไม่หมกมุ่นอยู่ในการพูดจาปราศรัยของชาวโลก ๓๒ ชนิด ซึ่งจะทำให้นิมิตหายไป
๔ เพื่อน : จะต้องไม่สนทนากับคนผู้หมกมุ่นอยู่กับการเจรจาปราศรัยของ
ชาวโลก แม้ว่าการพูดจานั้นจะเกี่ยวข้องสิ่งที่อนุญาตให้พูดคุยได้ก็ตาม
เขาจะพูด-จาปราศรัยได้เฉพาะกับผู้ที่ใฝ่หาสมาธิเท่านั้น
๕ อาหาร : ผู้ที่เป็นนักศึกษาสมาธิจะต้องมีอาหารที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเขาที่ไม่กระตุ้นให้เกิดกิเลส(คือเหมาะสำหรับร่างกายและจิตใจของเขา)
๖ ฤดู : ฤดูหนาวอาจเหมาะสมสำหรับผู้ปฏิบัติบางคน
แต่บางคนอาจ
ชอบฤดูร้อน อย่างไรก็ตาม
ผู้ปฏิบัติจะต้องเลือกเวลาที่ เหมาะสมที่สุดสำหรับแต่ละคน
๗ อิริยาบถ : จะต้องเลือกอิริยาบถให้สะดวกแก่ผู้ปฏิบัติ
อาจเป็นอิริยาบถ
เดินไปมา, นอน, ยืน, หรือนั่งก็ได้
เพื่อที่จะเลือกอิริยาบถที่ เหมาะสมที่สุดหรือเข้ากันได้ที่สุดกับตนเอง ผู้ปฏิบัติควรทดลองใช้
อิริยาบถแต่ละอย่างเป็นเวลา ๓ วัน
ถ้าพระสาวกเจริญสมาธิโดยอาศัยนิมิตด้วยความเชื่อฟังคำสั่งเหล่านี้ เขาจะได้บรรลุอัปปนาในไม่ช้า
ซึ่งด้วยการบรรลุอัปปนาดังกล่าว วิญญาณก็จะเปลี่ยนสภาพไปอยู่ในขั้นฌาน ถ้าพระสาวกไม่ได้บรรลุแม้ว่าจะเจริญสมาธิแล้ว เขาควรปฏิบัติตามหลักการฝึกฝนตนเพื่อบรรลุอัปปนาซึ่งประกอบด้วยปัจจัย
๑๐ อย่าง ซึ่งควรปฏิบัติไปพร้อมๆ กัน ดังต่อไปนี้
๑ ความสะอาด
๒ กฎแห่งอินทรีย์คือศรัทธา
๓ ความชำนาญในการรักษานิมิตนั้นไว้
ซึ่งได้มาจากการฝึกสมาธิในเบื้องต้น
๔ กระตุ้นจิตเมื่อรู้สึกหดหู่
๕ ควบคุมจิตเมื่อเกิดความท้อถอยอันเกิดมาจากใช้กำลังมากหรือจากเหตุอื่น
๖ กระตุ้นจิตเมื่อรู้สึกลังเลใจอันเกิดมาจากความลดน้อยถอยลงแห่งความเข้าใจ
และจากการไม่ได้รับความสุขที่เขาพยายามจะได้และอื่นๆ
๗ ทำจิตให้มีดุลยภาพเมื่อจิตขาดดุลยภาพ
๘ หลีกเลี่ยงบุคคลผู้ไม่คุ้นกับสมาธิ
และผู้มีนิสัยเหลาะแหละ
๙ การสมาคมกับผู้ได้บรรลุสมาธิแล้วและกำลังอยู่บนทางที่จะบรรลุธรรมสูงขึ้น
๑๐ มีความโน้มเอียงไปสู่สมาธิอย่างเต็มที่โดยมีการตัดสินใจแน่วแน่ที่จะบรรลุสมาธินั้น
ดังนั้น จึงควรสร้างความชำนาญในปัจจัย ๑๐ อย่างข้างบนนี้ให้เกิดมีขึ้นเพื่อบรรลุ
อัปปนา
แม้การฝึกแบบนี้อาจไม่มีประโยชน์สำหรับคนบางคนในตอนเริ่มต้น แต่คนเช่นนั้นไม่ควรหยุดพยายาม
เพราะว่าการจะได้รับความสุขทางจิตเป็นเรื่องที่ทำได้ยากสำหรับคนที่จมลึก
ในมหาสมุทรคือความอยากจะมีชีวิตอยู่อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น เขาควรปฏิบัติต่อไปอย่างจริงจัง
โดยการเอาใจใส่ต่อสภาพแห่งจิตของตน ประคองจิต เมื่อจิตหดหู่และคอยตรวจดูจิต
เมื่อจิตคิดมากเกินไป ในขณะที่ฝึกสมาธิโดยใช้นิมิตอันเดิมและกล่าวซ้ำๆ ว่า ปฐวี
ปฐวี นั้น จิตซึ่งจะมีสภาพเหมาะสมนั้นจะบรรลุถึงอัปปนาสมาธิในเวลาสมควร
โดยวิธีนี้ เขาจะได้บรรลุปฐมฌานซึ่งมีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์
เขาจะเป็นบุคคลที่ท่าน อธิบายไว้ในพระไตรปิฎกว่า “เป็นผู้ปราศจากความคิดชั่ว
มีเหตุผล มีการตรวจสอบ มีปิติ , และความสุขอันเกิดจากความสงบสงัดภายใน
เขาย่อมบรรลุปฐมฌานอันมี ปฐวีกสิณเป็นฐาน”
