Friday, July 29, 2016

บทที่ ๖ ศีลวิสุทธิ

บทที่ ๖

ศีลวิสุทธิ


เพราะสมาธิเป็นวิถีทางที่จะนำไปสู่ความหมดจดแห่งจิต สมาธิจึงเป็นธงชัยที่จะได้ ความบริสุทธิ์แห่งศีล ซึ่งเป็นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับสมาธิ คุณภาพที่แท้จริงของศีลตาม คำสอนในพระพุทธศาสนาอยู่ที่ว่า ศีลนั้นย่อมชำระจิตให้ปราศจากความโน้มเอียงไปทางฝ่ายต่ำ และ ชำระจิตให้สะอาด เพื่อสร้างความสว่างภายในคือความรู้ที่แท้จริงขึ้นมา  จิตซึ่งตามสภาพเดิมของตนมีลักษณะไม่แน่นอนยอมจำนนต่อสิ่งยั่วยุทุกอย่างในโลก และต่อความอยากตาม สัญชาตญาณฝ่ายต่ำนั้น เป็นธรรมชาติที่ควบคุมยากเมื่อมีสิ่งกระตุ้นฝ่ายสูงปรากฎขึ้นครั้งแรก ซึ่งเป็นเสมือนแขกแปลกหน้าผู้ไม่มีอำนาจใดๆ  โดยเหตุที่สมาธิเป็นวิถีทางที่จะก้าวข้ามวิญญาณสามัญไปสู่สภาพที่สูงขึ้น  จึงจำเป็นจะต้องมีการฝึกฝนและใช้ระเบียบวินัยในอดีตมาบังคับวิญญาณฝ่ายต่ำ และจำกัดกิจกรรมของมันจนกระทั่งยอมจำนนต่อทิศทางแห่งจิตที่สูงขึ้น  เพื่อจุดหมายข้อนี้เราจะต้องทำจิตให้มีเครื่องประดับคือคุณธรรมที่สูงขึ้น ซึ่งได้แก่ ศรัทธา สติ พละ และปัญญา และจะต้องประดิษฐานคุณธรรมเหล่านี้ไว้ในตำแหน่งที่จะไม่มีปรปักษ์ใดๆ มา ทำลายได้  ในแผนการฝึกฝนอบรมตนตามหลักพุทธศาสนา เราพบว่าการฝึกฝนตนในศีลเป็นสิ่งจำเป็นเบื้องต้นเพื่อบรรลุความก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไป  ดังนั้นในเบื้องต้นพระสาวกควรรักษาศีลอันเป็นการฝึกเบื้องต้นให้สมบูรณ์อย่างแท้จริง เพราะศีลเป็นขั้นต้นของวัฒนธรรมทางศาสนาที่สูงขึ้น ในพระคัมภีร์สังยุตตนิกาย ท่านกล่าวไว้ว่า  “อะไรเป็นขั้นต้นของ คุณธรรมที่สูงขึ้น ?” ศีลที่บริสุทธิ์บริบูรณ์เป็นขั้นต้นของคุณธรรมที่สูงขึ้น
ศีลมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเจริญสมาธิ เพราะศีลเป็นยารักษาความเดือดร้อนและความหวั่นไหวแห่งจิต ความเดือดร้อนและความหวั่นไหวแห่งจิตเป็นข้าศึกต่อสมาธิ  เพื่อจุดประสงค์ข้อนี้พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “ดูก่อนอานนท์ ผลและอานิสงส์แห่งศีล คือความ ปราศจากความเดือดร้อน” ยิ่งกว่านั้น ในอากังเขยยสูตร ท่านกล่าวไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ ใดปรารถนาจะได้บรรลุฌาน อันลึกซึ้ง เหนือวิสัยมนุษย์ เป็นวิญญาณขั้นสูง  อันจะนำไปสู่ชีวิตที่มีความสุข ให้ภิกษุนั้นรักษาศีลให้บริสุทธิ์ถ้าปรารถนา ความสงบ อิทธิฤทธิ์ ปัญญา ที่สูงขึ้น และการดับอาสวะทั้งหลาย ให้รักษาศีลให้บริสุทธิ์”
ศีลซึ่งมีลักษณะเป็นพื้นฐานในพระพุทธศาสนาย่อมบ่งบอกถึงคุณสมบัติที่ดี ซึ่งรวมอยู่ในคำสอนประเภทศีลธรรมและจรรยา เมื่อกล่าวอย่างเคร่งครัดแล้ว ศีลประการแรกทีเดียว ประกอบด้วยความมีสติ ซึ่งสร้างขึ้นโดยการงดเว้นความประพฤติที่ขาดศีลธรรม และประการที่ ๒ ประกอบด้วยความคิดซึ่งสัมพันธ์กับการรักษากฎซึ่งบัญญัติขึ้นเพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์แห่งศีล ศีลมีลักษณะเด่น ๒ อย่าง คือ
๑. สมาทานะ หมายถึง การรวมจิต และความคิดไว้ด้วยกัน
๒. อุปธารณะ หมายถึง การสนับสนุนหรือการยึดคุณสมบัติที่ดีไว้ด้วยกัน
ลักษณะของศีล ๒ อย่าง คือลักษณะลบและลักษณะบวก ท่านกำหนดไว้อย่างเด่นชัด ในทุกแง่มุมแห่งชีวิตทางศาสนา และทางจริยธรรม ในแง่มุมลบท่านเน้นการเว้นจากบาปทั้งหลาย (ซึ่งเป็นข้อห้าม) และ แง่มุมบวกท่านเน้นความจำเป็นในการสะสมความดี และการปฏิบัติหน้าที่ของตนให้สำเร็จลุล่วงไป พระสูตรทุกสูตรซึ่งท่านวางไว้ในส่วนที่เกี่ยวกับศีลทั้งหลายมีลักษณะ ๒ อย่างเหล่านี้ เช่น ข้อความที่ว่า
“๑.  เขางดเว้นการฆ่าสัตว์ วางตระบองและดาบไว้ข้างๆ
๒.  เขามีความเมตตาและกรุณา ดำรงชีพอยู่เพื่อประโยชน์และความสุขของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย”
ในตอนแรกของสูตรนี้ ท่านสอนให้คนเว้นจากการฆ่าสัตว์ทั้งหลาย ตอนที่สองสอนให้ คนรักสัตว์ทั้งปวง และสนับสนุนให้เขามีความสุข  ดังนั้นแง่ลบจึงมาก่อนแง่บวก แต่โดยทั่วไปแล้ว ทั้งสองอย่างอาศัยซึ่งกันและกัน คุณธรรมแง่ลบเป็นเบื้องต้นและเตรียมฐานะที่เหมาะสม สำหรับคุณธรรมแง่บวก แง่ลบมีคุณค่าในด้านถอนจิตออกจากวัตถุอื่นๆ ที่ไม่ใช่ความดี และแง่ดีย่อมรวบรวมจิตทั้งดวงเพื่อว่าจะได้บำเพ็ญประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เป็นไปได้   ดังนั้นการขจัดสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา เช่น ความโลภ ความพยาบาท เป็นต้น ออกไป และการสะสมทาน การบำเพ็ญประโยชน์ ไมตรีจิต เป็นต้น ทั้งหมดนี้จะต้องเข้าใจในความหมายทั่วๆ ไป ของคำว่า “ศีล” และทุกแห่งท่านเน้นถึงความสำคัญ ของศีลว่าเป็นการเตรียมตัวที่จำเป็นสำหรับ พระสาวกผู้เจริญสมาธิ
การสมาทานศีลจะแตกต่างกันไปตามแบบการดำเนินชีวิตของพระสาวก และในส่วนที่เกี่ยวกับชีวิตของสมณะ ในสามัญญาผลสูตร ท่านกล่าวถึงขั้นตอนการฝึกเบื้องต้นไว้ ๔ ขั้นตอน ดังนี้
๑. ศีละ การสงบกายวาจา
๒. อิทรยสังวระ การสำรวมอินทรีย์คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
๓. สติสัมปชัญญะ ความระลึกได้และความรู้สึกตัว
๔. สันตุฏฐิ ความพอใจตามความเหมาะสม
ตามที่ท่านกล่าวไว้ในพระสูตร การฝึกฝนอบรมที่มีมาก่อนในหลักทั้ง ๔ นี้ ก่อให้เกิด รูปแบบของการฝึกฝนทางศีลธรรม ซึ่งจำเป็นจะต้องมีมาก่อนสมาธิ มีคำอธิบายเกี่ยวกับหลัก ทั้ง ๔ นี้ อย่างกว้างขวางในนิกายทั้งหลาย และการฝึกฝนที่เป็นระบบท่านกล่าวไว้ในทันตภูมิสูตร ในอรรกถาทั้งหลาย ท่านกล่าวถึงการฝึกฝนจิตให้มีศีลโดยทั่วๆ ไปในหัวข้อต่อไปนี้
๑. ปาฎิโมกขสังวระ     การสำรวมระวังในพระปาฏิโมกข์
๒. อินทรยสังวระ    การสำรวมระวังอินทรีย์
๓. อาชีวปาริสุทธิ    การมีการครองชีพที่บริสุทธิ์
๔. ปัจจัยสันนิสสิตะ    การมีปัจจัยบริสุทธิ์
พระคัมภีร์วิสุทธิมรรคได้อธิบายหลักทั้ง ๔  นี้โดยละเอียดในตอนที่กล่าวถึงความบริสุทธิ์แห่งศีล ซึ่งจะต้องมีก่อนสมาธิอันเป็นวิธีการพัฒนาจิต
ปาฎิโมกขะ
กฎและระเบียบในการฝึกฝนตนให้มีศีล ซึ่งท่านกล่าวไวัในนิกายทั้งหลายว่าเป็นหลักพื้นฐานของการดำรงชีพตามหลักพุทธศาสตร์นั้น ท่านอธิบายไว้ในพระวินัยปิฎก    ในตอนที่ว่าด้วยหลักพิเศษคือข้อห้ามและข้อควรทำ ซึ่งจะควบคุมการเป็นอยู่ในวัดวาอาราม ซึ่งมุ่งหมายให้เป็นการเตรียมตัวเพื่อการดำรงชีพของผู้เข้าฌาน กฎเหล่านี้เรียกว่าปาฎิโมกข์ และทั้งหมดมี ๒๒๗ ข้อด้วยกัน การฝึกฝนอบรมตนในปาฏิโมกข์ทั้งหมดนี้ย่อมก่อให้เกิดความบริสุทธิ์แห่งศีล ซึ่งสรุปรวมลงในหลัก ๓ อย่าง คือสัมมาวาจา สัมมากัมมนตะ และ สัมมาทิฏฐิ พระสาวกผู้ปฏิบัติตนตามหลักทั้ง ๓ นี้ ย่อมได้รับพลังที่เพียงพอสำหรับความบริสุทธิ์แห่งศีล
เมื่อเขาสมาทานศีลอย่างสมบูรณ์ด้วยความเชื่อมั่นและความเคารพต่อศีลในพระปาฎิโมกข์ ไม่ยอมละเมิดศีลแม้จะต้องเสี่ยงต่อชีวิต
สมดังที่ท่านกล่าวไว้ในพระคัมภีร์วิสุทธิมรรคว่า “ในการปฏิบัติตามพระปาฏิโมกข์ให้ บริสุทธิ์ขอให้ชีวิตจงถูกทำลายไป จงอย่าละเลยหลักแห่งคุณธรรม ซึ่งพระพุทธเจ้าพระบรมครู ของโลกได้ทรงบัญญัติไว้”

การสำรวมอินทรีย์

เมื่อพระสาวกผู้ปฏิบัติตนด้วยความเคารพต่อพระปาฎิโมกข์ได้บรรลุถึงความเป็นผู้มี ศีลบริสุทธิ์ พระสาวกนั้นจะต้องควบคุมอินทรีย์ของตน เพราะว่าการฝึกฝนอบรมตนในการ ควบคุมตนเองนั้นเป็นเรื่องจำเป็นในการรักษาไว้ซึ่งศีลธรรม เมื่อชีวิตของคนเรามีระเบียบวินัย จิตที่มีสภาพสูงขึ้น ย่อมมีความรับผิดชอบและอิทธิพลของจิตดังกล่าว จะตั้งมั่นและมีปรากฎใน การกระทำซึ่งทำไปตามกฎนั้นๆ จิตที่ไม่ตั้งมั่นในสติในเรื่องการสำรวจอินทรีย์ทั้งหลายอาจถูก สิ่งยั่วเย้าภายนอกมารบกวน สิ่งยั่วเย้าเหล่านี้อาจทะลวงเข้าไปในจิตผ่านประตูคืออายตนะ และพิสูจน์แหล่งที่มาแห่งความชั่วทั้งหลาย
เมื่อจิตสละออกจากธรรมชาติฝ่ายต่ำและเป็นธรรมชาติที่ตี่นเต้นได้อย่างง่ายแล้ว จิตย่อมไม่ทำสิ่งใดๆ ที่ไม่น่าปรารถนาไม่ว่ากรณีใดๆ ในขั้นนี้เอง พระสาวกสามารถควบคุม ความคิดของตนได้ พระสาวกจะสามารถมีอำนาจควบคุมความคิดได้ก็โดยการเหนี่ยวรั้ง และการควบคุมอย่างเต็มที่ซึ่งอายตนะภายในคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ และพฤติกรรม ของอายตนะเหล่านี้ เมื่อพระสาวกถอนจิตออกจากวัตถุภายนอกทั้งหลาย และมีสติคอยควบคุม อยู่ก็เป็นที่แน่นอนว่า จะควบคุมอายตนะภายในของตนได้ และแล้วความบริสุทธิ์อันเกิดจาก   การสำรวมในพระปาฎิโมกข์ก็ย่อมจะได้รับการรักษาไว้ได้อย่างดี
“จงควบคุมอายตนะภายในอย่าให้ติดอยู่กับวัตถุภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เมื่อพบประตูที่ปิดและที่ได้รับการคุ้มครองอย่างดี สิ่งเหล่านี้จะหลีกหนีไปจากท่าน เหมือนโจรหนีหมู่บ้านที่มีการคุ้มครองอย่างดีฉะนั้น”  

อาชีวบริสุทธิ (ความบริสุทธิ์แห่งการคุรองชีพ)

พระสาวกผู้มีความชำนาญในการฝึกฝนตนในพระปาฎิโมกข์ เมื่อควบคุมพฤติกรรม ทางร่างกายและทางจิต ย่อมมีชีวิตที่บริสุทธิ์และดีเลิศ ในกรณีนี้เขาจะเว้นจากวิถีทางการดำรงชีพที่ผิด ซี่งทำให้เขาละเมิดกฎที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เพื่อให้มีอาชีพอันบริสุทธิ์ เขาจะหลีกเลี่ยงเล่ห์เหลี่ยมกลอุบายทั้งสิ้นเลี่ยงคำพูดที่โอ้อวด การพูดกระทบกระเทียบ เปรียบเปรย และวิถีทางผิดๆ ทั้งหลายเพื่อสนองความต้องการประจำวัน อาชีวปสุทธิเป็น  ธรรมจำเป็น สำหรับพระสาวกผู้ปรารถนาจะเจริญสมาธิ บุคคลจะมีอาชีวบริสุทธิได้ก็โดยอาศัย ความพยายามที่จะงดเว้นการดำรงชีพที่ผิด และอาศัยปัจจัยทั้งหลายซึ่งได้มาอย่างถูกต้อง เมื่อพระสาวกผู้ไม่ตั้งใจรักษากฎและระเบียบทั้งหลายได้รับสิ่งที่ต้องการต่างๆ จากชุมชนหรือ จากทายกผู้เลื่อมใสในการปฏิบัติของตน การดำรงชีพที่ได้มาดังนั้นของพระสาวก อาจถือว่า เป็นการดำรงชีพที่บริสุทธิ์ได้แต่ปัจจัยทั้งหลายที่ได้มาจากบิณฑบาดตามหลักในพระพุทธศาสนา เป็นปัจจัยที่บริสุทธิ์ และเหมาะสมอย่างแท้จริงสำหรับผู้ที่เป็นอนาคริก คือไม่ครองเรือน

ปชฺจยปริสุทฺธิ (ความบริสุทธิ์แห่งปัจจัย)

พระพุทธเจ้าทรงดำเนินการอบรมพระสาวกตามแนววิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง และความประจักษ์อันเกิดจากการทดลอง เป็นวิธีที่พระองค์ทรงปฏิบัติเสมอมา เพราะพระองค์ ทรงทดสอบการใช้ระบบต่างๆ ด้วยการปฏิบัติจริง พระองค์ทรงแสดงหลักวินัยทางศาสนา อย่างครบถ้วน ทรงคำนึงถึงประสบการณ์ส่วนพระองค์และทรงใช้แม้แต่สิ่งเล็กน้อยซึ่งมีส่วนช่วยได้ ในฐานะเป็นกิจกรรมของวิญญาณที่ลึกซึ้งที่สุด สมาธิจำเป็นต้องมีหลักสูตรที่แน่นอนในการฝึกร่างกายในขั้นแรกเริ่ม เพราะความรู้ที่สูงขึ้นเกี่ยวกับประสบการณ์ทางจิตจะปรากฎใน บุคคลได้ก็โดยการพัฒนาจิตซึ่งมีอยู่ในบุคคลนั้น
ยิ่งกว่านั้น โดยเหตุที่ร่างกายเป็นเครื่องมือสำหรับการแสดงออกซึ่งพลังเช่นนั้น เครื่องมือนั้น หรือองค์กรนั้น ยิ่งมีความสมบูรณ์ก็ยิ่งสามารถแสดงออกซึ่งพลังที่มีอยู่ในมัน ความก้าวหน้าและการบรรลุทุกอย่าง ย่อมแสดงถึงส่วนช่วยเหลือในการพัฒนา และดังนั้นสิ่งที่ต้องการประการแรก คือจะต้องมีร่างกายสมบูรณ์ คือปรับปรุงให้สมบูรณ์และเหมาะสมกับกฎ ทางกายและทางจิต จนถึงกับไม่หวั่นไหวเมื่อถูกกิเลสและอารมณ์ฝ่ายต่ำมากระทบ ดังนั้น สุขภาพทางร่างกายจึงมีส่วนสำคัญต่อชีวิตแบบนี้อย่างมาก
ในเรื่องนี้เอง ที่พระพุทธศาสนาเน้นเรื่องความบริสุทธิ์ ความยากจน และการเคารพกฎซึ่งพระพุทธเจ้าทรงวางไว้ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัจจัยที่จำเป็นในชีวิตประจำวันของ พระสาวกผู้ดำรงชีพอยู่ตามหลักพระพุทธศาสนา ปัจจัยที่ทรงอนุญาตไว้สำหรับพระสงฆ์ คือจีวร (เครื่องนุ่งห่ม) บิณฑบาต(อาหารที่ได้รับจากการไปบิณฑบาด) เสนาสนะ(ที่อยู่อาศัย) และ เภสัช (ยารักษาโรค)
๑. เครื่องนุ่งห่ม
โยคี หรือ ฤๅษี ในยุคโบราณนุ่งห่มหนังสัตว์ เช่น เสือโคร่ง เสือดาว และกวาง บางคน สวมเปลือกต้นไม้ ในบรรดาพวกที่นับถือศาสนาเชน บางพวกก็เปลือยกายบางพวกก็สวมเสื้อ ผ้าสีขาว พระพุทธเจ้าทรงห้ามสิ่งเหล่านี้ และทรงวางกฎไว้ว่าพระสาวก (ภิกษุ)    ของพระองค์ ควรสวมเสื้อผ้าที่ไม่มีค่าใดๆ ทำขึ้นมาโดยเอาผ้าขี้ริ้วที่เขาทิ้งแล้วมาเย็บรวมกัน ซึ่งเรียกว่า “ผ้าบังสุกุล” ตามศัพท์หมายถึงผ้าที่ได้มาหลังจากปัดดินและฝุ่นออกไป (ตามที่ทรงบรรยายไว้ ในธุดงควัตร)  ภายหลังต่อมา พระองค์ทรงประทานเสรีภาพอย่างมาก พระองค์ทรงอนุญาตให้ นุ่งห่มจีวรสีเหลืองหรือสีกรักแบบง่ายๆ โดยการตัดเป็นชิ้นๆ ก่อนและนำมาเย็บเข้าด้วยกัน เพื่อจะได้ไม่เสียค่าใช้จ่ายทางการค้า เครื่องนุ่งห่มประกอบด้วยจีวร ๑ ผืน สบง ๑ ผืน และสังฆาฏิ ๑ ผืน เพื่อปกคลุมร่างกายทุกส่วนนอกจากศีรษะ
เครื่องนุ่งห่มเหล่านี้มีชื่อเรียกว่า “กาสาวะ” คือผ้าที่ย้อมฝาด พระภิกษุ และสามเณร ไม่ควรมีมากกว่า ๑ ชุด ซึ่งทรงอนุญาตไว้ตามสภาพร่างกาย พระภิกษุควรมีสมบัติ คือ บริขาร ๘ อย่าง ได้แก่ ไตรจีวร ประคดเอว บาตร มีดโกน เข็มเย็บผ้า และเครื่องกรองน้ำ  สิ่งเหล่านี้ เท่านั้นที่จะเป็นสัมภาระที่พระภิกษุจะต้องติดตัวไปทุกหนทุกแห่ง ดุจนกนำปีกของตนไปทุกแห่ง ฉะนั้น ในกรณีพิเศษเฉพาะ พระภิกษุจะมีไม้เท้า ๑ อัน รองเท้า ๑ คู่ เสื่อเล็ก ๑ ผืน และร่ม ๑ คันก็ได้ และควรใช้สิ่งเหล่านี้ด้วยความมีสติระลึกได้ถึงประโยชน์ของสิ่งเหล่านี้ สมดังข้อความที่ท่านกล่าวไว้ข้างล่าง
“ในขณะที่พิจารณาอย่างถูกต้องนั้น พระภิกษุนุ่งสบงทรงจีวร เพื่อขจัดความหนาว ความร้อน และกันเหลือบ ยุง ลม แสงแดด และสัตว์เลื้อยคลาน และเพื่อมิให้เปลือยกาย”
๒. การฉันอาหาร
พระภิกษุผู้อุทิศชีวิตเพื่อเจริญสมาธิควรมีร่างกายที่เหมาะสมแก่การปฏิบัติ โดยการรับประทานพอประมาณและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงรู้จักประมาณในการฉันภัตตาหาร ในขณะที่พิจารณา อย่างถูกต้องถึงจุดประสงค์ของอาหารนั้น จงรับอาหารไม่ใช่เพื่อความมีเสน่ห์ส่วนตัว ไม่ไช่เพื่อ ความงามส่วนตัว แต่เพื่อดำรงไว้ซึ่งร่างกายเพื่อดับความกระหาย เพื่อช่วยให้ปฏิบัติธรรม โดยพิจารณาดังนี้ ด้วยอาหารนี้ ข้าพเจ้าจะระงับความรู้สึกหิว และไม่มีความรู้สึกเจ็บปวด (อันเนื่องมาจาการรับประทานโดยไม่รู้จักประมาณ) และข้าพเจ้าจะปราศจากการตำหนิและจะมีความสุข”
ผู้ที่ฝึกตนในการรับประทานอาหารพอประมาณ ย่อมปราศจากนิวรณ์ เนื่องจากความบริสุทธิ์สะอาดแห่งเพดาน  ความรู้จักประมาณในการบริโภคอาหารย่อมป้องกันไม่ให้เกิดการทรมานตัวเอง และเป็นหลักประกันในเรื่องความสะดวกสบายในร่างกายในขณะที่รับบิณฑบาต เช่นเดียวกับคนป่วยรับยารักษาโรค เขาย่อมไม่อนุญาตให้กิเลสผ่านเข้าไปในจิตของตน ในขณะที่ได้รับประโยชน์จากร่างกายที่สมบูรณ์ และมีสมดุลดีไม่มีความไม่พอใจ เขาย่อมขจัดความง่วงเหงาหาวนอน และความไม่สบายใจเสียได้  การรับประทานอาหารพอประมาณ ย่อมส่งเสริมความแข็งแรงในร่างกาย  ซึ่งมีส่วนร่วมกับความสงบทางจิต ดังนั้นท่านจึงกล่าวไว้ดังนี้ว่า  “เมื่อรับประทานอย่างเพียงพอแล้ว ยังรับประทานได้อีก ๔ หรือ ๕ คำ ให้ดื่มน้ำ เพราะว่าเท่านี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับภิกษุผู้สละตนเองเพื่อการเจริญสมาธิ”
หลักในการควบคุมอาหารท่านอธิบายไว้อย่างละเอียดในพระไตรปิฎก และท่านวางกฎ ไว้หลายอย่างในพระวินัย มีกฎเกี่ยวกับปริมาณและลักษณะของอาหาร  และเกี่ยวกับเวลา และอาการที่จะต้องถือปฏิบัติ การสำรวมในการรับประทานอาหาร ย่อมบ่งบอกถึงมารยาทที่ดีด้วย เพราะมีหลักปฏิบัติว่าพระภิกษุควรหลีกเลี่ยงนิสัยที่น่ารังเกียจและไม่น่าเจริญใจในการ ฉันภัตตาหาร
๓. ที่อยู่อาศัย
ที่ที่เงียบสงัดในป่า ที่โคนต้นไม้ หรือที่อื่นใดที่เปลี่ยว เป็นที่ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จใน การชนะตนเองและบรรลุถึงความสมบูรณ์ พระพุทธเจ้าเองในขณะที่ทรงแสวงหาทางบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณนั้น ประทับอยู่พระองค์เดียวห่างจากโลกภายนอก และทรงใช้เวลา เจริญสมาธิในป่า ในถ้ำและใต้ต้นไม้ ดังนั้นจึงเป็นธรรมดาที่ว่าพระองค์ควรแนะนำที่เช่นนั้นแก่พระสาวกของพระองค์ดังต่อไปนี้ “ภิกษุทั้งหลาย มีต้นไม้มากมาย มีที่ที่เปลี่ยวมากมาย จงไป เจริญสมาธิ ณ ที่นั้น”    ,
แต่เพื่อประโยชน์สำหรับผู้อื่น พระพุทธองค์ทรงแนะนำที่หลีกเร้นและทรงวางกฎอันเป็นแนวทางที่จะดำเนินการในที่นั้น มีอันตรายหลายอย่าง ซึ่งอาจเกิด ขึ้นแก่พระสาวกผู้อยู่ใน สนามกลางแจ้ง หรือใต้ต้นไม้ หรือในที่กลางแจ้งอื่นๆ ที่เช่นนั้น ไม่มีประตูที่จะคุ้มกันตนจาก อันตรายหรือจากการเห็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมทั้งหลาย ตามที่พระพุทธองค์ทรงอธิบายไว้ในพระวินัย พระองค์ทรงอนุญาตให้พระสาวกรับที่อยู่อาศัยที่สมควรและในขณะที่ใช้สถานที่นั้น ควรจะรู้ และพิจารณาถึงจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของสถานที่นั้นๆ โดยตระหนักว่าในที่นั้นไม่มีอันตรายใดๆ ที่จะทำให้ลำบาก หรือเป็นเครื่องขัดขวางสมาธิของตน
๔. ยารักษาโรค
ในกรณีที่พระสาวกอาพาธ พระสาวกควรฉันยารักษาโรค ตามคำแนะนำของแพทย์ แต่ต้องเป็นไปตามพระวินัย ควรฉันเฉพาะยาซึ่งทำจากแหล่งที่ปราศจากโทษและควรพิจารณา ถึงจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของยา คือเพื่อขจัดความเจ็บปวดซึ่งเกิดจากความป่วยไข้และความวิปริตในร่างกาย
ด้วยการใช้ปัจจัย ๔ เหล่านี้ พระสาวกย่อมมีความบริสุทธิ์ในเรื่องปัจจัย ๔ ซึ่งใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะเป็นสิ่งจำเป็นแก่การอยู่ดีกินดีและการเป็นอยู่ที่ปราศจากกิเลสตัณหา
สารบัญ

Tuesday, July 26, 2016

บทที่ ๕ อารมณ์กรรมฐานและวิธีปฏิบัติกรรมฐาน

บทที่ ๕

อารมณ์กรรมฐานและวิธีปฏิบัติกรรมฐาน

ในบทก่อนๆ ได้กล่าวถึงประเด็นต่างๆ ที่ยืนยันว่าเป็นหลักของสมาธิในพระพุทธศาสนา  ตามที่ท่านอธิบายไว้ในพระคัมภีร์ทั้งหลาย
จุดมุ่งหมายในการฝึกจิตก็เพื่อชำระจิตให้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลสและความชั่วทั้งหลาย เพื่อสร้างพลังที่แท้จริงขึ้นเพื่อบรรลุถึงความรู้ที่สมบูรณ์บริบูรณ์ ซึ่งเป็นวิธีที่จะพ้นทุกข์พ้นโศก ไปเสียได้
อนึ่ง การฝึกจิตในพระพุทธศาสนา ได้แก่การฝึกให้คิดให้ประณีตยิ่งขึ้น ฝึกให้มีอุดมคติ อันสูง และการควบคุมจิตให้อยู่ในหลักแห่งศีลธรรมและคุณธรรม จิตที่ถูกส่งไปจดจ่ออยู่กับ การรับรู้สิ่งดีๆ ทั้งหมดนั้นจะเป็นจิตที่ผ่องใส และแผ่ซ่านไปตามธรรมชาติเดิมของตน
ดังนั้น ในเบื้องต้น จำเป็นจะต้องรวบรวมความสนใจไปสู่วัตถุสิ่งหนึ่งหรืออารมณ์ อย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งปราศจากกิเลส เพื่อที่จะได้มโนภาพที่บริสุทธิ์ พระโยคาวจรรักษามโนภาพนี้ไว้เป็นอุดมคติของตน และฝึกจิตให้เพ่งอยู่กับมโนภาพนั้น จิตจะมีสภาพบริสุทธิ์ หรือไม่บริสุทธิ์ ไม่ใช่เพราะธรรมชาติของมันเอง แต่เพราะการเกิดขึ้นแห่งความคิดที่บริสุทธิ์ หรือไม่บริสุทธิ์  ดังนั้นอารมณ์ที่จะรักษาไว้ซึ่งความสนใจขั้นต้นจะต้องสัมพันธ์กับความบริสุทธิ์  คุณธรรมและความจริง ยิ่งกว่านั้น อารมณ์หรืออุดมการณ์ ซึ่งเลือกสรรสำหรับสมาธิจะเป็น อารมณ์ประเภทที่จะก่อให้เกิดผลทางด้านจิตวิทยา ซึ่งเหมาะที่จะเป็นอารมณ์เฉพาะของผู้บำเพ็ญสมาธิ
พระคัมภีร์ทั้งหลายบันทึกไว้ว่า พระพุทธเจ้าทรงทราบอย่างชัดแจ้งถึงอารมณ์ทางจิต ซึ่งมีหลายหลาก และความโน้มเอียงภายในของผู้ที่แสวงหาความหลุดพ้น และทรงเสนอวิธีต่างๆ ให้ผู้แสวงหาความหลุดพ้นเหล่านั้น และวิธีเหล่านี้พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญมาแล้วอย่างดี เพราะจำเป็นจะต้องขยายโอกาสการฝึกตามระบบนี้ไปสู่จิตหลายดวง
วิธีฝึกจิตเหล่านี้ต่อมาได้รับการเปลี่ยแปลงปรับขยาย และจัดเป็นกลุ่มโดยวิธีต่างๆ  ซึ่งก่อให้เกิดแผนการเจริญสมาธิแบบต่างๆ ขึ้นตามผลและคุณค่าที่เกิดขึ้นทางจิตวิทยา รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดวิญญาณที่มีระดับสูงขึ้น และความเหมาะสมกับอุปนิสัยของแต่ละบุคคล วิธีเหล่านี้ท่านกล่าวไว้ในพระคัมภีร์นิกายต่างๆ ในคัมภีร์พระอภิธรรมและในอรรถกถาทั้งหลาย นอกเหนือจากคัมภีร์ต่างๆ ที่กล่าวถึงสมาธิในรูปแบบที่นำมาปฏิบัติกันและมีอยู่ในฝ่ายเถรวาท
เพื่อความกระจ่างและความสะดวก ขอนำเอาวิธีเจริญสมาธิมาแสดงตามลำดับดังต่อไปนี้
๑.วิธีที่พบในคัมภีร์นิกายต่างๆ
๒.วิธีที่พบในพระคัมภีร์พระอภิธรรม  
๓.วิธีที่พบในหนังสือที่พระพุทธโฆษาจารย์นิพนธ์ (เช่น วิสุทธิมรรค และคัมภีร์อื่น ๆ)
๑  วิธีที่พบในคัมภีร์นิกายต่างๆ
วิธีเจริญสมาธิในคัมภีร์นิกายทั้งหลายท่านกล่าวไว้ ๒ วิธี คือ วิธีปฏิบัติที่เป็นเสมือน คำแนะนำที่เหมาะสมกับอุปนิสัยเฉพาะอย่างของแต่ละบุคคล และวิธีปฏิบัติที่มีคำอธิบาย  อย่างละเอียดถึงระบบการฝึกสมาธิทั่วๆไป คัมภีร์ฌาณวรรคในอังคุตตรนิกาย ตอนที่ว่าด้วย เอกนิกายให้รายชื่ออย่างพิสดาร ซึ่งพบในนิกายทั้งหลายที่กล่าวถึงเรื่องต่างๆ ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงเสนอแนะไว้  ซึ่งมีดังต่อไปนี้
๑. ฌาน ๔
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เจริญปฐมฌาน แม้ชั่วขณะหนึ่ง คือแม้เพียงชั่วลัดมือเดียว ก็ได้ชื่อว่าเป็นภิกษุผู้คุ้นเคยอยู่กับฌาน ผู้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ผู้ปฏิบัติตามคำแนะนำของพระพุทธเจ้า และผู้สมควรได้รับอาหารบิณฑบาต ซึ่งชาวเมืองหรือผู้มีศรัทธาถวาย”
ข้อความเช่นนี้ใช้ได้กับฌานอื่นๆ อีก ๓ อย่าง และมีหัวข้อธรรมต่อไปนี้เหมือนกัน คือ
๒. หัวข้อธรรม ๔ อย่าง ซึ่งเรียกว่า พรหมวิหาร ๔ คือ
๒.๑ เมตตา - เจโตวิมุตติ - สมาธิที่เกิดจากเมตตารักใคร่
๒.๒ กรุณา - เจโตวิมุตติ - สมาธิที่เกิดจากความกรุณาสงสาร
๒.๓ มุทิตา - เจโตวิมุตติ - สมาธิที่เกิดจากความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี
๒.๔ อุเปกขา - เจโตวิมุตติ - สมาธิที่เกิดจากความวางเฉย
๓. สติปัฎฐาน คือที่ตั้งแห่งสมาธิ ๔ อย่าง
๓.๑ กายานุปัสสนา - การพิจารณาเห็นกาย
๓.๒ เวทนานุปัสสนา - การพิจารณาเห็นความรู้สึก
๓.๓ จิตตานุปัสสนา - การพิจารณาเห็นจิต
๓.๔ ธัมมานุปัสสนา - การพิจารณาเห็นธรรม
พระอรรถกถาจารยกล่าวไว้ว่า มีพระภิกษุบางรูปเบื่อหน่ายต่อการฟังอัคคิขันโธปมสูตร  ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงอธิบายถึงผลร้ายที่จะเกิดขึ้นแก่พระภิกษุชั่วทั้งหลายผู้รับปัจจัยจากชาวบ้านแล้วไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตน ท่านกล่าวไว้เพื่อปลอบใจภิกษุชั่วทั้งหลายเหล่านั้นว่า พระพุทธองค์ทรงเทศนาพระสูตรเหล่านี้ โดยวิธีนี้เพื่อจะทรงเสนอแนะว่า การเจริญสมาธิเป็นหน้าที่ของภิกษุทั้งหลาย
๔. ความพยายามชอบ ๔ อย่าง
๔.๑ สัมมัปปธาน - ความพยายามชอบเพื่อที่จะป้องกันมิให้ความคิดชั่วเกิดขึ้น
๔.๒ สัมมัปปธาน - ความพยายามชอบเพื่อที่จะป้องกันความคิดชั่วที่เกิดขึ้น แล้วมิให้ตั้งมั่นอยู่ได้
๔.๓ สัมมัปปธาน - ความพยายามชอบ เพื่อที่จะส่งเสริมให้ความคิดดีเกิดขึ้น
๔.๔ สัมมัปปธาน - ความพยายามชอบเพื่อที่จะเพิ่มพูนความคิดดีที่เกิดขึ้นแล้ว
๕. อิทธิบาท คือฐานที่ก่อให้เกิดพลังจิต ๔ อย่าง
๕.๑ ฉันทะอิทธิบาท สมาธิที่เจริญด้วยความพอใจ
๕.๒ วิริยะอิทธิบาท  สมาธิที่เจริญด้วยความเพียร
๕.๓ จิตตะอิทธิบาท สมาธิที่เจริญด้วยความคิด
๕.๔ วิมังสาอิทธิบาท สมาธิที่เจริญด้วยความไตร่ตรอง
๖. อินทรีย์ ๕
๖.๑ สัทธินทรีย์ = ความเป็นใหญ่ด้วยความเชื่อ
๖.๒ วิริยินทรีย์ = ความเป็นใหญ่ด้วยความเพียร
๖.๓ สตินทรีย์ =  ความเป็นใหญ่ด้วยสติคือความระลึกได้
๖.๔ สมาธินทรีย์ = ความเป็นใหญ่ด้วยสมาธิ
๖.๕ ปัญญินทรีย์ = ความเป็นใหญ่ด้วยปัญญา
๗. พลัง ๕
๗.๑ สัทธาพลัง = พลังแห่งความเชื่อ
๗.๒ วิริยพลัง    = พลังแห่งความเพียร
๗.๓ สติพลัง =     พลังแห่งสติ
๗.๔ สมาธิพลัง = พลังแห่งสมาธิ
๗.๕ ปัญญาพลัง = พลังแห่งปัญญา
๘. ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ ๗
๘.๑ สติสัมโพชฌงค์ = สติเป็นองค์แห่งการตรัสรู้
๘.๒ ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ = การสอบสวนธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้
๘.๓ วิริยสัมโพชฌงค์ = พลังเป็นองค์แห่งการตรัสรู้
๘.๔ ปิติสัมโพชฌงค์ = ความอิ่มใจเป็นองค์แห่งการตรัสรู้
๘.๕ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ = ความสงบเป็นองค์แห่งการตรัสรู้
๘.๖ สมาธิสัมโพชฌงค์ = ความมีจิตแน่วแน่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้
๘.๗ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ = ความวางเฉยเป็นองค์แห่งการตรัสรู้
๙. มรรคมีองค์ ๘
๙.๑ สัมมาทิฏฐิ = ความเห็นชอบ
๙.๒ สัมมาสังกัปปะ = ดำริชอบ, ตั้งใจไว้ชอบ
๙.๓ สัมมาจาวา = วาจาชอบ
๙.๔ สัมมากัมมันโต= การงานชอบ
๙.๕ สัมมาอาชีโว = เลี้ยงชีวิตชอบ
๙.๖ สัมมาวายาโม = ความพยายามชอบ
๙.๗ สัมมาสติ = ความระลึกชอบ
๙.๘ สัมมาสมาธิ = สมาธิคือความแน่วแน่แห่งจิตที่ชอบ
(ธรรม ๗ หมวด คือ หมวดที่ ๓ ถึง หมวดที่ ๙ มีหลักธรรม ๓๗ ประการ มีชื่อว่า โพธิปักขิยธรรม (คือธรรมที่เป็นส่วนประกอบให้ได้ตรัสรู้)
๑๐. ขั้นตอนแห่งการบรรลุถึงความหลุดพ้น ๘ อย่าง
๑๐.๑ เมื่อมีฌานซึ่งได้บรรลุด้วยรูปวัตถุในภายใน คือสิ่งที่เรียกว่า กสิณ พระโยคาวจร ย่อมเห็นรูปกสิณ ที่คล้ายคลึงกันในภายนอก
๑๐.๒ เมื่อไม่มีฌานซึ่งเกิดจากรูปกสิณในภายใน พระโยคาวจรย่อมเห็นรูปกสิณ ภายนอก
๑๐.๓ พระโยคาวจรจดจ่ออยู่กับความคิดที่ว่า “ดี”
๑๐.๔ พระโยคาวจรเมื่อภาวนาพ้นขอบเขตของรูปสัญญา และไม่มีสัญญา ต่อต้านคือปฏิฆสัญญาไม่สนใจกับความหมายรู้ใดๆ คิดเพียงว่า “อวกาศ ไม่มีที่สิ้นสุด” ย่อมบรรลุและตั้งอยู่ในอวกาศอันหาที่สุดมิได้
๑๐.๕ เมื่อพิจารณาเลยอวกาศอันหาที่สุดมิได้ด้วยคิดว่า “วิญญาณไม่มีที่สิ้นสุด” ย่อมบรรลุ และตั้งอยู่ในภูมิแห่งวิญญาณอันหาที่สุดมิได้ ปราศจากสิ่งใดๆ นั่นก็คือ อวกาศนั่นเอง
๑๐.๖ เพราะพิจารณาเลยวิญญาณอันหาที่สุดมิได้ และคิดว่า “ไม่มีสิ่งใดเลย” พระโยคาวจรย่อมบรรลุ และตั้งอยู่ในภูมิแห่งความไม่มีสิ่งใด คือปราศจาก วิญญาณ
๑๐.๗ เพราะผ่านภูมิแห่งความไม่มีสิ่งใด พระโยคาวจรย่อมบรรลุ และตั้งอยู่ใน ภูมิที่จะกล่าวว่ามีวิญญาณก็ไม่ใช่ ไม่มีวิญญาณก็ไม่ใช่
๑๐.๘ เมื่อผ่านภูมิที่ว่ามีวิญญาณก็ไม่ใช่ ไม่มีวิญญาณก็ไม่ใช่ พระโยคาวจร ย่อมบรรลุและตั้งอยู่ในภูมิดับ (นิโรธ) คือดับสัญญา และเวทนาเสียได้
๑๑. ขั้นตอนแห่งความเป็นใหญ่ในการควบคุม (อภิภายตนะ) ๘ อย่าง
       ๑๑.๑ เพราะมีรูปสัญญาในภายใน พระโยคาวจรย่อมเห็นรูปภายนอก ซึ่งจำกัด สีสวยหรือไม่สวยก็ตาม ควบคุมรูปสัญญาเหล่านั้นได้แล้ว ย่อมคิดว่า “ข้าพเจ้ารู้ ข้าพเจ้าเห็น” พระโยคาวจรเข้าใจดังนี้
๑๑.๒ เพราะมีรูปสัญญาในภายใน พระโยคาวจรย่อมเห็นรูปภายนอก ซึ่งไม่มี ขอบเขตจำกัด มีสีสวยหรือไม่สวยก็ตาม เมื่อควบคุมรูปสัญญาเหล่านั้น ได้แล้ว ย่อมคิดว่า “ข้าพเจ้ารู้ ข้าพเจ้าเห็น” พระโยคาวจรเข้าใจดังนี้
๑๑.๓ เพราะไม่มีรูปสัญญาในภายใน พระโยคาวจรย่อมเห็นรูปภายนอก ซึ่งจำกัด มีสีสวยงาม หรือไม่มีสวยงามก็ตาม หลังจากควบคุมรูปเหล่านั้นได้แล้ว เมื่อคิดคำนึงว่า “ข้าพเจ้ารู้ ข้าพเจ้าเห็น” ย่อมเข้าใจดังนี้
๑๑.๔ เพราะไม่มีรูปสัญญาในภายใน พระโยคาวจรย่อมเห็นรูปในภายนอก ซึ่งไม่มีจำกัด มีสีสวยหรือไม่สวยก็ตาม หลังจากควบคุมรูปเหล่านั้นได้แล้ว เมื่อคิดคำนึงว่า “ข้าพเจ้ารู้ ข้าพเจ้าเห็น” ย่อมเข้าใจดังนี้
๑๑.๕ เพราะไม่มีรูปสัญญาในภายใน พระโยคาวจรย่อมเห็นรูปในภายนอกซึ่งมี สีน้ำเงิน และมีลักษณะเป็นสีน้ำเงิน และมีแสงสะท้อนเป็นสีน้ำเงิน หลังจากควบคุมรูปเหล่านั้นได้แล้ว เมื่อคิดคำนึงว่า “ข้าพเจ้ารู้ ข้าพเจ้าเห็น” ย่อมเข้าใจดังนี้
๑๑.๖ เพราะไม่มีรูปสัญญาในภายใน พระโยคาวจรย่อมเห็นรูปในภายนอกซึ่งมี สีแดง มีลักษณะมีสีแดง และมีแสงสะท้อนเป็นสีแดง หลังจากควบคุม รูปเหล่านั้นแล้ว เมื่อคิดคำนึงว่า “ข้าพเจ้ารู้ ข้าพเจ้าเห็น” ย่อมเข้าใจดังนี้
๑๑.๗ เพราะไม่มีรูปสัญญาในภายใน พระโยคาวจรย่อมเห็นรูปในภายนอกซึ่งมี สีเหลือง มีลักษณะสีเหลือง และมีแสงสะท้อนเป็นสีเหลือง หลังจาก ควบคุมรูปเหล่านั้นได้แล้ว เมื่อคิดว่า “ข้าพเจ้ารู้ ข้าพเจ้าเห็น” ย่อมเข้าใจดังนี้
๑๑.๘ เพราะไม่มีรูปสัญญาในภายใน พระโยคาวจรย่อมเห็นรูปภายนอก ซึ่งมี ลักษณะมีสีขาว และมีแสงสะท้อนเป็นสีขาว หลังจากควบคุมรูปเหล่านั้น แล้ว เมื่อคำนึงว่า “ข้าพเจ้ารู้ ข้าพเจ้าเห็น” ย่อมเข้าใจดังนี้
๑๒. กสิณ ๑๐ อย่าง
๑. ปฐวีกสิณ    = มีแผ่นดินเป็นเครื่องหมาย
๒. อาโปกสิณ    = มีน้ำเป็นเครื่องหมาย
๓. เตโชกสิณ    = มีไฟเป็นเครื่องหมาย
๔. วาโยกสิณ    = มีลมเป็นเครื่องหมาย
๕. นีลกสิณ    = มีสีเขียวเป็นเครื่องหมาย
๖. ปีตกสิณ    = มีสีเหลืองเป็นเครื่องหมาย
๗. โลหิตกสิณ    = มีสีแดงเป็นเครื่องหมาย
๘. โอทาตกสิณ= มีสีขาวเป็นเครื่องหมาย
๙. อากาสกสิณ    = มีช่องว่างเป็นเครื่องหมาย
๑๐.วิญณาณกสิณ = มีวิญญาณเป็นเครื่องหมาย
๑๓. สัญญา ๒o
ก. อารมณ์ภายนอก
๑. อสุภสัญญา การกำหนดรู้สิ่งที่สกปรก
๒.อาโลกสัญญา การกำหนดรู้แสงสว่าง
๓.อาหาเรปฏิกูลสัญญา การกำหนดรู้สิ่งปฏิกูลในอาหาร
๔.สัพพโลเก อนภิรตสัญญา การกำหนดรู้ความไม่ยินดีในโลกทั้งปวง
๕.อนิจจสัญญา การกำหนดรู้ความไม่เที่ยง
๖.อนิจเจทุกขสัญญา การกำหนดรู้ความรู้ความทุกข์ในสิ่งที่ไม่เที่ยง
๗.ทุกเข อนัตตสัญญา การกำหนดรู้ความไม่มีตัวตนในทุกข์
๘.ปหานสัญญา การกำหนดรู้การละ
๙.วิราคสัญญา การกำหนดรู้ความไม่มีกำหนัด
๑๐.นิโรธสัญญา การกำหนดรู้การดับ
ข. ความคิด
๑๑.อนิจจสัญญา การกำหนดรู้ความไม่เที่ยง
๑๒.อนัตตสัญญา การกำหนดรู้ความไม่มีตัวตน
๑๓.มรณสัญญา การกำหนดรู้การตาย
๑๔.อาหาเรปฏิกูลสัญญา การกำหนดรู้ความน่าเกลียดในอาหาร
๑๕.สัพพโลเก อนภิรตสัญญา การกำหนดรู้ถึงความไม่ยินดีในโลกทั้งปวง ๑๖.อัฎฐิกสัญญา การกำหนดรู้ซากศพที่เหลือแต่กระดูก
๑๗.ปุลุวกสัญญา การกำหนดรู้ซากศพที่มีฝูงหนอนเกลื่อนกล่น
๑๘.วินีลกสัญญา การกำหนดรู้ซากศพที่มีสีเขียว
๑๙.วิจฉิททกสัญญา การกำหนดรู้ซากศพที่ถูกทอดทิ้ง
๒๐.อุทธุมาตกสัญญา การกำหนดซากศพที่พองขึ้น
๑๔. อนุสสติ ๖ สติ ๔
๑. พุทธานุสสติ การตามระลึกถึงพระพุทธเจ้า
๒. ธัมมานุสสติ การตามระลึกถึงพระธรรม
๓. สังฆานุสสติ การตามระลึกถึงพระสงฆ์
๔. สีลานุสสติ การหวนระลึกถึงศีล
๕. จาคานุสสติ การหวนระลึกถึงการบริจาค
๖. เทวดานุสสติ การหวนระลึกถึงเทวดา
๗. อานาปานสติ การระลึกถึงลมหายใจเข้าออก
๘. มรณาสติ การระลึกถึงความตาย
๙. กายคตาสติ การระลึกถึงร่างกาย
๑๐. อุปสมานุสสติ การระลึกถึงความสงบสุข
ในรายชื่อนี้ มีอารมณ์กรรมฐานอยู่ ๑๐๑ ชนิด รวมถึงฌาน ๔ และวิธีเหล่านี้ จะพบได้ในนิกายต่างๆ บางครั้งท่านแยกเป็นเอกเทศบางครั้งท่านกล่าวรวมๆ กัน ตามโอกาสและจุดประสงค์ที่พระอรรถกถาจารย์ทั้งหลายเสนอ
ในมหาสกุลทายิสูตรท่านให้รายชื่อไว้ครบถ้วน เกือบจะเป็นแบบเดียวกันกับในฌานวรรค รายชื่อดังกล่าวปรากฎในขณะพระพุทธเจ้าทรงอธิบายระบบแห่งการเจริญสมาธิภาวนาทุกอย่างแก่พระสาวกทั้งหลาย ซึ่งพระองค์ประทานแก่พระอุทายิ ผู้เป็นนักบวชเที่ยวแสวงบุญ และนำเสนอเรื่องนี้ในระหว่างการอภิปรายร่วมกัน ในที่นี้เราจะพบหลัก ๗ ประการ ซึ่งแบ่งเป็น กลุ่มได้ ๑๙ กลุ่ม ๑๒ กลุ่มแรก มีวิธีการฝึกสมาธิอยู่ ๖๘ วิธีด้วยกัน คือ
โพธิปักขิยธรรม (ธรรมอันเป็นส่วนช่วยให้เกิดปัญญา) ๓๗ ประการ วิโมกข์ (ความหลุดพ้น) ๘ ประการ
อภิภายตนะ ๘   
กสิณายตนะ ๑๐
ฌาน ๔
วิปัสสนาญาณ ๑
ที่เหลืออีก ๗ วิธี นั้นประกอบด้วย
- อำนาจในการปล่อยจิตรูปแบบต่างๆ
- อภิญญา (ความรู้แจ้ง) ๕ อย่าง
- ความรู้เรื่องการดับอาสวกิเลส ซึ่งนำไปสู่พระนิพพาน
ในรายชื่อทั้ง ๒ นี้ อารมณ์กรรมฐานและวิธีเจริญกรรมฐานได้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อเป็น ทางให้บรรลุสมาธิ และเป็นทางวิปัสสนาทั้งสองอย่าง