พระพุทธโฆษาจารย์ได้ให้คำอธิบายอันยืดยาวเกี่ยวกับหลักในพระธรรมสังคิณีนี้ว่า
พระสาวกผู้เจริญสมาธิโดยอาศัยนิมิตอันเดิมนี้ คือ ปฐวีกสิณ สามารถบรรลุถึงฌานที่๕
โดยวิธีการปฏิบัติที่ได้อธิบายไว้แล้วในบทที่ ๕
อาโปกสิณ
พระสาวกผู้ปรารถนาจะเจริญสมาธิโดยใช้อาโปกสิณ ควรจะได้นิมิตคือน้ำ
จะเป็นนํ้าที่ จัดทำขึ้นหรือน้ำธรรมชาติก็ได้ในอาโปกสิณนี้ก็เช่นกัน
ผู้ที่มีความชำนาญมาก่อนจะพบว่า นิมิตย่อมปรากฏในน้ำธรรมชาติ เช่นน้ำในสระ
ในทะเลสาบ, ในแม่น้ำหรือในมหาสมุทร พระสาวกผู้มิได้มีความชำนาญ
ควรหลีกเลี่ยงโทษแห่งกสิณ เช่น สี ๔ ประเภท และควรนำเอา ภาชนะมา ๑ ใบ บรรจุน้ำฝนที่ตกใหม่ๆ
จากห้องฟ้าและเอาผ้าสะอาดกรองน้ำเช่นนั้นโดยไม่ทันให้น้ำฝนตกถึงพื้นดิน เอาน้ำนี้เป็นนิมิต
หรือถ้าไม่มีน้ำฝน ก็ให้หาน้ำที่สะอาดเช่นนั้นโดยวิธีอื่น วางภาชนะน้ำนั้นไว้ในที่เป็นเอกเทศ
เช่นเดียวกับในปฐวีกสิณให้ทั้งอย่างสะดวกสบาย แล้วเจริญสมาธิ ไม่ควรสนใจกับสีของน้ำหรือลักษณะของน้ำ
แต่ควรสนใจเฉพาะธาตุซึ่งมีน้ำ เป็นสัญลักษณ์ ควรกล่าวคำใดคำหนึ่งจากคำเหล่านี้ คือ
อัมพุ, อุทกัม, วาริ, สลิลัม หรืออาโป ในขณะที่ปฏิบัติอยู่นั้น จะเกิดนิมิตขึ้น ๒
อย่าง ถ้าน้ำมีฟองหรือกระเพื่อมก็อาจเกิดมีลักษณะ เช่นเดียวกับในอุคคหนิมิต
แต่อย่างไรก็ตาม ปฏิภาคนิมิตจะมั่นคง เช่นเดียวกับพัดที่ทำด้วย
เพชรหรือกระจกเงา
ซึ่งอาจวางไว้ในอากาศ เมื่อสมาธิสมบูรณ์เต็มที่ เขาสามารถบรรลุ แม้กระทั่งฌานที่ ๔
และที่ ๕
เตโชกสิณ
ผู้ที่ปรารถนาจะเจริญสมาธิโดยอาศัยเตโชกสิณ
หรือกสิณที่มีไฟเป็นเครื่องหมายควรมี สัญลักษณ์ของไฟ
จะเป็นไฟที่จัดทำขึ้นหรือไฟที่มีตามธรรมชาติก็ได้ สำหับผู้ชำนาญ นิมิต อาจปรากฏในขณะที่เขามองดูเปลวเพลิงที่ตะเกียง
หรือที่เตาหุงต้มหรือไฟป่า อย่างที่เกิดขึ้นแก่ พระเถระนามว่า จิตตะคุคตะ
(ในประเทศศรีลังกา) พระเถระเดินเข้าห้องประชุมในวันที่รับ
นิมนต์ไว้เพื่อแสดงพระธรรมเทศนา ในขณะที่มองดูเปลวไฟที่ตะเกียง กสิณนิมิตก็ปรากฏแก่ตน
ยิ่งกว่านั้น เราจะพบว่าในอรรถกถาเถรีคาถา(นางอุบลวรรณาจุดตะเกียงในโรงพระอุโบสถ
และมองดูเปลวไฟเป็นเครื่องหมาย ในขณะที่เพ่งเปลวไฟนั้นนางก็ได้บรรลุฌานโดยอาศัยนิมิตคือไฟ
ทำนิมิตนี้เป็นพื้นฐาน นางก็ได้บรรลุพระอรหันต์ในเวลาต่อมา
แต่ผู้ที่ไม่มีความชำนาญมาก่อนควรดำเนินดังต่อไปนี้ เอาฟืนที่เขาตัดมา และแห้งดี
แล้วมัดรวมกัน แล้วนำไปยังที่ที่สงัดภายใต้ต้นไม้หรือปะรำ และก่อไฟด้วยมัดฟืนนั้น
เอาเสื่อ หรือผ้าชิ้นหนึ่งทำรูในผ้านั้น กว้าง ๑ คืบ ๔ นิ้ว ผูกผ้านั้นไว้หน้าไฟเช่นเดียวกับม่าน
เขาควรนั่งอย่างที่ได้อธิบายไว้แล้ว และเพ่งที่ไฟโดยผ่านช่องนั้น ไม่สนใจกับหญ้าหรือฟืนข้างล่าง
ทั้งไม่ต้องสนใจกับควันข้าง-บนช่องนั้น เขาควรยึดนิมิตตรงท่ามกลางเปลวไฟนั้น
โดยไม่คำนึงถึงสีของไฟว่าจะเป็นสีอะไร ไม่สนใจกันลักษณะของความร้อน
แต่ควรเพ่งเฉพาะที่ไฟนั้น เมื่อนิมิต ในจิตและฐานภายนอกคือเปลวไฟปรากฏเป็นสีเดียว
ให้กำหนตจิตจดจ่ออยู่กับไฟนั้น และเจริญภาวนาโดยกล่าวคำว่า “เตโช เตโช” หรือคำอื่นใดก็ได้ซึ่งหมายถึงไฟ เช่น