วิธีเจริญวิปัสสนา

ในบทสนทนาที่ ๒๔ ในมัชฌิมนิกาย ซึ่งมีชื่อว่า รถวินีตสูตร ในการตอบปัญหาของ พระสารีบุตร พระปุณณะได้แสดงวิธี ๗ อย่าง โดยบรรยายว่า เป็นขั้นต่อเนื่องเพื่อบรรลุ ความบริสุทธิ์ ซึ่งจะนำไปสู่การขจัดความทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง วิธีดังกล่าวได้แก่
๑. สีลวิสุทธิ ความบริสุทธิ์แห่งศีล
๒. จิตตวิสุทธิ์ ความบริสุทธิ์แห่งจิต
๓. ทิฏฐิวิสุทธิ ความบริสุทธิ์แห่งความเห็น
๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ    ความบริสุทธิ์แห่งญาณเป็นเหตุข้ามพ้นความสงสัย
๔. มัคคามัคคญาณทัสนวิสุทธิ ความบริสุทธิ์แห่งญานที่รู้เห็นว่าเป็นทางหรือมิใช่ทาง
๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความบริสุทธิ์แห่งญาณอันรู้เห็นทางดำเนิน
๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ์    ความบริสุทธิ์แห่งความรู้และความเห็น (ในอริยมรรค)
เหล่านี้เป็นลำดับขั้นตอนแห่งการเจริญวิปัสสนาในฐานะเป็นหนทางสายตรงที่จะดำเนินไปสู่พระนิพพาน พระอรรถกถาจารย์ได้แสดงลำดับแห่งการเจริญวิปัสสนาเหล่านี้ไว้ใน รถวินีตสูตร และมีการขยายความไว้ในพระคัมภีร์วิสุทธิมรรค ในตอนที่ว่าด้วยปัญญา ภาวนาคือความเจริญก้าวหน้าแห่งความรู้ที่สมบูรณ์ และท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์พระอภิธรรม มัตถสังคหะ ว่าเป็นหัวข้อแห่งวิปัสสนากัมมัฏฐาน
เหล่านี้เป็นวิธีหลักในการเจริญสมาธิ ซึ่งจะพบได้ในนิกายทั้งหลาย และความรู้ ๑๐ ประการในการเจริญวิปัสสนาหรือวิปัสสนาญาณ ๑๐ ซึ่งให้ไว้ข้างล่างนี้ จะพบว่าเป็นความก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปจากวิสุทธิ ๗ อย่างที่กล่าวแล้ว หลักเหล่านี้พร้อมด้วยขอบข่ายอันกว้างขวาง ย่อมครอบคลุมไปถึงแบบแห่งการฝึกจิตในพระพุทธศาสนาทุกอย่าง
๒. อารมณ์กัมมัฏฐานและวิธีปฏิบัติกัมมัฏฐานที่พบพระคัมภีร์อภิธรรม
ในพระคัมภีร์อภิธรรม วิธีปฏิบัติกัมมัฏฐานเกือบทุกอย่างที่กล่าวไว้ในรายชื่อข้างบนนี้ ท่านบรรยายไว้ในตอนที่ว่าด้วยลักษณะแห่งจิตวิทยา ในพระคัมภีร์ธัมมสังคิณี จะพบอารมณ์กัมมัฎฐานต่อไปนี้พร้อมด้วยหลักแห่งฌานทั้งหลายเมื่อท่านอธิบายถึงขั้นต่างๆ แห่งวิญญาณ ซึ่งได้บรรลุในการฝึกจิตในระดับที่สูงขึ้น คือ
๑. กสิณ ๑๐
๒. อภิภายตนะ (อารมณ์ที่เป็นใหญ่) ๑๐   
๓. วิโมกข์ (การหลุดพ้นขั้นต้น) ๓
๔. พรหมวิหาร ๔
๕. อสุภะ ๑๐ ซึ่งได้แก่
๕.๑ อุทธุมาตกะ คือ (ซากศพที่พองขึ้น)
๕.๒ วินีลกะ (ซากศพที่มีสีเขียว)
๕.๓ วิปุพพกะ (ซากศพที่มีน้ำหนองไหล)
๕.๔ วิฉิททกะ (ซากศพที่ถูกทอดทิ้งเป็นชิ้นเล็กชิ้นใหญ่)
๕.๕ วิกขาวิตกะ (ซากศพที่ถูกสัตว์กัดกิน จนเสียรูปปกติ)
๕.๖ วิกขิตตกะ (ซากศพที่กระจัดกระจายไป)
๕.๗ หตวิกขิตตกะ (ซากศพที่ถูกตัดและแยกเป็นส่วนๆ)
๕.๘ โลหิตกะ (ซากศพที่เปื้อนเลือด)
๕.๙ ปุลุวกะ (ซากศพที่หนอนเจาะไช)
๕.๑๐ อัฎฐิกะ (ซากศพที่เหลือแต่กระดูก)
๖. อรูปฌาน ๔ ซึ่งสอดคล้องกับวิโมกข์ ที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ และที่ ๗
ในรายชื่อนี้เราจะพบเฉพาะกสิณ ๘ เท่านั้น โดยทิ้งกสิณ ๒ อย่างสุดท้ายเสีย เพราะทั้ง ๒ อย่างนี้เกี่ยวข้องกับอรูปฌาน ในกรณีนี้ มีข้อความท่านกล่าวไว้ว่าในอรรถกถาดังต่อไปนี้
“ในมหาสกุลทายีสูตร ท่านกล่าวถึงกสิณ ๑๐ อย่าง ในบรรดากสิณ ๑๐ อย่างนี้ วิญญาณกสิณ เป็นเช่นเดียวกับวิญณาณอันบริสุทธิ์ยิ่ง ซึ่งมีอยู่ในอวกาศ (ซึ่งมีอยู่หลังจากขจัด อารมณ์แห่งรูปฌานได้แล้ว) และก็เป็นอันเดียวกับสภาพแห่งวิญญาณที่ไม่มีที่สุด ซึ่งได้บรรลุ โดยการขจัดพื้นภูมิแห่งอวกาศเสียได้ ดังนั้นในทุกแง่มุม จึงมีความสัมพันธ์กับคำสอน เกี่ยวกับการบรรลุสภาพที่ปราศจากรูป ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงไม่กล่าวถึงวิญญาณกสิณไว้ในที่นี้
อากาศกสิณเป็นเช่นเดียวกับสภาพที่ได้บรรลุโดยการขจัดกสิณอันเป็นอารมณ์แห่งรูปฌานอย่างอื่นๆ เสียได้ ซึ่งหมายถึงมโนขันธ์ ซึ่งติดอยู่กับอารมณ์คืออวกาศ อันเป็นอวกาศที่จำกัด ซึ่งควรถือเป็นจุดภายในเส้นรอบวงกลมของช่องในกำแพงเป็นตัวอย่าง และหมายถึง ฌานซึ่งเกิดขึ้นจากอากาศกสิณนั้น ดังนั้นในเบื้องต้น อากาศกสิณจึงเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่มีรูปและในขั้นที่สอง ย่อมเกี่ยวข้องกับสิ่งที่มีรูป เนื่องจากธรรมชาติคู่ ดังกล่าวนี้ท่านจึงไม่กล่าวถึงอากาศ กสิณ เมื่ออ้างถึงสภาพที่มีรูปอย่างเดียว  อย่างไรก็ตาม รูปฌานที่เกิดจากอวกาศที่มีขอบเขต จำกัด ย่อมเป็นทางให้ได้บรรลุโลกที่มีรูปได้ และดังนั้นควรถือเป็นแนวปฏิบัติได้
จุดสำคัญอีกจุดหนึ่งเกี่ยวกับรายชื่ออารมณ์กรรมฐานเหล่านี้ก็คือการรวมเอาอสุภะ ๑๐ อย่างเข้าไว้ด้วย ซึ่งอสุภะ ๑๐ อย่างนี้ ไม่ปรากฎในนิกายทั้งหลายว่าเป็นกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีจำนวน ๑๐ อย่าง อย่างไรก็ตาม อสุภะ ๕ อย่างใน ๑๐ อย่างนี้สอดคลองกับสัญญา ๕ อย่าง มีอัฏฐิกสัญญา เป็นต้น แต่การแบ่งประเภทของอสุภะแบบนี้ เป็นการแบ่งตามแบบของสติปัฏฐานสูตร ซึ่งเราจะพบสมาธิที่เกี่ยวข้องกับซากศพ ๙ ขั้นตอน
ยังมีวิธีเจริญสมาธิอีก ๔ อย่าง ซึ่งควรนำมารวมไว้ในที่นี้ ได้แก่การเจริญสมาธิขั้น อรูปฌาน ซึ่งสอดคล้องกับวิโมกข์ที่ ๔ ที่ ๕  ที่ ๖ และที่ ๗ วิธีทั้ง ๔ อย่างนี้ ปรากฎในพระคัมภีร์ธรรมสังคิณีในลักษณะเป็นคู่กับฌานที่ ๔ ในการบรรลุอรูปฌานทั้งหลาย
ดังนั้น รายชื่อนี้จึงเป็นอารมณ์ของสมาธิในฌาน ๓๗ อย่าง คือ อารมณ์ ๓๓ อย่าง ในรูปฌาน และอารมณ์ ๔ อย่างในอรูปฌาน
๓. อารมณ์ของสมาธิที่ท่านกล่าวไว้ในพระคัมภีร์วิสุทธิมรรค
ในพระคัมภีร์วิสุทธิมรรค พระพุทธโฆษาจารย์เถระได้กล่าวถึง อารมณ์ของสมาธิไว้ ๔๐ อย่างเรียกว่า กัมมัฏฐาน แบ่งเป็น ๗ หมวด ดังนี้
๑. กสิณ ๑๐
๒. อสุภะ ๑๐
๓. อนุสสติ ๑๐
๔. พรหมวิหาร ๔
๕. อรูปฌาน ๔ ได้แก่
๕.๑ อากาสานัญจายตนะ (กำหนดว่าอากาศไม่มีที่สิ้นสุด)
๕.๒ วิญญาณัญจายตนะ (กำหนดว่าวิญญาณไม่มีที่สิ้นสุด)
๕.๓ อากิญจัญญายตนะ (กำหนดว่าไม่มีสิ่งใดเลย)
๕.๔ เนวสัญญานาสัญญายตนะ (กำหนดว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่ว่า ไม่มีสัญญา ก็ไม่เชิง)
๖. อาหาเรปฏิกูลสัญญา การหมายรู้ความน่าเกลียดในอาหาร
๗. จตุธาตุววัฎฐานะ การวิเคราะห์ธาตุ ๔ อย่าง
ลักษณะเด่นของรายชื่อนี้ได้แก่หมวดที่กล่าวถึงกสิณ พระพุทธโฆษาจารย์เถระได้ นำเอาอาโลกกสิณมาแทนวิญญาณกสิณ และได้ขยายอากาศกสิณเป็นปริจฉันนากาศ คือ อากาศที่มีขอบเขตจำกัด
ในการอธิบายเรื่องกสิณ ซึ่งพบในพระคัมภีร์มโนรถปรณี พระพุทธโฆษาจารย์เถระ พยายามอธิบายถึงเหตุผลที่ท่านยกเว้นวิญญาณกสิณ และนำเอาอากาศกสิณมาใช้แทน
พระพุทธโฆษาจารย์เถระกำหนดว่า อาโลกสัญญาซึ่งเป็นคำเดียวที่ปรากฎในนิกายทั้งหลายนั้นได้แก่ กสิณ นั้นเอง และท่านยังถือว่า อาหาเรปฏิกูลสัญญาก็เป็นรูปแบบการฝึกสมาธิแบบหนึ่ง
ในมหาสติปัฏฐานสูตร ท่านอธิบายจตุธาตุววัฎฐานะไว้โดยย่อ แต่ท่านกล่าวสูตรต่อไป นี้โดยละเอียด คือ มหาหัตถิปโทปมสูตร, มหาราหุโลวาทสูตร และธาตุวิภังคสูตร  แต่ดูเหมือนท่านจะนำมาจากมหาสติปัฏฐานสูตร ซึ่งท่านไม่ได้กล่าวถึงอย่างพิสดารในพระคัมภีร์วิสุทธิมรรค
พระพุทธโฆษาจารย์เถระกล่าวว่า วิโมกข์และอภิภายตนะไม่ใช่วิธีที่แยกจากกัน และอภิปรายข้อธรรมทั้งสองนี้ไว้ในพระคัมภีร์อรรถสาลินีว่าเป็นวิธี ๒ อย่าง ซึ่งเป็นส่วนเสริม กสิณที่กำหนดสี ๔ อย่าง รายละเอียดเรื่องนี้จะกล่าวถึงในภายหลัง
ในการอธิบายคำว่า “วิปัสสนา” โดยใช้ชื่อว่า “ปัญญาภาวนา” พระพุทธโฆษาจารย์ เถระได้ให้รายละเอียดของวิสุทธิทั้ง ๕ ไว้ในฐานะเป็นหนทางเจริญวิปัสสนา วิสุทธิ ๒ ข้อแรก ท่านอธิบายไว้ว่าเป็นการฝึกฝนตนเองในศีลและสมาธิตามลำดับ ในขณะที่อธิบายวิสุทธิที่ ๖ คือความบริสุทธิ์แห่งมรรค พระพุทธโฆษาจารย์เถระได้แสดงถึงวิปัสสนา ๙ อย่าง เป็นรูปแบบ ดังต่อไปนี้
๑. อุทยวยานุปัสสนาญาณ คือ ความรู้เรื่องการเกิดและดับของสังขารทั้งหลาย
๒. ภังคานุปัสสนาญาณ คือ ความรู้เรื่องการดับของสังขารทั้งหลาย
๓. ภยตูปัฏฐานญาณ คือ ความรู้เรื่องความปรากฎแห่งความกลัวในสังขารทั้งหลาย
๔. อาทีนวานุปัสสนาญาณ คือ ความรู้เรื่องโทษของสังขารทั้งหลาย
๕. นิพพิทานุปัสสนาญาณ คือ ความรู้เรื่องความน่าเบื่อหน่ายของสังขารทั้งหลาย
๖. มุญจิตกัมยตาญาณ คือ ความรู้เรื่องความปรารถนาที่จะหลุดพ้นจากสังขารทั้งหลาย
๗. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ คือ ความรู้เรื่องการวิเคราะห์สังขารทั้งหลาย เพื่อความหลุดพ้นจากสังขารทั้งหลายนั้น
๘. สังขารุเปกขาญาณ คือ ความรู้เรื่องความวางเฉยต่อสังขารทั้งหลาย
๙. อนุโลมญาณ คือ ความรู้ซึ่งเกิดเกี่ยวเนื่องกับอริยสัจทั้ง ๔
(ความจริง มีวิปัสสนาญาณ ๑๐ ชนิดด้วยกัน และชนิดที่ ๑๐ได้แก่ ญาณทัสสนวิสุทธิ คือ ความบริสุทธิ์แห่งความรู้และความเห็นในพระนิพพาน ท่านอธิบายเรื่องนี้เป็นเอกเทศ โดยอ้างถึง โลกุตตรกุศล คำเหล่านี้ท่านอธิบายไว้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคซึ่งเข้าใจกันว่าเป็นงานของ พระสารีบุตรเถระ ว่าเป็นส่วนของอภิญญาณ รูปแบบที่ให้ไว้ในที่นี้ดูเหมือนจะแตกต่างจากที่กล่าวไว้ในวิสุทธิมรรค เพราะยังไม่เคยมีในหมวดใดในคัมภีร์ก่อนๆ  ผู้อ่านจะพบคำขยายความเรื่องนี้ในภายหลัง)
วิธีเหล่านี้เป็นวิธีพื้นฐาน ซึ่งพบในพระคัมภีร์วิสุทธิมรรค
ในคำขยายความของท่าน พระพุทธโฆษาจารย์ได้กล่าวไว้ด้วยว่า กัมมัฏฐานมีทั้งหมด ๓๘ ประการ ซึ่งเป็นจำนวนที่พบในภาษาบาลี แต่ไม่พบรายละเอียดของกัมมัฏฐานเหล่านี้ เราพบว่าในพระคัมภีร์ พระธรรมลังคิณี ท่านไม่ได้กล่าวถึงกสิณ ๒ อย่างสุดท้ายในบรรดากสิณ ๑๐ ไว้เลย  ดังนั้นจึงเป็นที่แน่นอนว่าเมื่อท่านตัดกสิณ ๒ อย่างนี้ออกไปแล้ว จึงเหลือกัมมัฏฐานเพียง ๓๘ เท่านั้น แต่จำนวนกัมมัฏฐาน ๔๐ อย่าง เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้ว และกัมมัฏฐาน เหล่านี้ก็เป็นวิธีที่ตรง และเป็นพื้นฐานในการฝึกสมาธิตามที่กล่าวไว้ในนิกายเถรวาท
หนังสือที่สำคัญต่อไปในเรื่องนี่คือหนังสืออภิธรรมสังคหะ คือประมวลปรัชญา ซึ่งพระอนุรุทธเถระแต่งขึ้น ซึ่งที่ว่า “ประมวลปรัชญา” นี้ นาย เอส.  แซท อ่อง และ ดร.  ริส เดวิดส์ แปลออกมาและสมาคมบาลีปกรณ์พิมพ์เผยแพร่ หนังสือเล่มนี้เมื่อกล่าวถึงสมถะ และวิปัสสนา ได้กล่าวถึงจำนวนกัมมัฏฐานจำนวนเดียวกันในตอนที่ว่าด้วยสมาธิ และกล่าวถึงวิสุทธิ ๗ และ วิปัสสนาญาณ ๑๐ ในตอนที่ว่าด้วยวิปัสสนา วิปัสสนาญาณ ๑๐ อย่าง มีสัมมสนญาณ ความรู้ในการใคร่ครวญถึงลักษณะของสังขารทั้งหลาย เป็นต้น ในด้านอื่นๆ ทั้งหมด หนังสือเล่มนี้ ดำเนินตามแนวที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์วิสุทธิมรรค
๔. เนื้อหาสาระที่พบในหนังสือรุ่นหลัง
ในบรรดาหนังสือยุคหลังที่กล่าวถึงสมาธิ หนังสือ วิทรฺศนาโปตะ ซึ่งเป็นภาษาสิงหล กล่าวถึงการฝึกสมาธิตามที่พระเถระชาวลังกาถือปฏิบัติกันอยู่ ได้ให้เนื้อหาสาระอย่างเดียวกับ ที่พบในพระคัมภีร์วิสุทธิมรรค  แต่จัดลำดับค่อนข้างจะต่างออกไป และใช้ถ้อยคำต่างกัน
๑. อานาปานัสสติ
๒. กสิณ ๑๐ (๔ อย่างแรกเรียกว่า ภูตกสิณ (กสิณธาตุต่าง ๆ) ที่เหลือเรียกว่า วัณณกสิณ (กสิณสีต่างๆ)
๓. อสุภะ ๑๐
๔. กายคตาสติ (แบ่งแยกออกเป็น ๓๒ ส่วน ซึ่งทั้งหมดมีส่วนสัมพันธ์กับฌาน ๕)
๕. อนุสสติ ๑๐ (๒ อย่างสุดท้าย คือ เอกสัญญานุสสติ และเอกธาตุววัฎฐานาสุสสติ)
๖. อรูปฌาน ๔
๗. พรหมวิหาร ๔
ทั้ง ๗ หมวดนี้มีอารมณ์กัมมัฏฐาน ๔๐ อย่างด้วยกัน แต่กายคตาสติ แบ่งออกเป็น ๓๒ ส่วน จึงได้อารมณ์กัมมัฏฐานทั้งหมด ๗๑ อย่าง จุดเด่นพิเศษในการแบ่งเช่นนี้ ก็คือ อานาปานัสสติ ท่านวางไว้ก่อนอย่างอื่นทั้งหมด กายคตาสติท่านจัดเป็นวิธี ๓๒ วิธี และอารมณ์ ๒ อย่าง คือ อาหาเรปฏิกูลสัญญา และจตุธาตุววัฎฐาน ท่านจัดเป็นอนุสสติ
ในหนังสือคู่มือนี้ วิปัสสนาญาณประการแรก ซึ่งปรากฎในหนังสือ “ประชุมปรัชญา”  ในนามว่า “สัมมสนญาณ” ท่านเปลี่ยนเป็น “สมถทรรศนญาณ  ซึ่งได้แก่วิปัสสนาญาณใน สมถะ ไม่มีชื่ออย่างอื่นนอกจากนี้
อารมณ์กัมมัฏฐานเหล่านี้ ซึ่งจะพบได้ในระบบการเจริญสมาธิที่กว้าง เกือบจะไม่มี ขอบเขตจำกัด เพราะท่านนำมาใช้ตามความเหมาะสมสำหรับสภาพจิตแบบต่างๆ ของผู้ปฏิบัติ ต่อไปนี้จะกล่าวถึงภารเจริญภาวนา และลักษณะต่างๆ ของอารมณ์กัมมัฏฐานที่สำคัญตามที่ปรากฎในพระคัมภีร์พระไตรปิฎก พรัอมกับอ้างถึงคำอธิบายของพระอรรถกถาจารย์ทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระคัมภีร์วิสุทธิมรรค พระคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ และหนังสือคู่มือพระโยคาวจร ซึ่งเป็นหนังสือที่จะขาดเสียมิได้ในที่นี้
สารบัญ

Tuesday, July 19, 2016

บทที่ ๔ ฌานและสมาธิ

บทที่ ๔

ฌานและสมาธิ

โดยเหตุที่คำเฉพาะแต่ละคำที่ใช้ในระบบการฝึกสมาธิในพระพุทธศาสนา สามารถนำ ไปใช้กับงานด้านการฝึกจิตทุกประเภท ดังนั้น ข้อความที่รวมระบบทั้งหมดไว้ด้วยกันจะรวมอยู่ ในคำว่า “ฌาน” และ “สมาธิ” คำเหล่านี้  ซึ่งใช้ในคัมภีร์ภาษาบาลีมักจะเป็นคำที่ไม่ชัดเจนต้องการ คำขยายความจึงเป็นการสมควรที่จะสำรวจคำเหล่านี้เพิ่มเติมในที่นี้ซึ่งจะรวมถึงการตีความตามแนวพระไตรปิฎกและอรรถกถาทั้ง ๒ ประเภทด้วย

๑. ฌาน
คำว่า “ฌาน” ซึ่งตรงกับภาษาสันสกฤตว่า “ธฺยาน” มีความหมายกว้างกว่าคำ “ธฺยาน” คำนี้หมายถึงการเพ่งนิมิตหรือการคิด และตามที่ใช้ในพระพุทธศาส-นา ไม่ได้หมายถึง เฉพาะระบบที่กว้างขวางในการพัฒนาจิตเท่านั้น  แต่ยังหมาย-ถึงขบวนการเปลี่ยนวิญญาณจาก ระดับต่ำไปสู่ระดับสูงคือจากรูปโลกผ่านอรูปโลกไปสู่จุดสูงสุดของการฝึกจิตในพระพุทธศาสนาด้วย
ตามที่ใช้ในพระคัมภีร์ต่างๆ และตามคำอธิบายของพระอรรถกถาจารย์ทั้งหลาย คำว่าฌาน มีความหมาย ๒ อย่าง
อย่างที่หนึ่ง หมายถึงการเพ่งพินิจวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือการตรวจดูอย่างใกล้ชิดซึ่งลักษณะต่างๆ ของสิ่งที่ปรากฎอย่างที่สองหมายถึงการกำจัดนิวรณ์ทั้งหลาย หรือมโนธาตุระดับต่ำซึ่งเป็นอันตรายต่อการก้าวขึ้นไปสู่ระดับที่สูงขึ้น ในความหมายประการที่สอง พระอรรถกถาจารย์นำมาโยงเข้ากับคำกริยา “ฌาเปติ” แปลว่า “เผาไหม้” อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้คำว่า “ฌาน” และธฺยาน โดยทั่วไปก็เป็นที่ยอมรับกันมากกว่าในความหมายอันแรก คือ สมาธิ และทั้ง ฌานและธฺยาน ก็ใช้แสดงถึงระบบแห่งสมาธิ
ตามที่ได้ทราบมาแล้ว สูตรที่ให้ใว้ในนิกายทั้งหลาย เช่นในสามัญญผลสูตรเป็นต้น กล่าวยืนยันถึงองค์ฌาน ๕ อย่าง คือ วิตก,วิจารณ์,ปิติ,สุข, เอกัคคตา ซึ่งเกิดขึ้นเพราะการกำจัดนิวรณ์ทั้ง ๕ ออกไป จึงควรสังเกตว่า ถ้าไม่มีองค์ฌานทั้ง ๕ นี้แล้วจะไม่มีฌานเกิดขึ้นเลย องค์ฌานเหล่านี้ยกระดับวิญญาณจากสภาพที่ประสบทางอายตนะตามปกติไปสู่รูปแบบของ ความบริสุทธิ์ซึ่งสูงกว่าเดิมและวิญญาณที่เกี่ยวกับองค์ฌานทั้ง ๕ เหล่านี้ เรียกว่า “ฌาน” เพราะธรรมชาติภายในขององค์ฌานเหล่านี้
ในภาวะธรรมดาของจิต องค์คุณภายในเหล่านี้ ในบางโอกาสอาจปรากฎเป็นธาตุแท้ของขบวนการทางจิตวิทยา แต่องค์คุณเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นสภาพของความรู้สึกทางอารมณ์ที่ซับซ้อน  ดังนั้นจึงไม่สอดคล้องกับฌานซึ่งจะบรรลุได้โดยการขจัดความปรารถนาทางประสาทสัมผัส (กามฉันทะ) และความคิดร้าย (พยาบาท)
จิตที่ปรารถนาสิงยั่วเย้าทางประสาทสัมผัส ย่อมไม่สามารถจดจ่ออยู่กับอารมณ์ ตามธรรมชาติที่ดีได้และไม่ก้าวไปสู่หนทางแห่งความเจริญซึ่งจะนำไปสู่ความหลุดพ้นจากความรู้สึกพอใจในประสาทสัมผัสทั้งหลาย และ จิตที่ถูกพยาบาทครอบงำ ก็ไม่สามารถเจริญก้าวหน้าไปสู่ความมีจิตมีอารมณ์เดียวได้ จิตที่มีความห่ดหู่ และความเซื่องซึม ย่อมไม่เหมาะสมกับงานด้านพัฒนาจิตที่เข้มข้น เพราะถูกความกังวล ความเดือดร้อน ความรำคาญ และความเร่าร้อนครอบงำ จิตย่อมไม่หยุดนิ่ง แต่จะฟุ้งซ่านไป เพราะถูกความสับสนและความสงสัยกลุ้มรุม จิตย่อมไม่ดำเนินไปสู่ทางแห่งการบรรลุฌาน ดังนั้น กามฉันทะคือความพอใจใน สิ่งที่ตนรัก พยาบาท คือความคิดร้าย , ถินมิทธะคือความหดหู่ อุทธจกุกกุจจะ คือความฟุ้งซ่าน และร้อนใจ , วิจิกิจฉา คือ ความสงสัย ทั้งหมดนี้จัดว่าเป็นข้าศึกของฌาน  ดังนั้นท่านจึงเรียก ว่านิวรณ์ ได้แก่ ธรรมชาติที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุความเจริญ นิวรณ์ทั้ง ๕ นี้ จะต้องถูกขจัดให้หมดสิ้นไปด้วยการเจริญสมาธิอย่างมีระบบ ดังข้อความต่อไปนี้ว่า “เมื่อขจัดเสียซึ่งความโลภใน โลกียวัตถุทั้งหลายแล้ว พระโยคาวจรย่อมดำรงชีวิตอยู่ด้วยจิตอันปราศจากความโลภ เป็นต้น”
ในบรรดาองค์ฌาน ทั้ง ๕ เหล่านี้ วิตกซึ่งในคัมภีร์วิภังค์ท่านหมายถึงสัมมาสังกัปปะ คือ ความดำริชอบ ในที่นี้ หมายถึงการคิดที่ถูกต้องซึ่งกำจัดเสียซึ่งความหดหู่และความเซื่องซึมและหมายถึงการใช้จิตและเจตสิกกับอารมณ์ของสมาธิ 
วิจาร ซึ่งหมายถึงการกำหนดจิต ที่แน่วแน่ในวัตถุสิ่งเดียวเพื่อการตรวจสอบนั้นย่อม ช่วยให้จิตได้รับการฝึกฝนอยู่ตลอดเวลา และดังนั้นจึงขจัดความสงสัยเสียได้
ปิติซึ่งเกิดขึ้นเพื่อเป็นปรปักษ์กับพยาบาทนั้นย่อมช่วยให้เกิดความสนใจในวัตถุ(อารมณ์) นั้นมากขึ้น ในพระอรรถกถา ท่านแยกประเภทของปิติออกไปเป็น ๕ ประเภทย่อยดังนี้
๑    ขุททกาปิติ ได้แก่ความยินดีที่เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยพอขนชูชัน น้ำตาไหล
๒    ขณิกาปิติ ได้แก่ความยินดีที่เกิดขึ้นชั่วขณะทำให้รู้สึกแปลบเป็นขณะๆดุจฟ้าแลบ
๓    โอกันติกาปิติ ได้แก่ความยินดีที่ทำให้เอิบอิ่มใจเป็นพักๆ รู้สึกซู่ซ่าลงมาในกายดุจคลื่นซัดฝัง 
๔    อุเพงคาปิติได้แก่ความยินดีที่ทำให้รู้สึกโลดลอยแสดงอาการบางอย่างโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น เปล่งอุทานออกมา เป็นต้น
๕    ผรณาปิติ ได้แก่ความยินดีที่ทำให้รู้สึกซาบซ่านไปทั่วร่างกาย ปิติตัวสุดท้ายเป็น ปิติที่ท่านหมายถึงในองค์ฌาน เป็นปิติที่มีความสัมพันธ์กับสมาธิที่แก่กล้า
สุข คือความเพลิดเพลิน สงบ และสบายใจ ซึ่งเป็นผลมาจากปิติอันซาบซ่านข้างบนนี้ สุขย่อมขจัดความเดือดร้อน ความกังวลใจและความตกใจ และย่อมนำจิตไปสู่สมาธิดังประโยคที่ว่า จิตฺตํ สมาธิยติ แปลว่า “จิตของผู้มีความสุขย่อมมีสมาธิ”
ในที่สุด สมาธิที่แก่กล้ายิ่งขึ้นด้วยองค์แห่งฌาน ๔ ข้อแรก นั้นย่อมก่อให้-เกิดความเป็น หนึ่งเดียวในจิต ซึ่งเป็นจิตที่ปราศจากความปรารถนาทางกามคุณ
๒. ฌาน ๔
เมื่อองค์ฌานทั้ง ๕  อย่างเกิดขึ้นในจิต และขจัดเสียซึ่งนิวรณ์ทั้ง ๕ แล้วพระโยคาวจร ย่อมได้บรรลุปฐมฌาน ฌานขั้นนี้ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนวิญญาณจากวัตถุทางประสาทสัมผัส ท่าน กล่าวว่าเป็นการหลีกออกจากความปรารถนาทางกามนี้เป็นการหลีกจากวัตถุทางประสาทสัมผัส นี้เป็นทางออก กล่าวกันว่า พระพุทธเจ้าทรงบรรลุปฐมฌานนี้ในสมัยที่พระองค์ยังทรง พระเยาว์ และปฐมฌานนี้เป็นหนทางนำพระองค์ไปสู่การตรัสรู้ เมื่อบรรลุปฐมฌานครั้งแรกวิญญาณจะผ่านสิ่งกระตุ้นหรืออารมณ์ขั้นต่ำทั้งหมดซึ่งเกิดมาจากสิ่งกระทบภายนอก และเป็นปฏิปักษ ต่อความทยานอยากในสิ่งต่างๆ ทางประสาทสัมผัส จิตเป็นธรรมชาติที่ควบคุมตนเองได้ เพราะจิตถูกกำหนดไว้ในสภาพตามความเป็นจริงในภายในของมันเอง และไม่หวั่นไหวด้วยสิ่งกระตุ้นทางประสาทสัมผัส ผู้ได้ฌานย่อมได้ประสบชีวิตใหม่และทัศนะใหม่ และได้รับผลอันล้ำค่าจากความพยามยามของตน ซึ่งไม่เหมือนกับสิ่งใดๆ ที่ตนเคยได้ประสบมาก่อน ร่างกายทุก ส่วนของผู้ได้ฌานจะเต็มเปี่ยมซาบซ่านไปด้วยปิติและสุขซึ่งไม่สามารถจะอธิบายได้ในพระคัมภีร์ ทีฆนิกายท่านกล่าวไว้ว่า “ไม่มีอะไรในร่างกายของท่านที่จะไม่สัมผัสกับปิติและสุขซึ่งเกิดจาก ความสงบในภายในตน”
นี้เป็นการบรรลุครั้งแรกในการเจริญสมาธิภาวนาซึ่งเป็นพื้นฐานนำไปสู่ฌานขั้นอื่นๆ ดังนั้น ฌานนี้จึงมีชื่อว่า “ปฐมฌาน” องค์ประกอบ ๕ อย่าง ซึ่งสร้างขบวนการแห่งความคิดใน สิ่งต่างๆ และเผาผลาญสู่ภาวะอันมีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน เรียกว่า “องค์ฌาน” คือส่วน ประกอบของฌาน วิญญาณซึ่งเกี่ยวกับองค์ฌานเหล่านี้เป็นวิญญาณที่มีศีลของผู้ที่อยู่ในโลก (รูปาวจร) ที่เรียกเช่นนี้เพราะว่า ผู้ได้ฌานนั้นเมื่อบรรลุวิญญาณขั้นนี้แล้วจะเกิดใหม่ในรูปาวจร ภูมิที่สอดคล้องกัน คือ พรหมโลก ซึ่งไม่มีวัตถุที่จะสัมผัสทางประสาทอันก่อให้เกิดความรักใคร่ (กามะ)
ในตอนนี้ควรสังเกตว่า ในบรรดาองค์ฌานทั้ง ๕ นี้ เอกัคคตาไม่ปรากฎในสูตรที่ให้ไว้ ในนิกายทั้งหลาย แต่ข้อที่ว่าเอกัคคตาเป็นองค์ฌานได้ถูกเปิดเผยขึ้นเมื่อพระสารีบุตรเถระ และพระมหาโกฎฐิตเถระได้สนทนากัน ซึ่งท่านกล่าวว่า ฌานที่ ๑ มีองค์ฌาน ๕ ประการและประการสุดท้ายได้แก่เอกัคคตา และมีกล่าวไว้ในพระคัมภีร์วิภังค์วา  ฌานได้แก่ วิตก วิจาร ปิติ สุข และจิตตัสเสกัคคตา พระพุทธโฆษาจารย์เมื่ออธิบายเรื่องนี้กล่าวว่า “ไม่ว่าพระประสงค์ ของพระพุทธเจ้าในการสรุป(เรื่องในพระสูตร) จะเป็นอย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงเปิดเผยไว้ใน คัมภีร์วิภังค์เช่นนี้”
๓. ฌานชั้นสูง
การขจัดองค์แห่งปฐมฌานอย่างมีระบบก่อให้เกิดฌานที่สูงขึ้น และแรงกล้าขึ้นใน แต่ละขั้น ผู้บำเพ็ญฌานซึ่งเพิ่งจะบรรลุปฐมฌานโดยการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ย่อมรวบรวม ความสนใจไว้กับสัญลักษณ์ทางจิตที่เหมือนกับที่ได้รับจากกสิณ หรือกับอารมณ์กรรมฐาน อย่างอื่นที่ให้ใว้และปฏิบัติซํ้าๆ เพื่อจะให้เป็นปกตินิสัยในขบวนการทางจิตวิทยา การปฏิบัติ เช่นนี้เรียกว่า “วสิดา” และมี ๕ ชนิด คือ อาวัชชนา (การหวนระลึก) สมาปัชชนา (การเข้าไป) อธิฎฐานะ (การตั้งมั่น) วุฎฐานะ (การขึ้น) และปัจจเวกขณา (การพิจารณา) ในการปฏิบัติวิธี เสริมเพื่อฝึกฌานด้วยวิธี ๕ อย่างนี้ พระโยคาวจรย่อมสามารถรำพึงถึงปฐมฌานซึ่งพึ่งจะได้ บรรลุ หรือรำพึงถึงองค์ฌานองค์หนึ่งในบรรดาองค์ฌานทั้ง ๕ นั้นทุกสถานที่ และทุกเวลาที่ท่านพอใจ หรือตลอดเวลาที่ท่านพอใจ โดยปราศจากความเกียจคร้าน เมื่อสามารถส่งจิตไปจดจ่ออยู่ กันองค์ฌานทั้ง ๕ ในทันทีทันใด ก็จะมีความชำนาญในการรำพึง ในทำนองเดียวกัน จะมีความสามารถในการเข้าฌาน อยู่ในฌานนานตามปรารถนา ออกจากฌานเมื่อปรารถนา และทบทวนฌานตลอดถึงหวนระลึกถึงฌานเมื่อปรารถนาจะระลึกถึง
ผู้ที่มีความชำนาญในวิธีทั้งห้านี้จะออกจากปฐมฌานหลังจากปฏิบัติอย่างสมบูรณ์แล้ว และเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งถึงความอ่อนกำลังในฌานนั้นดังนี้ “ฌานนี้มีวิตกและวิจารซึ่งมีข้าศึกที่ใกล้ชิดในนิวรณ์ทั้งหลาย ไม่ใช่ความสงบโดยสิ้นเชิง เพราะยังมีกระแสแห่งความคิตติดพันอยู่” เขาเห็นว่า ถ้าไม่มีวิตกและวิจารแล้วจะมีความสงบมากขึ้น และแล้วในขณะที่สลัดปฐมฌานนั้น เขาก็พยายามเพื่อบรรลุทุติยฌาน โดยการหลีกหนีวิตกและวิจาร ในขณะฝึกสมาธิอยู่นั้นใจของเขาจะมีปิติมีความสุขและมีความเป็นหนึ่ง  ซึ่งก่อให้เกิดฌานที่สองขึ้นเรียกว่า ทุติยฌาน ฌานนี้ เกิดมาจากสมาธิ ความสงบ และการพัฒนาจิตให้มีระดับสูงขึ้น ดังนั้นการขจัดวิตกและวิจารไป พร้อมๆ กับย่อมก่อให้เกิดทุติยฌานขึ้น ซึ่งเกิดจาก “เอโกทิภาวะ” คือความมีธรรมชาติสูงสุด แม้ว่าปฐมฌานจะเกี่ยวข้องกับการรวมความคิดก็ตามแต่ทุติยฌานนี้เท่านั้นที่ควรเรียกว่า “สมาธิ” เพราะฌานนี้เกิดมาจากสมาธิและความเป็นอิสระจากสิ่งรบกวนทั้งหลาย ทุติยฌานนี้ไม่หวั่นไหว เพราะเป็นฌานที่มั่นคง
เมื่อบรรลุทุติยฌานแล้ว พระโยคาวจรจะต้องอบรมตนอย่างดีในวสี คือความชำนาญ ๕ อย่างตามที่กล่าวมาแล้ว และขณะที่จะออกจากฌานที่สอง เมื่อปฏิบัติได้อย่างสมบูรณ์แล้ว ย่อมเข้าใจโทษที่มีอยู่ในฌานที่ ๒ นั้น ว่าดังนี้ “ฌานนี้มีข้าศึกที่ใกล้ตัวคือวิตกและวิจาร ฌานนี้จะอ่อนพลังลงเพราะอารมณ์ที่ยินดี (ปิติ) ซึ่งเป็นสภาพของจิตที่มีความกระวนกระวาย” แล้วก็พยายามเพื่อบรรลุตติยฌาน คือฌานที่ ๓ เพราะมีความสงบ และหยุดคิดถึงทุติยฌาน เมื่อฝึกสมาธิต่อไปเช่นที่ทำมา แล้ว ฌานที่ ๓ ก็จะเกิดขึ้น ซึ่งจะละปิติเสียได้ แต่ยังมีความสุขและความเป็นหนึ่งของจิต (เอกัคคตา) อยู่ พระโยคาวจรอยู่ในฌานนั้นด้วยความสงบและสติ  และรักษาขบวนการคิดไว้ในสภาพที่มีดุลยภาพนี้เป็นสภาพที่มีความสุขสดชื่นที่สุด เพราะจะไม่มีสิ่งรบกวนเลยแม้แต่น้อย ไม่มีความสุขใดซึ่งเกิดในความรู้สึกของสังขารจะยิ่งใหญ่กว่า ความสุขนี้  ผู้ที่ได้บรรลุฌานระดับนี้ท่านกล่าวว่าเป็นผู้มีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข แต่เนื่องจาก มีสติและสัมปชัญญะ จึงไม่มีความปรารถนาความสุขนี้ ทั้งไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในจิตของ พระโยคาวจร
เมื่อคุ้นอยู่กับตติยฌานแล้ว พระโยคาวจรย่อมเข้าใจว่า และฌานขั้นนี้ก็มีข้อบกพร่อง เพราะมีข้าศึกที่ใกล้ตัวอยู่ในปิติ และเนื่องจากเป็นความสุขที่ไม่ละเอียดประณีต จึงยังเป็นฌาน ที่ไม่มั่นคง ในขณะที่ละทิ้งความปรารถนาในฌานที่ ๓ นี้ ย่อมพยายามเพื่อบรรลุฌานที่ ๔ เพราะความสงบเย็นของฌานนี้ แต่จิตยังคงจดจ่ออยู่กับวัตถุสิ่งเดียวสืบต่อมา  (นั่นก็คือ ภาพในจิตซึ่งมาจากวัตถุสิ่งหนึ่ง เช่นวัตถุสำหรับเพ่ง กสิณ อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นต้น) เพื่อขจัด เสียซึ่งองค์ฌานที่หยาบและบรรลุบรมสันติ และแล้วฌานที่ ๔ ก็จะเกิดขึ้น โดยมีความรู้สึกวาง เฉยเกี่ยวกับร่างกายและจิตของตน และมีสติบริสุทธิ์อันเกิดจากความสงบใจ ในฌานที่ ๔ นี้จะ เกิดมี เจโตวิมุตติ คือจิตหลุดพ้น ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เป็นอุเบกขา คือความวางเฉย ในขั้นนี้พระโยคาวจรจะไม่มีความรู้สึกเป็นทุกข์ทางกายและทางใจ ในขณะนี้ย่อมรู้สึกวางเฉย ห่างจาก ความกำหนัดและความโกรธ เพราะทำลายมูลเหตุของมันคือความรู้สึกว่าต่างกันระหว่างสิ่งที่ น่าเพลิดเพลิน และสิ่งที่ไม่น่าเพลิดเพลินได้แล้ว