ปาวกะ, กัณหะวัตตนี ชาตเวท, หรือหุดาสนะ
ในขณะที่ภาวนาอยู่นั้น จะมีนิมิต ๒ อย่างเกิดขึ้นตาม เวลาอันสมควร ใน ๒ อย่างนี้
อุคคหนิมิต (ลักษณะคือไฟ) จะปรากฏแก่เขาเป็นประกายไฟ ยาวต่างๆ กับเป็นสายและจะเกิดเป็นเปลวไฟขึ้นขณะหนึ่งก็จะดับไป
เมื่อพระสาวก ได้นิมิตในไฟธรรมชาติ คือไม่มีการก่อไฟ ความบกพร่องในนิมิตอาจมีขึ้น
อาจเป็นชิ้นฟืนที่ไฟไหม้แล้ว หรือถ่านไฟที่กำลังไหม้อยู่ ขึ้เถ้าหรือควันก็ได้
เมื่อพัฒนาไปจะเกิด ปฏิภาคนิมิตแล้ว จะปรากฏเหมือนผ้าห่มกันหนาวผืนหนึ่ง
หรือพัดสีทอง หรือเสาทองที่วางไว้ ในอากาศเมื่อสิงนี้เกิดขึ้นแสดงว่าพระสาวกได้บรรลุฌานขั้นอุปจารและหลังจากนี้อาจบรรลุฌานที่
๔ และที่ ๕ ได้
วาโยกสิณ
พระสาวกผู้ปรารถนาจะเจริญสมาธิโดยใช้วาโยกสิณ
คือ ยึดลมเป็นนิมิต ควรยึดเอา สัญลักษณ์ในลม ไม่ว่าจะเป็นลมที่มองเห็น
หรือลมที่มาสัมผัสก็ตาม ท่านกล่าวไว้ในอรรกถา ทั้งหลายว่า “ผู้ที่ศึกษาเรื่องวาโยกสิณ
ยึดลมเป็นนิมิต สังเกตยอดอ้อยที่สั่นหรือไหวไปมา หรือยอดไม้ไผ่ ยอดต้นไม้ปอยผม
หรือสังเกตลมที่สัมผัสร่างกาย” ดังนั้น พระสาวกควรยึดลม เป็นนิมิต จ้องมองอยู่ที่ต้นอ้อย
หรือพืชพรรณอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีพุ่มทึบ ต้นไม่ไผ่หรือ ต้นไม้ซึ่งตั้งอยู่ระดับศีรษะของตนและไหวไปมาด้วยการพัดของลม
เขาควรสังเกตเป็นพิเศษที่จุดซึ่งลมกระทบ และยึดจุดนี้เป็นนิมิตเมื่อยึดลมที่สัมผัสร่างกายหรือผ่านช่องลมในผนัง เป็นนิมิต เขาควรสังเกตส่วนของร่างกายของเขาที่ถูกลมพัด
ดังนั้นเมื่อมีจิตจดจ่ออยู่กับลม เขาควรเจริญสมาธิโดยการนึกถึงคำว่า วาโย, วาโย
หรือชื่อที่คุ้นๆ หู เช่น วาตะ, มารุตะ,
ปวนะ, หรือ อนิละ ในสมาธิขั้นนี้เขาจะได้อุคคหนิมิต
ซึ่งไหวอยู่คล้ายกับการสั่นของไอน้ำในข้าวต้มเมื่อยกลงจากเตาใหม่ๆ
แต่ปฏิภาคนิมิตจะมั่นคง และมีเขตจำกัดอย่างดี การบรรลุฌานก็เป็นเช่นเดียวกับกสิณอื่นๆ
ที่กล่าวมาแล้ว
นีลกสิณ
พระสาวกผู้ปรารถนาจะเจริญสมาธิโดยยึดสuเขียวเป็นนิมิตในบรรดาสีทั้ง ๔ ชนิด
ควรมีนิมิตสีเขียวในดอกไม้ หรือผ้าหรือสิ่งอื่นที่มีสีเขียว เช่น หินสีเขียว,
โลหะสีเขียว สำหรับผู้มีความชำนาญมาก่อน นิมิตจะเกิดขึ้นในขณะที่เขามองดูดอกไม้สีเขียว
หรือร่องดอกไม้สีเขียว หรือสิ่งของสีเขียวใดๆ เช่นผ้าสีเขียวชิ้นหนึ่ง
แก้วมณีสีเขียวเม็ดหนึ่ง เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เริ่มฝึกสมาธิควรยึดเอาดอกไม้สีเขียว
๑ กำ เช่นดอกอุบล หรือดอกไม้สีเขียว หรือดอกไม้สีเขียวอย่างอื่น
และจัดดอกไม้เหล่านั้นใส่ในกระจาด หรือวางบนถาดกลมเพื่อจะได้รวมเป็นสิ่งหนึ่งซึ่งมีลักษณะกลม
แน่นสีเขียว ระวังไม่ให้มองเห็นละอองเกษร หรือใบไม้สีเขียว หรือน้ำยา ล้างตาสีเขียว
หรืออาจเป็นจานซึ่งทาสีเขียว ขนาดกว้างยาว ๑ คืบ ๔ นิ้ว ซึ่งมีแผ่นกระดาน
สีอื่นเป็นพื้นฐานอยู่ อาจเคลื่อนย้ายไปมาได้ หรือติดกับกรอบไม้เช่นเดียวกับปฐวีกสิณ
หรือติด กับผนัง ผู้เจริญสมาธิควรเพ่งสีเขียวนั้น ภาวนาซ้ำๆ ว่า “สีเขียว สีเขียว”
ในกรณีเช่นนี้ อุคคหนิมิตย่อมมีสิ่งบกพร่องเกี่ยวกับสัญลักษณ์เดิม
เช่นเส้นในกลีบดอกบัว เงาเล็กๆ น้อยๆ หรือกรอบไม้ แต่ปฏิภาคนิมิตจะปราศจากสิ่งบกพร่องเหล่านี้
ทุกอย่างจะบริสุทธิ์สะอาด เหมือนพัดที่ทำด้วยเพชรสีเขียว เกี่ยวกับการบรรลุฌาน พึงเข้าใจเช่นเดียวกับกสิณอื่น
ๆ
ปีตกสิณ
ในกสิณชนิดนี้ ผู้ปฏิบัติที่ชำนาญจะยึดเอาไม้หรือผ้าสีเหลืองเป็นนิมิต
หรือสิงอื่นที่มีสีเหลืองเช่นนั้น อย่างไรก็ตามผู้เริ่มปฏิบัติควรยึดสัญลักษณ์ตามที่ได้อธิบายไว้แล้วข้างต้น
โดยใช้ดอกไม้สีเหลือง เช่นดอกลั่นทม หรือผ้าสีเหลือง โลหะสีเหลือง แก้วสีเหลือง
การเจริญสมาธิจะ ดำเนินไปโดยการกำหนดคำว่า สีเหลือง สีเหลือง ที่เหลือ
พึงเข้าใจตามที่กล่าวแล้ว
โลหิตกสิณ
ในโลหิตกสิณนี้ ผู้เจริญสมาธิที่มีความชำนาญจะได้นิมิตในขณะเขาจ้องมองดอกไม้สีแดงหรือสิ่งอื่นที่มีสีแดง
แต่พระสาวกผู้เริ่มปฏิบัติควรยึดมโนภาพจากดอกไม้สีแดง ซึ่งเลือกไว้ เพื่อเรื่องนี้
หรือผ้าสีแดงชิ้นหนึ่ง หรือสิ่งใดก็ตามที่มีสีแดง เมื่อเจริญสมาธิโดยเน้นคำว่า “สีแดง
สีแดง” จะเกิดนิมิต ๒ อย่างขึ้น และเมื่อปฏิบัติต่อไปก็จะได้รับผลเช่นเดียวกับที่กล่าวแล้ว
จนกระทั่ง ได้บรรลุฌานที่ ๔ และที่ ๕
โอทาตกสิณ
เกี่ยวกับสัญลักษณ์สีขาว พระสาวกผู้มีความชำนาญ สามารถฝึกนิมิตในขณะที่มอง
ดูดอกไม้สีขาว เช่นดอกมะลิ หรือดอกไม้ในร่องหรือผ้าสีขาว นิมิตอาจเกิดขึ้นในจานทำด้วย
ตะกั่ว, เงิน หรือในดวงจันทร์ คนอื่นๆ ควรเตรียมสัญลักษณ์ด้วยดอกไม้สีขาว
หรือดอกบัวสีขาว ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ก็ควรใช้ผ้าขาว หรือสิ่งอื่นที่มีสีขาว
เขาควรเจริญสมาธิเรื่อยๆ ไป เน้นคำว่า สีขาว สีขาว ที่เหลือก็พึงเข้าใจเช่นเดียวกับในกสิณอื่นๆ
อาโลกกสิณ
ผู้ที่ปรารถนาจะเจริญสมาธิโดยใช้อาโลกกสิณ
คือแสงสว่างเป็นนิมิต ควรยึดสัญลักษณ์ใส แสงสว่าง
ซึ่งเข้ามาในห้องผ่านรอยแตกในผนัง รูกุญแจ หรือหน้าต่างที่เปิด แต่สำหรับผู้ที่มีความชำนาญในการเจริญสมาธิโดยใช้กสิณนี้มาก่อน
สัญลักษณ์จะปรากฏใน ขณะที่เขาเห็นสำแสงวงกลมในเวลากลางวันหรือแสงจันทร์ในเวลากลางคืนบนผนังหรือบนพื้นดิน
ซึ่งส่องเข้ามาผ่านช่องในผนังหรือหลังคาเรือน
สัญลักษณ์อาจเกิดแก่เขาในขณะที่เขามองดู ลำแสงทรงกลมซึ่งเกิดขึ้นบนพื้นดิน
ผ่านใบไม้ที่หนาบนต้นไม้ ผู้เริ่มต้นเจริญสมาธิควรยึด อาโลกกสิณโดยมองดูลำแสงกลมๆ
นั้น และภาวนาว่า อาโลก อาโลก แสงสว่าง แสงสว่าง ผู้ที่ไม่ สามารถจะทำเช่นนี้
ควรจุดตะเกียงหรือเทียน และวางในหม้อดินซึ่งมีช่องที่กันหม้อโดยปิดปาก หม้อเสีย
วางหันหน้าไปทางผนัง แสงที่ออกมาจากช่องนั้นจะสร้างเป็นรูปจานขึ้นบนผนัง วิธีนี้จะได้เปรียบที่ว่าแสงจะมีรปูนานกว่าวิธีอื่นๆ
พระสาวกควรเพ่งพิจารณาว่า “แสงสว่าง แสงสว่าง” ณ ที่นี้อุคคหนิมิตจะมีรูปเป็นจานบนผนัง หรือบนพื้นดิน แต่ปฏิภาคนิมิตจะปรากฏ
เป็นแสงสว่างที่ก้อนหนึ่งๆ เมื่อเจริญต่อไปได้รับความสำเร็จเหมือนที่กล่าวแล้ว
ปริจฉินนอากาสกสิน
พระอรรถกถาจารย์อธิบายกสิณชนิดนี้ไว้ดังนี้ ผู้ที่เจริญสมาธิโดยใช้อากาสกสิณเป็นนิมิตยึดเอาสัญลักษณ์ในที่ว่าง
ซึ่งมีรอยแตกในผนังเป็นขอบเขตจำกัด หรือกำหนดรูกุญแจ หรือ ช่องหน้าต่างเป็นขอบเขตก็ได้เมื่อไม่สามารถได้นิมิตตามที่กล่าวนี้พระสาวกควรทำช่องหรือรูกว้าง