ในฌานระดับ ๔ นี้ วิญญาณย่อมมีความสัมพันธ์กับสติที่สมบูรณ์และการวางเฉยที่ไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งปราศจากการยึดมั่นถือมั่นในโลกแห่งประสาทสัมผัส และในฌานขั้นต่ำทั้งสาม กิจกรรมของจิตที่ต่ำกว่านี้จะถูกควบคุมอย่างเต็มที่ และกระแสจิตที่ไหลไปสู่ประสาทสัมผัส ทั้งหลายจะได้รับการตรวจสอบ แต่ผู้บำเพ็ญฌานผู้มีความรู้แจ้งถึงขั้นนี้จะไม่อยู่ในสภาพแห่ง การสะกดจิต หรือในระดับแห่งภวังคจิต ซึ่งสร้างขึ้นโดยข้อเสนอของตนเอง หรือในสภาพแห่ง การสลบ ในทางที่ตรงกันข้าม พระโยคาวจรจะรู้และระลึกถึงอารมณ์ ซึ่งจิตของตนจดจ่ออยู่ โดยไม่มีสิ่งรบกวนใดๆ ตัดขาดซึ่งกิจกรรมทุกประเภททั้งกิจกรรมทางกายและทางจิต ตามที่ ท่านกล่าวไว้ในพระคัมภีร์สังยุตตนิกายว่า “ในภาวะของปฐมฌาน ผู้เข้าฌานจะไม่พูด เพราะว่าความเงียบสงบในภายในจะปรากฎขึ้นหลังจากนิวรณ์ทั้ง ๕ หมดสิ้นแล้ว ในทุติยฌาน ผู้เข้า ฌานทำลายวิตกและวิจารเสียได้ซึ่งเรียกว่า “วจีสังขาร” หรือ “ความสามารถในการกล่าวคำพูด” ในตติยฌาน ผู้เข้าฌานจะตัดปิติออกไปเสียได้ และในจตุตถฌาน ผู้เข้าฌานจะไม่มีลม หายใจเข้าและลมหายใจออก ซึ่งเรียกว่า “กายสังขาร” หรือ “การปรากฎแห่งการเคลื่อนไหว” ซึ่งเป็นกระแสคลื่นอันสำคัญของร่างกาย ดังนั้น ด้วยสภาพที่สงบนิ่งของร่างกายและจิต ผู้เข้าฌานดำรงชีวิตอยู่อย่างเข้าใจสภาวธรรมในตนเอง
ความพอใจซึ่งมีอยู่ในฌานวิญญาณที่สี่ซึ่งถูกควบคุมด้วยสติที่หมดจดและชัดแจ้ง ซึ่งเป็นผลอันเกิดมาจากอุเบกขาที่สมบูรณ์นั้น ก่อให้เกิดอัชฌัตติกญาณ หรือความรู้ตัวเองอย่างแจ่มแจ้ง  ดังนั้นจตุตถฌานจึงมีชื่อเรียกว่า “ปาทกะ” คือ “ฌานพื้นฐาน” เพราะในฌานขั้นนี้ ผู้เข้าฌานสมควรที่จะเป็นผู้วิเศษ (มีตาทิพย์) และมีหูทิพย์และบรรลุสิ่งเหนือวิสัยธรรมดาทุกๆ อย่าง และฌานนี้จะนำไปสู่จุดที่กิเลสและอาสวะทั้งหลายหมดไป การบรรลุทั้ง ๔ ขั้นนี้ ซึ่งมี ส่วนเกี่ยวข้องกับการขจัดปัจจัยที่ทำจิตให้อ่อนพลัง และเกี่ยวกับการก้าวจากสภาพที่ต่ำไปสู่สภาพที่สูงขึ้นตามลำดับนี้ พึงเข้าใจว่ามีความหมายครอบคลุมถึงคำว่า “ฌาน”โดยแท้
     ๔  ระบบฌาน ๕
ในพระคัมภีร์อภิธรรม เราจะพบฌาน ๕ ประเภท หรือเป็นการเพิ่มเข้ามาต่อจากฌาน ๔ ในระบบนี้การขจัดวิตก และวิจารเกิดขึ้นต่อเนิ่องกัน แทนที่จะขจัดไปทันทีทั้งสองอย่าง ในระบบ ที่มีฌาน ๔ นั้น ผู้บำเพ็ญฌานบรรลุฌานที่ ๒ โดยการขจัดวิตก และวิจารเสียได้ ดังนั้นจึงยังคง มีองค์ฌานอีก ๓ อย่าง แต่ในระบบฌาน ๕ นั้น การขจัดวิตกเสียได้อย่างเดียวก็ได้บรรลุฌานที่ ๒ จึงยังคงมีองค์ฌานอีก ๔ อย่าง และเมื่อขจัดวิจารเสียได้ก็ได้บรรลุฌานที่ ๓ นี่คือความแตกต่างระหว่างระบบฌาน ๔ และระบบฌาน ๕
ตามพระคัมภีร์อรรถกถา เรื่องนี้เป็นคำสอนที่เลือกได้ ซึ่งแตกต่างกันตามอารมณ์ทางจิตของพระสาวกแต่ละบุคคล สำหรับบางคนในขณะที่ทบทวนฌานที่ ๓ อยู่นั้น วิตกซึ่งเป็นองค์ ฌานที่หนึ่งอย่างหยาบย่อมปรากฎขึ้น แต่องค์ฌานที่เหลือ ๔ อย่าง มีลักษณะสงบ สำหรับ บุคคลเช่นนี้พระพุทธองค์ทรงกำหนดฌานที่ ๒ ด้วยองค์ฌาน ๔ คือ วิจาร ปิติ สุข และเอกัคคตา แต่ไม่มีวิตก
อนึ่งในพระสูตรพระพุทธเจ้าได้ทรงอธิบายสมาธิ ๓ อย่างไว้ดังนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมาธิมี ๓  อย่าง คือ
๑ สมาธิซึ่งมีวิตกและวิจาร 
๒ สมาธิซึ่งมีวิตกแต่ไม่มีวิจาร
๓ สมาธิซึ่งไม่มีทั้งวิตกและวิจาร
ในบรรดาสมาธิเหล่านี้ สมาธิประเภทที่ ๑ และที่ ๓ พระองค์ตรัสไว้ในระบบฌาน ๔ และสมาธิประเภทที่ ๒ ไม่ได้ตรัสไว้ในระบบฌาน ๔ จึงควรเข้าใจว่าระบบฌาน ๕ ทรงกำหนดไว้เพื่อแสดงสมาธิที่มีวิจาร แต่ไม่มีวิตก และสมาธิซึ่งรวมเข้ากับวิธีปฏิบัติใน อรูปฌาน
การขยายความออกไปในคัมภีร์พระอภิธรรม ทำให้ได้ฌานวิญญาณ ๕ อย่าง และดังนั้น เมื่อรวมกับวิบากและกิริยา เราจึงได้จำนวนวิญญาณ ๑๕ ในรูปภูมิ และ ๔๙ ในโลกุตรภูมิ ทั้งนี้เมื่อรวมกับมรรค ๔ ผล ๔ ตามที่ท่านแสดงไว้ในพระคัมภีร์อภิธรรมัตถสังคหะ
ก้าวต่อไป เราจะพบระบบการบรรลุอรูปฌาน ๔ แห่งวิญญาณซึ่งเป็นที่รู้จักกัน ทั่วไปว่า ฌาน ดังนั้น อุปกรณ์ของฌานจึงขยายออกไปเป็น ๘ อย่าง ซึ่งจะได้ทราบในบทต่อไป
๑  สมาธิ
ตามที่ได้ทราบแล้ว ท่านให้คำจำกัดความของคำ “สมาธิ” ว่า จิตตัสสะ เอกัคคตา ความเป็นหนึ่งของจิต และนี้เป็นคำจำกัดความที่ให้ไว้ในนิกายต่างๆ
ในคัมภีร์พระอภิธรรม คำจำกัดความนี้ประณีตยิ่งขึ้น และท่านอธิบายว่า สมาธิเป็น องค์ประกอบของจิตที่เป็นใหญ่ในขบวนการขจัดความลุ่มหลงในผัสสะออกไปเสียจากจิต ซึ่งรูป แบบที่สร้างขึ้นและพัฒนาขึ้นท่านได้ให้คำจำกัดความว่า “สมาธิ” นั่นก็คือสมาธิซึ่งเกิดขึ้นใน วิญญาณชนิดที่สูงขึ้น
ตามคำอธิบายของพระอรรถกถาจารย์ สมาธิมี ๒ อย่าง ตามลักษณะทั่วๆ ไป คือ
๑ การรวมจิตที่บริสุทธิ์และชำนาญ
๒การรวมจิตซึ่งเปลี่ยนสภาวะเข้าไปอยู่ในฌาน
สมาธิประเภทแรกหมายถึงการมีจุดรวม ซึ่งหมายถึง การควบคุมกระบวนการของ จิตใจไว้ในความคิดอันเดียวซึ่งจะต้องมีธรรมชาติที่เหมาะควรเสมอ ส่วนสมาธิประเภทที่สองบ่งชี้ ถึงสภาวะที่เหนือธรรมดาของ จิตดวงเดิมนั้นเอง ซึ่งผ่านจากสภาวะของฌานตามธรรมดาไปแล้ว และสมาธิประเภทที่สองนี้เองเป็นสมาธิที่ต้องประสงค์อย่างแท้จริงในพระพุทธศาสนา
ในการวิเคราะห์ทางจิตวิทยา ซึ่งพบในคัมภีร์พระอภิธรรม มีมโนธาตุอันหนึ่งเกิดขึ้น เรียกว่า เอกัคคตา คือ “ความเป็นหนึ่ง” หรือ “การรวมสิ่งที่เกิดขึ้นในจิต” ซึ่งเกิดขึ้นทั่วไปแก่ สภาวะของจิตที่อยู่ในอำนาจแห่งความนึกคิดไม่ว่าจะบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ก็ตาม ตามหลักแห่ง จิตวิทยา เมื่อคำนึงถึงข้อความนี้ พระพุทธโฆษาจารย์จึงเพื่มคำว่า “กุสล” เข้ากับคำว่า “จิตเตกัคคตา” ซึ่งกล่าวไว้ในระบบแห่งสมาธิ เพื่อความพิถีพิถันในการแปลความและการให้คำจำกัดความของ คำว่า “สมาธิ” ดังนั้น จึงกล่าวได้อย่างถูกต้องว่า สมาธิไม่เกิดขึ้นระหว่าง ขบวนการแห่งการรับอารมณ์ หรือเมื่อเกี่ยวข้องกับความคิดที่ชั่วร้าย แต่ธรรมชาติแห่ง “เอกัคคตา” เป็นธรรมชาติที่มีในความคิดทั้งที่ดีและที่ชั่วร้าย ดังนั้นชาวพุทธทั้งหลายจึงใช้ คำว่าสมาธิในความหมาย ที่ว่าความเป็นหนึ่งแห่งจิต ซึ่งจะได้รับจากการคิดอย่างฉลาด หรือ การมีโยนิโสมนสิการ (การพิจารณาไตร่ตรองอย่างแยบคาย) เป็นการรู้ทันวัตถุสิ่งหนึ่งและสิ่งเดียวเท่านั้น และสิ่งนั้นมีธรรมชาติโดดเดี่ยว ในระบบการฝึกจิตในพระพุทธศาสนา สมาธิดังกล่าวนี้จะบรรลุได้โดยการปฏิบัติกรรมฐาน โดยยึดวัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ท่านกำหนดไว้เป็นอารมณ์ ในแง่จิตวิทยาทางพระพุทธศาสนา ท่านถือว่าสมาธิเป็นปัจจัยที่ใช้ได้ และเหมาะสม ที่สุดสำหรับจิตที่พัฒนาแล้ว โดยอาศัยหลักทางพระพุทธศาสนา เพราะสมาธินี้จะรวมไว้ซึ่งศีลธรรม ความรักที่ไม่มีขอบเขตจำกัด ความกรุณาและอื่นๆ และมีส่วนสัมพันธ์กับหลักจิตวิทยา เพื่อการตรัสรู้  ดังนั้นสมาธิจึงมีลักษณะตรงกันข้ามกับสภาพจิตที่เซื่องซึมและอยู่เฉยๆ  ซึ่งถือว่าเป็นศัตรูต่อการพัฒนาตนเองจิตจะเหมาะสมและพร้อมที่จะทำงานเพื่อได้รับความรู้และพลังจิต ที่สูงขึ้นก็โดยอาศัยพลังแห่งสมาธินี้เอง และดังนั้นการอบรมสมาธิจึงเป็นปัจจัยเบื้องต้นที่จะนำไปสู่การบรรลุความสุขทางจิต และความรู้ที่สมบูรณ์
สมาธิหมายถึงการทำจิตให้แน่วแน่ในความหมายที่ว่า “ใส่ไว้ด้วยกัน” หรือ “วางไว้” (จากคำว่า สํ (พร้อม) อา (ทั่วถึง) ธาน (วางไว้) นั่นก็คือ “การกำหนดจิต หรือตั้งจิตและความคิดไว้ในวัตถุสิ่งเดียว”  ดังนั้นสมาธิควรหมายถึงสภาพของจิตซึ่งจิตและความคิดได้รับการตั้งไว้อย่างดี และมีศูนย์กลางอยู่ที่วัตถุสิ่งเดียวโดยไม่มีความหวั่นไหวและความท้อแท้”
๒  ลักษณะ ความสำคัญ ปรากฎการณ์และบ่อเกิดแห่งสมาธิ
ลักษณะของสมาธิ ซึ่งเป็นที่มาของคุณธรรม ได้แก่ ความไม่วอกแวก สมาธิทำหน้าที่ ควบคุมสิ่งรบกวน หรือสิ่งกระตุ้นทางอายตนะทั้งหลาย และขจัดความวอกแวกออกไปจากจิต ตามหน้าที่หรือสาระของสมาธิ สมาธิคือพลังซึ่งทำลายความโน้มเอียงไปสู่ความหวั่นไหวและนิสัยที่ตามติดความคิดที่ฟุ้งซ่าน ซึ่งจะดึงดูดสิ่งที่น่าเพลิดเพลิน หรือ (ในกรณีที่ โศกเศร้า) จะแสดงออกซึ่งความฟุ้งซ่าน ดังนั้นอาจถือกันได้ว่าสมาธิได้แก่ความสามารถที่เหมาะสม คืออินทรีย์ของจิตในข้อที่ว่า สมาธิควบคุมความหุนหันพลันแล่น และความตื่นเต้นได้
สมาธิย่อมแสดงให้เห็นชัดถึงพลังของจิตที่ใช้การได้ ซึ่งไม่หวั่นไหวเพราะความเร่าร้อน เพราะว่าผลที่แท้จริงของสมาธิก็คือสภาพของจิตที่ปราศจากการรบกวน และสภาพที่ชัดเจนซึ่ง แทรกซึมเข้าไปในอารมณ์ของสมาธิ เมื่อจิตบรรลุถึงขั้นนี้จิตจะตั้งอยู่อย่างไม่หวั่นไหวเพราะเหตุ แห่งเครื่องเร้าภายนอก และกระแสแห่งความคิดที่ผสมผสานกันหลายอย่างย่อมสงบ ยิ่งกว่านั้นสมาธิย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์ โดยการขจัดกิเลสภายในจิตทั้งหมด กระจกเงาที่ขัดดีแล้วย่อม ให้ภาพสะท้อนที่ชัดเจนฉันใด จิตที่บริสุทธิ์ดวงนี้ย่อมฉายแสงภายในของตนให้เห็นหรือรู้แจ้งสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริงฉันนั้น ยิ่งกว่านั้น เรายังพบว่าจิตของผู้มีความสุขย่อมจดจ่ออยู่ ณ จุดใดจุดหนึ่ง เพราะว่าความเรียบง่ายและความสุขของกายและจิต เป็นสาเหตุโดยตรงของสมาธิ และจะได้รับความสุขดังกล่าวก็ด้วยการฝึกสมาธิ
๓ สมาธิแบบต่างๆ
ต่อไปนี้เป็นคำอธิบายสมาธิในลักษณะต่างๆ ตามที่พระพุทธโฆษาจารย์บรรยายไว้ใน พระคัมภีร์วิสุทธิมรรค
๑. สมาธิ หมายถึงการรวมจิตไว้ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (ความเป็นหนึ่ง) และลักษณะสำคัญ ของสมาธิก็คือความเป็นอิสระจากความหวั่นไหว แต่ก็มีคำอธิบายที่กว้างมาก ครอบคลุมถึง ระบบการพัฒนาจิตทั้งหมด ซึ่งได้มาจากการฝึกสมาธิอย่างเข้มข้น
๒. สมาธิ ๒ ประเภท
๒.๑  สมาธิ มี ๒ ประเภท ตามที่ได้รับการฝึกและพัฒนาไปตามลำดับ คือ อุปจารสมาธิ กับ อัปปณาสมาธิ คำว่า “อุปจาร” ซึ่งแปลว่า “การเข้าใกล้”หรือ “อุปกรณ์” ตามศัพท์หมายถึง “การเข้าไปใกล้” สภาพแห่งฌาน คือว่า เมื่อการรวมจิตเริ่มจะเข้มข้นหรือ ใกล้จะบรรลุฌาน ถ้าจะกล่าวให้ชัดก็คือว่าจุดนี้เป็นขั้นหนึ่งก่อนจะถึงอัปปณาและจัดอยู่ในขั้น กามาพจร หรือที่เกี่ยวข้องกับประสาทสัมผัสทั้งหลาย แต่เมื่อมีความสัมพันธ์กับสมาธิแบบที่ดี มากยิ่งขึ้น เช่น พุทธานุสสติ เป็นต้น ก็จะมีลักษณะเหมือนฌาน และอยู่ในธรณีประตูแห่ง รูปาวจรหรือวิญญาณซึ่งเป็นระดับมีรูป ในขั้นต้นอุปจารสมาธิจะเกิดขึ้นจากการฝึกจิตทุกรูปแบบ
อัปปณาสมาธิ เป็นคำที่ใช้กับสมาธิซึ่งเกี่ยวกับองค์ฌานและพัฒนาไปสู่ฌานที่ ๔ อย่างมีระบบ คำนี้ใช้กับอรูปฌาน และภาวะที่พ้นโลกคือ โลกุตตระด้วย ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า “ecstasy” หรือ “ecstatic” แต่ตามศัพท์หมายถึง “การรวมไว้ด้วยกัน” หรือ “การขึ้นไปสู่ ภาวะแห่งฌาน” ในสมาธิขั้นนี้ จิตและอารมณ์ของสมาธิเป็นอันเดียวกัน วิญญาณจะเลื่อนเข้าสู่ สภาพแห่งฌานโดยอาศัยสมาธิ และการสัมผัสกับอายตนะภายนอกจะเข้มขึ้น คือจะมีการ ตรวจสอบกระแสจิต เพื่อว่าผู้บำเพ็ญฌานจะได้รับความสงบเป็นครั้งแรกแบบใหม่ ซึ่งอธิบาย ไม่ได้และมีภาพในจิตที่ชัดเจน ความสงบดังกล่าวเกิดมาจากการปฏิบัติขั้นต้นเพื่อได้บรรลุ ปฐมฌาน ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า “การฝึกขั้นเตรียมการเพื่อบรรลุปฐมฌาน เป็นสาเหตุโดยตรง ซึ่งก่อให้เกิด ปฐมฌาน” ควรสังเกตว่า อัปปณาเป็นอันเดียวกับฌานเพราะเป็นการนำเอาคำมาใช้และจะบรรลุฌานได้ก็โดยการสร้างสมาธิให้เกิดในอารมณ์ของกรรมฐานทั้งหลาย ซึ่งท่านกำหนดไว้เพื่อให้เกิดฌาน สมาธิ ๒ ประเภทนี้เองที่เราจะต้องทำให้เกิดขึ้นโดยวิธีต่างๆ และ ความแตกต่างระห่วางสมาธิ ๒ ประเภทนี้ โดยหลักจะขึ้นอยู่กับขั้นของความเข้ม และผลทาง จิตวิทยาที่มีต่ออารมณ์กรรมฐานที่ผู้ปฏิบัติเลือก คำว่า “อุปจาร” และ “อัปปณา” จะพบได้ ในอรรถกถาเท่านั้น ซึ่งท่านใช้เพื่อกำหนดขั้นของสมาธิ   
คำ “อัปปณา” จะพบได้ในคัมภีร์พระธรรมลังคณีในฐานะเป็นคำที่มีความหมาย เท่ากันคำว่า “วิตก” ในความหมายที่ว่า “ขึ้นสู่” อารมณ์ พระอรรถกถาจารย์อาจนำคำนี้มาใช้ เพื่ออธิบายถึงแนวทางในการเปลี่ยนรูปแบบของสมาธิเป็นขั้นฌานก็เป็นได้
      ๒.๒ สมาธิมี ๒ ประเภทตามสภาพของผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติและฐานะของ สมาธิ คือ โลกิยสมาธิ ภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า “mundane” แสะโลกุตรสมาธิ ภาษาอังกฤษใช้ คำว่า “Supra-mundane” โลกิยสมาธิมีส่วนเกี่ยวข้องกับวิญญาณในภูมิทั้ง ๓ คือ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ แต่โลกุตรสมาธิเกี่ยวกับอริยมรรค ซึ่งจะนำไปสู่พระนิพพาน
๒.๓ สมาธิมี ๒ ประเภท เนื่องมาจากคุณสมบัติที่สัมพันธ์กันในขั้นของฌาน คือ สมาธิที่เกิดพร้อมกับปิติในปฐมฌานและทุติยฌาน ตามระบบฌาน ๔ และสมาธิที่เกิดพร้อม ปิติใน ๓ ฌานแรกในระบบฌาน ๕ ในฌานที่เหลือไม่มีความเกี่ยวข้องกับปิติ ดังนั้นจึงมี ๒ ประเภท คือ มีปิติ (สัปปิติกะ) และ ไม่มีปิติ (นิปปิติกะ)