๑ คืบ ๔ นิ้ว ในเต้นท์หรือปะรำที่มีหลังคาคลุมเป็นอย่างดี หรือในเสื่อ หรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน
ภาวนาซํ้าๆ ว่า “อากาศ อากาศ” ในขณะที่เขาเจริญสมาธิ โดยวิธีนี้เขาจะได้อุคคหนิมิตปรากฏเป็นรูปรอยแตกหรือกุญแจ
เป็นต้น แต่จะไม่สามารถขยายออกไปได้ แต่ อย่างไรก็ตาม ปฏิภาคนิมิตจะปรากฏโดยไม่มีขอบเขตจำกัด
(เช่นเดียวกับขอบผนังหรือรู
กุญแจ)
จะมีขนาดใหญ่เท่าวงกลมของอากาศ และมีทางพัฒนาต่อไป ที่เหลือก็เหมือนกับที่
กล่าวไว้ในปฐวีกสิณ
คำแนะนำที่ให้ไว้ในคู่มือ
ดังนั้น เราจะพบว่าพระพุทธเจ้าทรงอธิบายวิธีการใช้กสิณเป็นแนวทางให้บรรลุฌาน
ไม่ว่าจะเป็นระบบฌาน ๔ หรือ ฌาน ๕ ก็ตาม และชาวพุทธฝ่ายเถรวาท ได้ปฏิบัติตามที่พระพุทธองค์ทรงอธิบายไว้ซึ่งกล่าวไว้แล้วในตอนก่อน
คำแนะนำก็เพิ่มเติมหลังจากนั้น ส่วนใหญ่เป็นไปตามแนวที่ชาวพุทธประเทศศรีลังกาซึ่งจะพบในหนังสือ
“คู่มือของโยคาวจร” ซึ่งท่านวางไว้หลังจากอานาปา-นัสสติกัมมัฏฐาน
ในที่นั้นท่านกล่าวไว้ว่า “หลังจากกล่าวคำนมัสการพระรัตนตรัย
คือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ และถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งแล้ว
ทำทุกอย่างที่จำเป็นในการเจริญสมาธิแล้ว พระโยคาวจรเจริญสมาธิ โดยเพ่งนิมิตคือแผ่นดินเป็นเครื่องหมายดังต่อไปนี้
“ข้าพเจ้าได้พยายามปฏิบัติ ตามคำสั่งสอนของ พระพุทธเจ้า เพื่อเคารพพระผู้มี
พระภาคผู้ทรงพระนามว่าโคดม
“ขอให้ข้าพเจ้าได้อุคคหนิมิต และปฏิภาคนิมิต ซึ่ง เป็นทางให้บรรลุอุปจารสมาธิ
และอัปปนาสมาธิจากปฐวีกสิณในบรรดากสิณ ๑๐”
“ขอให้ข้าพเจ้าได้บรรลุโลกุตตรธรรม ๙ (มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑) ตามลำดับทีละขั้น”
“ขอให้พระธรรมเหล่านั้นปรากฏในตัวข้าพเจ้าในขันธ์ ๕ ในจักษุทวาร ในจิตและในอายตนะคือผัสสะ”
เมื่อข้าพเจ้านั่งสมาธิในขณะนั้นนั่นเอง
ด้วยอำนาจแห่งการเปล่งวาจาสัตย์นี้ ขอให้พระธรรมปรากฏขึ้นมา
หรือขอให้ข้าพเจ้าได้รับผลสำเร็จ พระธรรมเจ้า และพระสงฆเจ้า
จงเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า
“ขอให้พระคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และพระสงฆเจ้าเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า
ขอให้คำสอนของพระพุทธองค์จงเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้าขอให้การปฏิบัติกรรมฐานที่ปฏิบติมาอย่างดี
จงเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า ขอให้พระคุณของกรรมฐานจงเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า บัดนี้
ข้าพเจ้าขออุทิศชีวิตของข้าพเจ้าแก่พระรัตนตรัย และแก่พระรัตนะ ๕ ประการ
ขอให้ข้าพเจ้ารู้แจ้ง พระนิพพาน ขอให้การปฏิบัตินี้จงเป็นเครื่องช่วยให้ข้าพเจ้าบรรลุพระนิพพาน”
แล้วเขาก็นั่งขัดสมาธิ มีกายตรง ตั้งสติไว้กับตน
เขาเจริญภาวนาโดยมีจิตกำหนด นิมิตคือแผ่นดิน คิดถึงคำว่า ปฐวีกสิณ
ปฐวีกสิณในจิตในขณะที่เข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่าง คือแผ่นดิน
ในขณะนี้พระสาวกควรพิจารณส่วนต่างๆ ของร่างกายที่มีลักษณะเป็นของแข็ง
๒๐ อย่าง ซึ่งเป็นปฐวีธาตุ และที่มีลักษณะเป็นของเหลวคือ น้ำ ๑๒ อย่าง ทั้งหมดนี้เป็นส่วนของร่างกาย
๓๒ ส่วน ซึ่งเขาควรทำไว้ในใจว่าเป็นสิ่งไม่ถาวร ไม่มีตัวตน
และจะต้องสลายหรือตายไปในที่สุด เมื่อเจริญสมาธิดังนี้ สัญลักษณ์ ๒
อย่างที่กล่าวข้างบนนี้จะเกิดขึ้นแก่ เขาอย่างต่อเนื่องกัน มโนภาพในสัญลักษณ์นั่ง
๒ อย่างนี้ จะไม่เด่นชัด โดยเหตุที่ยังมีคุณสมบัติหรือรูปแบบของ นิมิตอยู่ แต่ปฏิภาคนิมิต
จะเกิดขึ้นทำลายเสียซึ่งกระแสแห่งภวังค์ คือความสืบเนื่องแห่งชีวิต ดูเหมือนจะแทงตลอดมโนภาพคล้ายกับกระจก
แก้วผลึก หรือแก้วมณี ซึ่งเจียรไนมาจากสิ่งปกคลุม
หรือคล้ายกับพระจันทร์ทำลายเมฆออกมา ในตอนนี้ความเข้าใจปฐวีธาตุจะปรากฏ แก่เขา
และติดอยู่ในจิตเขานั่งสิ้น
หลังจากนั้น เขาก็ปฏิบัติต่อไปเพื่อบรรลุทุติยฌาน สร้างแรงดลใจว่า “จะต้องบรรลุ
ทุติยฌานในห้วงลึกแห่งภาวะของข้าพเจ้า ในปฐวีกสิณ
โดยการเจริญสมาธิต่อไปตามความเหมาะสม”
ด้วยผลอันนี้ก็ปรากฏมีเตโชธาตุขึ้นแก่เขา และเมื่อสังเกตดูขณะจิตในเตโชธาตุ
เขาควรกำหนดขณะจิตไว้ให้อยู่เหนือจุดในมโนภาพของปฐมฌานประมาณ ๑ นิ้ว ตามความเหมาะสม
ในขั้นต่อไป ให้วางธาตุนั้นในลำดับที่ตรงกันข้ามกับที่วางไว้ก่อน
ตามความเหมาะสม ที่เหลือมีคำอธิบายเช่นเดียวกับที่กล่าวแล้ว
ในการเจริญสมาธิเพื่อบรรลุตติยฌาน ธาตุแห่งความเอิบอาบ (อาโปธาตุ) จะเกิดขึ้น เมื่อสังเกตธาตุนี้อย่างดี เขาควรกำหนดธาตุนี้ไว้ให้สูงกว่าจุดแห่งทุติยฌาน
ประมาณ ๒ นิ้ว
หลังจากบรรลุฌานดังกล่าว (ฌานที่ ๓) เขาควรกำหนดฌานนี้ไว้ในลำดับตรงกันข้าม
กับที่กำหนดไว้ก่อนตามความเหมาะสม
เขาดำเนินต่อไปโดยปรารถนาจะบรรลุฌานที่ ๔ ธาตุคือความเคลื่อนไหว (วาโยธาตุ) ก็ปรากฏขึ้น
เมื่อกำหนดธาตุนี้อย่างดี เขาจะวางฌานนี้ไว้กับขณะจิต ๓ ขณะตามลำดับ ให้สูงกว่าจุดแห่งฌานที่
๓ มีกำหนด ๑ นิ้ว
หลังจากนั้น ให้เขากำหนดวาโยธาตุในแนวที่ตรงกันข้ามกับที่วางไว้ก่อนตามความเหมาะสม
ความปรารถนาเพื่อบรรลุฌานที่ ๕ ย่อมเกิดตามมา อากาศธาตุย่อมเกิดขึ้นในฌาน ที่
๔ นั้น เมื่อสังเกตขณะจิตทั้ง ๓ อย่างจริงจัง
ให้เขากำหนดขณะจิตเหล่านั้นให้เหนือจุดของฌาน ที่ ๔ ประมาณ ๑ นิ้ว
และระหว่างฌานที่ ๔ กับหทัย และแล้วก็จะเกิดลำดับที่ตรงกันข้าม
หลังจากบรรลุปัญจมฌาน คือฌานที่ ๕ แล้ว พระสาวกได้รับคำแนะนำให้ปฏิบัติตามวิธีทั้งหมด
เริ่มตั้งแต่ภาวนาให้ช่วย และหน้าที่เบื้องต้นทั้งหลาย ซึ่งจำ เป็นทุกขั้นตอนของการปฏิบัติ
ทำให้ครบถ้วนทั้งตามลำดับและทวนลำดับ (อนุโลมและปฏิโลม)
การเจริญสมาธิเพื่อบรรลุฌานแต่ละขั้นมีหลัก ๔ ประการ
๑ เบื้องต้น จากตอนเริ่มต้นจนถึงขั้นนิมิตปรากฏ
๒ จากเบื้องต้นจนถึงการปรากฏของธาตุแต่ละอย่างที่สอดคล้องกับฌาน และการกำหนดขณะจิตทั้ง
๓ไว้ในลำดับที่เหมาะสมตามที่ได้อธิบายแล้ว
๓ การสังเกตธรรมสัญญา
และความปรารถนาเพื่อบรรลุฌาน การถอนขณะจิตจากปลายจมูก และการจัดขณะจิตไว้ในแหล่งที่เหมาะสม
๔ การบรรลุฌาน
และการจัดขณะจิตในลำดับที่กลับกัน (ปฏิโลม) ในที่ที่เหมาะสม (อนุโลม)