      ๒.๔ อนึ่งสมาธิมี ๒ ประเภทตามขั้นของฌานคือ ใน ๓ ฌานแรกตามระบบฌาน ๔  และใน ๔ ฌานตามระบบฌาน ๕, สมาธิประกอบด้วยความสุข (สุขสหคต) และในฌานที่ เหลือทั้ง ๒ ระบบ สมาธิประกอบด้วยอุเปกขา (อุเปกขาสหคต)
๓ สมาธิ ๓ ประเภท
      ๓.๑ เราอาจแบ่งประเภทของสมาธิออกไปได้อีกตามขั้นของความเข้มข้น ดังนั้น สมาธิจึงมี ๓ ประเภท คือ สมาธิที่อยูในขั้นต่ำ (หีน) เพราะเป็นสมาธิที่พึ่งจะบรรลุ สมาธิขั้นกลาง (มัชฌิมะ) ยังไม่แก่กล้าอย่างสมบูรณ์ และสมาธิขั้นสูง (ปณีต) เพราะในขั้นนี้ เป็นสมาธิที่แก่กล้าเต็มที่แล้ว
๓.๒ สมาธิอาจพิจารณาได้เป็น ๓ ประเภท  เมื่อคำนึงถึงองค์ฌานที่แตกต่างออกไปซึ่งมีอยู่ในขั้นต่างๆ คือสมาธิในปฐมฌานแสะอุปจารสมาธิประกอบด้วยวิตกและวิจารสมาธิใน ทุติยฌานตามระบบฌาน ๕ ซึ่งทำลายวิตกเสียได้ยังมีอยู่เฉพาะวิจารเท่านั้น และสมาธิใน ๓ ฌานสุดท้าย ในระบบทั้งสองซึ่งทำลายวิตกและวิจารทั้งสองอย่าง
๓.๓ ใน ๒ ฌานแรกในระบบฌาน ๔ สมาธิประกอบด้วยปิติ แต่สมาธิในฌานที่ ๓ ในระบบฌาน ๔ และในฌานที่ ๔ ในระบบฌาน ๕ สมาธิประกอบด้วยสุข ในฌานที่เหลือ สมาธิประกอบด้วยอุเบกขา อุปจารสมาธิประกอบด้วยปิติ สุข และอุเบกขา ดังนั้น เมื่อพิจารณาองค์ฌานต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นกับสมาธิ เราจึงถือว่าสมาธิมี ๓ ประเภท
๓.๔ ในภาวะแห่งอุปจารฌาน สมาธิมีพลังอ่อนและอยู่ในขอบเขตจำกัด ดังนั้น จึงเรียกว่า “ปริตฺตสมาธิ” ในภาวะแห่งวิญญาณที่สูงขึ้นซึ่งเกี่ยวกับรูปภูมิ และอรูปภูมิ สมาธิมี พลังและลึกซึ้ง (มหัคคตะ)สมาธิที่ประกอบด้วยอริยมรคเป็นสมาธินับไม่ได้ และเรียกว่า อัปปมาณสมาธิ ดังนั้น เราจึงจัดประเภทสมาธิออกไปอีกเป็น ๓ อย่าง คือ สมาธิที่มีจำกัด สมาธิที่ลึกซึ้ง และสมาธิที่นับไม่ได้
๔  สมาธิ ๔ ประเภท
๔.๑ เป็นเรื่องธรรมดาที่ว่าความสามารถของปัจเจกชนในการบรรลุสมาธิจะแตกต่างกัน และการบรรลุของเขาจัดเป็นกลุ่มได้ ๔ กลุ่ม และมีห้วข้อเป็น ๔ หัวข้อ ดังนี้
๔.๑.๑ สมาธิที่บรรลุได้ด้วยการปฏิบัติอย่างลำบาก และบรรลุได้ช้า ๔.๑.๒ สมาธิที่บรรลุได้ด้วยการปฏิบัติอย่างลำบาก แต่บรรลุได้เร็ว 
๔.๑.๓ สมาธิที่บรรลุได้ด้วยการปฏิบัติอย่างง่าย แต่บรรลุได้ช้า
๔.๑.๔ สมาธิที่บรรลุได้ด้วยการปฏิบัติอย่างง่าย แสะบรรลุได้เร็ว
ในเรื่องนี้ท่านประมวลขบวนการแห่งการฝึกสมาธิ ซึ่งพิจารณาจากเริ่มต้นฝึก ไปถึงขั้น อุปจารและฌานขั้นต่างๆ เข้าด้วยกันโดยใช้คำว่า ปฏิปทา คือการปฏิบัติหรือการเจริญปัญญา ซึ่งพัฒนาจากอุปจารไปจนถึงขั้นอัปปณา หรือขั้นการบรรลุฌาน ท่านเรียกว่า “อภิญญา” (ความรู้แจ้งสูงสุด)
การฝึกสมาธิในขั้นแรกๆ อาจมีอาการปวดเมื่อยและยากสำหรับบุคคลบางคน เนื่องจากมีสภาพที่ขัดแย้งกันมาก เช่น นิวรณ หรือ สิ่งที่ไม่พึงปรารถนาซึ่งอาจเกิดขึ้นมา ในกรณีเช่นนี้ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกยากและไม่เพลินที่จะปฏิบัติต่อไป ผู้ปฏิบัติจึงต้องมีความพยายาม ที่แน่วแน่ เพื่อเอาชนะสิ่งที่เป็นปรปักษ์ดังกล่าว แต่สำหรับผู้ปฏิบัติบางคนผู้ใม่มีสิ่งที่เป็น ปรปักษ์เช่นนี้ การปฏิบัติจะเป็นไปอย่างง่ายดายวิปัสสนาปัญญาจะเกิดขึ้นช้าและอ่อนพลังและ เฉื่อยชาสำหรับพวกหนึ่ง แต่สำหรับอีกพวกหนึ่งจะเกิดขึ้นเร็ว แหลมคม และคล่องตัว
ข้อความต่อไปนี้จะอธิบายถึงความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดยิ่งขึ้น สำหรับผู้ที่เริ่มฝึกสมาธิ ในสภาพที่ไม่สบายหรือไม่ได้รับความสำเร็จในเบื้องต้น เช่นการขจัดสิ่งขัดขวางต่างๆ เป็นต้น ขบวนการจะเติมไปด้วยความปวดเมื่อย และจะรู้สึกเกียจคร้าน ผู้ฝึกสมาธิที่มีสภาพสบาย และสามารถผ่านการปฏิบัติขั้นต้นได้จะพบว่า ขบวนการปฏิบัติเป็นไปอย่างง่ายและมีความรู้สึกเร็ว ยิ่งกว่านั้น ในบุคคลผู้ไม่มีความชำนาญจริงๆ ในขั้นอัปปณา เขาจะมีความรู้สึกเกียจคร้าน แต่ในผู้ที่มีความชำนาญเขาจะรู้สึกเร็ว สำหรับผู้ที่ถูกตัณหาครอบงำ การปฏิบัติของเขาจะมี ความปวดเมื่อย สำหรับผู้ที่ปราศจากตัณหาเช่นนั้น การปฏิบัติย่อมเป็นไปได้อย่างง่ายดาย สำหรับผู้ที่ถูกอวิชชาครอบงำ อภิญญาจะเกิดขึ้นอย่างช้า แต่ผู้ที่ไม่ถูกอวิชชาครอบงำ อภิญญา จะเกิดขึ้นอย่างเร็ว ถ้าผู้ปฏิบัติไม่มีประสบการณในการฝึกสมาธิ เขาจะพบว่าการปฏิบัติของเขา เป็นไปอย่างลำบาก แต่สำหรับผู้ที่มีประสบการณ์มาก่อน การปฏิบัติของเขาจะดำเนินไปได้อย่างง่ายดาย  โดยทำนองเดียวกัน ผู้ที่ไม่เคยปฏิบัติวิปัสสนามาก่อนจะพัฒนาปัจเจกปัญญาให้ เกิดขึ้นได้อย่างช้า แต่ผู้ที่เคยปฏิบัติมาก่อน ย่อมสามารถพัฒนาได้อย่างเร็ว
ความสามารถของพระสาวกในการเจริญสมาธิ หรือการพัฒนาปัญญาให้สูงขึ้น จะขึ้น อยู่กับสภาพแห่งกิเลสของตนที่แรงกล้า หรืออ่อนพลัง และขึ้นอยู่กับอิทธิพลอันเกิดจาก คุณภาพของจิต และจริยธรรมของผู้ปฏิบัติ สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสหนาและมีความสามารถในด้าน ต่างๆ เช่น ความเชื่อ พลัง สติ การควบคุมจิต และความรู้ยังอยู่ในสภาพที่ยังไม่พัฒนา การปฏิบัติของเขาจะเป็นไปได้ยาก และอภิญญาของเขาก็จะเชื่องช้า แต่สำหรับผู้ที่มีความสามารถมาก ปัญญาจะเกิดขึ้นอย่างเร็ว สำหรับผู้ที่มีกิเลสน้อย แต่อินทรีย์ยังไม่พัฒนา การปฏิบัติจะเป็นไปได้อย่างง่าย แต่อภิญาจะเกิดขึ้นอย่างช้า สำหรับผู้ที่มีอินทรีย์ที่แก่กล้า อภิญญาจะเกิดขึ้นอย่างเร็ว
โดยเหตุที่ความก้าวหน้าแห่งการปฏิบัติและอภิญญาเกิดขึ้น ช้าบ้าง เร็วบ้าง สมาธิ อาจแบ่งได้เป็น ๔ ประเภท
๔.๒ ยังมีอีกวิธีหนึ่งซึ่งแบ่งสมาธิออกเป็น ๔ ประเภท คือ
๑ สมาธิที่จำกัด และมีอารมณ์จำกัด
๒ สมาธิที่จำกัด แต่มีอารมณ์ไม่จำกัด
๓ สมาธิที่ไม่จำกัด และมีอารมณ์ไม่จำกัด
๔ สมาธิที่ไม่จำกัด แต่มีอารมณ์จำกัด
ในบรรดาสมาธิเหล่านี้ สมาธิซึ่งไม่ก้าวหน้าและดำเนินไปสู่ฌานที่สูงขึ้น เรียกว่าสมาธิ ที่จำกัด สมาธิที่ก้าวหน้าไปโดยปราศจากการแผ่ขยายไปแห่งอารมณ์ เรียกว่า สมาธิที่มีอารมณ์จำกัด สมาธิที่เหมาะสม ก้าวหน้าไปด้วยดีและสามารถก่อให้เกิดฌาน เรียกว่า สมาธิที่ ไม่จำกัด และสมาธิซึ่งก้าวหน้าพร้อมด้วยอารมณ์ที่แผ่ขยายไป เรียกว่า สมาธิที่มีอารมณ์ไม่จำกัด องค์ประกอบที่ต่างกันของลักษณะเหล่านี้ของสมาธิ ทำให้สมาธิมีประเภทต่างๆ ๔ ประเภทดังกล่าวข้างบนนี้
การจัดประเภทของสมาธิดังกล่าวนี้ อาศัยมโนภาพที่ชัดเจนซึ่งนำมาจากอารมณ์ของสมาธิทั้งในรูปธรรมและนามธรรม มโนภาพซึ่งจิตยึดอย่างแน่วแน่นั้นเป็นสมาธิอย่างหนึ่งใน บรรดาสมาธิที่แน่นอนและสมาธิที่ไม่แน่นอน สมาธิซึ่งเป็นคนละแบบกับคุณภาพสากล และ ถูกจำกัดอยู่เฉพาะกับอารมณ์ส่วนบุคคลเท่านั้น เรียกว่า “สมาธิประเภทแน่นอน” และสมาธิที่ ไม่ได้จำกัด ดังนั้น เรียกว่า สมาธิที่ไม่แน่นอน
๔.๓ สมาธิยังแบ่งออกไปอีก ๔ ประเภท เมื่อพิจารณาถึงฌานทั้ง ๔ คือ สมาธิในฌานทั้ง ๔ ซึ่งได้แก่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน ในบรรดาสมาธิเหล่านี้  สมาธิในปฐมฌาน มีองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปิติ สุข เอกัคคตา ซึ่งทั้งหมดไม่มีนิวรณ์ และสมาธิ นี้ท่านเรียกว่า
ปฐมฌานังคะ คือเป็นองค์แห่งฌานที่ ๑
สมาธิในทุติยฌาน มีองค์ ๓ คือ ขจัดวิตก วิจารเสียได้ เหลือแต่ปิติ  สุข และเอกัคคตา สมาธินี้ท่านเรียกว่า ทุติยัชฌานังคะ คือเป็นองค์ แห่งฌานที่ ๒
สมาธิในตติยฌานมีองค์ ๒ คือ ขจัดปิติเสียได้ เหลือแต่สุข กับเอกัคคตา ท่านเรียกสมาธินี้ว่า ตติยัชฌานังคะ คือเป็นองค์แห่งฌานที่  ๑
สมาธิในจตุตถฌาน ซึ่งขจัด สุขเสียได้ มีองค์ ๒ คือ เอกัคคตาสัมปยุตด้วยอุเบกขา สมาธินี้ท่านเรียกว่า จตุตกัชฌานังคะ คือเป็นองค์แห่งฌานที่ ๔
๔.๔ ในทำนองเดียวกัน สมาธิมี ๔ ประเภท คือ
๑ สมาธิที่มีส่วนเสื่อมได้
๒ สมาธิที่มีส่วนมั่นคงได้ 
๓ สมาธิที่จะนำไปสู่ความเด่นชัด (ความเป็นสิ่งวิเศษ) ได้ 
๔ สมาธิที่จะนำไปสู่ความรู้แจ้งได้
ในบรรดาสมาธิเหล่านี้ สมาธิประเภทที่ ๑ จะเสื่อมลงได้เมื่อมีความคิดทางกามารมณ์ เกิดขึ้นบ่อยๆ ซึ่งความคิดนี้เป็นปฏิปักษต่ออารมณ์ของสมาธิ ความแน่วแน่มั่นคงของสมาธิ ประเภทที่ ๒ จะมีได้เพราะความตั้งมั่นแห่งสติ ซึ่งมีลักษณะสอดคล้องกับการรวมจิต สมาธิที่นำไปสู่ความเด่นชัด หรือความก้าว-หน้าพิเศษ เป็นผลแห่งการบรรลุฌานที่สูงขึ้น ในที่สุดสมาธิ ซึ่งนำไปสู่ความรู้แจ้งมีส่วนสัมพันธ์กับความคิดเบื่อหน่าย หรือความคิดที่จะออกไปจากโลก
     การแบ่งประเภทของสมาธิดังกล่าวนี้ แบ่งตามคำอธิบายเรื่องขั้นของฌาน ซึ่งท่าน กล่าวไว้ในปฏิสัมภิทามรรค และอ้างถึงในวิสุทธิมรรคดังต่อไปนี้
“เมื่อสัญญา (ความจำได้หมายรู้) และมนสิการ (ความคิด) เรื่องกามคุณเกิดขึ้นเสมอๆ ในบุคคลผู้ได้บรรลุปฐมฌาน ปัญญาของเขา (ซึ่งสัมปยุตด้วยสมาธิ) จะเสื่อมลง เมื่อสติซึ่ง ปรากฎในปฐมฌานนั้นตั้งมั่นดีแล้ว ปัญญาย่อมมั่นคง ความรู้และความคิดซึ่งปราศจากวิตก ย่อมเกิดขึ้นในขั้นทุติยฌาน และปัญญาก็จะเด่นชัดขึ้น เมื่อความรู้และความคิดซึ่งมีความเบื่อหน่ายอันประกอบ ด้วยการไม่ยึดถือเกิดขึ้น ในขั้นวิปัสสนา) แล้ว ปัญญาจะนำไปสู่การหลุดพ้น”
สมาธิยังแบ่งออกไปอีกเป็น ๔ ประเภท และประเภทหนึ่งๆ จะมีสภาพต่างๆ กันดังนี้
๑  สมาธิที่อยู่ในชั้นกามาวจร
๒  สมาธิที่อยู่ในชั้นรูปาวจร
๓  สมาธิที่อยู่ในชั้นอรูปาวจร
๔  สมาธิที่ไม่อยู่ในชั้นทั้ง ๓ ข้างบนนี้
บรรดาสมาธิเหล่านี้ อุปจารสมาธิ หรือสมาธิที่ใกล้ เป็นกามาวจร และสมาธิที่เหลือ ๓ อย่าง เป็นอัปปณาสมาธิซึ่งสัมปยุตด้วยความรู้แจ้งในรูป ในอรูปและในโลกุตตระตามลำดับ
เนื่องจากอิทธิพลแห่งพลังทางจิตในภูมิ ๔ มีอำนาจสูง สมาธิอาจแบ่งเป็น ๔ ประเภทได้ดังนี้
๑ สมาธิที่บรรลุด้วยอำนาจแห่งความพอใจ
๒ สมาธิที่บรรลุด้วยอำนาจแห่งความเพียร
๓ สมาธิที่บรรลุด้วยอำนาจแห่งความคิด
๔ สมาธิที่บรรลุด้วยอำนาจแห่งการตรวจสอบ
มีข้อความในพระคัมภีร์วิภังค์กล่าวถึงการแบ่งประเภทสมาธิข้างบนนี้ดังต่อไปนี้
“ถ้าภิกษุผู้ยึดความพอใจเป็นพลังใหญ่ ได้บรรลุสมาธิคือบรรลุความเป็นสภาพรวม แห่งจิต สมาธินี้เรียกว่า ฉันทสมาธิ (สมาธิที่ได้บรรลุด้วยพลังแห่งความพอใจ) ถ้าภิกษุผู้ยึด ความเพียรเป็นพลังใหญ่ได้บรรลุสมาธิ คือบรรลุความเป็นสภาพรวมแห่งจิต สมาธินี้เรียกว่า วิริยสมาธิ (สมาธิที่ได้บรรลุด้วยพลังแห่งความเพียร) ถ้าภิกษุผู้ยึดจิตเป็นพลังใหญ่ได้บรรลุสมาธิคือ บรรลุความเป็นสภาพรวมแห่งจิต สมาธินี้เรียกว่าจิตตสมาธิ (สมาธิที่ได้บรรลุด้วย พลังแห่งจิต) ถ้าภิกษุผู้ยึดการสอบสวนเป็นพลังใหญ่ สมาธินี้ท่านเรียกว่า วิมังสาสมาธิ (คือสมาธิที่ได้บรรลุด้วยพลังความรู้ในการไตร่ตรอง) ดังนั้น สมาธิจึงแบ่งออกเป็น ๔ ประเภท ย่อย ตามความเด่นของตน 
๕. สมาธิ ๕ อย่าง
ในการแบ่งประเภทสมาธิที่จะกล่าวต่อไปนี้ สมาธิมี ๔ อย่าง ตามฌานทั้ง ๔ คือ ปฐมฌานสมาธิ ได้แก่สมาธิในองค์ฌานที่ ๑ เป็นต้น การแบ่งเช่นนี้อาศัยหลักคำสอนเรื่อง ระบบฌาน ๕ ซึ่งปรากฎในคัมภีร์พระอภิธรรม ตามที่แสดงไว้แล้ว
ตารางสมาธิ
๑.  เอกวิธ = สมาธิ ๑ ชนิด ได้แก่ อวิกเขป คือ ไม่หวั่นไหว
๒. ทุวิธ = สมาธิกลุ่ม๒ได้แก่
กลุ่มที่ ๑ ได้แก่ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ
กลุ่มที่ ๒ ได้แก่ โลกียสมาธิ และโลกุตตรสมาธิ
กลุ่มที่ ๓ ได้แก่ สัปปีติกสมาธิ และนิปปีติกสมาธิ
กลุ่มที่ ๔ ได้แก่ สุขสหคตสมาธิ และ อุเปกขาสหคตสมาธิ
๓. ติวิธ = สมาธิกลุ่ม ๓ ได้แก่
กลุ่มที่ ๑ ได้แก่ หีนสมาธิ, มัชฌิมสมาธิ และปณีตสมาธิ
กลุ่มที่ ๒ ได้แก่ สวิตักกสมาธิ สวิจารสมาธิ, อวิตักกสมาธิ วิจารมัตตสมาธิ และอวิตักกสมาธิ อวิจารสมาธิ
กลุ่มที่ ๓ ได้แก่ ปิติสหคตสมาธิ สุขสหคตสมาธิ และอุเปกขาสหคตสมาธิ กลุ่มที่ ๔ ได้แก่ ปริตตสมาธิ มหัคคตสมาธิ และอัปปมานสมาธิ
๔. จตุพพิธ = สมาธิกลุ่ม ๔ ได้แก่
กลุ่มที่ ๑ ได้แก่ ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา
กลุ่มที่ ๒ ได้แก่ ปริตต ปริตรตารัมมณะ ปริตตอัปปมาณารัมมณะ  อัปปมาณ ปริตตารัมมณะ อัปปมาณ อัปปมาณารัมมณะ
กลุ่มที่ ๓ ได้แก่ ปฐมัชชฌานังคสมาธิ ทุติยัชฌานังคสมาธิ ตติยัชฌานังคสมาธิ จตุตถัชฌานังคสมาธิ
กลุ่มที่ ๔ ได้แก่ หานภาคิยสมาธิ ฐิติภาคิยสมาธิ วิเสสภาคิยสมาธิ นิพเพธภาคิยสมาธิ
กลุ่มที่ ๕ ได้แก่ กามาวจรสมาธิ รูปาวจรสมาธิ  อรูปาวจรสมาธิ อปริยาปันนสมาธิ
กลุ่มที่ ๖ ได้แก่ ฉันทาธิปติสมาธิ วิริยาธิปติสมาธิ จิตตาธิปติสมาธิ วิมังสาธิปติสมาธิ
๕. ปัญจริวธ = สมาธิกลุ่ม ๕ ได้แก่ ปฐมัชฌานังคสมาธิ ทุติยัชฌานังคสมาธิ ตติยัชฌานังคสมาธิ จตุตกัชฌานังคสมาธิ ปัญจมัชฌานังคสมาธิ
นอกจากการแบ่งประเภทสมาธิตามที่กล่าวมาแล้ว ยังมีการแบ่งสมาธิแบบอื่นๆ อีก ซึ่งปรากฎในพระคัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์ ในลำดับที่ ๑ ถึงที่ ๑๐ และรวมถึงสมาธิ ๕๕ ชนิด และความหมายที่ชัดเจน ๒๕  อย่าง ของคำนี้ สมาธิเหล่านี้แตกต่างกันไปตามอารมณ์ของ กัมมัฏฐานและภาวนาระดับต่างๆ ซึ่งจะอธิบายในตอนที่ว่าด้วยการฝึกสมาธิและวิธีที่จะบรรลุสมาธิ
สารบัญ