หลังจากบรรลุฌานทั้ง ๕ แล้ว พระสาวกควรฝึกฝนตนเองในการฝึกฌานเหล่านั้น
ทั้งในลำดับอนุโลมและปฏิโลมปฏิบัติตามวิธีใดวิธีหนึ่งกำหนดฌานเหล่านั้นไว้เบื้องบนหรือรอบๆสะดือ
ในตอนท้ายของตอนที่กล่าวถึงปฐวีกสิณ คู่มือได้อธิบายว่าควรตั้งข้อสัง-เกตว่าท่านอธิบาย
วิธีปฏิบัติปฐวีกสิณ ๔ ชนิดไว้โดยวิธีนี้ ซึ่งควรพัฒนาโดยผู้ปฏิบัติผู้ถือวิธีใดวิธีหนึ่งและกำหนดฌานทั้ง๕
ซึ่งเริ่มต้นด้วยฌานที่ ๑ไว้ข้างบนหรือรอบๆ สะดือตามปรารถนา
ในการเจริญสมาธิโดยอาศัยกสิณอื่นๆ ก็ให้ปฏิบัติแบบเดียวกัน
ควรปฏิบัติกสิณแต่ละ ชนิดใน ๔ วิธี ตามที่กล่าวไว้ในปฐวีกสิณ
อานิสงส์พิเศษ
หลังจากบรรยายถึงการเจริญสมาธิโดยอาศัยกสิณแล้ว
พระคัมภีร์วิสุทธิมรรคได้กล่าวถึงอานิสงส์พิเศษ ซึ่งพระโยคาวจรจะได้รับ
จากการเจริญปฐวีกสิณ พระโยคาวจรจะได้รับพลังในการนิรมิตตนเอง ซึ่งเป็นคนเดียว
ให้ปรากฏเป็นหลายคนได้ นิรมิตแผ่นดินให้ปรากฏเป็นก้อนอยู่ในอากาศ หรือบนพื้นนา แล้วเดิน
ยืน นั่ง หรือนอนบนแผ่นดินนั้น และมีอำนาจเหนือวัตถุทั้งที่มีขอบเขตจำกัด และไม่มีขอบเขตจำกัด
จากการเจริญอาโปกสิณ พระโยคาวจรสามารถดำลงไปในแผ่นดินเสมือนหนึ่งว่าดำ ไปในนา
สามารถนิรมิตฝน และน้ำและทะเลขึ้นมาได้ สามารถทำแผ่นดินและภูเขาให้ไหวได้
หรือสามารถอยู่บนแผ่นดิน หรือภูเขาที่ไหวนั้นได้ แยกกันคนละอย่าง และสามารถนิรมิตให้น้ำไหลออกจากส่วนต่างๆ
ของร่างกายได้ตามความปรารถนา
จากการเจริญเตโชกสิณ พระโยคาวจร มีอำนาจในการบังคับควันให้พุ่งออกมาจากส่วนต่างๆ
ของร่างกายได้ และให้ไฟลงมาจากสวรรค์ดุจฝนโปรยลงมา เขาสามารถบังคับไฟที่ออกมาจากร่างกายของคนอื่นโดยอาศัยความร้อนซึ่งออกมาจากร่างกายของเขาเอง
เขาสามารถบันดาลให้สิ่งใดๆ ก็ตามไหม้ไปได้ตามใจปรารถนา เขาสามารถสร้างแสงสว่างเพื่อมองเห็นรูปต่างๆ
เหมือนเห็นได้ด้วยตาทิพย์ และเมื่อเขาจะสิ้นลมหายใจ
เขาสามารถเผาร่างกายของเขาเองได้ในทันทีโดยอาศัยเตโชธาตุ
จากการเจริญวาโยกสิณ พระโยคาวจรย่อมมีอำนาจเคลื่อนไหวได้เร็วเหมือนลม สามารถบันดาลให้เกิดมีลมขึ้นมาและบันดาลให้ฝนตกเมื่อใดก็ได้ตามต้องการ
และสามารถทำให้ วัตถุใดๆ เคลื่อนที่จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้
จากการเจริญนิลกสิณ พระโยคาวจรสามารถแผ่รังสีให้โลกมีสีเขียวได้ตามใจปรารถนา
สามารถนิรมิตรูปสีเขียว และนิมิตความมืดให้เกิดขึ้น มีอำนาจเหนือวัตถุสีเขียว
ทุกอย่างไม่ว่า จะสะอาดหรือสกปรก และสามารถบรรลุสุภวิโมกข์ คือไม่มีความรู้สึกว่าเป็นของดี
จากการเจริญปีตกสิณ พระโยคาวจรสามารถแผ่สีเหลืองออกจากร่างกายของตนและแผ่กระจายไปทั่วโลก
สามารถนิรมิตรูปสีเหลืองขึ้นมาได้ สามารถเปลี่ยนวัตถุใดๆ ให้เป็นทองและมีอำนาจเหนือวัตถุสีเหลือง
โดยวิธีที่กล่าวมาแล้ว และได้บรรลุสุภวิโมกข์
จากการเจริญโลหิตกสิณ พระโยคาวจรสามารถแสดงสีแดงให้ปรากฏขึ้นมา
โดยวิธีเดียวกันกับที่ได้อธิบายแล้ว และได้บรรลุสุภวิโมกข์
จากการเจริญโอทาตกสิณ พระโยคาวจรสามารถนิรมิตรูปสีขาวขึ้นมาได้ ขจัดความง่วงนอน
ความหดหู่และเซื่องซึมได้ ขจัดความมืดได้ มีอำนาจเหนือวัตถุสีขาวทุกอย่าง