Tuesday, July 5, 2016

บทที่ ๓ : คำกำจัดความ

บทที่ ๓

คำกำจัดความ

ในการอธิบายภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติของสมาธิ พระคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาใช้ ศัพท์เฉพาะจำนวนมาก ดังนั้นจึงเป็นการสมควรที่จะแปลศัพท์เหล่านั้นอย่างสม่ำเสมอ โดยใช้ ศัพท์ภาษาอังกฤษที่แน่นอน เพื่อความสะดวกและชัดเจน ควรสังเกตไว้ในที่นี้วาศัพท์เฉพาะ ทั้งหมดที่กล่าวถึงในที่นี้ใช้ตามความหมายทางพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด
image from https://i.ytimg.com/vi/Db73HBpu8Sw/maxresdefault.jpg

    ๑  สมาธิ
คำว่า “สมาธิ” ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Concentration เป็นศัพท์ที่ สำคัญที่สุดในบรรดาศัพท์เฉพาะทั้งหลาย ยิ่งกว่านั้นยังเป็นศัพท์ดั้งเดิมที่พระพุทธเจ้าทรงใช้มาด้วยพระองค์เอง เพราะศัพท์นี้ปรากฎในปฐมเทศนาของพระองค์ ทรงใช้ในความหมายของ “สัมมาสมาธิ” ศัพท์ว่า “สมาธิ” มาจาก สํ (อุปสัคร) อา(อุปสัคร) ธา(ธาตุ) ในความหมายว่า “ใส่หรือวางไว้ด้วยกัน”, “รวม”, “จดจ่อ” เป็นสภาวะแห่งจิตระดับหนึ่ง ในทางวิชาการ ศัพท์นี้หมายถึงทั้งระดับของจิตและวิธีที่กำหนดขึ้นเพื่อก่อให้เกิดจิตระดับนั้นขึ้นมา
ในบทสนทนาระหว่างนางธรรมทินนา กันอุบาสิกานามว่าวิสาขา ซึ่งปรากฎในคัมภีร์ มัชฌิมนิกาย ได้มีการอภิปรายกันว่าสมาธิเป็นทั้งระดับของจิตระดับหนึ่ง และเป็นวิธีการฝึกจิต แบบหนึ่ง นางวิสาขาถามว่า สมาธิ คืออะไร? นางธรรมทินนาตอบว่า สมาธิ คือ จิตฺตสฺส เอกคฺคตา (ตามศัพท์แปลว่า ความเป็นหนึ่งเดียวของจิต) อะไรก่อให้เกิดสมาธิ ? สติปัฏฐาน ๔ (คือการใช้สติ ๔ แบบ) ก่อให้เกิดสมาธิ สิ่งที่จำเป็นสำหรับสมาธิคืออะไร? สมัปปธาน ๔ (คือ ความพยายามอันสูงสุด ๔ อย่าง) เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสมาธิ การเจริญสมาธิคือการสร้าง และเพิ่มพูนสติและความพยายามอันยอดยิ่ง
ในการอภิปรายนี้ สมาธิ ในฐานะเป็นสภาวะของจิตระดับหนึ่ง ท่านให้คำจำกัดความว่า  “จิตฺตสฺส เอกคฺคตา” และปรากฎว่า คำจำกัดความนี้เป็นคำจำกัดความครั้งแรกของคำว่า “สมาธิ” ในพระสูตรต่างๆ (ส่วน) ในพระอภิธรรมท่านใช้คำจำกัดความนี้และนำเอาคำอื่นมา อธิบายโดยละเอียด คำเหล่านี้จะคล้ายกันมากและเกือบจะเป็นคำที่ใช้แทนกัน
ในคัมภีร์พระธรรมสังคณีท่านให้คำจำกัดความของข้อความ”จิตฺตสฺสเอกคฺคตา” ดังต่อไปนี้
ยา จิตฺตสฺส ฐิติ, สณฺฐิติ อวฏฐิติ อวิสาหาโร,
อวิกฺเขโป, อวิสาหฏมนสตา, สมโถ, สมาธินฺทฺริยํ
สมาธิพลํ, สมฺมาสมาธิ ซึ่งหมายความว่า ความมั่นคง การตั้งมั่นและความแน่นอน ของจิต, ความไม่ฟุ้งซ่านของจิต, ความไม่วอกแวกและ, สภาวะที่ไม่กระจายไปของจิต, ความสงบของจิต อำนาจและพลังแห่งการรวมจิต, สัมมาสมาธิ
คำเฉพาะเหล่านี้แม้จะมีรูปต่างกัน และมีความหมายในลักษณะต่างกัน แต่ก็รวมอยู่ใน ความหมายอันเดียวคือ สมาธิซึ่งได้แก่ จิตฺตสฺส  เอกคฺคตา พระพุทธโฆษาจารย์อธิบายคำนี้ ว่า “จิตฺตสฺส เอกคฺคภาโว จิตฺเตกคฺคตา  สมาธิสฺส เอตํ นามํ” ซึ่งหมายความว่าความเป็นหนึ่งเดียวของจิตเรียกว่า จิตเตกคฺคตา และคำนี้เป็นชื่อของสมาธิ
ในวิสุทธิมรรคพระพุทธโฆษาจารย์ได้ให้คำจำกัดความเช่นเดียวกันนี้ แต่ใช้คำเพิ่มขึ้น อีกคำหนึ่ง คำพิเศษนี้ให้ความหมายของคำว่าสมาธิมากยิ่งขึ้น คือคำว่า “กุสลจิตฺเตกคฺคตา” นั่นก็คือ ความเป็นหนึ่งเดียวของจิต ได้แก่สภาพที่รวมไว้ของกุศลจิต ในคัมภีร์อัตถสาลินี ท่านกล่าวว่า ความหมายของคำนี้เป็นความหมายของคำว่า สัมมาสมาธิ ดังนี้ “สมฺมาสมาธีติ ยถาสมาธิ กุสลสมาธิ” = สัมมาสมาธิ เป็นสมาธิอันเหมาะสม หรือกุศลสมาธิ  อนึ่งสมาธินี้ได้แก่ นิยฺยานิกสมาธิ คือสมาธิที่นำไปสู่ความหลุดพ้นจากกิเลส
ดังนั้น ในพระพุทธศาสนา จึงควรเข้าใจว่า สมาธิคือสภาพของจิตอันบริสุทธิ์ ซึ่งเป็น ขั้นต้นที่จำเป็นในการก้าวสูงขึ้นไปสู่ความเป็นพระอรหันต์ หรือความหลุดพ้นจากกิเลสในที่สุด ลักษณะเด่นของสภาพอันนี้คือการไม่มีความฟุ้งซ่านหรือปั่นป่วนในจิตการรวมกัน แห่งสภาพของจิตซึ่งเกิดขึ้นกับจิตนั้นเป็นหน้าที่อันสำคัญของจิต ความสงบ และความรู้ว่าสงบ  เป็นปรากฎการของจิต เมื่อบรรลุสภาพดังนี้ ความมัวหมองอันเกิดจากกิเลสก็จะหมดสิ้นไป และจะมีความสงบอันเกิดจากวิปัสสนาเข้ามาแทนที่ ดังนั้น ในทุกแง่มุม คำว่าสมาธิใน พระ พุทธศาสนาจึงเป็นสภาพที่ดี    ซึ่งตรงกันข้ามกับสภาพที่ไม่ดีและปราศจากความรู้
หรือสภาพของจิตที่ถูกสะกดไว้
ชื่อนี้ใช้เรียกวิธีหรือระบบแห่งการฝึกสมาธิซึ่งจะนำไปสู่สภาพของจิตที่สมดุลและสงบ และในที่นี้ วิธีนี้จึงเรียกว่า สมาธิ หรือ สมาธิภาวนา ซึ่งเกิดขึ้นก่อนวิปัสสนา คำอธิบายของ นางธรรมทินนาซึ่งยกมากล่าวข้างบนนั่น อ้างอิงว่าวิธีฝึกสมาธิก็คือภาวนานั่นเอง หรือได้แก่การ ตั้งสติมั่น และความพยายามอันยิ่ง ซึ่งเป็นหลัก ๒ อย่าง คือ สัมมาสติ และสัมมาวายามะ ในมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งมีสัมมาสมาธิเป็นธรรมขั้นสุดยอด เมื่อเจริญสัมมาวายามะ ซึ่งหมายถึงพลัง กายและจิตที่ได้รับการควบคุมอย่างดีพร้อมกับสัมมาสติแล้ว ผลที่ได้ก็คือสมาธิซึ่งตั้งมั่นอย่างดี ทั้งนี้เพราะว่าสัมมาวายามะย่อมสนับสนุนส่งเสริมสมาธิโดยป้องกันไม่ให้สมาธิจมลงไปสู่สภาพ ที่เซื่องซึมทางจิต สัมมาสติทำให้จิตมั่นคงด้วยคุณธรรมต่างๆ และทำหน้าที่เป็นหลักแนะซึ่ง ทำให้จิตตื่นอยู่เสมอและมั่นคงในสภาพที่มีสมาธิโดยไม่ปล่อยให้จิตตกไปสู่สภาพใต้สำนึกหลักทั้ง ๒ นี้ เป็นพลังร่วมกันสร้างสัมมาสมาธิ และความก้าวหน้าของหลักเหล่านี้ครอบคลุมสมาธิทุก รูปแบบซึ่งมีเป็นธรรมดาสำหรับระบบทั้ง ๒ คือ สมาธิ กับวิปัสสนา แต่เมื่อใช้คำว่าสมาธิใน ความหมายว่า “วิธี” จะต้องเข้าใจว่าท่านหมายถึงระบบซึ่งนำไปสู่สมาธิในขั้นต้น คือก่อนจะ บรรลุวิปัสสนา
จากที่กล่าวแล้ว เป็นที่ชัดแจ้งว่าสมาธิทั้งในความหมายตามตัวอักษรและความหมาย ทางวิชาการ หมายถึงสภาพของจิตซึ่งจะต้องพัฒนาวิธีการฝึกที่มีระบบ  การฝึกนี้ปลูกฝังนิสัย การฝึกจิตซึ่งก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางจิตซึ่งมีในร่างกายมนุษย์หรือผ่านร่างกายมนุษย์จนถึงจุด ที่มีแสงสว่างในตัวเอง
๒  เจโตสมาธิ
คำว่า เจโตสมาธิ ใช้หมายถึงสมาธิที่ก้าวหน้าไปอีกระดับหนึ่ง (ฌาน) ซึ่งคนนอก พุทธศาสนาฝึกกันคนเหล่านี้ใช้เจโตสมาธินี้เพื่อส่งเสริมการคาดคะเนชีวิตในอดีตชาติของตนเป็นต้น ในที่นี้ คำว่า เจโตสมาธิก็หมายถึงจิตที่มีสมาธิแต่ในระดับที่พัฒนา ซึ่งเมื่อจิตอยู่ในสมาธิเช่นนี้ บุคคลจะมีความรู้หรือความ สามารถในการระลึกได้ถึงชีวิตในอดีตชาติ (ปุพเพนิวาสานุสติญาน ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาอภิญญา ๕ อย่าง) อย่างไรก็ตาม ท่านใช้คำนี้เป็นไวพจน์ของคำว่าสมาธิ โดยทั่วๆ ไป แต่ใช้กับคำกริยาพิเศษคำหนึ่งคือคำว่า “ผุสติ” ดังนี้ เจโตสมาธิ ผุสดี = พระโยคาวจรมาสัมผัสกับเจโตสมาธิ ข้อนี้แสดงว่า คำนี้ หมายความว่าสภาพของสมาธิได้มีมาก่อน แล้วในอดีต เปรียบเทียบได้กับการบรรลุฌาน ซึ่งผู้เข้าฌานนี้จะเห็นภาพบนสวรรค์ แต่ในเมื่อใช้ในทางพุทธศาสนา คำนี้มีความหมายต่างกันโดยสิ้นเชิง
๓  เจโตวิมุตติ
เมื่อสมาธิได้เจริญก้าวหน้าไปถึงจุดสุดยอดในหนทางไปสู่พระนิพพานและเพียบพร้อม ไปด้วยความรู้อันสมบูรณ์ สมาธิจะถอดจิตออกจากมวลกิเลสทั้งหลายที่มีในจิต และบรรลุ ถึงอรหัตผล ในขั้นนี้สมาธิจะถูกนำมาใช้กับเอกัคคตาจิตของพระอรหันต์ และเรียกชื่อว่า เจโตวิมุตติ คือการหลุดพ้นแห่งจิต นี้เป็นขั้นสูงสุดและขั้นสุดท้ายแห่งสมาธิ ซึ่งมีชื่อว่า ผลสมาธิหรือสมาธิซึ่งก่อให้เกิดอรหัตผล แต่ท่านใช้คำว่าเจโตวิมุตติเพื่อหมายถึงขั้นต่าง ๆของ สมาธิโดยทั่วไปด้วย ในมหาลิสูตร คำว่า “เจโตวิมุตติ” บ่งถึงจิตของพระอรหันต์ซึ่งปราศจาก สังโยชน์คือเครื่องผูกพันแห่งกิเลสทั้งหลาย แต่ในสัมปสาทนิยสูตร ท่านใช้คำนี้หมายถึงขั้นของ สมาธิในปฐมฌานซึ่งเกิดจากการ เพ่งพินิจในส่วนต่างๆ ของร่างกาย เจโตวิมุตติ เป็นคำที่ใช้เรียก สมาธิซึ่งพัฒนาเพียงบางส่วนและไม่แก่กล้า ดังนั้นเราจะพบว่าคำว่า เจโตวิมุตติ ใช้ได้หลายอย่าง แต่ในทุกกรณีท่านจะหมายถึงสภาพ (จิต) ที่ก้าวหน้า
๔  เจโตสมถะ
สมาธิ ย่อมมีอิทธิพลด้านดีต่อจิตของผู้ปฏิบัติเพื่อพัฒนาตนเอง เพราะสมาธิเป็น สภาพที่มีความเป็นหนึ่งแห่งจิต สมาธิย่อมระงับความฟุ้งซ่านและความเร่าร้อนแห่งจิต ระงับ ความหวาดกลัว และประดิษฐ์และรักษาไว้ซึ่งความสงบเย็นภายในไว้ได้ สภาพของสมาธิจึงได้รับคำอธิบายว่า “เจโตสมถะ” คือความสงบแห่งความคิดหรือความสงบทางจิต เราจะพบว่า ท่านใช้คำว่า “สมถ” ในความหมายว่า “สงบ” ซึ่งบ่งชี้ถึงระบบที่รู้กันว่า “สมถภาวนา”
๕  จิตฺตภาวนา
วิธีฝึกจิตตามแนวพระพุทธศาสนา ท่านกำหนดไว้เพื่อวัตถุประสงค์ ๒ อย่าง คือการอบรมจิต และการอบรมวิปัสสนา ณ ที่นี้คำว่า จิตฺตภาวนา คือ การอบรมจิต หรือการพัฒนาจิต ท่านใช้หมายถึงระบบแห่งสมาธิ ในระหว่างการฝึกสมาธิอันมีระบบนั้น จิตย่อมได้รับการฝึกจน กระทั่งอำนาจจิตทั้งหมดถูกนำเข้ามารวมกันเมื่อสมาธิได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ และจิตก็บรรลุถึงความเป็นใหญ่ในตัวเอง ในสภาพเช่นนี้จิตย่อมสามารถต้านทานกระแสแห่งความรู้สึกไม่ว่า จะเป็นความรู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ก็ตาม จิตย่อมสามารถทนต่อความเจ็บปวดปางตายและตั้งอยู่อย่างไม่หวั่นไหวไปตามสิ่งยั่วเย้าทางประสาทสัมผัส ดังนั้น การฝึกสมาธิท่านจึงเรียกว่า “จิตฺตภาวนา” และเกี่ยวพันถึงการฝึกอบรมทางจิตและทางร่างกาย ระบบของการฝึกสมาธิ ทั้งหมดท่านได้อธิบายไว้ในหนังสือวิสุทธิมรรคของท่านพระพุทธโฆษาจารย์โดยใช้คำว่า“จิตฺตภาวนา”
๖  จิตฺตวิสูทุธิ
ในฐานะที่เป็นคุณภาพทางจิตชนิดหนึ่ง สมาธิซึ่งชำระจิตให้สะอาด ปราศจากมลทิน และสิ่งมัวหมองคือกิเลสทั้งหลาย ดังนั้น จึงมีชื่อว่า จิตฺตวิสุทฺธิ
 พระสารีบุตรเถระและพระปุณณเถระได้อภิปรายคำนี้ไว้ใน รถวินีตสูตร ซึ่งท่านได้อธิบาย ถึงระบบชีวิตตามแนวแห่งศาสนาไว้ในพระสูตรนี้ พร้อมกับวิสุทธิ หรือความบริสุทธิ์ ๗ ระดับ คำนี้ใช้หมายถึงสภาพแห่งความบริสุทธิ์แห่งจิตในทางแห่งวิปัสสนา
๗  อธิจิตฺต
เมื่อจิตบรรลุถึงสภาพแห่งสมาธิ จิตจะยกระดับของตนขึ้นสูงและมีลักษณะสูงกว่าสภาพของจิตธรรมดาสามัญ ซึ่งเป็นทาสแห่งสิ่งกระตุ้นและความรู้อันเกิดจากอายตนะภายนอก ทั้งหลาย เมื่ออยู่ในสภาพสูงเช่นนั้น จิตก็จะอยู่ในสภาพอันหนึ่งซึ่งอารมณ์ภายนอกไม่สามารถ มากระทบได้ และเมื่อนั้นจะได้พบว่า อธิจิต คือจิตที่ยิ่งและข้อนี้บ่งถึงลักษณะที่สูงขึ้นโดยผ่าน  ความเจริญขั้นต่างๆ คำนี้ได้รวบรวมการฝึกจิตทั้งหมดทุกระบบเข้าไว้โดยกล่าวว่า “อธิจิตฺตสิก ขา = การฝึกจิตที่สูงขึ้น   
คำข้างบนนี้เป็นคำสำคัญที่สุดที่ท่านใช้เพื่อชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างกันแห่งสมาธิระดับต่าง ๆ     และวิธีบรรลุสมาธินั้น ท่านใช้คำเหล่านี้โดยทั่วๆ ไปในคัมภีร์พระไตรปิฎกเพื่อชี้ให้เห็นหลักของ การฝึกสมาธิ
๘  วิปัสสนา
คำว่า “วิปัสสนา” เป็นคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนาโดยแท้ และมีความหมายเด่นโดยเฉพาะ คำนี้มาจากคำกริยาภาษาบาลี “วิปสฺสติ” = เห็นอย่างแจ่มแจ้ง ซึ่งหมายความว่าเห็นแจ้งหรือแทงตลอดสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างทะลุปรุโปร่ง ดังนั้นคำ “วิปัสสนา” จึงแปลไว้ดีที่สุดว่าการมองเห็นทะลุปรุโปร่งในภายใน คำที่ใช้เป็นคำจำกัดความของคำว่า วิปัสสนา ได้แก่คำว่าปัญญา คือความรู้ที่สมบูรณ์ และคำว่า ญาณทัศนะ คือ ความรู้และการมองเห็นชัด และคำอธิบายคำ
จำกัดความเหล่านี้ท่านมักให้ไว้ในพระสูตรทั้งหลาย แต่ท่านอธิบายไว้โดยละเอียดในพระอภิธรรมปิฎก คำนี้หมายถึงความรู้ที่สมบูรณ์ซึ่งได้รับจากการพิจารณาเห็นไตรลักษณ์ซึ่งมีอยู่ในโลก คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ในหลักแห่งสมาธิคำนี้บ่งถึงระบบทั้งหมดซึ่งมุ่งหมายจะให้เกิดความรู้และการมองเห็น ดังกล่าวนั้นโดยการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติสมาธิวิธีนั้น ในพระคัมภีร์ทั้งหลาย จะพบว่าท่านใช้คำ วิปัสสนาคู่กับคำสมถะเสมอๆ  เมื่อท่านแบ่งสมาธิออกเป็น ๒ ระบบ คือ สมถะสมาธิ และ วิปัสสนาสมาธิ
๙  ฌาน
ในระบบของสมาธิ ฌานมีสถานภาพที่สำคัญยิ่ง แต่ในเรื่องของสมาธิแล้วไม่มีคำใดที่ แปลเป็นภาษาอังกฤษกันผิดๆ และสับสนเช่น คำภาษาบาลีว่า “ฌาน” นี้เลย คำนี้มีความหมาย พิเศษ และมีใช้เฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ตรงกับภาษาสันสกฤตว่า “สุยาน” ซึ่งมีความหมายแตกต่างกันมากในปรัชญาโยคะ คำว่า “ฌาน” มีรูปศัพท์มาจากคำกริยาภาษาบาลีว่า “ฌายติ” แปลว่า คิด, เพ่ง, พินิจ  มีปรากฎในฌาน ๔ ในพระพุทธศาสนาสิ่งภายหลัง ขยายออกเป็น ๕ พระพุทธโฆษจารย์ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “ฌาน” ไว้ในหนังสือ สมันตปาสาทิกา ดังต่อไปนี้:
ฌายติ อุปนิชฺฌายตีติ ฌานํ การคิดคือคิดอย่างใก้ลชิดในเรื่องหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งเรียกว่า ฌาน หรือข้อความว่า “อิมินา โยคีโน ฌายนฺตีติ ฌานํ พระโยคีย่อมคิดหรือเพ่งด้วยฌานนี้ ดังนั้นสภาพที่เพ่งนั้นจึงเรียกว่าฌาน จากนั้นพระพุทธโฆษาจารย์ ได้เชื่อมคำนี้กบคำกริยา ศัพท์ว่า “ฌายติ” ซึ่งแปลว่า เผาไหม้และให้คำจำกัดความดังนี้ ปจฺจนีกธมฺเม ฌาเปตีติ ฌานํ  ธรรมชาติที่เผาผลาญสิ่งที่เป็นข้าศึก เรียกว่า ฌาน ปจฺจนีเกธมฺเม ทหติ โคจรํ วา จินฺเตตีติ อตฺโถ   หมายความว่า ธรรมชาติที่เผาผลาญสิ่งอันเป็นข้าศึกทั้งหลาย หรือธรรมชาติที่เพ่งวัตถุที่เหมาะ สมสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เรียกว่าฌาน ดังนั้นการคิดอย่างไม่ลดละจึงเป็นเครื่องหมายของฌาน ฌาน มี ๒ ประเภท คือ
        ๑  ฌานที่คิดอารมณ์ทางใจอย่างใกล้ชิด (อารมมณูปนิชฺฌานํ)
        ๒ ฌานที่เพ่งลักษณะของอารมณ์ทางใจนั้น (ลกฺขณูปนิชฺฌานํ)
ในฌาน ๒ ประเภทนี้ ประเภทแรกหมายถึงขั้นแห่งฌาน ๘ ขั้น คือ รูปฌาน ๔และอรูปฌาน ๔ ซึ่งเรียกกันว่าสมาบัติ ๘ คือการบรรลุ ๘ อย่าง และฌานที่เรียกว่า อุปจารฌาน ดังนั้น จึงแบ่งออกเป็นฌาน ๙ในบรรดาฌาน ๙ นี้อุปจารฌานจัดเป็นฌานขั้นดัน และฌานอื่นๆ ทั้งหลายเป็นขบวนการพัฒนาต่อเนื่องในระบบสมาธิ ฌานประเภทที่ ๒ มี ๓ อย่าง คือ
        ๑  วิปัสสนา     
        ๒  มรรค
        ๓  ผล
ในบรรดาฌาน ๓ อย่างนี้ วิปัสสนาจะตรวจสอบดูเครื่องหมายซึ่งเป็นลักษณะของวัตถุต่างๆ ในโลก แต่หน้าที่ของวิปัสสนาจะสมบูรณ์บริบูรณ์ในมรรค ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะที่เหนือโลก ดังนั้น โดยแท้จริงแล้ว มรรคมีชื่อเรียกว่า ลักขณูปนิชฌานะ ฌานที่สัมพันธ์กับผลย่อมก่อให้ เกิดผลในการบรรลุธรรมชาติที่เหนือโลก (โลกุตตระ) ย่อมเข้าใจธรรมชาติของพระนิพพาน อย่างแจ่มแจ้งสมจริง และดังนั้นจึงเรียกชื่อว่า ‘‘ลักขณูปนิชฌาน”
จากนั้นพระพุทธโฆษาจารย์ได้กล่าวเพิ่มเติมว่าบุคคลจะต้องเข้าใจว่าฌานเป็นเครื่องรู้ ธรรมชาติของจิต ๕ อย่าง คือ องค์ฌาน ๕ ได้แก่ วิตก วิจารณ์ ปิติ สุข เอกัคคตา ในคัมภีร์ วิภังค์ เราพบคำถามว่า “ฌานคืออะไร” ฌานได้แก่วิตก วิจารณ์ เป็นต้น
คำอธิบายเรื่องฌานของพระพุทธโฆษาจารย์ซึ่งพบในคัมภีร์อื่นๆ เกือบจะเหมือนกับที่ กล่าวแล้ว
ดังนั้น คำจำกัดความของคำ “ฌาน” ในอรรถกถาทั้งหลายให้ที่มาของคำ ๒ อย่างคือ จากคำกริยาศัพท์ว่า”ฌายติ”หรือคำว่า”ฌาเปติ” คำว่าฌายติปรากฎบ่อย ๆในนิกายทั้งหลาย ในความหมายว่าเพ่ง และคำนามว่า “ฌายิ” (ผู้คิด) ใช้ในความหมายว่า “ผู้เพ่ง” แต่กริยาศัพท์ “ฌาเปติ ” ซึ่งใช้เมื่อให้คำจำกัดความของคำ ฌาน จะพบได้เฉพาะในที่แห่งเดียวในข้อความต่อไปนี้
“อชาตํ ฌาเปติ ชาเตน ฌานํ เตน ปวุจฺจติ”   
= ฌานย่อมเผาสิ่งที่ยังไม่เกิดผ่านสิ่งที่เกิดแล้ว ดังนั้น จึงเรียก ฌาน ในอรรถกถาของอาจารย์มหามามะจะพบข้อความดังนี้
“ผู้ที่มีฌานนี้เกิดขึ้นในตน ย่อมเผาผลาญกิเลส คือ โลภ โกรธ หลง ทั้งหลายเสียได้ ดังนั้น เขาจึงทำลายและกำจัดกิเลสเหล่านั้น ดังนั้น สภาพอันนี้ จึงเรียก ฌาน ในความหมายว่า “เผาผลาญ”
จากคำอธิบายทั้งหลายที่กล่าวมาจะต้องเข้าใจความหมายรวมๆ ของคำว่า “ฌาน” ว่า ได้แก่การพัฒนาจิตจากสภาพเดิมซึ่งต่ำไปสู่สภาพที่สูงขึ้น และมโนภาพที่ได้จากการเจริญ กรรมฐานซึ่งเผาผลาญกิเลสใบจิต ซึ่งด้วยการพัฒนาดังกล่าวนี้ผู้เจริญสมาธิย่อมได้รับความรู้ อันเหนือธรรมดา เมื่อสมาธิแก่กล้ายิ่งขึ้น
เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสน ขอใช้คำภาษาบาลีว่า “ฌานํ” เพื่อแสดงถึงขบวนการทาง จิตซึ่งพัฒนาแล้ว ทั้งในสมาธิวิธีและวิปัสสนาวิธี
๑๐  ภาวนา
ด้วยวิธีการพัฒนาจิต ท่านจึงเรียกสมาธิว่า “ภาวนา” คำว่าภาวนานี่ไม่เหมือนกับคำ เฉพาะอื่นๆ ท่านใช้คำว่า “ภาวนา” เพื่อบ่งบอกถึงวิธีการปฏิบัติเพื่อฝึกจิตอย่างเดียวเท่านั้นใน ลักษณะที่ก้วางขวาง คำนี้ครอบคลุมถึงระบบทั้งหมดรวมถึงการปฏิบัติซึ่งได้รับการพัฒนาจาก ภาวนานี้ เมื่อคำว่าภาวนาปรากฎในคัมภีร์ต่างๆ นั้น โดยปกติจะบ่งถึงการปฏิบัติหรือการปลูก ฝังสมาธิ และกริยาศัพท์คำว่า “ภาเวติ” ท่านใช้เพื่อบ่งบอกถึงการกระทำคือการปฏิบัติ หรือการปลูกฝัง เช่น
๑    เมตฺตํ ราหุล ภาวนํ ภาเวหิ แปลว่า ดูก่อนราหุล เธอจงปฏิบัติเมตตาภาวนา
๒    อสุภาย จิตฺตํ ภาเวติ จงปลูกฝังจิต ในสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ (หรือจงเจริญอสุภภาวนา)
คำว่า ภาเวติไม่เหมือนกับคำว่า ฌายติ (ซึ่งใช้เฉพาะเพื่อบ่งชี้ถึงการเพ่งอารมณ์หรือ การยึดนิมิตซึ่งได้รับจากกรรมฐาน) ท่านใช้ภาเวติ หมายถึงการพัฒนาทางจิตทุกรูปแบบ เช่น กุสลํ จิตฺตํ ภาเวติ เขาปลูกฝังหรือเพิ่มพูนกุศลจิต ฌานํ ภาเวติ สมาธิ ภาเวติ วิปสฺสนํ ภาเวติ มคฺคํ ภาเวติ เขาเจริญฌาน เจริญสมาธิ เจริญวิปัสสนา เจริญมรรค เป็นต้น
คำว่า ภาวนาท่านใช้ร่วมทับคำซึ่งบ่งถึงอารมณ์ของกรรมฐาน เช่น ฌานภาวนา สมาธิ ภาวนา เมตตาภาวนา เป็นต้น เพื่อแบ่งแยกสมาธิชนิดต่างๆ ออกไป
พระพุทธโฆษาจารย์ให้คำจำกัดความของคำว่า “ภาเวติ” ว่า มาจาก ภู ธาตุ ซึ่งแปลว่า เป็น เป็นอยู่ กลายเป็น และเปรียบเทียบทับคำว่า ชเนติ (ก่อให้เกิด, ผลิต) อุปฺปาเทติ (ทำให้ เกิดขึ้น) และวฑฺเฒติ (เพิ่มหรือพัฒนา) ท่านยกข้อความจากคัมภีร์ต่างๆ มาอ้าง เพื่อแสดงว่า   คำว่า ภาเวติ ท่านใช้ในความหมายว่า “ผลิต” และ “เพิ่มพูน”
“ยิ่งกว่านั้น ดูก่อนอุทายี, ตถาคตได้สอนวิธีซึ่งสาวกทั้งหลายของตถาคตเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ ณ ที่นี้ในมหาสกุลุทายิสูตร ภาวนาหมายถึง “การผลิต” และ “การเพิ่มพูน”
ในที่อื่น พระพุทธโฆษาจารย์ กล่าวว่า “ภาเวติ” หมายถึง “ทำให้เกิดหรือผลิตบ่อยๆ ภายในตนเอง” นั้นก็คือ การผลิต การพัฒนาอารมณ์โดยรักษาไว้ในจิตของตนเอง
จากคำจำกัดความเหล่านี้ของพระอรรถกถาจารย์และจากการใช้ในพระคัมภีร์ทั้งหลาย จะเห็นได้ว่าคำว่าภาวนามีความหมายที่มั่นคงกว่า และแข็งแกร่งกว่าคำว่า Meditation ในภาษาอังกฤษ มีการแปลคำว่า “ภาวนา” กันไปต่างๆ เช่น แปลว่าผลิตได้มา, เป็นใหญ่, พัฒนา,ปลูกฝัง,หวลระลึก,และ รำพึงณที่นี้จะใช้คำนี้ในความหมายว่าปฏิบัติ,และว่าปลูกฝัง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนที่แสดงให้เห็นความเกี่ยวข้องกับธาตุ คือ “ภู” ธาตุ (เป็น, กลายเป็น) อย่างชัดเจนมากกว่าคำภาษาอังกฤษ ว่า Meditation
จริงอยู่ ใน “ภาวนา” ย่อมมีการดำเนินไปแห่งความคิดคล้ายกับการดำเนินไปอัน เกี่ยวกับมนต์ทางจิต และมีการกล่าวคำหรือวลีบางอย่างขณะเจริญภาวนาแบบต่างๆ เช่นคำว่า “ปฐวี” (แผ่นดิน) “ปฐวี” (แผ่นดิน) ในการเพ่งกสิณ หรือวลีที่ว่า “ขอให้มีความจริง” “ขอให้มี ความสุข” ในการเจริญเมตตา ดังเช่นการสาธยายด้วยปาก แต่ภาวนามีลักษณะยิ่งกว่านั้น ภาวนา คือการคิด ในลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งเพื่ออบรมอะไรบางอย่างให้มีในตน อะไรบางอย่างที่ดีเสมอๆ ดังนั้น สิ่งจำเป็นใน “ภาวนา” ก็คือปัจจัยซึ่งเป็นผลของภาวนานั้นอันเป็น ปัจจัยซึ่งผลิตหรือทำให้ปรากฎซึ่งคุณภาพหรือความจริงที่จำเป็น ซึ่งมีอยู่ในอารมณ์แห่งความคิดภายในนิสัยของบุคคลแต่ละคน เช่น เมื่อบุคคลเจริญเมตตาภาวนา บุคคลจะไม่คิดถึงเฉพาะ มิตรภาพเท่านั้น แต่จะต้องทำให้มิตรภาพเกิดขึ้นและเจริญมากยิ่งขึ้นในใจของเขาด้วย เพื่อจะได้ขจัดเสียซึ่งความคิดอันจะมีไปถึงศัตรู ความคิดผูกพยาบาท ความคิดเกลียดซัง และความคิดอื่นๆ และในที่สุด พระโยคาวจรจะมีความเป็นมิตรต่อสรรพสัตว์ทั้งปวง ในความหมายนี้ ภาวนาจึงเป็นคุณธรรมที่เหมาะสมยิ่ง
โดยสรุป ขอกล่าวว่า คำว่า “ภาวนา” หมายถึงการสะสมคุณธรรมทั้งหลายไว้ในตนเพื่อที่จะบรรลพุระนิพพาน ยิ่งกว่านั้น ภาวนายังเป็นคำที่แพร่หลายและใช้ทันเสมอแทนคำว่าสมาธิ ในฐานะเป็นส่วนแห่งชีวิตทางศาสนาในนิกายเถวาท
๑๑  โยคะ
คำว่า “โยคะ” ซึ่งเป็นคำเฉพาะใช้ในปรัชญาสางขยะโยคะ และในระบบแห่งสมาธิซึ่ง พัฒนาแล้วในปรัชญานั้น ไม่ใช้คำที่ใช้กันทั่ว ๆไปในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา แต่คำนี้ก็เป็นคำ ที่คุ้นหูสำหรับนักศึกษาในพระพุทธศาสนา เพราะคำนี้ท่านใช้ในความหมายว่า “กิจกรรมทางจิต และ สมาธิ”
คำนี้เกิดขึ้นในคัมภีร์สังยุตตนิกาย สคาถวรรค    ในข้อความว่า    “ปติสลฺลานโยค” ซึ่งหมายถึง “เชื่อมกับ” “ตรงเข้าไปข้างใน” หรือ “การก้าวไปสู่ความสงบภายใน” แต่ในขณะ เดียวกันวลีที่ว่า “โยโค” กรณีโย ท่านใช้บ่อยๆ ในความหมายที่ว่า “ควรประพฤติโยคะ หรือทำความพยายามในการฝึกสมาธิ” และจะพบคำนี้ใช้ในความหมายว่า”สมาธิ” เช่นใน ข้อความต่อไปนี้ “โยคา เว ชายเต ภูริ อโยคา ภูริสงฺขโย” แปลว่า ปัญญาย่อมเกิดจากโยคะ  ถ้าปราศจากโยคะ ปัญญาย่อมสิ้นไป
เกี่ยวกับข้อความนี้พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า “ตตฺถ โยคาติ อฎฐตฺตึสาย อารมฺมเณสุ โยนิโส มนสิกาโร” แปลว่าในที่นี้โยคะ หมายถึงการคิดคำนึงอย่างเอาใจใส่ถึงอารมณ์ ๓๘ ประการ ซึ่งเรียกว่า “กรรมฐาน”
คำว่า “โยคะ” ไม่มีความเด่นในฐานะเป็นคำเฉพาะของฝ่ายเถรวาทเพื่อหมายถึง “สมาธิ” แต่คำว่าโยคี และคำว่า”โยคาวจร” (ซึ่งหมายถึงผู้ปฏิบัติโยคะ)ใช้กันบ่อยมากใน อรรถกถาทั้งหลายในความหมายว่า”ผู้เจริญสมาธิ” คำว่า โยคาวจร มีใช้มากในวรรณกรรม ภาษาสิงหล เพื่อบ่งบอกถึงผู้เจริญสมาธิ วรรณกรรมภาษาสิงหลที่สำคัญที่สุดเล่มหนึ่งซึ่งกล่าว ถึงอารมณ์กรรมฐาน ได้แก่หนังสือ “วิทรฺศนาโปตะ คือ คู่มือวิปัสสนา” ซึ่งบัดนี้มีขึ่อว่า “คู่มือของ พระโยคาวจร” ศาสตราจารย์ ริส เดวิด บรรณาธิการ เป็นผู้ให้ชื่อนี้
ดังนั้น คำว่า โยคะ ปรากฎในเอกสารทางพระพุทธศาสนามากมาย แต่มักจะรักษา ความเด่นทางพระพุทธศาสนาเอาไว้ คำว่าโยคะ ในความหมายเด่นที่ว่า “ต่อเชื่อม” มักจะพบ ในวรรณคดีทางพระพุทธศาสนา แต่ก็ยังหมายถึง กาม ภพ ทิฏฐิ และ อวิชชาด้วย เพราะสัตว์ทั้งหลายย่อมผูกพันอยู่กับ อายตนะทั้งหลาย, ความเป็นอยู่, ทิฐิและอวิชชา ซึ่งทั้งหมดนี้เราจะ ต้องทำลายให้หมดขึ้นไป
๑๒  ปธานะ
คำว่า ปธานะซึ่งมาจากอุปสรรค ป+ ธา ธาตุ หมายถึงการดำรงไว้อ่ย่างมั่นคงหรือ อย่างแข็งขัน หมายถึงความชำนาญ หรือความพยายามอย่างมาก ในคัมภีร์ทั้งหลายคำนี้ หมายถึง ความพยายามที่บุคคลทำเพื่อบรรลุความเจริญทางด้านจิตใจ คำนี้ปรากฎในคัมภีร์ มัชฌิมนิกายซึ่งอ้างถึงความพยายามอันยิ่งใหญ่ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงทำที่ตำบลอุรุเวลาเพื่อตรัสรู้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในหนังสือพุทธวงศ์ท่านใช้คำนี้เพื่อหมายถึงสมาธิ ดังนั้น ตตฺถปปธานํ ปธหึ นิสชฺชฎฐานจงฺกเม “ณ ที่นั้น ข้าพเจ้าพยายามอย่างแรงกล้าในขณะนั่ง ยืน และเดินไปๆ มาๆ”   
อนึ่ง ความพยายามที่ทำเพื่อพัฒนาจิตให้สูงขึ้นได้ชื่อว่า “สัมมัปปธาน” ซึ่งท่านอธิบายว่า สำคัญต่อการฝึกสมาธิ ตามที่ปรากฎในข้อความเช่นนั้น ดูเหมือนว่าคำว่า “ปธาน” เป็นคำเฉพาะ ใช้สำหรับการฝึกสมาธิเท่านั้น และมักจะพบในความหมายนี้ในอรรถกถาทั้งหลาย  บางครั้งจะปรากฎในรูปแบบของตำแหน่งหรือฐานะเช่น ปธานิกติสฺสเถร พระเถระชื่อติสสะ ผู้ฝึกสมาธิ สถานที่ซึ่งได้รับเลือกสำหรับฝึกสมาธิ (ปธาน) เรียกว่า “ปธานฆร” และที่เมือง อนุราชบุรีในประเทศศรีลังกา มีห้องปฏิบัติสมาธิเรียกว่า “ปธานฆร” อยู่ในมหาวิหาร ซึ่งเป็น ศูนย์กลางแห่งนิกายเถรวาท
๑๓  กัมมัฏฐานะ (กรรมฐาน)
คำว่า “กรรมฐาน” ซึ่งโดยปรกติแปลว่า การเจริญสมาธิ, ที่ตั้งแห่งการปฏิบัติทางศาสนา หรือ “ฐาน (ที่ตั้ง) แห่งการกระทำ นั้น เป็นคำรุ่นหลังที่พระอรรถกถาจารย์ชาวพุทธใช้กันเพื่อ บ่งบอกถึงทั้งอารมณ์แห่งกรรมฐานและวิธีปฏิบัติกรรมฐาน พระพุทธโฆษาเถระใช้คำนี้หมายถึง อารมณ์กรรมฐาน ๔๐ อย่างเพื่อบรรลุสมาธิ ซึ่งท่านได้อธิบายไว้ในหนังสือวิสุทธิมรรคของท่าน พระอนุรุทธเถระใช้คำนี้เพื่ออธิบายถึงอารมณ์และวิธีเจริญสมาธิและวิปัสสนาทั้งสอง ซึ่งท่าน สรุปไว้ในอภิธัมมัฎฐสังคหะ ดังนี้
สมถวิปสฺสนานํ ภาวนานมิโต ปรํ
กมฺมฎฐานํ ปวกฺขามิ ทุวิธมฺปิ ยถารหํฯ
อย่างไรก็ตาม เราจะพบคำนี้ในความหมายพิเศษนี้ในพระไตรปิฎก แต่จะปรากฎคำนี้ซึ่ง มีความหมายคล้ายคลึงกันในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย ซึ่ง ณ ที่นั้นในตอนแรกท่านกล่าวอ้างถึง กรรมฐานสำหรับผู้ครองเรือน เช่นพวกกสิกรและพ่อค้า เป็นต้น และในตอนที่ ๒ กล่าวถึง กรรมฐานสำหรับผู้บรรพชาอุปสมบท ตามศัพท์ คำว่า “กมฺม” แปลว่า การงาน หรือ การ กระทำ คำว่า “ฐาน” แปลว่าที่ตั้ง, สถานที่, ฐานะ รวมกันแปลว่าสถานที่ประกอบการงาน หรือ แปลว่าแหล่งแห่งการงานในพระคัมภีร์พระไตรปิฎก คำว่า “กรรมฐาน” ใช้ในความหมายทั่วๆ ไปว่า งานหรือธุรกิจของผู้ครองเรือน ในอรรถกถาทั้งหลายท่านใช้คำนี้ กรณีที่เกี่ยวข้องกับกรรมฐานของผู้บรรพชาอุปสมบท เพื่อกำหนดอารมณ์ของกรรมฐาน และวิธีปฏิบัติกรรมฐาน ซึ่งถือวา เป็นการฝึกจิตที่มีระบบแบบหนึ่ง
เกี่ยวกับภาวนา โดยปกติจะบ่งถึงการฝึกสมาธิโดยยึดอารมณ์ ชนิดใดชนิดหนึ่งที่กำหนดให้ ซึ่งปฏิบัติไปด้วยจุดมุ่งหมายที่จะเจริญสมาธิ หรือวิปัสสนา ดังนั้นเราพบข้อความว่า
“กมฺมฎฐาเน กมฺมํ กโรนฺโต” = ประกอบตนเองในกรรมฐาน เป็นต้น
จากข้อความข้างบนนี้ เราจะเห็นว่า คำว่า “กรรมฐาน” เป็นคำเด่นมาก หมายความถึงการปฏิบัติและการฝึกอย่างต่อเนื่องซึ่งก่อให้เกิดพื้นฐานหรือโครงสร้างของวิธีการฝึกสมาธิทุกรูปแบบ ซึ่งโดยวิธีนี้เองบุคคลผู้ปฏิบัติย่อมบรรลุถึงความเป็นอรหันต์ ดังจะเห็นตัวอย่างดังนี้ ปฐมฌานเป็นฐานะอันหนึ่ง อสุภ ๑๐ อย่างเป็นกรรมฐาน เมื่อปฏิบัติตามอารมณ์กรรมฐาน แล้วบุคคลย่อมได้บรรลุฐานะอันนั้น
๑๔  อารมณ์
คำว่า “อารมณ์” โดยปกติจะบ่งถึงวัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งใจหรือความคิดไปจดจ่ออยู่โดย ใช้อารมณ์นั้นเป็นสิ่งสนับสนุนหรือเป็นกรรมฐาน เมื่อใช้ในทางจิตวิทยาคำนี้จะบ่งถึงวัตถุธาตุที่เกี่ยวเนื่องกับความรู้สึก และความคิดที่เป็นนามธรรม ซึ่งเมื่อมีการสัมผัสกันแล้ว ย่อมก่อให้ เกิดขบวนการแห่งการรู้แจ้งขึ้น เมื่อกล่าวโดยทั่วไปแล้ว คำนี้หมายถึงสิ่งภายนอกอันใดอันหนึ่ง  ซึ่งอาจถูกนำเสนอต่อความรู้สึก (ประสาททั้ง ๕) ของมนุษย์ และหมายถึงความประทับใจ ซึ่งเกิด จากประสาทสัมผัสกับสิ่งภายนอกนั้น ซึ่งความหมายอันหลังนี้ให้ความสนับสนุนแก่จิตและ ทำให็จิตยึดเหนี่ยวแนวคิดอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามหลักคำสอนในคัมภีร์พระอภิธรรม จิตจะไม่ กระตือรือร้น จนกว่าจะได้การกระตุ้นจากวัตถุภายนอกซึ่งมากระทบประสาททั้งห้า วัตถุภายนอก เหล่านี้เรียกว่า อารมณ์ ในความหมายว่า “อาฬัมพนะ” (แขวนอยู่) ซึ่งเป็นวัตถุที่ สนับสนุนหรือยึดเหนี่ยวจิต ดังนั้น อารมณ์จึงบ่งถึงทั้งวัตถุภายนอกซึ่งตา รับรู้และภาพแทน สิ่งเหล่านั้นหรือความประทับใจต่อสิ่งเหล่านั้นซึ่งเกิดขึ้นในจิต และกระตุ้นให้ขบวนการคิดทำงานเกี่ยวกับการฝึกสมาธิ คำว่า “อารมณ์”ใช้ในความหมายที่จำกัดมาก เพื่อชี้บ่งถึงอารมณ์ กรรมฐานที่กำหนดให้ และนิมิตในจิตซึ่งได้มาจากอารมณ์นั้น คำว่าอารมณ์มักใช้ในอรรถกถา ทั้งหลายในความนี้ คือ
อฎฐดึสายอารมมฺเณสุ กมฺมํ กโรนฺโต
แปลว่า ผู้ประกอบการงานในอารมณ์กรรมฐาน ๓๘ ประการ
ในที่นี้เราใช้คำว่า “อารมณ์” หมายถึง “อารมณ์ของกรรมฐาน” วลีที่ว่า “อารมฺมณํ คณฺหาติ” ใช้กับคำว่า สมาธิด้วย ซึ่งหมายความว่า การได้รับ หรือการยึดแนวความคิดหรือเรื่องซึ่งผู้ปฏิบัติดึงจิตให้มาจดจออยู่กับสิ่งเหล่านี้ด้วยสมาธิที่แนวแน่จนกระทั่งได้รับแสงสว่างที่เหนือ ธรรมดา ในกรณีนี้อารมณ์หมายถึงสิ่งที่มีในจิตซึ่งควรจะได้มาจากอารมณ์กรรมฐาน และซึ่ง เรียกตาม ความหมายเฉพาะว่า “นิมิต” ได้แก่เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ ดังนั้นคำว่า อารมณ์ เมื่อใช้กับ การฝึกสมาธิโดยเฉพาะหมายถึงวัตถุสำหรับใช้ฝึกจิต
๑๕  นิมิต   
โดยปกติ คำนี้ หมายถึงเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ ในคัมภีร์ต่างๆ ท่านใช้เป็นคำ เฉพาะทางจิตวิทยา หมายถึงคุณสมบัติของจิตในสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย โดยพยัญชนะ คำว่านิมิต หมายถึงเครื่องหมายหรือเครื่องแสดงทั้งหลาย และโดยทั่วไปคำนี้ใช้กับความโน้มเอียงในทาง ชั่วร้าย เช่น กาม โกรธ และอวิชชา ซึ่งถือว่าเป็นเงื่อนไขที่กำหนดสภาวะทางจิตของแต่ละบุคคล คำนี้ท่านก็ใช้กับลักษณะที่ปรากฎของสิ่งหรือวัตถุต่างๆ ด้วย ซึ่งก่อให้เกิดกามตัณหาขึ้นในจิต ตัวอย่าง เช่น ในข้อความที่ว่า จกฺขุนา รูปํ ทิสุวา นิมิตฺตคฺฆาหิ (แปลว่า) เมื่อเห็นรูปด้วยตา เขาจึงกำหนดรู้เครื่องหมาย หรือสิ่งที่ปรากฎทั่วไป
ในฐานะที่เป็นศัพท์ทางวิชาการที่สำคัญที่สุดที่ใช้ในเรื่องสมาธิ คำว่านิมิต มีความหมายแตกต่างกันไปและท่านแยกเป็นสมถนิมิต คือเครื่องหมายแห่งความสงบ และตาม (นัย) แห่งวิสุทธิมรรคนิมิตมี ๒ อย่าง คือ อุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต    แต่ในคัมภีร์อภิธรรม มัฎฐสังคหะ มีความหมาย ๓ อย่าง คือ
๑  ปริกรรมนิมิต หมายถึงวัตถุที่เลือกสำหรับฝึกสมาธิ เช่น กสิณนิมิตหมายถึง เครื่องหมายที่ใช้ในการฝึกสมาธิเบื้องต้น
๒  อุคคหนิมิต หลังจากเพ่งกสิณเป็นเวลานาน ซึ่งในระหว่างนั้นตาจะจดจ่ออยู่ที่ กสิณนั้น ผู้ปฏิบัติสามารถกำหนดภาพในจิตไว้ได้ซึ่งเป็นภาพจำลองของเครื่องหมายเดิมนั้น และด้วยการปฏิบัติต่อเนื่องกัน อาจเห็นเครื่องหมายนั้นอย่างชัดเจนเหมือนเห็นเครื่องหมายนั้น ด้วยตา ภาพนี้เรียกว่า อุคคหนิมิต หมายถึง เครื่องหมายที่ยึดได้ หรือภาพในจิต คำนี้หมาย รวมถึงเครื่องหมายแห่งการสนับสนุน หรือสัญลักษณ์ที่ถูกยึดไว้ ในความหมายทั่วๆ ไป คำนี้ (อุคคหะ) ใช้หมายถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่บุคคลเรียนศึกษา และยังใช้หมายถึงสิ่งที่บุคคลท่องจำด้วย โดยเหตุที่นิมิตนี้เป็นเครื่องหมายอันแรกแห่งความสว่างทางจิตซึ่งได้มาจากการปฏิบัติสมาธิที่ได้ผล ท่านจึงเรียกนิมิตนี้ว่า นิมิตที่ตั้งอยู่ในจิตเหมือนสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่บุคคลท่องจำได้ เมื่อนิมิตนี้คงอยู่ ในจิตของผู้ปฏิบัติแล้ว เขาสามารถเห็นมันได้เมื่อไรก็ตามที่เขาปรารถนา เพื่อว่าเขาจะได้ปฏิบัติ ต่อไปอย่างเสรีโดยไม่ต้องเพ่งดูนิมิตนั้น แต่ภาพในจิตนั้นยังไม่หมดมลทินและสิ่งบกพร่อง อันเกิดจากนิมิตเดิม เช่น เครื่องหมายฟองน้ำหรือรอยขูดขีด เครื่องหมายเหล่านี้จะปรากฎใน
ภาพนั้นเป็นเหมือนควันหรือเมฆในท้องฟ้า ลักษณะของภาพจะแตกต่างกันไปตามธรรมชาติของ วัตถุ การรวมความคิดซึ่งได้มาโดยอาศัยนิมิตทั้ง ๒ นี้ (คือนิมิตเบื้องต้นและภาพในจิต) เรียกว่า ปริกรรมสมาธิ คือการรวมจิตเบื้องต้น และปริกรรมสมาธินี้จะบรรลุได้ด้วยอารมณ์ กรรมฐานทุกประเภท
๓  ปฏิภาคนิมิต
หลังจากการฝึกสมาธิติดต่อกันไป ผู้ปฏิบัติจะพบว่า พลังแห่งการรวมความคิดของเขา ได้แก่กล้าขึ้น และภาพในจิตได้ก่อให้เกิดความคิดหรือความเข้าใจที่เป็นนามธรรมขึ้น ความคิด ประเภทนี้จะปลดเปลื้องความจริงตามที่ปรากฎเสียได้ และเป็นความคิดที่ปราศจากความผิดพลาดทุกอย่างที่มีในวัตถุเดิมและกลายเป็นภาพทบริสุทธิ์  ซึ่งยังมีคุณสมบัติของวัตถุนั้นๆ อยู่ ความเข้าใจซึ่งจะไม่ปรากฎแก่จิตในฐานะเป็นวัตถุที่มีตัวมีตนต่อไปอีกแล้วนี้ ท่านให้ชื่อว่า ปฏิภาคนิมิต คือเครื่องหมายที่เหมือนกัน และท่านให้ความหมายว่าภาพที่ยังติดตาอยู่
นิมิตดังกล่าวนี้ปรากฎเฉพาะเมื่อจิตพัฒนาไปถึงสมาธิขั้นหนึ่ง เรียกว่าอุปจารสมาธิ คือ สมาธิที่พอจะเข้าถึงได้ ซึ่งลุ่มลึกว่าสมาธิขั้นพื้นฐาน และใกล้เข้าไปยังขั้นของฌาน แต่คัมภีร์วิสุทธิมรรค กล่าวว่าภาพติดตาเกิดขึ้นจากภาพในจิตซึ่งเกิดขึ้นจากสมาธิที่บรรลุเพราะการเพ่งกสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อานาปานสติ และกายคตาสติเท่านั้นและว่าภาพติดตานั้นประณีตและ บริสุทธิ์กว่าภาพในจิต    ซึ่งเกิดขึ้นเหมือนกระจกเงาที่บุคคลดึงออกจากกรอบของมันหรือเหมือนกับพระจันทร์ที่โผล่ขึ้นจากเบื้องหลังเมฆ คำว่า  “ปฏิภาค” ตามศัพท์แปลว่า “เท่ากัน” “เหมือนกัน” หรือ “คล้ายคลึงกัน” และ คำนี้ใช้กับ คำว่า “ภาพติดตา” ในความหมาย ที่ว่า คำนี้ทำหน้าที่แทนความคิดซึ่งเกิดในวัตถุดั้งเดิมซึ่งได้แก่ความคิดที่เป็นนามธรรม  สมาธิ ซึ่งเกิดเมื่อจิตจดจ่ออยู่กับภาพนี้ เรียกว่า อัปปนาสมาธิ ได้แก่สมาธิที่มีระดับสูงขึ้น หรือสมาธิ ที่นำไปสู่ขั้นของฌาน ซึ่งเกิดเพราะความบริสุทธิ์แห่งจิต
ดังนั้น นิมิตทั้ง ๓ นี้ (บริกรรม, อุคคหะ,ปฏิภาค) จึงเป็นอารมณ์ของ ปริกรรมสมาธิ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ ซึ่งบรรลุด้วยการเจริญสมาธิ
คำเหล่านี้เป็นคำสำคัญซึ่งควรศึกษาเป็นพิเศษในเรื่องการเจริญสมาธิ    แต่อย่างไรก็ตามยังมีคำเฉพาะอื่น ๆอีกจำนวนมากซึ่งได้แสดงผลแห่งสมาธิ การบรรลุสมาธิและขั้นต่างๆ ของสมาธิ เช่นคำว่า อภิญญา ความรู้ที่สูงยิ่ง, สมาบัติ = การบรรลุ, วิโมกข์ = การหลุดพ้น, อภิภายตนะ = อารมณ์ที่ครอบงำ เป็นต้น คำเหล่านี้จะกล่าวในโอกาสต่อไป
ควรสังเกตว่า เพื่อความกระจ่างแจ้ง เราจะใช้คำภาษาบาลี พร้อมกับคำแปลภาษาอังกฤษ เท่าที่จำเป็น
สารบัญ