และได้บรรลุสุภวิโมกข์
จากการเจริญอาโลกกสิณ พระโยคาวจรสามารถนิรมิตแสงสว่างขึ้นมาได้
ทำรูปที่มีแสงสว่างให้เป็นรูปจริงขึ้นมา ขจัดความหดหู่และเซื่องซึมเสียได้
สามารถนิมิตแสงสว่างเพื่อเห็นรูปต่างๆ เหมือนกับเห็นได้ด้วยตาทิพย์
จากการเจริญอากาสกสิณ พระโยคาวจรสามารถมองเห็นวัตถุต่างๆ ซึ่งถูกปิดบังไว้
ทำให้สิ่งต่างๆ ที่หายไป หรือซ่อนไว้ปรากฏขึ้นมา สามารถมองทะลุเข้าไปในหิน
และแผ่นดินนั้น และนิรมิตอวกาศภายในนั้นและสามารถผ่านผนัง
และของที่เป็นก้อนแข็งอย่างอื่น
การมองเห็นกสิณเหล่านี้ทั้งหมดอย่างชัดเจนในจิต แบ่งออกไปตามสัด-ส่วนคือ
ข้างบน ข้างล่าง รอบๆ เป็นก้อนหรือไม่มีสอง หรือนับไม่ได้ เพราะว่าผู้ปฏิบัติบางคนอาจเพ่งพิจารณา
ปฐวีกสิณ และขยายขึ้นข้างบนหรือบนอากาศ บางคนอาจขยายลงข้างล่าง
บางคนอาจขยายไปทุกด้าน ดังนั้นเขาอาจขยายสัญลักษณ์ด้วยเหตุผลต่างๆ
เช่น ผู้ที่ปรารถนาจะเห็นรูปต่างๆ ด้วยตาทิพย์ ย่อมทำให้แสงสว่างแผ่กระจายไปได้
การมองเห็นอย่างชัดเจนซึ่งไม่มีขอบเขตจำกัด หรือเป็นหนึ่งเดียวเช่นนี้
ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่ากสิณชนิดหนึ่งไม่ปนกับอีกชนิดหนึ่ง (นั่นก็คือในกรณีที่มีการเห็นอย่างชัดเจน
แม้ว่ารูปเหล่านั้นจะแยกกันไม่ได้ในธรรมชาติดั้งเดิมของมันก็ตาม) หรือไม่มีสภาพของกสิณอื่น
เพราะว่าคนผู้ลงไปในน้ำย่อมพบน้ำอยู่รอบตัวเขาทุกทิศ และไม่ใช้
ธาตุอื่นใดนอกจากอาโปธาตุ ฉันใด ปฐวีกสิณก็ย่อมเป็นปฐวีกสิณอยู่ตลอดกาล
และไม่มีการ ผสมผสาน กับกสิณชนิดอื่นก็ฉันนั้น กสิณอื่นๆ นอกจากนี้ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน
ในการที่จิต แผ่ซ่านไปในนิมิตนี้ไม่มีขอบเขตจำกัดหรือคำนวนนับไม่ได้ เพราะว่าผู้ที่แผ่ขยายนิมิตนั้นย่อมไม่รู้ประมาณ
แต่จะแผ่ขยายไปยังสถานที่ทั้งหมด ลักษณะความเป็นสากลเช่นนี้ สอดคล้องกับ
ความหมายที่ได้อธิบายไว้แล้วในตอนที่ว่าด้วย “กสิณ” นั้น
บุคคลผู้ที่ไม่เหมาะสมกับการเจริญกสิณภาวนา
ในพระคัมภีร์อังคุตตรนิกายเราพบข้อความต่อไปนี้
“ผู้ที่มีกรรมชั่วตามสนอง หรือได้รับอิทธิพลของกรรมชั่วในอดีต และผู้ที่ยังมีความเคลือบแคลงสงสัย
ขาดความตั้งใจจริง ที่จะพยายามปฏิบัติธรรม และโง่เง่าตามธรรมชาติ ย่อมไม่สามารถได้รับความสำเร็จในการปฏิบัติธรรม
ในบรรดาคนเหล่านั้น ไม่มีใครได้รับความสำเร็จในการเจริญกสิณอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดากสิณ
๑๐ ยิ่งกว่านั้น ผู้ที่เป็นกระเทย หรือขันทีไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จในการเจริญกสิณได้
ไม่มีผู้ใดซึ่งอยู่ในประเภทที่กล่าวแล้วนี้ จะได้รับผลอย่างเดิมที่
นอกจากสภาพของเขาจะเปลี่ยนไปในชาตินี้หรือชาติหน้า เฉพาะผู้ที่
ประกอบด้วยคุณธรรมคือสัทธา ปัญญา และความตั้งใจนั้นเท่านั้น
จะสามารถเจริญกสิณสมาธิได้อย่างมีผลสำเร็จ ฌานที่ก่อให้เกิดขึ้นโดยการเจริญกสิณสมาธิย่อมจะนำไปสู่ทางแห่ง
วิปัสสนา และดังนั้นจะช่วยให้พระโยคาวจรได้ประสบความสำเร็จ และมีปัญญาอันสมบูรณ ซึ่งด้วยปัญญานี้
เขาจะบรรลุความสุขในพระนิพพาน
สารบัญ
No comments:
Post a Comment